จากจุดเริ่มต้นของเพจที่เอาไว้แชร์ “ภาพสีน้ำ”
กลายร่างเป็นเพจ “ภาพถ่ายจากทริปเดินทาง” ในสองปีต่อมา
และกลายร่างซ้ำอีกเป็นเพจ “แต่งภาพสไตล์ฮาวทู” ที่มีผู้ติดตามหลักแสนคนในวันนี้
กิ๊ฟ – วริษฐา ลีลเศรษฐพร ครีเอเตอร์ดาวรุ่ง เจ้าของเพจ Gift Lee ใช้เวลาร่วมสองปีลองผิดลองถูก ถึงได้พบจุดลงตัวระหว่างความเป็นตัวตนและสิ่งที่คนในโซเชียลตามหา — Kooper ขอให้เธอสรุปแนวคิดการออกแบบคอนเทนต์ การพัฒนาตนเอง และสไตล์การแต่งภาพที่ใครต่างก็บอกว่ามันช่างดูคูล ทำตามง่าย และใช้ได้จริง เผื่อว่าใครจะอยากนำไปลองใช้กับการทำงานของตัวเองดูบ้าง
1. คิดเพื่อมือสมัครเล่น
กิ๊ฟเชื่อว่าคนอายุ 40 อัพมาดูเพจกิ๊ฟเขาก็รู้เรื่องค่ะ เพราะกิ๊ฟไม่ใช่คนที่เล่าเรื่องด้วยโทนที่เป็นทางการ เราชอบพูดอะไรให้มันง่ายๆ ดังนั้นสำหรับคนที่ไม่ได้เรียนด้านนี้มา จะอายุมากอายุน้อย หรือไม่มีแบคกราวน์ด้านออนไลน์ กิ๊ฟว่าก็น่าจะเข้าใจได้หมด นั่นคือความตั้งใจแรกของเราที่อยากทำให้คนอื่นนอกวงการดีไซน์ได้ประโยชน์จากคอนเทนต์แบบนี้
ฟีดแบคก็มีทั้งบวกและลบค่ะ แต่บวกเยอะกว่า (หัวเราะ) ส่วนใหญ่จะบอกว่าคอนเทนต์เราเข้าใจง่าย และเราดูเป็นธรรมชาติ เป็นตัวของตัวเองดี ส่วนแง่ลบก็มีที่เขามองว่ากิ๊ฟไม่ได้ทำงานด้านนี้ ไม่ได้เรียนจบทางนี้ แล้วมาพูดมาสอนตามความเข้าใจของตัวเอง ตอนแรกก็อึ้งไปเหมือนกันค่ะ แต่พี่ๆ ที่เป็นครีเอเตอร์ด้วยกันเขาก็บอกว่ามันยังมีคนอีกเยอะแยะที่ไม่มีความรู้เรื่องนี้เลยสักนิด คนกลุ่มนี้ต่างหากที่เขาจะได้ประโยชน์จากคอนเทนต์เรา ส่วนคนที่เก่งกว่าเรา เขาจะมองว่าเรายังไม่เก่งก็ไม่เป็นไร เพราะเขาไม่ใช่ target ของเพจ
“กิ๊ฟอยากให้เพจนี้เป็นตัวช่วยในการเริ่มต้นสำหรับคนที่ไม่ได้เรียนมาในสายครีเอทีฟ หรือใครก็ตามที่อยากลองทำงานวิช่วลด้วยตัวเอง”
ที่น่าสนใจคือพอทำมาได้สักพักแล้วกิ๊ฟดูข้อมูล demographic ของคนตามเพจ ปรากฏว่ามีผู้ชายผู้หญิงเท่าๆ กันเลย แปลว่าเราทำคอนเทนต์ได้เป็นกลางมาก ส่วนกลุ่มอายุคือคนวัยเดียวกับเรา (วัย 25 – 34) ติดตามมากสุด ซึ่งน่าแปลกนะ เพราะเพื่อนๆ ที่เป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ด้วยกัน ผู้ตามหลักของเขามักเป็นกลุ่มคนที่อายุน้อยกว่า

2. จับเทรนด์ครีเอเตอร์
กิ๊ฟสังเกตว่ามีอยู่เทรนด์หนึ่งที่เห็นได้ชัดมาก คือการที่เด็กรุ่นใหม่จำนวนมหาศาลอยากเข้ามาทำสิ่งนี้เป็นอาชีพหลักเลย เช่นอยากทำเพจ อยากเป็น Youtuber อยากเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ และในขณะเดียวกัน ก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่โตกว่าที่เขาจับค่านิยมนี้ได้ เขาก็เลยหันมาทำคอนเทนต์เพื่อเสิร์ฟเด็กๆ กลุ่มนี้ซะเลย นั่นคือ การทำคอนเทนต์สำหรับคนอยากเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์อีกที
เพราะเด็กรุ่นใหม่เขาก็ฝันอยากทำสิ่งที่เขารักน่ะค่ะ แต่แน่นอนว่าเขาก็ยังต้องการคนที่มีประสบการณ์มากกว่ามาช่วยแนะนำ ว่าเขาควรต้องเริ่มยังไง ซึ่งมันทำให้กิ๊ฟเชื่อว่าในอนาคตโมเดลของ Passion Economy (หรือ Creator for Creator) นี่น่าจะไปได้ดีนะ เพราะมันคือการสร้างคอมมูนิตี้หรือคอนเนกชั่นระหว่างครีเอเตอร์ด้วยกันเอง เราไม่จำเป็นต้องรอให้แบรนด์ใหญ่ๆ หรือคนตัวใหญ่ๆ หันมองเราก่อนก็ได้
“คนที่กำลังรันวงการคอนเทนต์ช่วงนี้คือวัยมิลเลเนียล วัย 20 ปลายๆ ส่วนอายุของผู้ที่ติดตามคอนเทนต์จะขยายออกไปอีกหน่อยทั้งบนและล่าง คือมีคนที่โตกว่าอีกนิดและเด็กกว่าอีกหน่อย“
อีกเทรนด์ที่มาแรงมากจริงๆ คือ คอนเทนต์วิดีโอ ซึ่งส่วนตัวกิ๊ฟก็เพิ่งหันมาทำวิดีโอในช่วงโควิด – 19 นี่เอง แต่พอทำแล้วมันปังเลยค่ะ มันติดตลาดเร็วมาก ซึ่งลึกๆ เราก็พอรู้แหละว่าวิดีโอมันเสพง่ายกว่าภาพหรือตัวหนังสือ เพราะมันเห็นหน้าเห็นตา มันมี human connection ซึ่งก็น่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้กราฟของเพจเรามันวิ่งขึ้นเร็ว ส่วนอีกปัจจัยหนึ่งคงเพราะฟอลโลเวอร์ของกิ๊ฟเขาไม่ได้คาดหวังจะมาเจอกับอาจารย์ที่เก่งทุกเรื่อง เก่งทุกอย่าง พูดก็เก่งเหมือนพิธิกร ฯลฯ โชคดีว่าฟอลโลเวอร์ของเราเขาไม่ได้มองหาสิ่งนั้น
3. รักษาความเรียล
กิ๊ฟคิดว่าฟอลโลเวอร์ของเพจ Gift Lee เขาชอบ authenticity ในการนำเสนอล่ะ คือเราจะเงอะงะบ้าง ลิ้นพันกันบ้าง มันก็โอเค และการที่เราแสดงออกถึงความเป็นคนธรรมดานี่แหละ น่าจะเป็นจุดที่ทำให้แฟนเพจผูกพันกับเรามากขึ้น จากแต่ก่อนที่เขาไม่เคยคุยกับกิ๊ฟเลย กลายเป็นว่าทุกวันนี้เขา tag เพื่อนให้มาดูเรา ช่วงหลังมีคนคอมเมนท์มาคุยกับกิ๊ฟเยอะมาก น่าดีใจ
4. แก้ปัญหาให้คน
หัวใจข้อต่อมาคือการที่เราต้องให้ value กับคนดู หมายถึงเราต้องทำคอนเทนต์ที่มันแก้ปัญหาให้คนอื่นได้ ไม่ใช่แค่มานั่งโม้ว่ากิ๊ฟมี skill อะไรคูลๆ บ้าง มาโอ้อวดไลฟ์สไตล์เฉยๆ แต่สุดท้ายไม่ได้แชร์เทคนิกอะไรให้เลย แบบนั้นคงไม่มีใครอยากตามกิ๊ฟมั้ง แต่ถ้าเราแชร์คอนเทนต์ที่เขาได้ประโยชน์บางอย่างกลับไป นั่นถึงจะถือว่าคอนเทนต์ของเราประสบความสำเร็จ และคนเขาก็อยากจะแชร์ต่อ
5. ค้นหามุมต่าง
อีกเรื่องคือการสร้างความต่างค่ะ เพราะทุกวันนี้มีคอนเทนต์ How to ในอินเทอร์เน็ตเยอะมาก หัวข้อก็คล้ายๆ กันนี่แหละ เช่น How to ใช้ Lightroom หรือ How to ใช้ Photoshop เพื่อแต่งรูปให้ผอม ให้ขายาว คอนเทนต์มันซ้ำ ๆ กันหมดแล้วล่ะ แต่อย่าลืมว่าถ้าหากวิธีการนำเสนอ หรือวิธีการสื่อสาร ที่มันแตกต่างได้ กิ๊ฟว่าเราก็ยังมีโอกาสปังนะ หรือถ้าเราหาทางสร้าง angle ใหม่ให้คอนเทนต์ที่มันซ้ำ ๆ กันนี้ เช่นเอาเรื่อง How to แต่งรูปให้ขายาว มาบวกกับเรื่องแฟชั่น เช่นกลายเป็นหัวข้อ ‘แต่งตัวอย่างไรให้ขายาว + ยืดขายาวอีกขั้นด้วย Photoshop’ มันก็เพิ่มโอกาสที่คนจะสนใจขึ้นมา
4. ให้เวลากับโปรดักชั่น
ถ้านับว่าคอนเทนต์ส่วนมากตอนนี้กิ๊ฟทำเพื่อสนองนี้ดตัวเองเป็นหลัก ก็ต้องถือว่ากิ๊ฟให้ความสำคัญกับโปรดักชั่นมากพอสมควรค่ะ จากจุดเริ่มต้นตอนเริ่มถ่ายทำวิดีโอตัวเองไปจนถึงจุดที่อัพโหลดขึ้นเพจ ค่าเฉลี่ยเวลาที่กิ๊ฟใช้ก็น่าจะเป็นสัปดาห์อยู่ นี่ยังไม่รวมเวลาที่เราคิดไอเดีย คิดสคริปต์ ทำ storyboard และอื่นๆ ที่ก็ใช้เวลาเหมือนกัน
“กิ๊ฟจะให้ความสำคัญกับการแบ่งสัดส่วนการเล่าเรื่องที่ต้องเข้าใจง่าย เอาเข้าจริงการย่อยเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย มันไม่ง่ายนะ แต่นี่คือสิ่งที่ storyteller ต้องทำ ต้องให้ความสำคัญมากๆ“
5. สรรหาวิธีเล่า
ทุกวันนี้ถ้าคิดถึงคอนเทนต์ที่มันจะไวรัลง่าย หัวข้อยอดฮิตในการตั้งชื่อก็จะเป็นพวก 5 เทคนิกที่ทำให้… หรือ 3 เคล็ดลับในการทำ…ซึ่งไอเดียการทำคอนเทนต์ของกิ๊ฟมันก็มีฐานคิดแบบนี้แหละ แต่เราไม่ชอบตั้งชื่อคลิปแบบนี้ เพราะเรารู้สึกว่าชื่อคลิปแบบนี้มันชวนให้นึกถึงพวกคอนเทนท์ clickbait น่ะ (หัวเราะ) แต่สุดท้าย ข้อดีของคอนเทนท์สไตล์นี้คือมันเข้าใจง่ายค่ะ ติดตามก็ง่าย คนดูรู้ว่าจะ navigate วิดีโอของเราอย่างไร ฉะนั้นเวลากิ๊ฟทำวิดีโอมันจะมีการแบ่งซอยเป็นข้อๆ เสมอ
แต่ในอนาคตกิ๊ฟอาจจะมีวิธีเล่าเรื่องแบบอื่นอีกก็ได้ เพราะมันก็มีหลายแนวที่เราสนใจ หนึ่งในนั้นคือ 3 acts narrative ที่นิยมใช้ในภาพยนตร์ เพราะอย่าง Matt D’Avella เองก็ใช้วิธีเล่าเรื่องแบบนี้ หรือ Casey Neistat ผู้คิดค้น daily vlogging ขึ้นในโลกก็เล่าเรื่องแบบนี้เหมือนกัน อีกเรื่องที่กิ๊ฟอยากจะลองใช้เป็นไอเดียในการนำเสนอคอนเทนต์คือการสร้าง curiosity gap ค่ะ หมายถึงการที่เราตั้งคำถามชวนให้สงสัย แต่เราจะยังไม่เฉลย ทีนี้พอคนสงสัยพอประมาณ เขาก็จะคลิกเข้าไปดูคอนเทนต์ของเราต่อ (ยิ้ม)
“วิธีคิดในการเล่าเรื่องมันต้องมาจากความสนใจของเราเองด้วย ส่วนตัวกิ๊ฟชอบเสพคอนเทนต์อยู่แล้ว เราชอบเข้าไปดูนู่นนั่นนี่ในยูทูบ ขวนขวายหาความรู้เอง กิ๊ฟดูหมดทั้งการทำหนัง การทำมาร์เก็ตติ้ง เทคนิกการทำคอนเทนต์ของคนอื่น มันก็ค่อยๆ ซึมซับเข้ามาในตัวเรา พอถึงเวลาที่เราจะทำงาน มันก็เหมือนเราไปเปิดกรุหนังสือเก่ามาใช้”
6. ทำให้เป็นอาชีพ
กิ๊ฟว่ามีคนจำนวนไม่น้อยแหละที่ฝันอยากทำอาชีพคอนเทนต์ครีเอเตอร์เป็นอาชีพหลัก แต่กิ๊ฟคงเป็นคนกลุ่มน้อยที่อยากทำสิ่งนี้เป็นอาชีพเสริมไปเรื่อยๆ เพราะเราไม่มั่นใจว่าเราจะสนุกกับมันไปได้จนถึงอายุไหน ความสนใจของเรามันก็เปลี่ยนบ่อยเปลี่ยนเร็วเหมือนกัน พออายุ 35 เราอาจไม่ได้อยากมานั่งทำวิดีโอแล้ว เราอาจจะอยากไปทำสิ่งอื่นที่มันท้าทายขึ้น ความชอบของคนแต่ละวัยมันก็ไม่เหมือนกัน เอาจริงกิ๊ฟนับถือคนที่ทำคอนเทนต์เหมือนๆ เดิมมาได้ 6-7 ปีโดยที่ยังสนุกกับมันนะ แต่เราก็ไม่รู้อนาคตหรอก ไม่แน่กิ๊ฟอาจจะสนุกกับมันไปได้ยาวกว่าที่คิดก็ได้
ส่วนเรื่องเงินๆ ทองๆ ในการทำอาชีพนี้ กิ๊ฟพูดได้เต็มปากเลยว่าช่วงแรกมันจะไม่มีค่ะ (หัวเราะ) และมันจะไม่มีไปสักพักใหญ่เลยด้วย เพราะไม่ใช่ว่าเราทำเพจปุ๊บแล้วจะมีคนอยากมาจ้างเราทันที เราต้องสร้างกระแสให้ได้ประมาณหนึ่งก่อน เพจกิ๊ฟถือว่าช้าหน่อย ใช้เวลาสองปีกว่าถึงจะเจอทาง แต่พอมันติดลมแล้วก็มีแบรนด์ต่างๆ เริ่มติดต่อมาขอ tie-in สินค้า หรือส่งสินค้ามาให้เราลองใช้ มารีวิวในเพจ แล้วเราก็จะสร้างรายได้จากตรงนั้น
7. เรียนรู้จากไอดอล
คนแรกคือ พี่ว่านไฉ ที่เป็น travel blogger (อาษาพาไปหลง) ค่ะ เราชื่นชมที่เขาสามารถสร้างตัวตนบนคอนเทนต์ที่มีคู่แข่งเป็นพันเป็นหมื่นได้ เขาอาศัยความที่เคยเป็นโปรดิวเซอร์ทำเพลง มาสร้างแนวทางใหม่ในการนำเสนอเนื้อหาให้คนจดจำ เช่นเวลาทำคลิปท่องเที่ยวเขาจะใช้วิธีพากษ์เสียงเอา แต่งเพลงประกอบวิดีโอ กลายเป็นว่ามันสนุก มีคนตามเพียบ
อีกคนเป็นชาวต่างชาติชื่อ Matt D’Avella คนนี้ทำหนังมาก่อน ดังนั้นเขาจะมีทักษะด้านการถ่ายวิดีโอที่สวยงามมาก แต่หลังจากนั้นที่เขาหันมาสนใจวิถีชีวิตแบบ Minimalism หรือ Essentialism ซึ่งก็เป็นกระแสในระดับโลกเหมือนกัน ทีนี้เขาเลยเอาเรื่องที่เขาเก่งอยู่แล้วกับเรื่องที่เขาสนใจใหม่นี้มารวมกัน กลายเป็นว่าตอนนี้ช่องยูทูบเขามีคนติดตามเป็นล้านๆ เลยค่ะ ซึ่งหัวข้อคอนเทนต์ในช่องก็ไม่ได้แปลกอะไรนะ ยกตัวอย่างเช่น วิธีทำให้ชีวิตง่ายขึ้น วิธีจัดของให้หาง่าย กฎที่ทำให้เราไม่ผลัดวันประกันพรุ่ง ฯลฯ แต่มันกลายเป็นคอนเทนต์ที่ทำคนในโลกได้ประโยชน์มากมาย
“งานของ Matt D’Avella มันคือการ vlogging ที่ cinematic มาก โปรดักชั่นดู high มาก แต่คอนเทนต์ก็คือเรื่อง productivity ทั่วไปในชีวิต ที่คนส่วนใหญ่นำไปใช้ได้จริง“
ครีเอเตอร์อีกคนที่ชอบมากๆ คือ Jamie Windsor คนนี้เขาเป็นทั้งช่างภาพ กราฟิกดีไซเนอร์ และวิดีโออิดิเตอร์ โดยคอนเทนต์เขาจะเกี่ยวกับปรัชญาการถ่ายภาพค่ะ เขาไม่ค่อยมารีวิวการใช้อุปกรณ์เหมือนคนอื่น แต่ชอบเอาแนวคิดขำๆ มาชวนคุย เช่น Why bad photographers think they are good
ส่วนในกลุ่มช่างภาพ ไอดอลที่เราชื่นชมก็มี Nan Goldin คนนี้รุ่นเก๋าหน่อย ชอบที่เขาถ่ายภาพชีวิตคนเมืองใหญ่สมัยปี 70s – 80s ซึ่งภาพถ่ายของ Nan Goldin นี่บางคนดูแล้วจะบอกว่าไม่สวยเลย เช่นเป็นภาพกลุ่มคนติดยา กลุ่ม LGBT ฯลฯ และมันไม่ใช่ภาพที่องค์ประกอบสวยเป๊ะ แต่กิ๊ฟชอบความรู้สึกจริงในภาพของเขา และตัวช่างภาพเองเขาก็เคยให้สัมภาษณ์ว่าเขาไม่สนใจว่าภาพถ่ายต้องดูสวย แต่เขาสนใจว่ามันต้องดูจริง (I don’t care about good photo. I care about honesty) ซึ่งตรงข้ามกับเทรนด์ภาพถ่ายยุคนี้ที่คนจะแคร์เรื่องความเพอร์เฟ็กต์มากกว่าความเป็นจริงตรงหน้า มันคือโลกของการสร้างภาพ (หัวเราะ)
8. หมั่นคิดต่อยอด
ถ้านับว่าตอนนี้กิ๊ฟทำเพจสอนแต่งภาพ ส่ิงที่อยากทำต่อไปคือการขาย stock photo ค่ะ แม้ว่าช่วงนี้ราคาขาย stock photo มันจะร่วงระนาว มันอาจจะไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมนัก แต่กิ๊ฟก็ยังอยากลองอยู่ค่ะ เพราะเราอยากพิสูจน์ฝีมือตัวเองในมุมนี้ด้วย เรามีคำถามในใจเยอะ เช่นอยากรู้ว่าถ้าเราถ่ายภาพชัดบ้างไม่ชัดบ้างแบบที่ผ่านมา มันจะมีคนซื้อภาพเราไหม คุณภาพไฟล์ที่เราทำนี้มันดีพอแล้วรึยัง หรือแค่ไหนที่เรียกว่าพอสำหรับการขายในเชิงพาณิชย์ เพราะที่ผ่านมาจุดประสงค์หลักของเราในการถ่ายภาพ คือเราอยากเก็บความทรงจำที่มัน spark joy (หัวเราะ) ส่วนตัวกิ๊ฟมีความสุขกับภาพที่ทำให้รู้สึก ซึ่งมันไม่จำเป็นต้องเพอร์เฟ็กต์เสมอไป

“ที่คนอื่นบอกว่าการทำงานด้านภาพคุณต้องมีเซ้นส์ และทุกคนต้องพัฒนาเซ้นส์ที่ว่านี้ขึ้นเอง กิ๊ฟค้นพบว่านั่นไม่ใช่หนทางเดียวค่ะ มันมีวิธีที่คุณจะฝึกทำด้วยสเต็ปง่ายๆ แบบ 1 2 3 เสมอ”
ติดตามผลงานของ Gift Lee ได้ทาง
Facebook Page: Gift Lee
Youtube Channel: Gift Lee
Instagram: giftllee
เกี่ยวกับ กิ๊ฟ ลี
เรียนสถาปัตยกรรม ทำงานเป็นสถาปนิกอยู่ 1 ปี ก่อนจะเปลี่ยนสายไปทำงานด้านคอมมูนิเคชั่น พีอาร์มาร์เก็ตติ้ง และมีงานรองคือการทำเพจของตัวเอง นำเสนอคอนเทนต์เกี่ยวกับการทำงานด้านวิช่วลต่างๆ การถ่ายภาพ การดีไซน์ภาพ เวลาเดินทางกิ๊ฟมักจะถ่ายภาพที่โล่งๆ กว้างๆ กลับมา เพราะเธอชอบสภาพแวดล้อมที่เงียบสงบซึ่งตรงข้ามกับชีวิตประจำวันในกรุงเทพ (ที่ไม่สงบเลย) การอยู่ท่ามกลางธรรมชาติในที่ที่ไม่มีสัญญาณมือถือ หรืออินเทอร์เน็ต ทำให้เธอรู้สึกตัวเล็กลง และมองปัญหาในชีวิตเล็กลงไปด้วย