fbpx

โดรน AI โลกไซไฟ อนาคตในสายตาของธนัช ตั้งสุวรรณ

นิทรรศการภาพวาด Corruption นำเสนอมุมมองต่อโลกอนาคตผ่านการวาดภาพแบบคลาสสิก
dhanut-1024x1022
ธนัช ตั้งสุวรรณ

นีล อาร์มสตรองได้ไปเหยียบดวงจันทร์จริงๆ รึเปล่า? สักวันหนึ่ง ประเทศไทยจะมีโอกาสมีการท่องเที่ยวอวกาศ (ททอ.) ไหม? แล้วถ้าเอไอครองโลก มนุษย์เราจะทำอย่างไร?

ภาพที่ดูจะไม่เกี่ยวข้องกันในนิทรรศการ Corruption โดยศิลปิน บาล์ม-ธนัช ตั้งสุวรรณ ชวนให้ตั้งคำถามไปต่างๆ นานา แถมยังมีหลายอารมณ์จนไม่รู้จะตอบโต้อย่างไร แต่นี่แหละคือเป้าหมายของศิลปิน เขาอยากจะจัดวางผลงานให้ดูเหมือนเวลาเราเสพข้อมูลต่างๆ บนอินเตอร์เน็ต แม้จะเพิ่งจบจากลอนดอนมาไม่นาน แต่นิทรรศการที่จัดแสดงที่ Case Space Revolution แต่นิทรรศการนี้นับเป็นนิทรรศการเดี่ยวครั้งที่สามแล้วของเขา และวันนี้เราก็ได้คุยกับบาล์มถึงคอนเซ็ปต์ของนิทรรศการนี้

นิทรรศการนี้แตกต่างจากนิทรรศการที่แล้วยังไงบ้าง
“นิทรรศการนี้ต่างกับนิทรรศการที่แล้วตรงที่มี Narrative เยอะขึ้น นิทรรศการก่อนจะเป็นเรื่องเล่าหลักเรื่องเดียวสำหรับทุกงาน แต่คราวนี้ส่วนใหญ่แต่ละภาพจะมี Narrative ของตัวเอง มีความเป็นนิทานมากยิ่งขึ้นครับ”

บาล์มบอกว่านิทรรศการนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากการดูวิดีโอและโลกโซเชียล เล่าให้ฟังหน่อยได้ไหมว่าเกี่ยวกันยังไง
“เป็นเรื่องอินเตอร์เน็ตมากกว่าครับ สิ่งที่ผมสนใจคือวิธีที่เรารับ เก็บและใช้ข้อมูลของโลกยุคนี้ครับ เพราะเราเป็นคนหนึ่งที่เกิดทันในยุคที่ยังไม่มีอินเตอร์เน็ต แต่ตอนนี้มีข้อมูลเยอะไปหมด แล้วมันอยู่ที่ปลายนิ้วมือเรา วิธีที่เราจำหรือคุยกันมันก็ไม่เหมือนเดิม อย่างช่วงแรกๆ ผมสนใจศิลปะแบบโรแมนติก (romanticism) ความทรงพลังของธรรมชาติ อย่างชีวิตผมมองว่าเป็นเหมือนภูเขาที่ต้องข้ามไปให้ได้เพื่อให้ได้เห็นวิวที่สวยงาม แต่สมัยนี้มันไม่จำเป็นแล้วเพราะเรามีกูเกิ้ล มันอาจจะไม่เหมือนกันนะ แต่ก็เป็นเรื่องที่ใกล้ความจริงมากขึ้นเรื่อยๆ งานชุดนี้พูดถึงความคาบเกี่ยวระหว่างสองโลก คือโลกแห่งความจริงและโลกดิจิตัล ซึ่งขอบเขตมันเบลอมาก เราไม่รู้เลยว่าอะไรจริง อะไรไม่จริง ในเรื่องศิลปะก็เหมือนกัน เหมือนงานศิลปะไม่มีเส้นแบ่งอีกต่อไป ในยุคของก็อปปี้-เพสต์และสกรีนช็อต แล้วมันต่างจากภาพจริงยังไง คุณค่าของงานศิลปะอยู่ตรงไหน”

งานชุดนี้มีหลายอารมณ์มาก ทำไมถึงเป็นแบบนั้น
“ผมชอบเรื่องไซไฟมาก โดยเฉพาะจากยุค ’70s ก็เลยอยากทำนิทรรศการออกมาเหมือนหนังสือเล่มใหญ่เล่มหนึ่ง แล้วก็มีเรื่องหลายๆเรื่องอยู่ข้างใน ที่อาจจะไม่เกี่ยวกันเลยก็ได้ อย่างเรื่อง Feed My Dog เป็นเรื่องในอนาคตที่มีคนๆนึงไปสกีฮอลิเดย์แล้วเอาหมาไปด้วย ก็บอกเอไอให้ป้อนอาหารหน่อย แต่ AI เอาไฟไปช็อต เพราะ AI คำนวณมาแล้วว่าหมาเป็นมะเร็งจะตายในสองปี ก็เกี่ยวกับเจตนาของมนุษย์และ AI เจตนาเหมือนกัน แต่วิธีการกลับไม่เหมือนกัน เรื่องนี้ก็เป็นหนึ่งในประเด็นที่เรากำลังเจออยู่เกี่ยวกับโลกอนาคต”

ภาพจาก Case Space Revolution

ส่วนตัวคิดอย่างไรกับ AI บ้าง
“ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นเหมือนหนัง Terminator ผมจะเป็นฝ่ายหุ่นยนต์นะ เพราะผมคิดว่านั่นเป็นวิธีเดียวที่มันจะทำให้เราขยายอาณาเขตไปจักรวาลอื่น และเป็นอย่างเดียวที่มันจะช่วยให้แน่ใจว่ามรดกของมนุษย์จะถูกสืบทอดต่อไปไกลกว่ามนุษย์เราด้วยกันเอง ผมชอบมนุษย์และรักในชีวิตนะ แต่ในความเป็นจริง เรายึดติดกับความเป็นมนุษย์อยู่ เราคิดว่าเราดีสุด ซึ่งจริงๆแล้วผมว่ามันไม่ใช่ สมองเราก็เป็นคอมพิวเตอร์ แต่แค่อยู่ในรูปของคอมพิวเตอร์ชีวภาพ (biological computer) ท้ายสุดแล้วก็คิือ 1 กับ 0 เหมือนกัน คนชอบคิดว่ามนุษย์มีความคิด แต่ผมว่ากว่า 80% สิ่งที่เราเลือกทำมันคือสัญชาตญาณดั้งเดิมนะ เราอาจจะไม่ได้เลิศล้ำอย่างที่เราคิดก็ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งเดียวที่อาจจะพัฒนามนุษย์ไปให้ได้ไกลกว่าเดิมคือหุ่นยนต์ แต่ความย้อนแย้งคือผมไม่ได้แอนตี้หุ่นยนต์ แต่งานในชุดนนี้ออกมาเป็นแนว Anti-AI นิดนึง ซึ่งก็ดี มันกลายเป็นงานที่แย้งตัวเอง ซึ่งก็บาลานซ์ดีครับ”

หน้าที่ของศิลปินในมุมมองของบาล์ม
“มีสองคำตอบ อย่างแรกคือผมเชื่อว่าทุกอย่างมันเป็นบทสนทนาที่ทุกคนเข้าร่วมได้ ไม่ว่าจะติจะชม จะเห็นด้วยหรือเปล่า ศิลปะเป็นวิธีที่การแสดงออกที่แนบเนียนแบบไม่ต้องมีขอบเขตหรือความเกรงใจ สองคึือผมทำเพราะผมเชื่อว่าคนเราเป็นตัวของตัวเอง แน่นอนว่ามันก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์นะ แต่ต้องรู้ว่าตัวเองชอบอะไร ทำอะไรอยู่ และเพื่ออะไร และเพราะอะไรด้วย ยิ่งอยู่ในสังคมดิจิตัลเนี่ย คนเลิกคิด เห็นว่าอันนี้ดี อันนี้เท่ ทุกอย่างมีตัวเลขติดหมดว่ากี่ไลค์ อยากให้คิด ผมก็ไม่ใช่คนที่คิดลึกซึ้งนะ แต่อย่างน้อยผมรู้ว่าผมชอบบางอย่างเพราะอะไร ผมว่ามันจะทำให้ทุกอย่างในชีวิตหรือการครีเอทีฟพัฒนาไปได้ไกลขึ้นครับ”


นิทรรศการ Corruption โดย ธนัช ตั้งสุวรรณ จัดแสดงที่ Case Space Revolution จนถึงวันที่ 4 กรกฎาคมนี้


Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin
Share on pinterest

More to explore

แผลเก่า:Old Wound แผลเดิมในเรื่องเล่า ที่ยังเป็นแผลสดของพล็อตสังคมไทย

นิทรรศการ แผลเก่า / Old Wound นิทรรศการเดี่ยวโดย ประทีป สุธาทองไทย ศิลปินนักตั้งคำถาม ผู้ซ่อนบทสนทนาทางสังคมไว้ในงานเสมอ

“Yesterday I Was, Tomorrow I Will Be” นิทรรศการแห่งความฝันและความสำเร็จของ “Pomme Chan”

ก้าวสู่โลกที่เปี่ยมไปด้วยแพชชั่น ผ่านผลงานศิลปะตั้งแต่ชิ้นแรกที่น้อยคนจะได้เห็น สู่วันที่ประสบความสำเร็จในสายอาชีพร่วมระยะเวลา 20 ปี