ศิลปะ วัฒนธรรม เป็นเครื่องบ่งชี้รสนิยมของชาติ — เขาว่ากันไว้อย่างนั้น
ถ้าเอามาตรนี้เป็นบรรทัดฐาน และมีคะแนนสูงสุดคือสิบ เมืองไทยตั้งแต่อดีตของเราก็น่าจะได้คะแนนเต็มสิบ ดูได้จากทั้งวัดและวังที่วิจิตรปราณีต อาหารการกิน เสื้อผ้าอาภรณ์ เครื่องประดับ ตลอดจนของใช้ชิ้นเล็กชิ้นน้อย ที่แสดงถึงเชาวน์ปัญญา ความมีรสนิยม ความใส่ใจ และฝีมือในเชิงช่างศิลปหัตถกรรม
แต่เราพบว่ามีคนจำนวนมาก ทั้งคนที่นับเนื่องเป็นคนรุ่นใหม่ รวมเลยไปถึงกลางเก่ากลางใหม่ ที่อาจจะไม่รู้เลยถึงรายละเอียดความงดงามของงานศิลป์และหัตถกรรมหลายๆ อย่างของไทย มันกลายเป็นเหมือนของมีค่าที่ถูกเก็บไว้ในกรุ อยู่ในหีบใหญ่ใบโตที่นานๆ ทีจะถูกเปิดขึ้นมาสักครั้ง โดยผู้เปิดก็ไม่ได้บอกเล่าด้วยว่าสิ่งของเหล่านั้นมีกำเนิดเกิดมาอย่างไร และทำไมมันจึงต้องไปนอนนิ่งอยู่ในหีบเช่นนั้น
รวมทั้งเราก็ไม่รู้เหตุผลด้วยว่าทำไมนานๆ ทีเราถึงค่อยเปิดมันขึ้นมาดู

ที่สีชายซิ่นแดงส้มสดตัดกับสีโทนขรึมของตัวซิ่นอย่างงดงาม
คุณเคยมีประสบการณ์เดินๆ อยู่ แล้วมีคนหอบหิ้วตะกร้าหวายมาเสนอขายให้บ้างมั้ย? ตะกร้าหลายสิบใบที่ชายหรือหญิงวัยกลางคนหอบหิ้วมาเดินเร่ขายท่ามกลางแดดเปรี้ยงใบละร้อยกว่าสองร้อยกว่านี้ มีหน้าตาไม่ต่างจากตะกร้าที่เราเคยเห็นเมื่อสมัยเป็นเด็กเล็ก แม้นึกไม่ออกว่าซื้อแล้วจะเอาไปใช้อะไรได้บ้าง แต่เราก็ยังอุดหนุนด้วยความเห็นใจในการสู้ชีวิตของเขา พลางคิดว่าวันหนึ่งๆ เขาจะขายได้สักกี่ใบนะ หักต้นทุนออกแล้ว เขาจะได้เงินเหลือสักกี่บาท
มันคงดีกว่านี้ถ้าเราจะจ่ายเงินซื้อเพราะเราชื่นชอบและเห็นคุณค่าของมันจริงๆ …ไม่ใช่แค่เพราะแค่อยากช่วยเหลือ
ยายทองม้วน กับเศษผ้าไหม

ที่หมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งในจังหวัดบุรีรัมย์ คุณยายทองม้วน หยิบผ้าไหมทอผืนสวยย้อมสีธรรมชาติที่มีทั้งแก่นขนุน ใบสัก เปลือกสมอ แก่นเข แก่นฝาง แก่นคูณ รากยอ เป็นอาทิ มาให้ชม ผ้าไหมของคุณยายทองม้วนแตกต่างจากผ้าไหมดาษดื่นทั่วไปที่เราเคยพบ ทั้งสีสันอันงามงดบ่งบอกรสนิยม การนำเอาลวดลายต่างแบบมาผสมผสาน และความละเมียดของเนื้อไหมที่สัมผัสได้ถึงความปราณีตในการทอ — แต่ราคาผ้าไหมของคุณยายก็ไม่ต่างกันกับผ้าไหมดาษดื่นอื่นๆ ที่เราเห็นในจังหวัด ทั้งยังน้อยกว่าราคาของที่ขายตามห้างร้านในเมืองกรุงมากนัก
ผ้าไหมลายเสือ ฝีมือของช่างทอชาวขอนแก่น ผ้าไหมสีขาว-ดำจากขอนแก่น ชื่อลาย ‘กุญแจไม่ไข’ ผ้าไหมสีเหลืองทองย้อมจากแก่นขนุน
ฝีมือคุณยายทองม้วน
คุณยายทองม้วน มีเพื่อนช่างทออีกหนึ่งคน ทั้งสองอายุเจ็บสิบกว่า ทอผ้ามาตั้งแต่ยังเป็นสาวรุ่น ถึงวันนี้คุณยายทั้งสองยังคงทอผ้าอยู่ แต่ทอเท่าที่แรงกายจะพอไหว แม้จะมีช่างทอรุ่นเยาว์กว่าที่อายุราวสี่ห้าสิบมาช่วยทอบ้างบางครั้ง แต่ก็ไม่มีใครสามารถทอลายที่ทั้งสองยายทำได้ พวกเขาบอกกันว่า “มันยาก” ต้องใช้เวลาเรียนรู้ ใช้เวลาฝึกฝน และไม่มีใครอยากลงหลักปักแรงกับอาชีพนี้ เพราะการนั่งทอผ้าหลายชั่วโมง ที่ต้องอาศัยทักษะความชำนาญ ประสบการณ์ ความปราณีต ความใส่ใจ ฯลฯ ไม่ได้ให้เงินค่าตอบแทนมากพอที่จะเชื้อชวนให้ใครมาหยิบจับอย่างจริงจัง
ฝีมือทอผ้าของคุณยายทองม้วน และอีกหลายๆ คุณยายช่างทอจึงยังค้างอยู่แต่ในมือของพวกเขา มือที่ค่อยๆ เหี่ยวแห้งหมดเรี่ยวแรงไปตามกาล
ครั้งหนึ่งที่ไปหาคุณยายทองม้วนที่บ้าน แคร่ไม้ไผ่ที่นั่งรับแขกมีรอยเปื้อน คุณยายเดินหันหลังไปสักครู่ ก่อนกลับมาพร้อมเศษผ้าไหมผืนเล็กที่เธอเอามาเช็ดคราบเปื้อนนั้น เราแซวกันว่า “คุณยายไฮโซจริง…เอาผ้าไหมมาทำเป็นผ้าขี้ริ้ว” ยายทองม้วนยิ้มแล้วบอกว่า “เศษผ้าตัดเสื้อทำผ้าถุงมันเหลือ คนแถวนี้เขาก็เอามาเป็นผ้าเช็ดของอย่างนี้แหละ”
ป้านวลมีหลาน ครูจามรมีครู

ที่หมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งในมหาสารคาม ขณะที่คุณป้านวล — หัวหน้ากลุ่มช่างทอผ้าพื้นเมือง พาเราชมผ้าทอของหมู่บ้าน เธอเล่าว่าลายที่เธอทอนั้นบางลายไม่มีใครในหมู่บ้านทำเป็นเลย หลานสาวตัวน้อยวัย 4-5 ขวบของคุณป้าที่เดินตามเราต้อยๆ ก็ถามขึ้นว่า “สิหยัง ยายบ่เปิดโรงเรียนสอน”
คุณป้านวลตอบว่า “ยายแก่แล้ว”
หลานสาวของเธอตอบมาทันทีว่า “ยายบ่ทำ ข้อยโตขึ้น ข้อยจะทำเอง”
ส่วนครูจามร — ครูหนุ่มในโรงเรียนประจำอำเภอของบุรีรัมย์ เขาเป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มทอผ้าไหมย้อมสีธรรมชาติ ครูจามรท่านนี้ไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องการทอผ้าแต่อย่างใด แต่มีคุณย่าคุณยายและสมาชิกผู้เฒ่าอีกหลายคนที่เป็นเสมือนครูช่าง ทำงานทอผ้าสุดปราณีต โดยมีครูจามรเป็นคนให้แนวทางเรื่องสีสัน การออกแบบ และช่วยขาย

ที่ครูจามร ใน จ.บุรีรัมย์ เป็นคนกำหนดลวดลายและสีให้คุณย่าคุณยายที่บ้าน ‘ตำหมี่’
(ขวา) ผ้าพันคอไหมลายเกล็ดเต่าจากขอนแก่น ที่ปรับขนาดและสีสันให้มีความทันสมัยขึ้น
ครูจามรบอกเราว่าเขามีแนวคิดที่จะรวมกลุ่มคนทอผ้าเก่งๆ มาเป็นครูฝึกปรือสอนคนที่ไม่เก่ง แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องทำคือการหาตลาดและลูกค้า เพราะถ้าไม่มีคนสนใจซื้อผ้า ความฝันของเขาในการสืบสานฝีมือช่างทอผ้าก็ย่อมไม่เกิด
เราอดคิดไม่ได้ว่า…
จะเป็นอย่างไร ถ้าวันหนึ่งเราตื่นขึ้นมา แล้วพบว่าเราไม่รู้เรื่องราวอะไรเลยเกี่ยวกับตัวเองในหนหลัง
จะเป็นอย่างไร ถ้าวันหนึ่งเราตื่นขึ้นมา แล้วพบว่าเราไม่รู้รายละเอียดอันใดเลยของวงศ์วานว่านเครือของเรา
จะเป็นอย่างไร ถ้าวันหนึ่งเราตื่นขึ้นมา แล้วพบว่าเราไม่รู้ว่าชนชาติบรรพบุรุษของเรามีชีวิตสืบต่อกันมาอย่างไร
คนคนหนึ่งหล่อหลอมตัวตนของเขาจากอะไรบ้าง
การเรียนรู้ สิ่งแวดล้อม ประสบการณ์ การตกผลึกทางความคิด หรืออื่นใดอีก
เคยมีคนกล่าวว่า เราจะเรียนรู้ว่าชาติหนึ่งเป็นอย่างไร ก็ให้ดูจากคนในชาตินั้น ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เราพบว่าการเมืองไทย และสังคมไทย ที่หมุนเหวี่ยงบ้าคลั่งได้ทำให้บางสิ่ง บางอย่าง บางคน สะบักสะบอมบอบช้ำ หดเล็กเหลือตัวกระจิดริดจนแทบจะมองไม่เห็นสังเกตไม่พบ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงมีบางสิ่ง บางอย่าง บางคน ที่ทานทนต่อแรงเหวี่ยงนี้และไม่หลุดหายไปจากวงโคจรของชนชาติไทยได้
ด้วยการออกแบบสีสันและลวดลายผ้าให้ต้องกับรสนิยมสากล Jim Thompson ยังคงสร้างชื่อเสียงให้ไหมไทยเป็นที่โดดเด่นระดับโลกมาหลายสิบปี

โครงการพัฒนาดอยตุงฯ ยังคงถ่ายทอดเอกลักษณ์คุณภาพงานฝีมือและวัฒนธรรมไทยผ่านทางงานแฟชั่น ของใช้ ของตกแต่ง ฯลฯ
พรมทอมือฝีมือชาวเขา ผสานหลากลวดลายในพรมใหญ่ยักษ์ ผลงานแฟชั่นจากดอยตุงไลฟ์สไตล์
Alexander Lamont เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการสร้างมูลค่าให้กับหัตถศิลป์หลายอย่างของไทย
Meso Boxes
งานทำมือด้วยเทคนิก straw marquetry ฝีมือช่างไทยแจกันบรอนซ์ฝีมือช่างไทยในรูปทรงโก้ร่วมสมัย
อาจารย์เถ่า – มีชัย แต้สุจริยา แห่ง ‘บ้านคำปุน’ เมืองอุบลฯ ปลุกความรุ่งเรืองและต่อยอดผ้าทออีสานมาหลายทศวรรษ สร้างทั้งคุณค่าและราคาที่ทำให้คนทึ่ง
รวมถึงนักออกแบบและศิลปินอีกหลายๆ คน ไม่ว่าจะเป็น ม.ล. ภาวินี สันติศิริ (Ayodhya) และ สุวรรณ คงขุนเทียน (Yothaka) ที่สร้างสรรค์งานสานฝีมือไทยให้เป็นผลงานดีไซน์ชั้นนำ เพลินจันทร์ วิญญรัตน์ (Mook V) ผู้รังสรรค์ผ้าท้องถิ่นให้เป็นทั้งงานตกแต่ง งานศิลปะ และแฟชั่น รัฐ เปลี่ยนสุข ผู้ร่วมสร้างงานเครื่องเคลือบไทยให้เป็นทั้งของใช้และศิลปะวัตถุ ณัฏฐิญาณ์ สุขสถาน (Nadyn Jadyn) กับการทำงานสานและผ้าทอไทยในรูปฟอร์มใหม่ หรือคนหนุ่มอย่าง จิรโรจน์ พจนาวราพันธุ์ ที่ทำให้ vtthai.com กลายเป็นร้านค้าออนไลน์ขายหัตถกรรมไทยไปทั่วโลก
Zig Rug โดย ม.ล. ภาวินี สันติศิริ Food Cover จาก Ayodhya Lunar Chair โดย สุวรรณ คงขุนเทียน ผ้าปักฟอร์มใหม่จาก Nadyn Jadyn งานศิลป์ลงรักปิดทอง โดย รัฐ เปลี่ยนสุข
Posted by MookV.Lifestyle on Monday, 14 January 2019
เขาและเธอเหล่านี้เป็นตัวอย่างของ ‘คนต่อมือ’ จำนวนหนึ่งในสังคมไทย ที่ได้ร่วมส่งพลังให้งานหัตถศิลป์พื้นถิ่นยังคงจรัสแสง พวกเขาได้ต่อมือกัน พวกเขาได้ต่อมือครู และเราน่าจะได้ต่อมือกันไปอย่างนี้เรื่อยๆ เพื่อให้ศิลปหัตถกรรมไทยมีเหตุผลที่จะอยู่ร่วมกับเราในชีวิต …ไม่ได้นอนนิ่งอยู่แค่ใน ‘หีบ’
ภาพ: ศิริวรรณ เต็มผาติ, สุวิทย์ วงศ์รุจิราวาณิชย์ และจากแบรนด์ต่างๆ ที่กล่าวถึง