ครั้งแรกที่ฉันรู้จัก Enough for life คือที่เชียงใหม่ จำได้ว่าตอนนั้นส่วนที่พักของเขาเพิ่งจะทดลองเปิดบริการได้สักสองวันเองมัง ความประทับใจแรกของฉันในวันนั้นคือการได้รู้จักกับครอบครัว Enough for life ซึ่งเป็นชุมชนเล็กๆ ที่มีคนเกาหลีและคนไทยอาศัยอยู่ร่วมกัน นุเป็นผู้ชายไทยที่แต่งงานกับคนเกาหลีชื่อดาวูน และมีลูกชายสามคนชื่อพอเพียง เพียงพอ และพอดี ตอนนั้นที่ Enough for life เชียงใหม่จะมีร้านอาหารเกาหลีอยู่ร้านหนึ่งด้วย ซึ่งเจ้าของร้านและแม่ครัวชื่อปลาทอง แต่ตอนนี้ปลาทองย้ายกลับไปเปิดร้านอาหารที่กรุงโซลแล้ว และฉันก็ยังติดต่อกับเธออยู่เรื่อยๆ ส่วนซูยองคิมเป็นอินทีเรียร์ดีไซเนอร์ สามีของเธอเป็นคนเกาหลีเช่นกัน มีอาชีพเป็นนักดนตรีและนักแต่งเพลงอิสระ
ซูยองคิมกับสามีของเธอย้ายมาอยู่ที่กรุงเทพตั้งแต่เมื่อ 8 ปีก่อน จนวันนึง เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา ซูยองคิมได้อ่านงานเขียนของดาวูน (ภรรยาของนุ) ผ่านบล็อกส่วนตัวของเธอที่ว่าด้วยเรื่องของการใช้ชีวิตในเชียงใหม่ ซึ่งตอนนั้นตัวดาวุนเองย้ายมาอยู่ที่เชียงใหม่ได้สักระยะแล้ว พอซูยองคิมได้อ่านบทความของดาวูนบ่อยๆ เข้า ก็เลยเกิดตกหลุมรักเชียงใหม่แบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวทั้งๆ ที่ตัวเองก็ยังไม่เคยไปเที่ยวเชียงใหม่มาก่อนเลยด้วยซ้ำ และนั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ช่วงนึงซูยองคิมพาตัวเองย้ายไปอยู่ที่เชียงใหม่แบบระยะยาว และสร้างแบรนด์ Enough for today ร้านของตกแต่งบ้านร่วมกับดาวุน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Enough for life Chiangmai ในเวลานั้น
“ห้าปีที่แล้ว คนเกาหลีน้อยคนมากที่จะรู้จักเชียงใหม่ แต่ทุกวันนี้เชียงใหม่เป็นที่ๆ ดังมากสำหรับคนเกาหลี ใครก็อยากมาอยู่เพราะเชียงใหม่เป็นที่ๆ ศิลปินอยู่เยอะ ข้อมูลของเชียงใหม่มันแพร่กระจายไปถึงคนเกาหลีก็จากบล็อกของดาวุนนั่นล่ะ”
นี่สินะ ที่เขาเรียกอานุภาพของงานเขียน

จากห้าปีก่อนจนมาถึงวันนี้ พอฉันได้ข่าวจากนุว่าชุมชนของเขาจะมาเปิด Enough for life สาขาใหม่ที่กรุงเทพในชื่อของ Enough for life Bangkok ลึกๆ ฉันแอบงงว่าด้วยความหมายของ Enough for life แล้ว มันควรจะแปลว่าชีวิตที่พอแล้วไม่ใช่เหรอ ซึ่งการที่เขาเลือกมาเปิดสาขาใหม่โดยเฉพาะที่กรุงเทพ มันคืออีกรูปแบบชีวิตเลยนะ เพราะสภาพแวดล้อมในเชียงใหม่คือการดำเนินชีวิตแบบเย็นกายเย็นใจและเอิงเอย เช้ามาก็ปั่นจักรยานไปตลาดออร์แกนิก ตกบ่ายก็นั่งร้านกาแฟ แต่ที่ตั้งของ Enough for life Bangkok มันคือบนถนนสุขุมวิทซึ่งเงยหน้าขึ้นไปก็เป็นสถานีรถไฟฟ้าที่ผู้คนกำลังวิ่งกระหืดกระหอบขึ้นรถไฟฟ้าไปทำงานกันแต่เช้า ขากลับก็นั่งรถไฟฟ้าสายเดิมกลับบ้านด้วยหน้าตาที่เหนื่อยอ่อน แต่ขณะเดียวกันสิ่งที่ฉันสัมผัสได้จาก Enough for life ทั้งสองสาขา ยังคงเป็นเรื่องราวของชีวิตสองวัฒนธรรมระหว่างเกาหลีและไทยที่ละมุนละไมและไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ครอบครัวต้องมาก่อน
“สำหรับฉัน เมืองไทยถือว่าเป็นเมืองที่ใช้คำว่าสโลว์ไลฟ์ได้อยู่นะ เพราะถ้าเทียบกับเกาหลีแล้ว ที่นั่นเครียดมาก ฉันเลยรักเมืองไทย” ซูยองคิมบอกฉัน ขณะหันไปสบตากลุ่มลูกค้าที่มาขอเช่าสถานที่ถ่ายรูป ซึ่งดูจะเกินเวลาตามที่ตกลงกันไว้ และท่าโพสของนางแบบนั้นก็เริ่มจะก่อกวนความเป็นส่วนตัวของลูกค้าคนอื่นที่เดินเข้ามานั่งดื่มกาแฟและซื้อของ
คงถึงเวลาแล้วกระมังที่โลกของการถ่ายรูปควรจะถูกคั่นโฆษณาด้วยคำว่าใจเขาใจเราบ้าง
Enough for life Bangkok ประกอบด้วย Enough for life ซึ่งเป็นส่วนของร้านกาแฟที่บาริสต้าทุกคนซึ่งอยู่หลังเคาน์เตอร์และกำลังชงกาแฟอยู่นั้น อาชีพหลักของพวกเขาจริงๆ คือแร็ปเปอร์และนักเต้น B Boy ส่วนอาชีพบาริสต้าถือเป็นงานพาร์ทไทม์ของพวกเขา ซึ่งทุกคนก็ทำได้ดีมาก เพราะต่างก็มีใจรักในการดื่มกาแฟเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
ความรักเอาชนะทุกสิ่ง
อีกส่วนคือ Enough for today ซึ่งเป็นพื้นที่ขายงานหัตถกรรมประเภทต่างๆ โดยสมัยเริ่มแรกของสาขาที่เชียงใหม่ สินค้าของ Enough for today จะเป็นการ selected เข้ามาจำหน่ายในร้าน ซึ่งตอนนั้นลูกค้าเกาหลีชอบกันมาก ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า พอถึงจุดนึง ดาวูนกับซูยองคิมก็รู้สึกว่าไม่ได้แล้วล่ะ มันถึงเวลาแล้วที่ต้องออกแบบสินค้าภายใต้ชื่อแบรนด์ของตัวเองด้วยการทำงานร่วมกับชาวบ้านในจังหวัดต่างๆ ทั้งสองคนเลยใช้ศักยภาพในความเป็นนักออกแบบที่มีอยู่ในตัว ทำงานร่วมกับชาวบ้านทางภาคเหนือเพื่อผลิตสินค้าที่จะบอกความเป็นตัวตนของ Enough for today ให้ได้มากที่สุด แต่การทำงานกับชาวบ้านในชุมชนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมันต้องใช้เวลาในการออกเดินทางเพื่อเสาะหาตัวจริงของผู้ผลิตงานที่ชำนาญในทักษะต่างกันไป ซึ่งบางทีก็อยู่กันคนละดอยคนละจังหวัดเลยก็มี
จนเมื่อเข้าไปถึงตัวชาวบ้านเหล่านั้นได้แล้ว ความยากขึ้นไปอีกคือการปรับวิธีคิดของชาวบ้านในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีเนื้อหาเพิ่มมากขึ้นจากสิ่งที่พวกเขาเคยทำกันมาตลอดจนคุ้นชิน และไหนจะเรื่องของภาษาที่ใช้ในการสื่อสารอีก เพราะพอชาวบ้านเห็นดาวูนกับซูยองคิมเป็นคนต่างชาติ ชาวบ้านก็จะพยายามหลีกเลี่ยงในการพูดคุยด้วยนานๆ เพราะขี้เกียจสื่อสาร รวมทั้งที่ผ่านมาชาวบ้านเองก็เคยชินกับการทำงานแบบเย็บโหลเพื่อส่งพ่อค้าตามตลาดใหญ่ๆ ที่ไม่ต้องคิดอะไรมาก ถึงเวลาก็รับเงินค่าจ้าง พอมาเจองานออกแบบที่ดาวูนกับซูยองคิมพยายามจะช่วยพัฒนาฝีมือพวกเขาเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับหัตถกรรมท้องถิ่น ชาวบ้านก็ไม่เข้าใจ แถมคิดว่านี่เป็นการมาเพิ่มภาระให้กับพวกเขาด้วย แต่ปัญหาที่ว่ามาทั้งหมดนี้ก็เป็นแค่ในช่วงเริ่มต้นการสร้างแบรนด์เท่านั้น เพราะที่ผ่านมาดาวูนกับซูยองคิมและตัวนุเอง ซึ่งคอยเป็นตัวกลางในการช่วยสื่อสารกับชาวบ้านก็ได้พิสูจน์ให้ชาวบ้านเห็นแล้วว่าการพัฒนางานหัตถกรรมของชุมชนนั้นมันไม่ใช่แค่สร้างรายได้เพิ่มให้กับชาวบ้านแต่ชาวบ้านเองยังได้เรียนรู้เทคนิคใหม่ๆ ในการสร้างงานหัตถกรรมของพวกเขาซึ่งถือเป็นการพัฒนาตนเองอีกด้วย
“เนื้อหาของเราคือเราต้องการให้ชาวบ้านมีรายได้จากงานฝีมือที่พวกเขาทำเพิ่มขึ้น ของส่วนใหญ่ที่เห็นวางขายกันอยู่ในเชียงใหม่ เกือบครึ่งก็มักจะเป็นของที่รับมาจากกาดหลวงและเอาไปวางขายในราคาที่ตัวเองพอใจ แต่สินค้าของเรามันคือการสร้างแพทเทิร์นขึ้นมาใหม่ที่อยู่ในกระแสความชอบของกลุ่มลูกค้าหลักๆ ของเรา ซึ่งเป็นกลุ่มคนญี่ปุ่น คนไทย และคนเกาหลี รวมทั้งเราพยายามส่งงานให้ชาวบ้านเพื่อให้งานแฮนด์เมดของพวกเขาได้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น และก็ไม่ใช่ว่าไปกดราคาเขา เราใช้คำว่าวินวิน เขาอยู่ได้เราก็อยู่ได้ การแบ่งปันมันต้องยุติธรรม” นุเล่าความคิดของเขาให้ฉันฟัง ซึ่งสมัยเรียนมหาวิทยาลัย นุเองก็มักจะหาโอกาสให้ตัวเองได้ขึ้นไปทำงานอาสาพัฒนาฯ ใช้ชีวิตอยู่กับชาวบ้านตามป่าตามดอยอยู่เสมอ

เทียบ Enough for life Bangkok กับสาขาที่เชียงใหม่ ต้องบอกว่าสาขาที่กรุงเทพเป็นอะไรที่ตื่นตากว่ามาก มันคือความตื่นตาที่ดูจะเข้ากับบุคลิกของกลุ่มลูกค้าในเมืองหลวงได้เป็นอย่างดี สำหรับสินค้าที่วางอยู่ไม่ได้เหมือนกันเสียทีเดียวกับสินค้าในร้านที่เชียงใหม่ ความน่าสนใจของ Enough for life Bangkok ไม่ใช่เรื่องของมุมถ่ายรูปหรือการได้มาเช็กอินเพื่ออวดใคร เพราะสำหรับฉัน ถ้าสถานที่สวยงามแต่ไร้วิญญาณของผู้เป็นเจ้าของ มันก็เท่านั้น แต่ถ้าสถานที่มันมีวิญญาณที่ส่งออกมาจากตัวตนของผู้สร้างทั้งในรูปแบบของดีไซน์การตกแต่ง การจัดวาง จังหวะของช่องแสงที่ลอดผ่านมาทางซี่ลูกกรงหน้าต่าง โทนสีของผนังที่เลือกทา หีบห่อบรรจุภัณฑ์ ตัวฟอนต์ หรือแม้กระทั่งประเภทของแก้วชามที่เลือกใช้ วิญญาณที่ว่านั้นจะทำงานด้วยตัวมันเองในการสื่อสารอารมณ์ของคำว่า ‘ร้านมีชีวิต’ ออกมา ด้วยการเรียกลูกค้าคนเดิมๆ ให้กลับมาซ้ำและเกิดการบอกต่อ จนมีลูกค้าใหม่เพิ่มเข้ามาอยู่เรื่อยๆ สินค้าหลายชิ้นของที่นี่ ถ้าเราใช้เวลาสังเกตมันให้มากพอ เราจะพบว่าช้อนบางคันมันก็ไม่ได้เป็นแค่ช้อนสวยๆ ที่แค่จัดดิสเพลย์ไว้ แต่มันคือช้อนที่ผสมผสานระหว่างการ re-design และรูปแบบของงานวินเทจที่ได้แรงบันดาลใจมาจากดอกไม้ โดยตัวช้อนทำจากส่วนของเขาควาย และใช้วัสดุธรรมชาติอย่างแผ่นเปลือกหอยอบาโลน (หอยเป๋าฮื้อ) เข้ามาเป็นส่วนผสมในส่วนของการสร้างลายดอกไม้เล็กๆ ที่อยู่ตรงปลายช้อน ซึ่งคิดดูว่าจริงๆ มันก็แค่ช้อนนะ แต่ดูความพิถีพิถันในกระบวนการคิดเพื่อผลิตออกมาเป็นสินค้าสิ
“คนเกาหลีชอบงานวินเทจมากเพราะสงครามในเกาหลีพรากงานวิทเทจไปจากพวกเราหมด ประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งของเราหายไปกับสงคราม ทุกวันนี้การนำเข้าสินค้าวินเทจจากประเทศอื่นเพื่อเข้าเกาหลี เป็นเรื่องยากมาก รัฐบาลเราเข้มงวดกับเรื่องนี้สุดๆ มันเลยทำให้พวกเรายิ่งโหยหางานวินเทจ”

มาถึงตรงนี้คำว่า Enough for life สำหรับฉัน มันเปลี่ยนไปแล้ว มันไม่ใช่เรื่องของความพอหรือไม่พอในชีวิต แต่ฉันกลับนึกไปถึงเส้นชัยสักเส้น ที่เมื่อเรามีโอกาสได้วิ่งเข้าสู่เส้นๆ นั้นแล้ว ถ้ามันเป็นเส้นชัยที่เราตามหาจริงๆ เราจะรู้สึกได้ทันทีว่านี่ล่ะคือสิ่งที่ฉันตามหามานาน
เส้นชัยของความสุขคือคำเดียวที่ทำให้มนุษย์เข้าใจคำว่า ‘พอแล้ว’ อย่างถ่องแท้
..Enough for life