กูรูแห่งแวดวงการตลาดต่างฟันธงเป็นเสียงเดียวกันไว้ตั้งแต่ปีที่แล้วว่า การมาถึงของโควิด-19 จะกระตุ้นให้ตลาดออนไลน์เติบโตอย่างก้าวกระโดด และแม้โควิดจะซาและคลายล็อกดาวน์แล้วก็ตาม แต่ผู้บริโภคส่วนมากก็มีแนวโน้มจะเคยชินกับการซื้อขายทางออนไลน์ที่สะดวกสบายไปแล้ว ธุรกิจแบบ e-commerce จึงจะยังคงมาแรงอย่างต่อเนื่อง และกลายเป็นรูปแบบการซื้อขายที่ไม่อาจมองข้ามได้อีกต่อไป (อ่านต่อที่ หลากเหตุผลที่ทำไมครีเอเตอร์จึงควรเริ่มขาย digital product ตั้งแต่วันนี้)
โอเค ตอนนี้เรารู้แล้วว่าตลาดออนไลน์คือช่องทางหลัก แต่สำหรับครีเอเตอร์ที่มีทักษะความสามารถ แต่ยังไม่มีสินค้าและบริการอยู่ในมือ คำถามสำคัญอีกข้อก็คือ “แล้วเราจะขายอะไรดี”
Kooper ประมวลธุรกิจออนไลน์แบบเฉพาะกลุ่ม (niche market) ที่น่าจะไปได้ดีในยุคโพสต์โควิดมาให้คุณลองเลือก 5 ประเภท ใครถนัดสายไหน ลองดูกัน
1. สินค้าเกี่ยวกับสุขภาพและความงาม
เราไม่ได้บอกให้คุณไปกวนครีมขาย เพราะเครื่องสำอางและเครื่องประทินผิวนั้น ส่วนมากแล้วอยู่ในตลาดของ mass ที่แบรนด์เล็กๆ สู้แบรนด์ใหญ่ได้ยาก แต่ถ้าเป็นสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพหรือความงามจากภายในแล้วล่ะก็ ผู้ประกอบการรายย่อยย่อมมีเครดิตเหนือกว่าการผลิตแบบอุตสาหกรรม ต้องขอบคุณเทรนด์รักสุขภาพที่มาพร้อม demand เกี่ยวกับ “ผลิตภัณฑ์ออแกนิกและโฮมเมด” ทำให้ครีเอเตอร์ที่มีทักษะ DIY สูง และสนใจเรื่องธรรมชาติเป็นทุนเดิม มีโอกาสเดินเข้าสู่ตลาดเพื่อทำเงิน และขอบคุณระบบโลจิสติกส์ทุกวันนี้ที่ทำให้สินค้าแทบทุกอย่างสามารถขายทางออนไลน์และจัดส่งโดยตรงถึงมือผู้บริโภคได้ทั้งนั้น
ตัวอย่างสินค้าด้านสุขภาพแบบออแกนิกและโฮมเมดที่เป็นที่ต้องการ เช่น อาหารคลีน ผักผลไม้ออแกนิก เบเกอรี่แบบ gluten free โยเกิร์ตโฮมเมด น้ำผักผลไม้สกัดเย็น ไข่ไก่แบบเลี้ยงปล่อยธรรมชาติ อาหารทะเลไร้สารพิษตกค้าง เช่นเดียวกับสินค้าทางความงาม เช่น แชมพูมะกรูดสกัดเย็น สบู่น้ำมันมะพร้าวออแกนิก ไปจนถึงผลิตภัณฑ์รักษ์โลก เช่น น้ำยาล้างจานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
2. อีบุ๊ก
ตลาดอีบุ๊กในไทยนับว่าโตช้ากว่าหลายประเทศ แต่แนวโน้มก็ยังมีการเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ โดยหนังสือที่ไปได้ดีบนแพล็ตฟอร์มอีบุ๊กมากที่สุดยังคงเป็นนิยายที่เน้นให้ความบันเทิงเป็นหลัก และมักออกมาเป็นตอนสั้นๆ เพื่อตอบรับกับพฤติกรรมของผู้อ่านยุคใหม่ที่ไม่ค่อยอยากเสียเวลาอ่านอะไรยาวๆ หรือที่สปอยคนอ่านที่ชอบทำกิจกรรมหลายอย่างในเวลาเดียวกันก็คือ อีบุ๊กในรูปแบบหนังสือเสียง

หากคุณเป็นอีกคนที่ตัวเลขในบัญชีคือเป้าหมายหลักในชีวิต และความสามารถที่มีติดตัวคือการเขียนเรื่องแต่งที่ให้ความบันเทิงขั้นสุด ไม่ว่าจะเป็นแนวลึกลับ สืบสวน รักหวานแหวว โศกเศร้าเคล้าน้ำตา หรือที่ยังคงแรงดีไม่มีตกอีกแนวคือ นิยายวาย (Y) บอกเลยว่าอีบุ๊กคือคำตอบสำหรับคุณ และแพล็็ตฟอร์มที่คุณต้องทำความรู้จักก็เช่น Meb, Ookbee, Fictionlog และ Ais Bookstore เป็นต้น
ส่วนคอนเทนต์ประเภทบทความ เช่น ท่องเที่ยว ไลฟ์สไตล์ แฟชั่น งานออกแบบ สิ่งแวดล้อม ฯลฯ น่าจะเหมาะกับแพล็ตฟอร์มจำพวก บล็อก เว็บไซต์ เฟสบุ๊กเพจ มากกว่า แต่ในยุคสมัยที่ใครๆ ต่างก็เป็น content creator กันทั้งนั้น คุณก็ต้องไปเจียดส่วนแบ่งก้อนเค้กร่วมกับใครก็ไม่รู้อีกมหาศาล แต่หากคุณไม่เดือดร้อนอะไรก็ค่อยๆ ทำไป หรือหากเขียนภาษาอังกฤษได้ดีไม่แพ้ภาษาไทย แพล็ตฟอร์มอินเตอร์อย่าง Substack ที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ตรงจุดและให้คุณค่อยๆ สะสมฐานคนอ่านไปเรื่อยๆ ก็นับว่าเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย
3. งานศิลปะ
Kooper สนับสนุนให้ครีเอเตอร์ที่มีหัวศิลปะสร้างรายได้จากโลกออนไลน์มาพักใหญ่แล้ว โดยงานศิลปะในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงเพนต์ติ้งชิ้นใหญ่ หรืองานจำพวกขึ้นหิ้งเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการนำเอาภาพศิลปะเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้ให้กลายเป็นสินค้าอื่นๆ (merchandise) รวมถึงงานดีไซน์ งานคราฟต์ งานทำมือต่างๆ ด้วย
ช่องทางออนไลน์ในการขายงานศิลปะมีให้คุณเลือกเต็มไปหมด ตั้งแต่โซเชียลมีเดียต่างๆ และเว็บไซต์ที่ทำหน้าที่คล้าย art market ออนไลน์และมีกลุ่มลูกค้าจากทั่วโลก เช่น Amazon Art Section, Artfinder, Artplode, Saatchi Art, Etsy และ Sellfy แต่หลักๆ คุณต้องถ่ายรูปสินค้าออกมาให้สวย สร้างจุดขายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และพยายามสะสม follower ให้มากๆ
4. คอร์สออนไลน์
ถ้าในข้อ 1-3 ที่ว่ามา คุณผ่านมาหมดแล้วทั้ง อบขนมปัง gluten free กวนสบู่ เขียนนิยายวาย นั่งถักกระเป๋าทำมือ และขายงานอาร์ตออนไลน์ แต่ก็ยังไม่รุ่งมากพออย่างที่หวังไว้ เรามีแผนสำรองให้คุณอีกหนึ่ง นั่นคือให้คุณเอาทักษะความสามารถที่มีมาเปิดสอนออนไลน์
ห้องเรียนออนไลน์เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่บูมมากๆ ในช่วงล็อกดาวน์ของปีที่ผ่านมา เห็นได้จากการที่จู่ๆ Masterclass, Skillshare และ Udemy ก็เป็นที่รู้จักในวงกว้าง แต่ห้องเรียนออนไลน์เล็กๆ ของคุณไม่จำเป็นต้องไปใช้แพล็ตฟอร์มขนาดนั้นก็ได้ เอาแค่ Zoom ก็พอ ขอแค่คุณมีทักษะการสื่อสาร การสอนที่ดี รวมทั้งออกแบบคอร์สให้น่าสนใจ แตกต่าง และได้ประโยชน์อย่างที่กลุ่มเป้าหมายต้องการ
5. เฟอร์นิเจอร์/ของแต่งบ้านมือสอง/สินค้าวินเทจ
ช่วงล็อคดาวน์และ Work From Home ที่ทำให้ผู้บริโภคใช้เวลาอยู่กับบ้านมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน น่าจะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ยอดขายเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านพุ่งกระฉูดทั่วโลก ซึ่งก็ไม่ใช่เฉพาะแต่แบรนด์ใหญ่เท่านั้นที่ทำเงินจากการขายเฟอร์นิเจอร์ทางออนไลน์ได้เป็นจำนวนมาก แต่ผู้ประกอบการรายเล็กๆ ที่มีช่องทางไปจับเอาเฟอร์นิเจอร์มือสองที่มีดีไซน์แตกต่าง ของแต่งบ้านวินเทจ หรือแม้แต่ของเก่าเก็บสะสมหายาก แล้วเอามาโพสต์ขายทางโซเชียลมีเดีย ก็ต่างกอบโกยรายได้ไปตามๆ กัน

ธุรกิจขายของแต่งบ้านมือสอง/ของสะสมหายาก จึงเป็นอีกหนึ่งธุรกิจออนไลน์ที่เราอยากนำเสนอ แถมเผลอๆ จะทำเงินได้เร็วกว่าธุรกิจอื่นด้วย เพราะการที่ของแต่ละชิ้นมีชิ้นเดียว พลาดแล้วพลาดเลย ก็ทำให้ใครต่อใครรีบแย่งกัน Cf อย่างที่หลายครั้งก็ลืมคิดไปว่า เอ๊ะ บ้านเรายังเหลือที่วางหรือเปล่านะ
อ้างอิง www.techosquare.com