fbpx

HANDICRAFT BUSINESS พลิกโมเดลการสืบทอดทายาทหัตถศิลป์

ตามรอยครูช่าง 'สิริวัฑน์ เธียรปัญญา' ครูช่างศิลปหัตถกรรมในวิถีการอนุรักษ์ ต่อยอด และพัฒนาวัฒนธรรมผ้าทอล้านนาร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์และชุมชนชายขอบต่างๆ

“ถ้าเราต้องการอนุรักษ์มรดกภูมิปัญญาและสร้างทายาทให้งานหัตถศิลป์ เด็กรุ่นใหม่ก็ต้องไม่ละทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิด เราต้องยกระดับคุณภาพชีวิตเขา และส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้มีความมั่นคงพอสมควร ที่สำคัญคือต้องตอกย้ำให้สังคมเห็นว่ามรดกภูมิปัญญาของเขานั้นทรงคุณค่าทั้งทางจิตใจและทางเศรษฐกิจ”

– อัมพวัน พิชาลัย – ผู้อำนวยการบริหารศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ

เส้นทางหัตถศิลป์สู่การเรียนรู้รากเหง้าและพัฒนาอาชีพ

เพื่อน้อมนำพระราชปณิธานในการส่งเสริมงานศิลปหัตถกรรมไทยของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ หรือ SACICT ได้จัดทำโครการ ‘SACICT จิตอาสา พัฒนาอาชีพ’ เพื่อผลักดัน 3 ภารกิจหลักขององค์กรในการอนุรักษ์ สืบสาน และต่อยอดศิลปหัตถกรรมไทย ให้เติบโตอย่างยั่งยืนบนแนวคิด ‘หัตถศิลป์ของชีวิตปัจจุบัน’ โดยได้ร่วมมือกับกลุ่มบุคลากรอันได้แก่ครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรมในท้องถิ่นต่างๆ ที่พร้อมใจกันแบ่งปันองค์ความรู้ และทักษะของตนไปสู่คนรุ่นหลัง

เราเริ่มประเดิมโครงการแรกกันที่จังหวัดเชียงราย บนเส้นทางตามรอยวิถีพัฒนาผ้าปักของครู สิริวัฑน์ เธียรปัญญา (หรือที่ชาวบ้านเรียกขานกันในชื่อ “ลุงปุ๊”)ครูช่างศิลปหัตถกรรมประจำปี 2554  (The Master Craftsmen) เราได้ทราบว่าครูช่างท่านนี้เป็นผู้ก่อตั้งแบรนด์  ‘ผ้าปักกองหลวง’ ที่ทำงานร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์และชุมชนชายขอบต่างๆ มาหลายปี  โดยยึดมั่นการทำงานร่วมกับชาวบ้านบนวิถีพอเพียง นั่นคือสนับสนนุการสร้างอาชีพและรายได้เสริมแบบไม่ให้กระทบกับวิถีชีวิต และการทำเกษตรดั้งเดิมของชุมชนแม้แต่น้อย

เมื่อแรกพบกัน ณ พิพิธภัณฑ์หอพลับพลาเจ้าดารารัศมี เรารู้สึกได้ทันทีว่าครูสิริวัฑน์ เธียรปัญญา ท่านนี้นอกจากจะเป็นครู เป็นช่าง และเป็นนักพัฒนาชุมชนแล้ว ฝีไม้ลายมือในการเป็น ‘นักเล่าเรื่อง’ ของลุงก็ใชว่าจะน้อยหน้าใคร เรื่องเล่าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ผ้าทอ ลายปัก วิถีชาวบ้าน รวมถึงค่านิยมและเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยอันตลกขบขันของชาวชาติพันธุ์ล้านนา ได้ถูกร้อยเรียงผ่านคำเล่าและการชี้ชวนให้สัมผัสผ่าน ‘ชุดผ้าทอ’ ที่จัดแสดงอย่างเรียบร้อยเป็นคอลเล็กชั่นบนชั้นสองของหอพลับพลาฯ

“มรดกผ้าทอเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแบ่งด้วยเขตแดนประเทศได้ วัฒนธรรมของผู้คนในอดีตเราเป็นเหมือนบ้านพี่เมืองน้อง ชาวบ้านเขาไม่เคยขีดเส้นแบ่งกันว่านี่ประเทศฉัน…นั่นประเทศเธอ แม่น้ำลำคลองหรือแนวเขาไม่ได้มีความหมายเช่นนั้นสำหรับพวกเขา”


– สิริวัฑน์ เธียรปัญญา –

นิทานผ้าทอของลุงปุ๊ทำให้เราค่อยๆ มองเห็นเสน่ห์ความแตกต่างระหว่าง ‘ผ้าซิ่นลื้อ’ ที่ทอจากบ้านท่าฟ้า จากเมืองแบง เมืองเชียงฮ่อน เชียงหล่ม เมืองฮุน เมืองงา บ้านนาแล เรื่อยไปจนถึงซิ่นลื้อจากเมืองอู (ประเทศจีน) และเมืองล้าเชียว (ประเทศเวียดนาม)  นับเป็นประสบการณ์ที่เหมือนมีมนต์สะกด ให้เรารู้สึกชื่นชมในรสนิยมละมุน รวมถึงยกย่องใน ‘ทักษะ’ และ ‘ความอุตสาหะ’ ในการสร้างงานหัตถศิลป์ของชาวล้านนามาแต่โบราณ

ครูช่างคือทรัพย์ของชาติ – กลยุทธ์การต่อลมหายใจให้ผ้าไทยที่ใกล้สูญพันธุ์

ในระหว่างการเดินทาง เรามีโอกาสพูดคุยกับ ผอ.อัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการของ SACICT ที่ทำให้เรารับรู้ว่าตลอดห้าปีที่ผ่านมา SACICT มีวิสัยทัศน์ที่ล้ำหน้าขึ้นมากทั้งในด้านการอนุรักษ์ การสืบสาน และการต่อยอดงานหัตถศิลป์ไทยให้ก้าวไปมี ‘ที่ทาง’ ในบริบทร่วมสมัย

“วันนี้เราต้องการจะสร้างวัฏจักรของงานศิลปหัตถกรรมที่ยั่งยืน ฉะนั้นเราต้องวางยุทธศาสตร์กันใหม่ว่าศิลปหัตถกรรมไทย จะมีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และสร้างคุณค่ากันตั้งแต่ต้นน้ำจนปลายน้ำได้อย่างไร  รวมไปถึงว่าคนชายขอบและกลุ่มชนเผ่าชาติพันธุ์ต่างๆ จะมีโอกาสเข้าถึงองค์ความรู้ใหม่ๆ ในโลกหัตถศิลป์ได้ด้วยวิธีไหน” ผอ. อัมพวันตั้งคำถามให้เราฟังอย่างน่าคิด

เราชื่นชมแนวคิดของ ผอ.อัมพวัน ที่ต้องการพลิกกลยุทธ์การทำงานร่วมกับครูศิลป์และครูช่างทั่วประเทศ โดยวางเป้าหมายใหม่ไว้อย่างชัดเจนว่า ครูช่างในสังกัดของ SACICT จะไม่ใช่แค่สมาชิกองค์กรที่ได้รับเชิญมาออกงานเป็นครั้งคราวเท่านั้น “แต่องค์กรจะต้องยกระดับพวกเขาให้มีบทบาทเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีค่าสูงสุด คือเป็นผู้ที่สามารถส่งพลังในการสืบสาน และต่อยอดทักษะที่เขามีไปสู่ผู้อื่นได้อย่างแท้จริง”

“ในอดีตครูช่างบางคนมีชีวิตลำบาก แล้วใครที่ไหนจะอยากมาเป็นลูกศิษย์เรียนวิชาจากเขา ก้าวแรกของการพลิกโมเดลคือเราต้องทำให้คนรุ่นใหม่เห็นว่าหัตถศิลป์เป็นหนทางที่เขาจะสร้างชีวิตที่มีเกียรติในอนาคตได้”

หลายปีที่ผ่านมา ผอ.อัมพวันพยายามนำการตลาดเชิงสร้างสรรค์เข้ามาผลักดันแนวคิดนี้ โดยอันดับแรกได้ส่งเสริมให้ครูช่างในท้องถิ่นต่างๆ ลองสร้างสรรค์ผลงานที่มีมูลค่าเชิงพาณิชย์มากขึ้น รวมถึงช่วยให้คำปรึกษาและให้การสนับสนุนด้านการตลาดและการขาย อาทิ มีการจัดทริปพาครูช่างไปทำความรู้จักกับตลาดในประเทศอื่นๆ บ้างเป็นคราว ผลักดันงานหัตถศิลป์ชั้นครูให้มีโอกาสไปจัดแสดงในนิทรรศการหรือพิพิธภัณฑ์ระดับโลก เรื่อยไปจนถึงการช่วยกำหนดกลยุทธ์การตั้งราคา การสร้างงานให้เป็นคอลเล็กชั่น และการนำเสนอสินค้าให้น่าสนใจบนแพลทฟอร์มต่างๆ กัน ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เพื่อผลักดันให้ครูช่างของไทยเกิดความสนใจที่จะรังสรรค์ผลงานไปในตลาดร่วมสมัย ถือเป็นการยกระดับงานหัตถศิลป์ไทยให้ตอบโจทย์การบริโภคยุคใหม่ไปในตัว

ทริปสั้นๆ สองวันหนึ่งคืนกับ SACICT จิตอาสาในรอบนี้เริ่มต้นขึ้นที่การเรียนรู้ ‘จิตวิญญาณผ้าเก่า’ ในพิพิธภัณฑ์กลางเมือง เป็นการกดปุ่มเปิดสวิทช์ให้คนเมืองอย่างเราสนอกสนใจในทักษะ ‘ผ้าทอโบราณ’ ขึ้นมาอย่างไม่น่าเชื่อ แต่ที่ยอดเยี่ยมไปกว่านั้นคือการจบทริปด้วยการเยี่ยมชมวิถีการเรียนการสอน และการทำงานระหว่างครูช่างกับชาวบ้านหลายสิบชีวิตบนภูเขา (จากกลุ่มชาติพันธุ์อาข่าและลาหู่)

สองชั่วโมงนั้นทำให้เรารู้ซึ้งว่าคุณค่าความเป็น ‘ครู’ ที่ลุงปุ๊ได้รับยกย่องนั้นมันเป็นของจริง ความสุขบนใบหน้าของชายชราปรากฏชัดในเวลาที่เขาทำงานสอนและพบว่ามีนักเรียนหน้าใหม่ๆ (ทั้งวัยเด็กและวัยป้า) มาเข้าเรียนกันมากขึ้นทุกเดือน …แม้จะด้วยความหวังเพียงแค่ว่างานผ้าปักกองหลวงนี้จะเป็นอาชีพเสริมที่ช่วยสร้างรายได้ และทำให้พวกเขาหรือเธอไม่ต้องละทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิด…เพื่อไปเป็นมนุษย์โรงงานก็เท่านั้นเอง

ข้อมูลเพิ่มเติม: พิพิธภัณฑ์หอพลับพลาเจ้าดารารัศมี

ภาพ: SACICT, วิสาข์ สอตระกูล

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin
Share on pinterest

More to explore

แผลเก่า:Old Wound แผลเดิมในเรื่องเล่า ที่ยังเป็นแผลสดของพล็อตสังคมไทย

นิทรรศการ แผลเก่า / Old Wound นิทรรศการเดี่ยวโดย ประทีป สุธาทองไทย ศิลปินนักตั้งคำถาม ผู้ซ่อนบทสนทนาทางสังคมไว้ในงานเสมอ

“Yesterday I Was, Tomorrow I Will Be” นิทรรศการแห่งความฝันและความสำเร็จของ “Pomme Chan”

ก้าวสู่โลกที่เปี่ยมไปด้วยแพชชั่น ผ่านผลงานศิลปะตั้งแต่ชิ้นแรกที่น้อยคนจะได้เห็น สู่วันที่ประสบความสำเร็จในสายอาชีพร่วมระยะเวลา 20 ปี