fbpx

Hand vs Machine จำเป็นไหมที่มนุษย์และเครื่องจักรต้องอยู่ในโลกคู่ขนาน?

คุยกับ มิน-มิญชญา ชโยสัมฤทธิ์ ถึง Hand vs Machine งานไฟนอลโปรเจคของป.โท ที่นำมาสู่ The Archivist ในวันนี้

ถอดบทเรียนจากศิลปนิพนธ์ ป.โทของมิญชญา ชโยสัมฤทธิ์ แห่ง The Archivist

เช่นเดียวกับคำถามที่ว่าไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน คำถามที่ว่ามนุษย์หรือเครื่องจักรจะอยู่ร่วมกันได้ไหมดูจะนำไปสู่การอภิปรายไม่จบสิ้น แถมยังเป็นประเด็นคลาสสิกที่มีการขบคิดมานานแล้วด้วย เห็นได้จากผลงานศิลปนิพนธ์ของมิญชญา ชโยสัมฤทธิ์ ที่แม้จะทำไว้ตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว แต่เมื่อหยิบยกมาพูดถึงก็ยังคงร่วมสมัยอยู่

มิน-มิญชญา ชโยสัมฤทธิ์ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง ดิ อาร์ไควิสท (The Archivist) ทำโปรเจคชื่อ Hand vs Machine เป็นผลงานจบการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขา Communication Design จาก Central Saint Martins College of Art and Design ลอนดอน ในปีค.ศ. 2010 หลังจากเรียนจบ เธอจึงกลับมาเมืองไทยและก่อตั้งสตูดิโอ ดิ อาร์ไควิสท ร่วมกับ วุ้น-คณาพร ผาสุข ด้วยความที่งานในตอนนี้ของเธอเป็นการผสมผสานระหว่าง “งานมือ”และ“เครื่องจักร” เราจึงขอนัดพูดคุยเรื่องมุมมองของเธอเกี่ยวกับประเด็นนี้ รวมถึงที่มาที่ไปของผลงานจบการศึกษาที่นำมาสู่ดิ อาร์ไควิสทในวันนี้ด้วย

ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยว่าสาขา Information Design นี้เค้าเรียนอะไรบ้าง
“ตอนนั้นเราเรียนจบกราฟิกดีไซน์ที่ศิลปากร แล้วก็ไปต่อโทด้านนี้ เป็นการออกแบบวิธีเล่าเรื่องข้อมูลต่างๆ ซึ่งเพื่อนๆ ที่เรียนด้วยกันก็จะสนใจเรื่องแตกต่างกันออกไป พอมีข้อมูลก็มาถึงขั้นตอนการคิดหาวิธีเล่า ซึ่งก็สนุกดีค่ะ ไปเรียนแล้วได้เห็นอะไรหลากหลาย เพราะการสื่อสารมันไม่ได้มีแค่วิธีเดียว ซึ่งคอร์สนี้จะเน้นให้แต่ละคนพัฒนางานส่วนตัว ปีแรกก็ให้ทดลองทำหลายๆ โปรเจค เพื่อดูว่าเราจะพัฒนางานของเรายังไง” 

ทำไมถึงเลือกทำเรื่องนี้เป็นผลงานจบการศึกษา
“พอต้องคิดหัวข้อทำธีซิส เราก็มีปัญหาว่าเราหาเรื่องที่เราอยากเล่าจริงๆ แบบต้องอยู่กับมันทั้งปีไม่ได้ สุดท้ายก็เลยมาค้นพบว่าจริงๆ ข้อมูลที่เราอยากเล่าก็คือข้อมูลแบบ personal คือข้อมูลที่เราคิดว่าอยู่ใกล้ตัวที่สุดแล้วรู้สึกจริงกับมัน เพราะเรื่องอื่นๆลองไปหาแล้วก็ขยายต่อไปเรื่อยๆ ก็ไม่รู้ว่าอะไรจริงไม่จริง
พอคิดว่าจะหยิบเรื่องที่ personal ตอนนั้นก็สนใจหลายๆ ประเด็น ทั้งความเบื่อหน่าย ความขี้เกียจ การหมดแพสชั่นหรือแรงขับเคลื่อนในการคิดงาน การไม่อยากทำอะไร เหมือนตอนนั้นรู้สึกแบบนั้น ก็เลยคิดว่าเป็นไปได้มั้ยที่เราจะหยิบเรื่องนั้นมาทำงาน จริงๆ ปีแรกเราก็ทำงานที่เป็นงาน personal อยู่แล้ว คืองาน A Visual Sleep Diary เป็นการถ่ายรูปตัวเองตอนหลับ แล้วเก็บข้อมูลมาทำเป็นชาร์ต 
ช่วงที่เพื่อนคิดหัวข้อกันได้แล้ว เราคิดไม่ออกก็นั่งขีดเส้นไปเรื่อยๆ เป็นการทำอะไรซ้ำๆ พอสังเกตตัวเองก็เริ่มสนใจว่าการทำอะไรซ้ำๆ นี่เอามาโยงกับเรื่องความขี้เกียจได้หรือเปล่า เพื่อที่จะสื่อสารความรู้สึกทั้งหมดออกมา แล้วมันจะเล่าอะไรได้บ้าง ตอนนั้นเราก็เริ่มสนใจเรื่องความคราฟต์พอดี ก็เลยคิดว่ามันจะเอามาโยงกับงานกราฟิกได้มั้ย”
ภาพ: มิญชญา ชโยสัมฤทธิ์

“There is repetition everywhere and nothing is found only once in the world”
– Johann Wolfgang von Goethe

จากความเบื่อมาสู่การเปรียบเทียบได้อย่างไร
“จากการที่เราเอาไอเดียนี้ไปเล่าให้ฟังในคลาส แล้วก็มีคนถามขึ้นมาว่าทำไมต้องเขียนมือล่ะ ทำไมไม่ใช้คอม ซึ่งก่อนหน้านั้นอาชีพเราเราใช้คอมมาตลอด ทำทุกอย่างอย่างรวดเร็ว เราก็เลย เออ ทำไมต้องใช้ งั้นลองเอามาเทียบกันเลยดีกว่า นั่นคือก็จุดเริ่มต้นของงาน คือตั้งใจจะทำขึ้นมาเพื่อเปรียบเทียบ แต่ปรากฏว่าการเปรียบเทียบนี้มันกลายเป็นสื่อสารได้หลายอย่างที่เราอยากจะเปรียบเทียบ กลายเป็นว่าที่เราอยากจะพูดว่าคุณค่าของสองอย่างนี้ล่ะมันเป็นยังไง หรือผลลัพธ์มันออกมาเป็นยังไง การใช้เวลาหรือความรู้สึกของคนสร้างสรรค์เป็นยังไง ทุกอย่างมันก็เลยถ่ายทอดออกมาจากการแค่เอาสองอย่างนี้มาเปรียบเทียบกัน”

ดูแล้วมีวิธีการนำเสนอข้อมูลหลายแบบมาก
“มีเป็นงานดรอว์อิ้ง 8 ชุดที่เปรียบเทียบกัน ด้านหนึ่งเป็นการวาดด้วยมือ อีกด้านเป็นการวาดในคอมพิวเตอร์ที่เราสามารถ duplicate ได้ แค่ใช้คำสั่งแล้วมันก็จะออกมาเป็นพรืด เราก็จับเวลาเปรียบเทียบ แพทเทิร์นก็จะเป็นรูปแนวลวงตา แต่เรียบง่าย เพื่อที่จะได้เปรียบเทียบได้ชัดเจน แล้วก็มีการบันทึกเป็นวิดีโอเพื่อจะเล่าการทำงานตรงนี้ นอกจากนี้ก็มีหนังสือด้วยเพื่อเป็นเหมือนบันทึกแต่ละกระบวนการและเครื่องมือต่างๆที่ใช้ หนังสือเป็นเหมือนงานโคลสอัพให้เห็นดีเทล ไม่งั้นตัวดีเทลจะเป็นเราเห็นคนเดียวเวลาทำ พอทำเสร็จก็รู้สึกว่ามันก็พูดยากว่ามันเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไร แต่เราเห็นตลอด แล้วเราก็เกิดความคิดต่างๆ ระหว่างที่เราค่อยๆทำ” 

งานชุดนี้ทำให้มองเรื่องงานฝีมือกับเครื่องจักรแตกต่างออกไปไหม
“เราเคยคิดว่ามองเรื่องนี้เปลี่ยนไปเรื่อยๆ แต่ลึกๆ แล้วก็ไม่เปลี่ยนนะ หลายคนชอบถามว่าข้างไหนดีกว่ากัน ซึ่งมันไม่ใช่บทสรุปของงานที่ทำ ก็คือตอนนั้นแค่อยากเทียบมันออกมาแล้วให้คนดูเป็นคนตัดสินเอง ในหลายๆ โอกาสข้างหนึ่งอาจจะดีกว่าข้างหนึ่งก็ได้ บทสรุปสำหรับเราคือต้องมีทั้งสองฝั่ง และทุกวันนี้เราก็ต้องทำงานที่ต้องใช้ทั้งสองด้าน และคิดว่าการมีทั้งสองด้านนี่มันยิ่งดีกว่าการมีแค่ฝั่งเดียว”

ดิ อาร์ไควิสท เกิดขึ้นได้อย่างไร
“ส่วนหนึ่งที่เริ่มสนใจงานมืออาจเพราะตอนไปเรียน เราไปเห็นพวกนักวาดภาพประกอบหรือกราฟิกที่เขาพิมพ์งานแบบจำนวนน้อยๆ แต่ไม่ต้องไปใช้เครื่อง เขาก็จะมีสตูดิโอให้คนไปเช่าพิมพ์โปสเตอร์ของตัวเอง มันคือเจ้าของงานจบงานด้วยตัวเอง ไม่ต้องเข้าโรงพิมพ์ใหญ่ๆแล้วยังได้เท็กซ์เจอร์จากการพิมพ์ด้วย  พอกลับมาก็สนใจวิธีการพิมพ์แบบซิลค์สกรีน เพราะดูยังเกี่ยวข้องกับการออกแบบกราฟิกแล้วใช้มือทำได้ด้วย งานที่เคยทำในตอนนั้นเลยส่งต่อมาเป็นสตูดิโอที่ทำตอนนี้ แค่มันอาจจะเปลี่ยนรูปแบบ ไม่ใช่การวาดแล้ว แต่งานที่ทำตอนนี้คือทำซิลค์สกรีนด้วยมือแล้วร่วมงานกับคนอื่นๆ แล้วก็พิมพ์งานของตัวเองด้วย ที่นี่เราใช้เทคนิคเดียวคือซิลค์สกรีน งานที่ทำจึงค่อนข้างเป็นการทดลองเทคนิคว่าพิมพ์ละเอียดกว่านี้ได้มั้ย พิมพ์ยากจะทำยังไงได้บ้าง 
เรามองว่าตั้งแต่โปรเจ็กต์นั้นจนถึงปัจจุบัน มันเป็นเรื่องของการเปรียบเทียบ ตอนนั้นเรารู้สึกถึงแต่ละเส้นที่ขีด อาจเป็นการเปรียบเทียบตัวเราตอนเพิ่งเริ่มขีดภาพแรกกับภาพสุดท้ายซึ่งก็เปลี่ยนไปแล้ว ตอนที่มาทำซิลค์สกรีน ปีแรกที่เพิ่งทำกับตอนนี้มันก็เปลี่ยนไปมากๆ หรือแค่แผ่นนี้กับแผ่นถัดไป รายละเอียดหรือแรงที่เปลี่ยนไป อันนี้คือสิ่งเล็กๆมากๆ ที่เราค่อยๆ มองเห็นและเรียนรู้จากการค่อยๆเทียบตรงนี้ กับการทำซ้ำๆ แม้ผลออกมาจะดูคล้ายกัน แต่สำหรับเราคือไม่มีแผ่นไหนเหมือนกันเลย”

ภาพ: The Archivist

ตอนนี้เลยเป็นการทำงานที่ได้ใช้ทั้งสองด้าน
“ซึ่งก็ดีนะ เหมือนตอนเรียนเรารู้สึกมันขาดช่วงไป ปีแรกๆ อาจารย์ก็ให้ทำมือบ้าง แต่อยู่ดีๆ ก็เปลี่ยนเป็นคอมเลย มันเลยไม่มีจุดตรงกลาง ตอนนั้นเราเลยรู้สึกว่ามันอาจจะเอามาใช้กับโลกความเป็นจริงไม่ได้ เพราะสุดท้ายก็ต้องไปจบทุกอย่างในคอม แต่ตอนนี้คือต้องใช้สองอย่าง เราอาจจะสเก็ตช์จากในคอม แต่วิธีการที่ใช้มือทำให้ผลลัพธ์มันคาดเดาไม่ได้หรือไม่เหมือนกับที่เราเห็น” 

เรียนรู้เรื่องซิลค์สกรีนยังไง
“หาความรู้เองค่ะ มีเพื่อนชวนไปเรียนพิมพ์เสื้อ แต่เราไม่สามารถใช้ชุดความรู้จากการพิมพ์เสื้อมาพิมพ์กระดาษ ก็เลยต้องดูว่ามีปัจจัยอะไรบ้างแล้วค่อยๆดูในรายละเอียด ปรับและทดลอง จากเมื่อก่อนเราต้องแก้ปัญหาเรื่องการออกแบบกราฟิก ตอนนี้ต้องมาแก้ปัญหาเรื่องการพิมพ์แทน ว่าสีหรือเนื้อกระดาษเป็นแบบนี้ต้องทำยังไง หรือเวลาร่วมงานกับคนอื่น เขาไม่ได้คิดมาเป็นเลเยอร์ เราต้องมองภาพนั้นแล้วแตกออกมาเป็นชั้นสี เพราะมันคือการพิมพ์สีละชั้น วิธีการมองของเราก็เลยเป็นเลเยอร์ แล้วก็มองไปเป็นวิธีเลยว่าจะพิมพ์ภาพนี้มันพิมพ์ได้กี่วิธี ซึ่งก็ไม่มีสูตรตายตัว บางทีพิมพ์อยู่ก็คิดได้ว่าทำแบบนั้นดีกว่า ก็ต้องสลับลำดับ ซึ่งมันก็ทำได้ ด้วยความที่เป็นงานแมนวลก็ทดลองตรงนั้นได้เลย สตูดิโอนี้เหมือนเป็นการทำความฝันตอนเด็กๆให้เป็นจริงด้วย เพราะเมื่อก่อนเวลาออกแบบอะไรแล้วจะพิมพ์ เราแทบไม่มีสิทธิ์ลองถ้าเราไม่ได้ไปอยู่หน้าแท่นกับคนที่โรงพิมพ์ แต่ที่นี่เราจบงานได้เลย”
ภาพ: The Archivist
ดิ อาร์ไควิสท มีเซอร์วิสอะไรบ้าง
“ก็จะมีส่วนงานพิมพ์แบบคัสตอม แล้วก็มีงานที่เราทำร่วมกับศิลปินหรือดีไซเนอร์ นอกจากนี้ก็มีนิทรรศการที่เป็นเหมือนการแสดงจุดยืนของสตูดิโอ ว่าเราไม่ได้อยากเป็นแค่ช่างพิมพ์เฉยๆ และเราก็อยากจะแสดงให้ดีไซเนอร์และผู้ชมเห็นว่ารายละเอียดการทำงานเป็นยังไง ซึ่งก็ทำมา 6 ปีแล้ว เราว่าการรับรู้ของคนก็ค่อยๆ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ นะ”

สุดท้ายนี้ มองเรื่องงานคราฟต์กับแมชชีนอย่างไรบ้าง
“อย่างที่บอก เราว่ามันก็ต้องไปด้วยกัน ถ้ามีแต่ machine แต่ไม่สามารถคิดแบบ man ได้ ก็อาจจะไม่ใช่ การคิดแบบคนมันเป็นเหมือนจุดเล็กๆ ในกระบวนการ เหมือนเรารันงานแล้วเราเห็นปัญหา และมันคือโมเมนต์นั้นที่เราตัดสินใจว่าจะแก้ปัญหาแบบนี้ ซึ่งมันอาจจะมีหลายวิธีก็ได้ สิ่งนี้มันต้องมี เพื่อที่จะเป็นไกด์ให้เครื่องจักรไปทำให้เร็วขึ้น เรามองว่ามันต้องเรียนรู้ควบคู่กันไป”

ติดตามผลงานของ The Archivist ได้ที่ www.thearchivist.co / IG: @thearchivist.co 

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin
Share on pinterest

More to explore

แผลเก่า:Old Wound แผลเดิมในเรื่องเล่า ที่ยังเป็นแผลสดของพล็อตสังคมไทย

นิทรรศการ แผลเก่า / Old Wound นิทรรศการเดี่ยวโดย ประทีป สุธาทองไทย ศิลปินนักตั้งคำถาม ผู้ซ่อนบทสนทนาทางสังคมไว้ในงานเสมอ

“Yesterday I Was, Tomorrow I Will Be” นิทรรศการแห่งความฝันและความสำเร็จของ “Pomme Chan”

ก้าวสู่โลกที่เปี่ยมไปด้วยแพชชั่น ผ่านผลงานศิลปะตั้งแต่ชิ้นแรกที่น้อยคนจะได้เห็น สู่วันที่ประสบความสำเร็จในสายอาชีพร่วมระยะเวลา 20 ปี