ในปีค.ศ. 2011 อองตวน อาร์โนลด์ (Antoine Arnault) ผู้บริหารของเครือ LVMH ได้เปิดตัวอีเวนต์ใหม่ในชื่อว่า Journees Particulieres ที่ดูเผินๆ ก็คล้ายกับกลยุทธ์การตลาดแบบเบสิก นั่นคือจัดเป็นอีเวนต์แบบโอเพนเฮาส์ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนและผู้ที่สนใจเข้ามาชมการทำงานในเวิร์กช็อปและสถานที่ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์ได้ ในหนึ่งปี นี่คือโอกาสเดียวที่คนนอกจะได้มีโอกาสเยี่ยมชมเวิร์กช็อปช่างฝีมือของเฟนดิหรืออะเตอลิเยร์ของดิออร์เพื่อดูกันใกล้ๆกว่าสินค้าที่แพงแสนแพงนั้นรังสรรค์ขึ้นมาอย่างไร ใช้วัสดุใดบ้าง และต้องใช้เวลานานแค่ไหน และจากอีเวนต์เล็กๆในปีค.ศ. 2011 Journees Particulieres นี้ได้ขยับขยายออกไปใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนในปีค.ศ. 2018 มีแบรนด์ในเครือ LVMH เข้าร่วมถึง 56 แบรนด์ ที่ “เปิดบ้าน” หรือสถานที่ 76 แห่งทั่วโลกให้คนทั่วไปได้เข้าชม ซึ่ง 38 แห่งในนั้นไม่เคยเปิดให้คนทั่วไปเข้ามาก่อน… ซึ่งถ้าเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดก็คงต้องบอกว่าแคมเปญนี้ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่เลยทีเดียว
แต่ลองมองไปลึกๆ แล้ว Journeys Particulieres อาจไม่ใช่เรื่องการตลาดเท่านั้น อย่างน้อยก็ไม่ใช่ที่อิตาลี…
สืบสานงานฝีมือ
ณ กรุงโรม อีเวนต์ Journees Particulieres นี้กลายเป็นที่รู้จักในหมู่คนรุ่นใหม่จากแบรนด์เฟนดิ (Fendi) ที่เปิดสำนักงานที่ Palazzo della Civiltà Italiana ให้เด็กๆ เข้าไปชมช่างฝีมือทำงานกันใกล้ๆ ตั้งแต่วิธีการเลือกหนังไปจนถึงการสร้างสรรค์กระเป๋าพีคาบูรุ่นไอคอนิกและการควบคุมคุณภาพ ในอิตาลี หนึ่งในปัญหาที่น่าเป็นกังวลที่สุดคือปัญหาการว่างงานของประชากรอายุ 15-24 ปีนั้นมีอัตราสูงถึง 30% ในปีค.ศ. 2018 และพร้อมๆกันนั้น รายงานจาก Altagamma ชี้ว่าสมาคมสินค้าลักชัวรี่ของอิตาลีคาดว่าจะมีช่างฝีมือเกษียณอายุในเร็วๆ มากกว่า 50,000 คน…. ประเมินดูแล้วก็เหมือนจะลงล็อกพอดี และอีเวนต์แบบ Journees Particulieres นี่แหละที่จะเชื่อมคนทั้งสองกลุ่มเข้าด้วยกัน สำหรับอิตาลี นี่คือทางรอดของงานฝีมือ โดยเฉพาะงานฝีมือสำหรับสินค้าลักชัวรี่ซึ่งเป็นสินค้าไฮไลต์ของประเทศ
คราฟต์คืออนาคต
สำหรับประเทศอื่นๆ แม้อาจจะไม่ได้เจอวิกฤตแรงงานรุนแรงเท่าอิตาลี แต่เทรนด์การบริโภคสินค้าก็ชี้ชวนไปในทางเดียวกัน หลังจากยุคแห่งฟาสต์แฟชั่นหมดลง ก็ถึงเวลาของยุคสโลว์แฟชั่นที่คนให้ความสำคัญกับที่มาของวัสดุ เทคนิคและฝีมือ รวมถึงกลุ่มคนที่อยู่เบื้องหลังมากยิ่งขึ้น ในโลกที่ทุกอย่างดูเหมือนกันไปหมด อะไรจะ “ลักชัวรี่” มากกว่า “ความแตกต่าง” อีกล่ะ? เรากำลังอยู่ในยุคที่คนแสวงหาสินค้าที่ไม่เหมือนใครและมีความเป็นเอกลักษณ์ และงานฝีมือหรือคราฟต์ก็ดูจะตอบโจทย์ข้อนี้ได้ดีที่สุด เพราะนอกจากเรื่องทักษะฝีมือแล้ว งานคราฟต์ยังเกี่ยวพันกับมิติทางสังคมและวัฒนธรรมที่สามารถนำมาชูเป็นจุดขายให้กับสินค้าและผลิตภัณฑ์ได้ด้วย สรุปง่ายๆคือความคราฟต์นั้นมีความลักชัวรี่ในตัวเอง
ผนึกกำลังดีไซเนอร์กับช่างฝีมือ
การกลับมาผงาดอีกครั้งของงานฝีมือจึงทำให้เกิดโมเดลการทำงานใหม่ในวงการแฟชั่น นั่นคือการแท็คทีมกันระหว่างนักออกแบบและช่างฝีมือ ดูอย่างโลเอเว่ที่ทำงานร่วมกับชุมชนทอผ้าและชุมชนจักสานจากทั่วโลกในแคมเปญ Loewe Blankets และ Loewe Baskets หรือการที่ชาเนลซึ่งเป็นอีกหนึ่งแบรนด์แฟชั่นที่ผูกพันกับงานฝีมือ (จากคอลเลกชั่น Metier d’art ที่เชิดชูงานหัตถศิลป์เก่าแก่) ตั้งรางวัล Metier d’Art Prize ในเทศกาลภาพยนตร์อีแยร์ (Hyeres Festival) เพื่อเฟ้นหาดีไซเนอร์รุ่นใหม่ โดยผู้ชนะจะได้มีโอกาสทำงานคอลลาบอเรชั่นกับเวิร์กช็อปช่างศิลป์ที่เป็นพันธมิตรกับแบรนด์ ส่วนในเมืองไทยนั้น แม้จะยังไม่มาก แต่เราก็ได้เห็นการมีบทบาทมากขึ้นของเท็กซ์ไทล์ดีไซเนอร์ ในขณะที่แฟชั่นดีไซเนอร์เองก็เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบลวดลายผ้าร่วมกับชุมชนต่างๆ มากยิ่งขึ้นเพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างความพิเศษให้กับผลงาน แม้การพัฒนาจะอยู่ในจังหวะค่อยเป็นค่อยไปเพราะต้องอาศัยการปรับจูนอยู่มากระหว่างนักออกแบบและช่างฝีมือ แต่อย่างน้อยก็มีงานคืบหน้ามาให้ได้ตื่นเต้นกันเป็นระยะๆ นอกจากนักออกแบบจะได้ดีไซน์ใหม่ๆ ที่ไม่เหมือนใครแล้ว ทางชุมชนช่างฝีมือเองก็มีรายได้มากขึ้น ซึ่งก็จะเป็นกำลังใจให้อยากสืบสานและส่งต่อทักษะฝีมือให้กับคนรุ่นใหม่มากยิ่งขึ้นด้วย
โปรเจ็กต์ Loewe Blankets โปรเจ็กต์ Loewe Blankets
สู่สมดุลใหม่
แน่นอนล่ะว่าพอได้ชื่อว่าเป็นของลักชัวรี่แล้ว ความเอ็กซ์คลูซีฟหรือการมีให้ครอบครองในจำนวนจำกัดย่อมเป็นหนึ่งในคุณสมบัติสำคัญ โจทย์ต่อไปของวงการแฟชั่นและลักชัวรี่จึงเป็นการค้นหาจุดสมดุลใหม่ในด้านอุปสงค์และอุปทาน จะทำอย่างไรกับความต้องการของลูกค้าที่อาจจะเพิ่มมากยิ่งขึ้น พอทำงานกับช่างฝีมือที่ใช้ “มือ” เป็นหลักแล้วจะสามารถผลิตสินค้าได้ตามคิดคาดหวังหรือเปล่า และจะทำอย่างไรให้สามารถผลิตสินค้าที่ผสมผสานงานคราฟต์ให้ได้มากกว่าเดิมโดยไม่สูญเสีย human touch ดูแล้วมีแค่คำถามแสนท้าทายเต็มไปหมด แต่ก็เชื่ออย่างหนึ่งล่ะ where there’s a will, there’s a way ถ้ามุ่งมั่นตั้งใจทำแล้วย่อมมีหนทางเสมอ