ในหมู่คนในวงการสร้างสรรค์เองอาจจะคุ้นเคยกับคำว่า creative block หรือ อาการหมดไฟ สมองตื้อ คิดงานไม่ออกนั่นแหละ ซึ่งใครๆ ก็เป็นกันได้ แต่ถ้าถึงขั้นรู้สึกไม่อยากทำอะไร ซังกะตาย ไม่ตื่นเต้นกับงานสร้างสรรรค์เหมือนเมื่อก่อน คุณอาจจะกำลังประสบกับภาวะ creative burnout อยู่ก็ได้
สาเหตุของ creative burnout
ในฐานะครีเอเตอร์ที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์มาสร้างรายได้แล้ว ภาวะหมดอาลัยตายอยากทางความคิดสร้างสรรค์คงเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากเจอ แต่เช่นเดียวกับความครีเอทีฟที่ขึ้นๆ ลงๆ ภาวะนี้เป็นภาวะที่พบเจอกันได้ ซึ่งสาเหตุก็มีหลายอย่าง ทั้งการทำงานมากไป ความเครียดสะสม การพักผ่อนหรือดูแลตัวเองไม่เพียงพอ การทำอะไรบางอย่างซ้ำๆ เป็นเวลานาน หรือแม้แต่การผลิตงานออกมาแล้วไม่มีคนเห็นคุณค่า ซึ่งถ้าปล่อยไว้นานๆ แล้วจะมีผลกระทบต่อสุขภาพจิตได้
อาการของ creative burnout
ภาวะ creative burnout ถ้าจะให้สรุป ก็คงเป็นภาวะที่รู้สึกเหมือนเราได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ไปจนหมดก๊อกแล้ว จนไม่อยากจะคิดหรืออยากจะทำอะไรอีก โดยสัญญาณของ creative burnout นั้นมีหลายข้อ ได้แก่
- ผัดวันประกันพรุ่ง ไม่สนใจเดดไลน์ใดๆ เพราะรู้สึกว่าไม่มีพลังที่จะทำต่อไปแล้ว
- รู้สึกเหนื่อยหน่ายตลอดเวลา ไม่อยากทำอะไร แม้ว่าจะพักผ่อนเพียงพอแล้วก็ตาม
- ไม่รู้สึกสนใจกิจกรรมต่างๆ ที่เคยสนใจ
- รู้สึกเครียดตลอดเวลาโดยที่หาสาเหตุไม่ได้
- อยู่ดีๆ ก็บริโภคคอนเทนต์ของคนอื่นอย่างเอาเป็นเอาตาย แต่ตัวเองไม่ได้สร้างอะไรใหม่
- ไม่สามารถทำงานง่ายๆ ที่เคยทำอยู่ได้ จนทำให้ลิสต์งานที่ต้องทำยาวขึ้นเรื่อยๆ
- รู้สึกกลัวที่จะตื่นมาพบกับวันใหม่ ไม่ใช่แค่เฉพาะวันจันทร์ แต่เป็นทุกๆ วัน
- รู้สึกหงุดหงิดกับคนรอบตัวและสิ่งรอบตัวบ่อยกว่าปกติ
- รู้สึกสงสัยในความสามารถของตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองอาจไม่ดีพอที่จะทำงานต่างๆ ได้
- รู้สึกว่าทุกอย่างรอบตัวดูคลุมเครือและไร้ความหมาย
วิธีการจัดการกับ creative burnout
แม้ภาวะนี้จะทำให้คุณไม่อยากทำงานทำการอะไร แต่อย่าลืมว่าทุกปัญหาย่อมมีทางออก เมื่อเป็นแล้ว คุณสามารถจัดการกับภาวะหมดอาลัยตายอยากนี้ได้ด้วยการลุกขึ้นมาหยุดวงจรนี้ ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น
- หาหน่วยสนับสนุน พึงตระหนักการหมดไฟไม่ใช่เรื่องน่าอาย แทนที่จะหนีจากเพื่อนร่วมงาน ลองคุยกับเพื่อนร่วมงานของคุณดู แล้วคุณจะพบว่าหลายๆ คนพร้อมที่จะรับฟังและช่วยเหลือ การเปิดใจคุยกับคนอื่นยังเป็นการยอมรับว่าคุณกำลังมีปัญหา ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ปัญหาได้ง่ายขึ้นด้วย
- หาเวลาพักผ่อน ไม่ใช่แค่เดินออกไปสูดอากาศนอกออฟฟิศ แต่เราหมายถึงการลาหยุดหลายๆ วัน เพื่อพักผ่อนและเริ่มใหม่ คุณอาจจะเดินทางท่องเที่ยว หรืออยู่บ้านเพื่อทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ไม่ใช่งานก็ได้
- ย้อนกลับไปดูงานเก่าๆ ของตัวเอง ถ้ารู้สึกไม่แน่ใจในตัวเอง หนทางที่ง่ายที่สุดก็คือการกลับไปดูความสำเร็จในอดีต หลายๆ งานอาจจะเป็นงานที่เราลืมไปแล้วด้วยซ้ำ วิธีนี้จะทำให้ตระหนักได้ว่าเหนื่อยยากแค่ไหนเราก็ยังผ่านมาได้นะ
- เริ่มใหม่จากเบสิก โดยตั้งเป้าไปที่หน่วยที่เล็กที่สุดของการสร้างสรรค์ก่อน ถ้าคุณกำลังเขียนหนังสือ อาจจะเริ่มจากเป้าหมายอย่างเขียนวันละ 1 ย่อหน้าหรือ 1 หน้า แล้วค่อยๆ ปรับเพิ่ม
- สลับไปทำงานอื่นก่อน เป็นวิธีที่นักสร้างสรรค์หลายคนนิยมทำ ถ้าเขียนเรื่องนี้ไม่ออก ก็อาจจะสลับไปเขียนอีกเรื่อง หรือถ้าวาดรูปนี้แล้วยังไม่ถูกใจ ก็เปลี่ยนบรรยากาศไปวาดอีกรูปก็ได้ หรือจะสลับไปทำกิจกรรมอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกันเลยก็ได้เหมือนกัน
- ถ้าลูกค้าคือต้นเหตุของอาการ เรียนรู้ที่จะเซ็ตลิมิตหรือปฏิเสธ
วิธีป้องกันการเกิด creative burnout
แน่นอนว่าการป้องกันย่อมดีกว่ามาแก้ปัญหาทีหลัง เราสามารถป้องกันการเกิดภาวะ creative burnout ได้ด้วยวิธีต่างๆ เช่น
- รับรู้อยู่เสมอว่าตัวเองคิดอย่างไร โดย metacognition คือการรับรู้และตระหนักถึงกระบวนการคิดของตัวเอง เพื่อให้สามารถเรียนรู้และแก้ปัญหาได้ต่อไป ควรหมั่นตรวจสอบตัวเองอยู่เสมอ เพื่อที่จะได้แก้ปัญหาได้เนิ่นๆ
- ใช้หลักการ mindful productivity ซึ่งหมายถึงการหมั่นสังเกตความคิดและอารมณ์ของตนเองอยู่เสมอระหว่างทำงาน บางทีการจดจ่ออยู่กับงานบางอย่างเป็นเวลานานๆ อาจทำให้เราหลงลืมตัวเองไปชั่วขณะ พอรู้ตัวอีกทีก็หมดแรงไปแล้ว ดังนั้นควรสำรวจความคิดและความรู้สึกตัวเองอยู่เสมอ
- คัดกรองแต่คอนเทนต์ดีๆ ให้ตัวเอง ไม่ใช่หมายความว่าไร้สาระไม่ได้ แต่หมายถึงการไม่เลือกเสพแต่คอนเทนต์ไร้สาระเท่านั้น แต่ควรมีคอนเทนต์ที่สร้างแรงบันดาลใจหรือกระตุ้นให้อยากพัฒนาตัวเองต่อไปด้วย
- หาสิ่งที่มาเบี่ยงเบนความสนใจบ้าง คนเราไม่สามารถจดจ่อกับอะไรได้นานๆ หรอก แม้เราจะอยากโฟกัสกับมันมากแค่ไหนก็ตาม ฉะนั้นแทนที่จะฝืนทำงานต่อไป ให้เวลาตัวเองได้พักบ้าง อาจจะเป็นการเปลี่ยนมาเป็นวาดรูปเล่นหรือฟังเพลง เปลี่ยนอิริยาบถ แค่นี้ก็เวิร์คแล้ว