fbpx

‘บ้านถวาย’ กับการเดินทางครั้งใหม่บนถนนสายคราฟท์

โครงการ Crafted Journey คือใบเบิกทางให้ชุมชนช่างฝีมือเชียงใหม่กลับมามีเสน่ห์ดึงดูดใจใครต่อใครอีกครั้ง

จินตนาการถึงหมู่บ้านเล็กๆ ในเมืองเหนือ ที่ร้านค้างานไม้หัตถศิลป์ งานจักสาน งานปั้น และงานเครื่องเขิน แทรกตัวอยู่ตามแนวสองฝั่งคลองที่มีต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงาคลายร้อน มีสตูดิโอขนาดกะทัดรัดสำหรับให้นักเดินทางที่มาเยี่ยมเยือนได้ลองเล่นกับงานปั้น แกะ กลึง มีนิทรรศการแสดงงานออกแบบชิ้นใหม่และงานศิลปะท้องถิ่น มีร้านอาหารที่เสิร์ฟข้าวเหนียวนึ่งร้อนๆ กับน้ำพริกหนุ่ม แค่บหมู ไส้อั่ว ในบรรยากาศท้องทุ่ง มีร้านกาแฟเล็กๆ ที่ชวนดึงดูดใจด้วยกลิ่นกาแฟคั่วโชยหอมมาตามสายลม จินตนาการความฝันนี้ กำลังก่อรูปก่อร่างขึ้นเค้าโครงเป็นความจริง เริ่มต้นด้วยโครงการเล็กๆ ที่มีกรอบเวลาสั้นจุ๊ด ทำงานแบบเร็วจี๋ ชื่อว่า ‘Crafted Journey’ โครงการที่มุ่งหวังจะเป็นใบเบิกทางให้ชุมชนบ้านถวาย เชียงใหม่ กลับมามีเสน่ห์ดึงดูดใจใครต่อใครอีกครั้ง

หมู่บ้านช่างไม้แห่งเชียงใหม่

ราว 50 ปีก่อน หมู่บ้านหัตถกรรม ‘บ้านถวาย’ เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่ขึ้นชื่อมากที่สุดแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ เป็นที่ที่ผู้คนนิยมมาหาซื้อของตกแต่งจากไม้สักแท้และงานหัตถกรรมฝีมือดี ในราคาที่ทุกคนบอกกันสั้นๆ ซื่อๆ ว่า “ถูก” ชื่อเสียงงานไม้ของบ้านถวายในเวลานั้นเป็นเหมือนนักวิ่งกำลังแรงที่ไต่ขึ้นเขาสูงไปเรื่อยๆ ไม่เพียงแต่คนไทยทั่วไปที่มาซื้อของไปตกแต่งบ้าน ร้านค้า หรือโรงแรม แต่ยังมีนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งจากยุโรป อเมริกา และขบวนทัวร์จีนแวะมาชมมาช้อป

แต่เส้นทางของชุมชนหมู่บ้านถวายแห่งนี้ดูคล้ายจะไม่ต่างจากกราฟชีวิตของคนเรา มีขึ้น แล้วก็มีลง ความเฟื่องฟูของบ้านถวายชนิดที่มีนักท่องเที่ยวแน่นขนัด มีรถบรรทุกสินค้าวิ่งเข้า-ออกอยู่ตลอดเวลา กลายเป็นชุมชนที่ซบเซา เป็นชื่อที่คนรุ่นใหม่ไม่รู้จัก ไม่เคยได้ยิน สิบกว่าปีมาแล้วที่ร้านค้าหลายร้านได้ปิดตัวลงไป ผู้ประกอบกิจการหลายรายหันเหไปทำอาชีพอื่น ร้านค้าที่คงอยู่มีไม่มากนักที่จะสร้างพลังกวักให้นักท่องเที่ยวอยากมาเยี่ยมเยียน

“คนเข้ามาซื้อของที่บ้านถวายน้อยลงเพราะตลาดเปลี่ยนไปอยู่บนโลกออนไลน์ ทำให้บ้านถวายเงียบเหงา การพัฒนางานออกแบบใหม่ร่วมกับผู้ประกอบการจะเป็นการนำบ้านถวายออกมาสู่ระดับประเทศและสู่ตลาดออนไลน์ด้วย”

รัฐ เปลี่ยนสุข – ดีไซเนอร์

“ผมอยากพลิกฟื้นบ้านถวายให้กลับมาโด่งดังและสร้างรายได้อีกครั้ง” ดร. ธนันธน์ อภิวันทนาพร ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจต่างประเทศและการตลาด สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) บอกกับเราเมื่อครั้งพาไปชมบ้านถวายเมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา “ลองนึกดูนะครับว่า ในเมืองไทยเรา ไม่มีชุมชนงานฝีมืองานไม้ที่มีชื่อเสียงเท่าบ้านถวายอีกแล้ว ผมอยากทำบ้านถวายให้มามีชีวิตอีกครั้ง”

การเข้ามาทำงานพัฒนาผลิตภัณฑ์บ้านถวาย ของ ISMED โดยมี ดร. ธนันธน์ เป็นหัวหอก และมี สุทธิวรรณ อมาตยกุล ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านการสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ เข้ามาร่วมทัพ เริ่มต้นจากการที่ทั้งสองได้เข้าไปทำงานพัฒนาแบรนด์ให้กับธุรกิจสปาและเวลเนสส์ของประเทศไทย จากงานนั้นทำให้ทั้งสองพบว่ามีสปาและร้านนวดหลายแห่งตั้งแต่เหนือจรดใต้ที่เคยใช้เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งไม้สักจากบ้านถวายเพื่อสร้างบรรยากาศแบบไทยๆ แต่ทุกวันนี้ได้โบกมือลาจากการเป็นลูกค้าไปหมดสิ้น ด้วยเหตุผลสำคัญที่ว่า “สินค้าบ้านถวาย ไม่มีอะไรใหม่”

“ถ้าอยากทำให้บ้านถวายกลับมามีสีสัน ก็ต้องเริ่มด้วยการทำสินค้าใหม่ให้ดีไซน์ไม่ซ้ำเดิม”

ดร. ธนันธน์ อภิวันทนาพร – ISMED

สำทับด้วยคำเล่าของ วสันต์ เดชะกัน นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจสินค้าหัตถกรรมบ้านถวายและกลุ่มผู้ประกอบการอีกหลายรายในบ้านถวายที่ก็เล่าให้เราฟังว่า “บ้านถวายถดถอยลงไปมากเพราะขายสินค้าในแบบคล้ายๆ กัน และขายตัดราคากันเอง”

ย่างก้าวใหม่ใน Crafted Journey

ก้าวแรกของเราเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันนั้น เรามีเวลาแค่สามสี่วันในการสร้างทีมที่ปรึกษาด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้กับบ้านถวาย โดยกำหนดจุดประสงค์ว่าต้องนำเอาความสามารถด้านการออกแบบของดีไซเนอร์มาทำงานกับความเชี่ยวชาญด้านหัตถกรรมของช่างบ้านถวายให้ได้อย่างรวดเร็ว และโจทย์ของเราชัดเจนว่าคือการออกแบบผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ในสปา รีสอร์ท และโรงแรม โดยต้องมีรูปแบบทันสมัยแต่ยังคงสื่อถึงความเป็นไทยในขณะเดียวกัน

รัฐ เปลี่ยนสุข (Samphut Gallery) นักออกแบบที่คว้ารางวัลมามากมาย และเพิ่งได้รางวัล Designer of the Year 2019 สาขา Product Design ถูกชวนเข้ามาร่วมทีมแบบด่วนจี๋ เช่นเดียวกับ ศริญญา ลิมป์ทองทิพย์ (Srinlim Studio) นักออกแบบหญิงที่มีรางวัลจากผลงานเด่นทั้งกราฟิก ลายผ้า และงานเซรามิก และเพื่อให้ทีมได้นักออกแบบที่มีมุมมองด้านการตลาดมาเสริม เราจึงชวน ศลิษา วิราพร นักออกแบบผลิตภัณฑ์และเจ้าของร้านขายของตกแต่ง Breezadee มาร่วมทีมด้วย

“ความสามารถและศักยภาพของช่างท้องถิ่นในบ้านถวายนั้น มีความโดดเด่นไม่แพ้ที่ใด หากเราพัฒนางานออกแบบและศักยภาพให้ตรงจุด โฟกัสตลาดที่เหมาะสม ก็จะทำให้ผลิตภัณฑ์และศิลปะของบ้านถวายกลับมามีชีวิตได้อีกครั้ง”

ศริญญา ลิมป์ทองทิพย์

จากเป้าหมายเริ่มต้นในการพัฒนาสินค้าหัตถกรรมบ้านถวายและละแวกใกล้เคียง ตามมาด้วยกลุ่มช่างเครื่องเรือนไม้สักฝีมือดีจาก จ.สุโขทัย ที่สุทธิวรรณชักชวนเข้ามาร่วมเส้นทางการพัฒนาครั้งนี้ เบ็ดเสร็จแล้วเราจึงมีกลุ่มผู้ผลิตอยู่ถึง 17 ราย (14 จากเชียงใหม่ และ 3 จากสุโขทัย) ที่ต้องจับมือทำงานกับทีมออกแบบ 4 คนเพื่อผลิตงานให้เสร็จสิ้นภายในเวลา 1 เดือน

กรอบเวลาที่ถูกกำหนดไว้อย่างนี้ อาจจะทำให้เราต้องสร้างเซโรโทนินเพิ่มขึ้นหลายเท่า แต่เมื่อวันที่งานหัตถกรรมต่างๆ เดินทางมาอวดรูปลักษณ์อยู่ตรงหน้า เราได้เห็นโคมไฟเศษไม้ที่เป็นได้ทั้งโต๊ะและแจกันเรืองรองอย่างมีเสน่ห์ เห็นกล่องไม้สักสีสวยที่เรียงต่อกันแล้วมีรูปทรงเสมือนเจดีย์ เห็นชุดถ้วยชาและที่ใส่เทียนศิลาดลแล้วให้ภาพทิวเขาสลับซับซ้อน รวมไปถึงตู้เก็บของทรงกึ่งโบราณที่นำเอาปิ่นเงินมาแทนสลักกลอน ชุดเลาจน์แชร์และฉากกั้นจากฝีมืองานมัดผูก ตู้ไม้และชั้นวางแบบโมดูลาร์ที่สงบงามแบบเอเชีย เรื่อยไปจนถึงโต๊ะและถาดไม้ในหนึ่งเดียวที่นำแรงบันดาลใจมาจากเรือนไทยใต้ถุนสูง โต๊ะกลางที่นำเอาลายปูนปั้นของวัดศรีชุมมาคลี่คลายและเข้าลายใหม่ โต๊ะไม้สักช้างล้อมที่ทั้งดูขลังทั้งน่าสัมผัส ฯลฯ – ภาพที่เห็นนี้ทำให้การร่วมเดินทางสู่วิถีหัตถกรรมใหม่น่าอภิรมย์ยิ่งนัก

ไม่แปลกถ้าเราจะวาดหวังว่าในอนาคตไม่ไกลจากนี้ เสน่ห์ของหัตถกรรมบ้านถวายจะกลับโปรยปรายขึ้นอีกครั้ง

** งานหัตถกรรมบางส่วนในโครงการ Crafted Journey เคยจัดแสดงและจำหน่ายในงาน Style Bangkok 2019 (17-21 ตุลาคม 2562) และในงาน ChiangMai Design Week 2019 (7-15 ธันวาคม 2562)

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin
Share on pinterest

More to explore