fbpx

‘ปาตาเพียร’ แบรนด์ดีไซน์ไทยที่สร้างเอกลักษณ์ด้วยงานจักสาน

พูดคุยกับสองดีไซเนอร์ผู้ก่อตั้งแบรนด์ ปาตาเพียร (Patapian) แบรนด์ดีไซน์ไทยที่โดดเด่นด้วยการผสมผสานงานจักสานเข้ากับดีไซน์แบบสมัยใหม่

งานหัตถกรรมเป็นงานฝีมือที่หากจะพูดว่าเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับคนไทยมาอย่างยาวนานก็คงจะไม่ผิดนัก ไม่ว่าจะเป็นการจักสาน การปัก การทอผ้า ฯลฯ หลายคนก็โตมากับสิ่งของรอบตัวที่ล้วนเป็นงานหัตถกรรมจากช่างที่มีฝีมือในบ้านเรา ผ้าถุงที่คุณยายนุ่งไปจ่ายตลาด เก้าอี้หวายที่คุณตาไว้นั่งอ่านหนังสือ พัดที่คุณแม่ไว้พัดเพื่อคลายร้อน กลายเป็นความทรงจำวัยเด็กที่เราจำได้ขึ้นใจ

แล้วใครจะไปรู้ล่ะว่าความทรงจำที่เห็นในวัยเด็กนั้นสามารถนำมาต่อยอดจนกลายเป็นธุรกิจ และเป็นโปรดักต์งานจักสานที่มีเอกลักษณ์น่าสนใจอย่างที่ ‘จั้ม – วลงค์กร เทียนเพิ่มพูล’ และ ‘ก้อย – สุพัตรา เกริกสกุล’ ผู้อยู่เบื้องหลังแบรนด์ PATAPiAN หรือ ปาตาเพียร ได้สร้างสรรค์ขึ้น ด้วยการนำสิ่งรอบตัวที่ตัวเองเห็นมาเป็นจุดเริ่มต้นและแรงผลักดันในการสร้างแบรนด์ของใช้และของตกแต่งบ้านนี้ให้เป็นที่ต้องการได้ในระดับนานาชาติได้

จุดเริ่มต้นของการสร้างสรรค์ที่มาจากความต้องการที่จะมีของสวยๆ ไว้ใช้เป็นของตัวเอง “จุดเริ่มต้นของแบรนด์ จริงๆ มาจากความชอบของเราสองคน ปกติเราสองคนทำงานออกแบบกันอยู่แล้ว และก็เริ่มอยากจะมีโปรดักต์เป็นของตัวเอง สังเกตจากสิ่งรอบตัวของเราว่าที่บ้านเราใช้อะไรกันอยู่ เราก็พบว่า มีงานหวาย มีงานเสื่อ งานจักสานซะส่วนใหญ่ เราก็เริ่มสนใจที่จะทำ ชิ้นแรกเราก็เอาใกล้ตัวก่อนเลย เราสองคนชอบขีดๆ เขียนๆ ก็เลยอยากมีปากกาดินสอที่มีความสวยงาม พวกเราก็เลยทำ cover ยางลบ กบเหลาดินสอ ปลอกดินสอของเราเอง จนเกิดเป็น collection แรกของปาตาเพียร” วันนี้จั้มเป็นตัวแทนที่จะถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับ PATAPiAN ให้พวกเราฟัง

จากความทรงจำวัยเด็ก สู่แบรนด์สินค้าใหม่

การจักสานเป็นสิ่งของใกล้ตัวที่เปรียบเสมือนความทรงจำในวัยเด็ก “มันเป็นความทรงจำในวัยเด็กของเรา พูดง่ายๆ ก็คือ เวลาพูดถึงปลาตะเพียนคนก็ไม่ค่อยนึกถึงปลาที่ว่ายน้ำเท่าไร แต่จะนึกถึงถึงปลาตะเพียนที่สาน เราเลยมองว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่เราเองก็ชอบงานสาน เป็นความทรงจำของเราทั้งคู่ว่าเราเรียนรู้งานจักสานตอนไหน เป็นภาพจำตอนเด็กของพวกเรา สุดท้ายก็เลยออกมาเป็นชื่อนี้ครับ (โดยนำมาเขียนใหม่ให้เป็น ปาตาเพียร)”

ปาตาเพียรเป็นอีกหน้าที่ที่ถือว่าเป็นการพลิกบทบาทของเขาทั้งสอง “ก่อนหน้านี้ผมทำอยู่ agency โฆษณา ทำออกแบบ หลายอย่างเลย ดู theme / concept / เรื่องเกี่ยวกับ graphic theme แบบนี้จะต้องใช้ลักษณะการถ่าย packshot แบบไหนอย่างไร ดูภาพรวมเป็นหลัก  คือมันเป็น agency ไม่ใหญ่มากงานเลยหลากหลายนิดนึง ตอนที่มาทำปาตาเพียรแรกๆ เราก็ยังทำงานประจำอยู่นะครับ” ส่วนก้อยนั้นเสริมว่า “ก้อยเองคือจบปริญญาตรีด้านกฎหมายมา ตอนที่เริ่มทำแบรนด์เราก็กำลังเรียนปริญญาโทเรื่องภาษาและการสื่อสาร จะทำงานเกี่ยวกับต่างชาติเป็นหลัก หลังจากนั้นก็มาเริ่มทำด้วยกันจนออกมาทำแบรนด์นี้เต็มตัวเลย”

เริ่มต้นจากศูนย์

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะหาช่างฝีมือที่มีความสามารถและยอมมาทำงานกับพวกเขา “เราใช้เวลาว่างเสาร์อาทิตย์ ถือว่าไปเที่ยว ขับรถไปต่างจังหวัด ดูว่าที่ไหนเขาน่าจะสามารถรับทำให้เราได้บ้าง ก็ไม่ค่อยมีเลย เราก็เลยตามหาไปเรื่อย จนไปเจอครูช่างซึ่งเขาเปลี่ยนอาชีพไปทำสวนลำไยแทนแล้ว แต่ว่าสุดท้ายเราก็ได้ลูกเขามาช่วย คือผมไปหาเขาแบบอาทิตย์เว้นอาทิตย์เลย คือไปแล้วขอนอนด้วย ขอจับจิ้งหรีดกับเขา เราคนกรุงเทพฯ ใช่ไหมก็ไม่เคยมีบ้านต่างจังหวัด ก็ไปคลุกอยู่กับพวกเขา เขามีเรื่องความเชื่ออะไรกัน เราก็เอาด้วยหมด เขาไปจับจิ้งหรีดกันตอนตีสี่ ผมก็ไปด้วย มันก็เลยเป็นความสัมพันธ์ที่ดี พอเขาขึ้นมากรุงเทพ เราก็พาเขาไปกินข้าวไปเที่ยว กลายเป็นดูแลกันและกัน ไปมาหาสู่กัน กลายเป็นครอบครัวกันมากกว่า ไม่ใช่ความสัมพันธ์แบบลูกจ้างนายจ้างครับ”

ช่วงก่อร่างสร้างแบรนด์ การดีไซน์อาจไม่ใช่ปัญหาที่ปาตาเพียรต้องกังวล แต่เรื่องของธุรกิจก็จำเป็นต้องศึกษาและเรียนรู้ทุกอย่างใหม่หมด “เอาจริงๆ เรื่องออกแบบและการทำงานกับช่างเราไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไร เพราะว่าเราเรียนรู้เรื่องการทำ product มาตั้งแต่สมัยเรียนแล้ว คลุกคลีกับเพื่อนที่ทำโรงงานพวกนี้อยู่แล้ว แต่ที่เป็นปัญหาคือเรื่องการขายนี่แหละ ตอนแรกเราขายไม่เป็น ไม่รู้จะตั้งราคาอย่างไร คือทั้งหมดมันเลยกลายเป็นประสบการณ์นี่แหละที่คอยสอนเรา เราต้องลองเข้าไปทำก่อน เสร็จแล้วสิ่งแวดล้อมรอบข้างจะสอนเราเองว่าเราต้องปรับตัวอย่างไร มีแผนกลยุทธ์อย่างไร ก็ศึกษาเพิ่มเติมบ้าง หาหนังสือมาอ่าน ดูรายการโทรทัศน์ เรียนรู้การเข้าตลาดว่าจะต้องทำอย่างไร เพราะว่ามันใหม่กับเรามากๆ สมัยเรียนก็ไม่ได้ตั้งใจเรียนเรื่องการตลาดด้วยครับ (หัวเราะ) วาดรูปอย่างเดียวเลย”

“พอเริ่มมาทำจริงจังก็ยากนะ แต่สนุกดี มันก็ท้าทาย เพราะเราก็มีเป้าหมายของเราว่าเราอยากจะทำแบรนด์ให้แข็งแรง สามารถพัฒนาต่อยอดทางความคิดของเราให้ได้มากที่สุด เราไม่ได้มองว่าปาตาเพียรจะเป็นแค่ object เราอยากมี showroom อยากมี studio ซึ่งเป็นฝันใกล้ๆ ของเรา และเราก็กำลังจะพัฒนามันให้ไปถึงตรงนั้น”

มุ่งเป้านานาชาติ

การออกงานแฟร์นับเป็นลู่ทางที่สำคัญที่ทำให้แบรนด์ PATAPiAN เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ “พวกเรามีโอกาสไปออกงานแฟร์ที่ญี่ปุ่น ญี่ปุ่นเป็นงานแฟร์ต่างประเทศครั้งแรกของเรา ได้รับผลตอบรับที่เกินคาดมากเพราะว่าอย่างประเทศเขาจะเน้นเรื่องความละเอียดอยู่แล้ว และพอเขาเห็นงานของเรา ทั้งๆ ที่เป็นดินสอ เป็นแค่ปลอกใส่ เป็นแค่เชิงเทียน เขาก็ให้ความสนใจ รู้สึกดีกับงานของเรามาก ผู้ชายใส่สูทเดินมาบอก ‘คาวาอี้’ เราก็รู้สึกดีใจ feedback ก็โอเคระดับหนึ่งกับการเปิดตัวของเราที่ต่างประเทศ อย่างงานของเราจะเป็นงานเชิง nich market เป็นตลาดเฉพาะกลุ่มจริงๆ คือพอเขาชอบเขาก็จะเข้าใจเลย ไม่ต้องมาพูดอะไรมาก แทบไม่ต้องอธิบาย เขาหยิบไปแล้วบอกว่าสวยมาก เขาพูดคำเดียวแล้วจ่ายเลย ไม่ต้องมาเสียเวลาถามมันคืออะไร ทำมาจากอะไร และกลุ่มพวกนี้ก็จะเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของเราที่ทำให้เราได้เจอลูกค้าอีก เขาจะแนะนำบอกต่อกัน”

“กลุ่มคนที่เข้ามาสนใจ มาซื้อโปรดักต์ของเราก็จะหลากหลาย วัยรุ่นที่ชอบงานแบบนี้ก็มีเยอะ วิธีคิดของเขาและแนวทางของเรามันตรงกัน มันไม่ต้องพูดอะไรมากเขาก็เข้าใจเลย ผมเคยเจอครั้งหนึ่งที่ออกงานแฟร์ครั้งแรก ผมไม่เคยขายของ แล้วผมก็พูดว่างานแบบนี้คนไทยไม่ค่อยเข้าใจหรอก ซึ่งมันผิดมากครับที่พูดแบบนั้นออกมา เพราะเราเป็นคนไทยเรายังเกทเลย แล้วไม่รู้เขาซื้อประชดเราหรือเปล่า เขาก็ซื้อเยอะมากแล้วบอกว่า ‘get จะตาย’ (หัวเราะ) แต่พอเราไปจัดอีกงานเขาก็มาอุดหนุนเราอีกนะ และด้วยความย้ำคิดย้ำทำของเรา ทำไปเรื่อย เรามีสไตล์ที่ชัดเจนของตัวเอง เราไม่ได้หมุนไปตามเทรนด์หรือมีกลุ่มไหนเขาทำอะไรกันมากๆ แล้วก็ไปทำตามเขา เราไม่ใช่แบบนั้น อย่างที่บอก ปาตาเพียรเรากำลังเล่าเรื่องที่เราสนใจจริงๆ สิ่งที่เราสนใจในชีวิตประจำวันซึ่งอาจจะตรงกันข้ามกับโลกก็ได้นะ แต่เราก็พยายามนำเสนอออกมาในแบบของเราครับ”

อย่างที่บอกการทำธุรกิจไม่ใช่เรื่องง่าย เจอเรื่องที่ผิดพลาด หรือล้มเหลวบ้างก็ต้องลุยต่อ “ถ้าถามเรื่องความล้มเหลว ผมว่ามันเป็นประสบการณ์มากกว่า มันจะมองว่าเป็นความล้มเหลวไม่ได้ อย่างผมไปออกแฟร์แล้วขายไม่ได้ ผมก็มานั่งคุยกันนะว่าทำไมถึงขายไม่ได้ ไม่ตรงกับกลุ่มลูกค้าของเราหรือเปล่าเราถึงขายไม่ได้ ผมเคยไปออกบูธตามงาน art market ที่เฟี้ยวๆ มีดนตรีเท่ๆ เราก็คิดว่าเอองานของเราก็เท่มันน่าจะไปกันได้ สรุปเราไปกินเบียร์เฉยๆ เลย (หัวเราะ) เราก็ได้รู้ว่าตลาดมันไม่ใช่ เราก็เลยเลือกที่จะมาแฟร์ใหญ่เพื่อจะได้เจอกับผู้ประกอบการจริงๆ ได้เจอกับกลุ่มที่เราอยากจะพุ่งตรงเข้าไปหาเขาจริงๆ เพราะเราก็รู้แล้วว่าของที่เรานำเสนอ มันเป็นทักษะฝีมือของคนไทย แล้วเรื่องราคา จะบอกว่าของของเราแพงก็ไม่ใช่ จะบอกว่ามันคุ้มค่ากับที่ต้องจ่าย แล้วตลาดนี้มันควรจะอยู่ตรงไหน เราก็เลือกที่จะไปแฟร์ใหญ่มากกว่า และเราก็ได้เห็นภาพชัดเจนเลยว่า พอเราเลือกแฟร์ใหญ่ครั้งแรก เราก็มีออเดอร์เข้ามา ซึ่งแตกต่างกับที่ไปขายย่อยๆ ไปนั่งอยู่แล้วขายไม่ได้ ทั้งๆ ที่เราคิดว่ามันน่าจะขายได้เพราะมีคนเดินเยอะ เหมือนอย่างเราไปขายที่เกษรพลาซ่าคนค่อนข้างจะเดินน้อย แต่เราขายได้เยอะมาก เขาเป็นที่ target ที่มีกำลังซื้อ แล้วคนที่ชอบเขาตรงเข้ามาหาเราจริงๆ เราก็เลยต้องเลือกว่าเราอยากไปนั่งกินเบียร์อย่างเดียวหรือเปล่า หรือว่าเราอยากจะมาขายของด้วย คือไม่ต้องพูดอะไรมาเขาเดินเข้ามาแล้วเขารู้ว่า product เราเป็นอย่างไร”

เราเลยเลือกที่จะมาแฟร์ใหญ่เพื่อจะได้เจอกับผู้ประกอบการจริงๆ ได้เจอกับกลุ่มที่เราอยากจะพุ่งตรงเข้าไปหาเขาจริงๆ เพราะเราก็รู้แล้วว่าของที่เรานำเสนอ มันเป็นทักษะฝีมือของคนไทย แล้วเรื่องราคา จะบอกว่าของของเราแพงก็ไม่ใช่ จะบอกว่ามันคุ้มค่ากับที่ต้องจ่าย

“เรามีโอกาสได้ไปงานแฟร์ที่ลอนดอน เราเอาของไปได้ไม่เยอะมาก เอาของกระจุกกระจิกไป พวก collection jewery วางแปบเดียวลูกค้าก็มารุมกัน ผมก็งงมาก ยังคิดว่าหรือเราต้องมาอยู่ที่อังกฤษแทนเนี่ย (หัวเราะ) มันเป็นแบบนั้นจริงๆ ผมก็รู้สึกดีนะ มันไปตาม step ของมันมากกว่าครับ เราสองคนขายกันไม่ค่อยเป็นอยู่แล้ว จะไปเน้นขายมากๆ ก็ทำไม่เป็น เราเลือกสังเกตจากลูกค้าเวลาเข้ามาดูของมันก็ถือเป็นประสบการณ์ของเรา อย่างแรกๆ ที่มีลูกค้ามาดู เราจะเข้าไปคุยกับเขาว่าของเราเป็นอย่างนู้นอย่างนี้ หลังๆ เราก็ปล่อยให้เขาดูของเราเอง ถ้าเขาชอบเขาจะเรียกเรา แต่ถ้าเขาไม่ชอบพูดไปมันก็เท่านั้น”

ด้วยโปรดักต์ที่เป็นงานหัตถกรรมมีความประณีตอาจทำให้ไม่สามารถผลิตของได้รวดเร็วเท่าที่ควร “ส่วนนี้สำคัญมาก เราก็จะมาจัดการเรื่องนี้ เรามาเรียนรู้เรื่องนี้กับช่าง วิธีการทำงานที่จะชิวไปทีขอไปทีคงทำไม่ได้แล้วในเรื่องธุรกิจ เราต้องมีการทดสอบ ให้ลองทำขึ้นมาด้วยระยะเวลาเท่านี้ และด้วยออเดอร์เท่านี้ที่จะเป็น stock ของเราที่ต้องเก็บไว้ เพราะเราพร้อมลงทุนทำตรงนี้อยู่แล้ว และโชคดีด้วยที่คนที่เราทำงานด้วยทุกคนมีความรับผิดชอบ มีใจให้กันจริงๆ อย่างลูกค้าเร่งมาก ต้องเอางานวันพรุ่งนี้เช้า เขาก็ทำงานให้ผมตั้งแต่เช้าไปนั่งคลุกอยู่ทั้งวันจนเสร็จ ด้วยใจซื้อใจจริงๆ แต่ก็ไม่ได้เป็นอย่างนี้บ่อยหรอกเป็นช่วงๆ มากกว่า เวลาทำงานกับคนรุ่นเดียวกันเราคุยกันได้เต็มที่”

เป็นการทำงานของคนในรุ่นเดียวกัน เป็นการต่อยอดของคนรุ่นหลัง “ทีมผมไม่มีเกิน 40 เลย และพัฒนาจากเด็กขึ้นมาอีก ไม่รู้สิเราอยากให้มันเป็นหนึ่งในแนวทางของเรา คือผู้ใหญ่มากๆ ก็เก่งนะครับ แต่เขาก็จะมีบางสิ่งที่ทำแบบนี้สิ ทำอย่างนี้ดีแล้ว แต่เราไปทดลองด้วยกัน ผมจะไม่ใช้คำว่าทำงานให้ผมแบบนี้ๆ แต่จะเป็นแบบ พี่มาเล่นกันดีกว่า มาสนุกกัน มาลองกันดู เป็นท่าทีการทำงานมากกว่า เป็นตัวอย่างให้กับกลุ่มที่จะต้องเข้าไปทำงานกับชาวบ้าน เราต้องเป็นเขาและเขาก็ต้องเป็นเราด้วย ไม่ใช่จ่ายเงินอย่างเดียว มีเงินอย่างเดียวเขาก็อาจจะไม่ทำให้ก็ได้”

เนื่องจากเป็นคู่รักกัน ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน กระบวนการทำงานในแง่ของการออกแบบ และธุรกิจก็จะเป็นในแนวทางการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน “ตั้งแต่เริ่ม inspiration สมมุติเราจะออกแบบสัก collection หนึ่ง ทั้งที่เราใช้ชีวิตด้วยกัน ไปเจออะไรในที่ที่เดียวกัน แต่วิธีคิดเราก็จะแตกต่างกันไป แล้วตอนที่มาเจอกันมันก็ต้องจูนกัน ต้องใช้การค่อยๆ ปรับ คุยกันว่าแบบนี้ดีไหม แบบนั้นดีหรือเปล่า มันก็จะลงตัว บางเรื่องเราก็เห็นตรงกันนะ เป็นเรื่อง sketch ทางความคิด ส่วนเรื่องออกแบบเราก็จะเขียน sketch แล้วนำเสนอกัน เราไม่ได้คิดอันนี้ออกมาอันเดียวแล้วส่งเลยจบเลย แต่เราจะแบ่งกันไปคิดมาก่อนคนละ 5 แบบ เหมือนส่งงานอาจารย์ เป็นความโชคดีของผมด้วยที่ก้อยชอบเรื่องออกแบบ เมื่อก่อนก้อยวาดรูปไม่เป็นนะ เดี๋ยวนี้วาดสวยกว่าผมอีก (หัวเราะ) ตรงนี้ผมเห็นเลยเห็นว่าพรสวรรค์มีจริงแค่ไหนก็สู้พรแสวงแบบที่ก้อยมีไม่ได้ เขาตื่นเช้ามาวาดแบบเขียนแบบทุกวัน เขียนเยอะมากๆ” จั้มเล่าถึงกระบวนการสร้างงานของพวกเขา“ ส่วนเรื่องของคอนเซปต์และวิธีคิดเราก็เอาวิธีคิดของเรามารวมกันแล้วแตกออกเป็นคำที่เข้าใจง่ายกับทุกคน เรื่องของเราไม่ได้มีอะไรมาก เราไม่ได้ fake ขึ้นมา เราเห็นมันจริงๆ เราถึงออกแบบมันออกมา มันก็เลยค่อนข้างจะง่าย”

อนาคต และก้าวต่อไปของ PATAPiAN จะเป็นอย่างไรต่อ “อยากให้มันค่อยๆ เป็นไปตามขั้นตอนของมัน เราคงไม่กระโดดไปทำโต๊ะ ทำตู้ ทำเฟอร์นิเจอร์เลย มันคงต้องไล่เป็น step ไปอย่างตอนแรกที่เราทำชุดดินสอ ต่อด้วยของที่ใส่มัน เป็น container พอเราเห็นมันอยู่บนโต๊ะแล้ว เราอยากมีสุนทรีย์ในการทำงานของเรา เราก็ทำพวกแจกันขึ้นมา ทำเชิงเทียน จะเห็นว่ามันไล่ step ของมันตลอด อนาคตอันสั้นคงไม่ได้มองไปไกลมากแต่จะค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป เป็น product ที่เราคิดว่าเราพร้อมแล้ว มันอาจจะไปสุดที่ไหนก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่ก็จะพยายามทำสนองความคิดเราสองคนครับ” จั้มเล่าให้ฟังพร้อมแววตาที่เป็นประกาย

ติดตามผลงานของพวกเขาได้ที่ : www.facebook.com/patapian/  

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin
Share on pinterest

More to explore