fbpx

ธรรมะ งานคราฟท์ และการออกแบบ DIN Studio เล่าถึงผลงานที่ธรรมชาติพาไปใน Six Senses Krabey Island

เมื่อความยั่งยืนคือหัวใจของธุรกิจโรงแรมหรู Six Senses Krabey Island เลือกทำงานกับสตูดิโอออกแบบเล็กๆ ของไทยผู้เข้าใจในสัจจะแห่งธรรมชาติ

พื้นที่บนเกาะส่วนตัวที่ปะปนไปด้วยสีฟ้าน้ำทะเล สีเขียวชอุ่มของต้นไม้ และสีน้ำตาลแห่งผืนป่า คือที่ตั้งของโรงแรมบูติกสุดหรู Six Senses Krabey Island บ้านพักรูปแบบ ‘พูลวิลล่า’ ที่กระจายตัวไปรอบๆ เกาะการันตีได้ถึงความเป็นส่วนตัวท่ามกลางภูมิทัศน์อันเงียบสงบ  

Kooper แวะพูดคุยกับ พิณ จิตรประทักษ์ และ ปิติกร ยศวัฒน สองหุ้นส่วนผู้ก่อตั้ง Dimensional Interpretation หรือ DIN Studio ผู้อยู่เบื้องหลังการรังสรรค์ ‘พื้นที่ภายใน’ ทั้งหมดของ Six Senses เกาะกระเบแห่งนี้ นับตั้งแต่ตัววิลล่า ร้านอาหาร สปา เรื่อยไปจนถึงพื้นที่ส่วนกลางที่ผ่านกระบวนการคิดอย่างละเมียดละไมเพื่อจัดสรรกลิ่นอายความเป็นพื้นถิ่น ชิ้นงานฝีมือทรงคุณค่า และการออกแบบบนวิถีความยั่งยืน ให้สอดผสานเป็นเนื้อเดียวกันได้อย่างเปี่ยมรสนิยม

ปิติกร ยศวัฒน และ พิณ จิตรประทักษ์ ดีไซเนอร์ผู้ร่วมก่อตั้ง DIN Studio

หลังจากการได้รับโจทย์ให้ทำงานในโครงการนี้ หมุดหมายสำคัญที่ทั้งพิณและปิติกรเลือกทำเป็นสิ่งแรกก็คือการเดินหน้าค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับกัมพูชาในแทบทุกมิติ ทั้งในเรื่องบ้านเรือนการอยู่อาศัย อาหารการกิน ศิลปวัฒนธรรมสถาปัตยกรรม เรื่อยไปจนถึงอาชีพและการใช้ชีวิตในรูปแบบต่างๆ ทั้งนี้เพื่อจะได้นำข้อมูลดิบเหล่านั้นมา ‘สกัด’ เป็นแนวคิดการออกแบบที่ส่งผ่านขนบแห่งชนชาติกัมพูชาออกไปอย่างแนบเนียน สอดคล้องกับบริบทการใช้งานในส่วนต่างๆ ของโรงแรมแบบไม่ขัดเขิน

“การตกแต่งภายในทั้งหมดเราตั้งใจจะสะท้อนถึงความเป็นท้องถิ่นให้เคียงคู่อยู่กับธรรมชาติแบบพอดี”

ภายในห้องพักที่เป็นสัดส่วนและเป็นส่วนตัว เลือกใช้สีสันและวัสดุธรรมชาติ ปิดรับภูมิทัศน์รอบด้านกันแบบเต็มอิ่ม

อยู่กับดิน กินกับน้ำ

DIN Studio บอกเราว่าพูลวิลล่าที่กระจายตัวอยู่ทั่วทั้งเกาะได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรือนชานของชาวกัมพูชาที่อาศัยบนแผ่นดิน โดยเบื้องหลังงานออกแบบเกิดจากการศึกษาลงลึกว่า บ้านที่ปลูกบนดินนั้นเขาบุกำแพงกันด้วยวัสดุอะไร หรือชีวิตของผู้คนเขาผูกพันอยู่กับต้นไม้ใบหญ้าชนิดไหนบ้าง ฯลฯ ในขณะที่สเปซส่วนกลางอย่างล้อบบี้และร้านอาหารนั้นได้รับแรงบันดาลใจมาจากวิถีของหมู่บ้านชาวประมง ด้วยว่านักออกแบบทั้งสองไปค้นคว้าเจอว่าชาวกัมพูชาเองก็มีความผูกพันอยู่กับสายน้ำค่อนข้างแนบแน่น เห็นได้จากรูปวาดโบราณบนผนังหินที่ปรากฏเป็นภาพคน ภาพบ้าน และภาพปลาว่ายอยู่ด้านบนสุด “ภาพนั้นคือแรงบันดาลใจที่เรานำมาใช้ในการตกแต่งห้องอาหารให้มีปลาว่ายเวียนอยู่บนเพดานด้วย” พิณกล่าวยิ้มๆ ในขณะที่ปิติกรเสริมว่า “ถ้าเราสามารถเชื่อมโยงวัฒนธรรมหรือวิถีท้องถิ่นเข้าไว้ในรายละเอียดการออกแบบ ตัวโรงแรมเองก็จะมีเรื่องราวให้เล่าขานและจับต้องมากขึ้น ถือเป็นการแสดงความอ่อนน้อมหรือความเคารพต่อพื้นที่นั้นผ่านการออกแบบ เวลาแขกเข้าพักเขาจะสัมผัสได้ว่าโรงแรมนี้มันแตกต่างจากที่อื่นๆ โดยธรรมชาติ”

สำหรับมัณฑนากรคู่นี้ หนึ่งในความท้าทายของโรงแรม Six Senses Krabey Island อยู่ที่การเลือกเฟอร์นิเจอร์และวัสดุตกแต่งภายใน ด้วยว่าทีมงานต้องเผชิญกับข้อจำกัดหลายประการที่ทำให้ไม่สามารถเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์จากในท้องถิ่นได้ทั้งหมด บางส่วนจึงต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ อย่างเช่น สเปน อินโดนีเซีย หรือไทย ซึ่งทั้งโรงแรมต้องอาศัยความร่วมมือจากคณะทำงานที่เกี่ยวข้องกันกว่า 15 เชื้อชาติ อย่างไรก็ดีทั้งสองเชื่อตรงกันว่าหัวใจที่จะร้อยเรียงความแตกต่างของสิ่งละอันพันละน้อยให้อยู่รวมกันได้ลงตัวก็คือ ‘งานฝีมือช่าง’ ที่มีบุคลิกไปในทางเดียวกัน นั่นก็คือการไม่ละทิ้งรากเหง้าวัฒนธรรม  DIN Studio เลือกที่จะทำงานกับนักออกแบบไทยหลายๆ คน หนึ่งในนั้นคือ กรกต อารมย์ดี ผู้เชี่ยวชาญด้านงานจักสานไม้ไผ่ที่มีลายเซ็นเป็นเอกลักษณ์ระดับโลก

“หากใครได้ไปเยี่ยมเยียน Six Senses Krabay Island คุณจะได้เห็นงานสานของกรกตที่ปรากฏเป็นโคมไฟในล้อบบี้ชั้นบนสุด เป็นงานคัสตอมเมดที่ศิลปินตอบรับความท้าทายของพื้นที่ และยินดีสร้างงานภายใต้แนวคิดของหมู่บ้านชาวประมงและการจับปลา โดยได้นำทั้งตะกร้าและเครื่องจักสานต่างๆ มาออกแบบเป็นพาร์ทิชั่นแบ่งพื้นที่”

นอกจากแบรนด์รุ่นใหญ่อย่างกรกตแล้ว DIN Studio ยังได้ร่วมงานกับนักออกแบบไทยอีกหลายคน อาทิ ศุภชัย แกล้วทนงค์ ที่ออกแบบโคมไฟกรงนกจากภาคใต้ หรือภาพวาดควายที่มีเขางอกเป็นดอกลำดวน (ดอกไม้ประจำชาติของกัมพูชา) ก็เป็นฝีมือของศิลปินไทยเช่นเดียวกัน  “แน่นอนว่าเราอยากทำงานกับศิลปินกัมพูชา แต่ด้วยระยะเวลาที่ไม่ลงตัว เราเลยมองหาศิลปินที่คุ้นเคยกับงานหัตถกรรมในวิถีใกล้เคียงกัน ซึ่งคุณกรกตเองก็เติบโตมาในครอบครัวชาวประมง เมื่อเราได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ก็พบว่าวิถีชาวประมงของกัมพูชากับไทยนั้นมีความใกล้เคียงกันอยู่ เราถึงมั่นใจว่าเขาจะประยุกต์เทคนิกการสานที่ถนัดให้มาสอดรับกับคอนเส็พท์การออกแบบของเราได้” ปิติกรกล่าว

สำหรับส่วนของสปา สองดีไซเนอร์ช่วยกันเล่าว่าเป็นการออกแบบที่ผสานเรื่องสายน้ำและความเชื่อของชาวกัมพูชา ที่ว่ากันว่าวิถีชีวิตนั้นไม่อาจแยกขาดจากสายธารได้ ความศรัทธาที่คนกัมพูชามีต่อ ‘แม่น้ำกบาลสเปียน’ จึงถือเป็นแรงบันดาลใจสำคัญ

“การออกแบบพื้นที่ภายสปาจะสะท้อนถึงความพลิ้วไหวของสายน้ำ วงคลื่นน้ำที่ปรากฏบนเพดานคือดีไซน์ที่เราถอดแบบมาจากผิวน้ำจริงๆ”

ธรรมะ ธรรมชาติ และการออกแบบ

ปรัชญาการทำงานของ DIN Studio คือการให้คุณค่ากับธรรมชาติที่แท้ของวัสดุ ผลงานการออกแบบของเราจะไม่ฉูดฉาดหวือหวา หากแต่เรียบง่ายและแฝงไปด้วยความเบาสบาย อันที่เกิดจากความเข้าใจในธรรมชาติของสรรพสิ่ง เป็นปรัชญาที่พิณสรุปให้ฟังว่า “เมื่อมีโอกาสเข้าใกล้ธรรมะ เราจะมองเห็นทุกอย่างที่แก่นของมันมากขึ้น อะไรที่ไม่ใช่ของสำคัญหรือของจำเป็น เราจะค่อยๆ ตัดทิ้งไปเอง ซึ่งมีผลต่อกระบวนการคิดและจริตในการทำงานมาก ปัจจุบันเรากลายเป็นคนที่ชอบเข้าป่า ชอบฟังเสียงลม และมองเห็นความงามในธรรมชาติได้ลึกซึ้งขึ้น”

ด้วยพื้นที่ที่โอบล้อมไปด้วยความเขียวสดของธรรมชาติ ความยั่งยืนจึงถือเป็นหัวใจสำคัญของการออกแบบพื้นที่ทั้งหมด โรงแรม Six Senses Krabey Island เลือกใช้วัสดุทุกส่วนที่ไม่ทำลายธรรมชาติ ไม้ที่ใช้ต้องเป็นไม้ปลูกหรือไม้เก่าที่นำกลับมาใช้ใหม่เท่านั้น ปิติกรยกตัวอย่างยางปูพรมพื้นที่ก็ต้องมีการรับรองว่ารีไซเคิลมาจากผลิตภัณฑ์อื่นจริง ไม่มีสารพิษตกค้าง หรือสารเคมีที่ก่อให้เกิดอันตราย ฯลฯ “ฝาผนังไม้เราถอดสัดส่วนมาจากฝาบ้านของคนกัมพูชาแต่เดิม ตลอดจนผ้าทอท้องถิ่นก็ถูกนำมาใช้เย็บเป็นปลอกหมอนอิง ทุกวัสดุต้องมีการรับรองและตรวจสอบแหล่งที่มาย้อนกลับได้”

“Six Senses เป็นเครือโรงแรมที่ใส่ใจเรื่องความยั่งยืนมาโดยตลอด เขามีพันธกิจในการลดขยะให้เป็นศูนย์ และเราชื่นชมเขามากในจุดนั้น”

นอกจากเรื่องตัวเลือกวัสดุแล้ว ในเชิงโครงสร้างโรงแรม Six Senses Krabay Island ยังได้จัดพื้นที่เฉพาะไว้สำหรับการวางแผงโซล่าร์เซลล์ ภายในโรงแรมผลิตน้ำดื่มสะอาดกันเอง ใช้ขวดแก้วแทนขวดพลาสติก ทั้งยังมีพื้นที่ทดลอง ‘Earth Lab’ สำหรับทำฟาร์มออร์แกนิก และจัดโปรแกรมขยายพันธุ์ปะการังกันแบบจริงจังด้วย “ต้องเรียกว่าเป็นโรงแรมตัวอย่างเรื่องความยั่งยืน แนวคิดของเขาจุดประกายให้เราตระหนักรู้เรื่องการเลือกใช้วัสดุและสิ่งของ จากเมื่อก่อนที่เราไม่ได้ใส่ใจที่มาของวัสดุมากนัก ตอนนี้ก็เลือกอย่างมีตรรกะและเหตุผล ทำให้เราสัมผัสถึงคุณค่าของธรรมชาติรอบตัวมากขึ้น … ซึ่งในฐานะนักออกแบบแล้ว ถ้าเราสามารถทำบางอย่างให้โลกดีขึ้นได้ เราก็ควรจะทำมิใช่หรือ” DIN Studio ปิดท้ายกับเราด้วยคำถามซื่อๆ ที่ไม่ต้องการคำตอบ

ติดตามผลงานอื่นๆ ของ DIN Studio ได้ที่ dinstudio.co
ภาพ: Six Senses Krabay Island

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin
Share on pinterest

More to explore

แผลเก่า:Old Wound แผลเดิมในเรื่องเล่า ที่ยังเป็นแผลสดของพล็อตสังคมไทย

นิทรรศการ แผลเก่า / Old Wound นิทรรศการเดี่ยวโดย ประทีป สุธาทองไทย ศิลปินนักตั้งคำถาม ผู้ซ่อนบทสนทนาทางสังคมไว้ในงานเสมอ

“Yesterday I Was, Tomorrow I Will Be” นิทรรศการแห่งความฝันและความสำเร็จของ “Pomme Chan”

ก้าวสู่โลกที่เปี่ยมไปด้วยแพชชั่น ผ่านผลงานศิลปะตั้งแต่ชิ้นแรกที่น้อยคนจะได้เห็น สู่วันที่ประสบความสำเร็จในสายอาชีพร่วมระยะเวลา 20 ปี