“ภูมิทัศน์อันกว้างใหญ่ของนอร์เวย์นั้นน่าเกรงขามยิ่ง บรรยากาศเปี่ยมมนต์ขลังเช่นนี้ ดูราวกับว่าแม่พระธรณีอาจเผยให้เห็นความงดงามหรือความโหดร้ายของธรรมชาติก็ได้ทั้งสองอย่าง แต่ครั้นธรรมชาติแสดงแสนยานุภาพให้เป็นที่ประจักษ์ เราจึงได้ตระหนักถึงความเป็นมนุษย์ แก่นสารนี้เองที่เชื่อมโยงระหว่างข้าพระพุทธเจ้าและใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท”
สิริกิติยา เจนเซน
๒๕๖๓

แรกเริ่มเดิมทีเราคิดว่านิทรรศการนี้คงไม่ต่างอะไรกับจากนิทรรศการภาพถ่ายที่เคยได้ชม หากแต่เมื่อได้สัมผัสและพูดคุยกับทีมงานเบื้องหลังถึงแนวความคิดและที่มาที่ไป ก็ต้องยอมรับว่า…คิดผิด เพราะนี่คือ เรื่องราวโรแมนติกของคนสองคนจากครอบครัวเดียวกัน ที่ว่าด้วยเรื่องการเดินทางโพ้นทะเล ในห้วงเวลาที่ห่างกันกว่าศตวรรษ ท่ามกลางธรรมชาติงดงามที่โอบกอดความโหดร้ายไว้แนบแน่น อันเป็นที่มาของนิทรรศการ Hundred Years Between นิทรรศการภาพถ่ายกล้องฟิล์มของท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน หรือ “คุณใหม่” ในประเทศนอร์เวย์ ที่ได้กลายเป็นหนึ่งไฮไลท์ของเทศกาลออกแบบกรุงเทพ 2563 ไปแล้วอย่างสมศักดิ์ศรี

Kooper สนทนากับคุณใหม่ในเช้าวันที่ 4 กุมภา ณ โมงยามที่แดดกำลังอุ่น ท่านผู้หญิงพาเราเดินชมโรงภาษีร้อยชักสาม และนิทรรศการภาพถ่ายส่วนตัวที่เธอใส่ใจในทุกรายละเอียด
ลุ่มลึกอย่างนักประวัติศาสตร์
ย้อนไปราวเดือนมีนาคม พ.ศ. 2562 เมื่อครั้งที่คุณใหม่ได้รับเชิญจากสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงออสโล ให้ร่วมสร้างสรรค์ผลงานในวาระครบรอบ 115 ปีความสัมพันธ์ไทย – นอร์เวย์ เธอตัดสินใจออกเดินทางตามรอยเสด็จประพาสนอร์เวย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 (การเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 เมื่อพุทธศักราช 2450) และได้เขียนจดหมาย 4 ฉบับถึงท่านเทียดของเธอในแบบส่วนตัวที่สุด
จดหมายถึงรัชกาลที่ 5
“เมื่อได้รับเชิญให้มาทำโครงการนี้ เราเริ่มศึกษาเรื่องราวของรัชกาลที่ 5 แบบจริงจังผ่านการพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ไทย และจากการอ่านพระราชนิพนธ์ ‘ไกลบ้าน’ ที่ ร.5 ทรงเขียนจดหมายถึงท่านหญิงนิภาฯ พระธิดาองค์สนิท แต่ด้วยความที่ท่านทรงเป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ เป็นบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ คนส่วนใหญ่ก็จะนึกถึงท่านในบริบททางการเมือง การพัฒนาแผ่นดิน และการนำนวัตกรรมต่างๆ มาสู่ประเทศไทยใช่ไหม แต่ในมุมมองของเรา เมื่อเราได้อ่านพระราชนิพนธ์นี้เรากลับรู้สึกว่าแม้ ร.5 จะเป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ เป็นกษัตริย์ของชาติ แต่ท่านก็มีความเป็นมนุษย์ในตัวไม่ต่างจากพวกเรา ซึ่งนั่นเป็นมิติที่ไม่ค่อยมีใครได้สัมผัสถึง
…ท่านมีความรู้สึกอ่อนไหว คิดถึงคนที่รัก อย่างที่ทรงเขียนในจดหมายว่า “พ่อคิดถึงบ้าน” หรืออย่างในวันที่ 12 กรกฎาคมที่ท่านจะเสด็จขึ้นนอร์ตเคป (North Cape) ท่านก็ทรงมีความรู้สึกกลัว กลัวว่าจะทำสำเร็จไหม จะเดินขึ้นเขาไหวหรือไม่ เราเลยลองคิดในมุมกลับว่าหากเราดึงเอาความเป็นมนุษย์ในตัวท่าน ที่นอกจากจะต้องต่อสู้กับความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติแล้ว ยังต้องต่อสู้กับจิตใจของตัวเองออกมา มันน่าจะทำให้นิทรรศการนี้มีชีวิต มีความรู้สึกในแบบที่คนทั่วไปสัมผัสได้ ทุกคนสามารถจะเข้าใจและแชร์ความรู้สึกนั้นด้วยกัน”
“ความเป็นมนุษย์คือสิ่งที่เชื่อมโยงเรากับรัชกาลที่ 5 ได้ในการเดินทางนี้ แม้ว่าเวลาจะห่างกันถึงร้อยกว่าปีก็ตาม”


หลักแหลมอย่างนักเล่าเรื่อง
“ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานพระบรมราชานุญาติใช้จดหมายและภาพถ่ายเหล่านี้เพื่อตามหาสายสัมพันธ์ระหว่างประสบการณ์ที่ได้รับจากการเดินทางของข้าพระพุทธเจ้า และการเสด็จประพาสของใต้ฝ่าละองงธุลีพระบาท ในราชอาณาจักรที่แสนห่างไกลดินแดนมาตุภูมิ …โดยมิได้มุ่งหมายจะทำการนี้ในฐานะนักประวัติศาสตร์หรือช่างภาพ แต่ในฐานะผู้สืบเชื้อสายราชวงศ์จักรี หน่อเนื้อเชื้อไขในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท”
สิริกิติยา เจนเซน
๒๕๖๓

สองบริบทจากการเดินทางที่เรารู้สึกว่ามีพลังมาก คือเรื่องของ ‘ธรรมชาติ’ และ ‘ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติ’
ภาพถ่ายแลนด์สเคปจากกล้องฟิล์มทั้ง 19 ภาพของคุณใหม่ที่จัดแสดงในนิทรรศการ คือภาพถ่ายที่สะท้อนถึงความงดงามยิ่งใหญ่ในธรรมชาติ โดยมีการสร้างเนื้อหาบทสนทนาที่เชื่อมโยงประสบการณ์ให้ผู้ชมสัมผัสได้ผ่านอารมณ์ร่วม
“ความที่เราสนใจความเป็นมนุษย์ (Humanity) และศึกษาเรื่องมนุษยวิทยา (Anthropology) เราจึงอยากทำให้นิทรรศการนี้สะท้อนให้เห็นความเชื่อมโยงในการเดินทางของรัชกาลที่ 5 กับของเราผ่านหลายๆ มิติ ทั้งมิติของเวลา สถานที่ ผู้คน เป็นการเชื่อมโยงประสบการณ์ที่ ร.5 ทรงพบขณะเสด็จประพาส คู่ขนานไปกับประสบการณ์ที่เราพบผ่านมุมมองของเราเอง”


ซึ่งในส่วนนี้ ใจทิพย์ ใจดี นักออกแบบนิทรรศการคู่ใจของคุณใหม่ได้เล่าถึงอีกประเด็นที่น่าสนใจให้ฟังว่า สิ่งที่สำคัญมากในการออกแบบนิทรรศการนี้คือเราจะทำอย่างไรให้ภาพถ่ายพูดคุยกับจดหมายได้
“ที่นอร์เวย์นี้ ข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกราวกับตัวหดเหลือนิดเดียว เมื่ออยู่ท่ามกลางความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติที่ข้าพระพุทธเจ้าคิดว่าช่างมีพลังอำนาจล้นเหลือ จนต้องยอมน้อมรับโดยดุษฎี”
ใจความข้างต้นปรากฏในจดหมายของคุณใหม่ที่เขียนถึงรัชกาลที่ 5 เป็นกุญแจสำคัญที่เชื่อมโยงบุคคลทั้งสองเข้าหากันผ่านมิติเวลา เรื่องราวเหล่านี้ซ่อนอยู่ในบทสนทนาที่ทั้งรัชกาลที่ 5 และคุณใหม่ได้พูดคุยกับคนท้องถิ่นระหว่างการเดินทาง “เนื้อหาในจดหมายที่คุณใหม่เขียนถึงรัชกาลที่ 5 คือบทสนทนาระหว่างคนที่ไม่เคยเห็นหน้ากัน แต่กลับเข้าใจความรู้สึกของกันและกันอย่างสุดซึ้ง”
ในเวลาที่ห่างกันร้อยกว่าปี คนทั้งสองถามคำถามเดียวกันว่าชาวนอร์เวย์ใช้ชีวิตในธรรมชาติที่สวยงามทว่าโหดร้ายเพียงนี้ได้อย่างไรกัน”

ใจทิพย์ ใจดี Exhibition Designer ที่ท่านผู้หญิงเลือกทำงานด้วยเป็นครั้งที่สอง
นี่คือเหตุผลที่คุณใหม่และเธอตกลงกันว่าจะจัดแสดงภาพถ่ายทั้งหมดในขนาดที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่จะสามารถพิมพ์ได้ “เพื่อให้เรารู้สึกว่านิทรรศการนี้ได้โอบล้อมเราด้วยธรรมชาติที่ลึกลับ ครึ้มเขียว ราวกับว่าเรากำลังร่วมเดินทางไปกับคุณใหม่ที่นอร์เวย์ด้วย” ใจทิพย์เล่าถึงการออกแบบบรรยากาศนิทรรศการอย่างละเอียด

ในพุทธศักราช 2450 หญิงชาวท้องถิ่นที่เกาะต๊อร์คแฮตเตน ทูลรัชกาลที่ 5 ว่า “บรรดาเกาะเหล่านี้ไม่มีที่ไหนสู้ เพราะมีหญ้าบริบูรณ์กว่าที่อื่น เลี้ยงวัวได้ถึง 6 ตัว สารพัดนมเนยอะไรใน 6 ตัวนั้น พอเลี้ยงกัน”

113 ปีต่อมา ‘ฮันส์’ เพื่อนใหม่ชาวนอร์เวย์ บอกกับคุณใหม่ว่า “ผมเติบโตที่นี่มาตลอดชีวิต ทุกอย่างมีดุลยภาพของมัน ความงามอันน่าทึ่งกับความโหดร้ายทารุณของธรรมชาติอยู่คู่กันเสมอ แต่สิ่งนี้เองที่กำหนดวิถีทางที่ทุกอย่างเป็นไป”

ร่วมสัมผัสประสบการณ์การเดินทางในรูปแบบใหม่ไปกับท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน ในนิทรรศการ Hundred Year Between นิทรรศการที่จะทำให้คุณเข้าใจได้ดีขึ้นว่าความสุขกับความทุกข์นั้นอยู่คู่กันเสมอ จัดแสดงถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2563 ณ ศุลกสถาน (โรงภาษีชักร้อยสาม) อาคารทรงยุโรปอายุ 136 ปีที่เต็มไปด้วยมิติทางประวัติศาสตร์และความโดดเด่นทางสถาปัตยกรรม โดยงานนี้ถือเป็นครั้งสุดท้ายที่สาธารณชนจะได้เข้าชมอาคารประวัติศาสตร์เก่าแก่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนจะปิดบูรณะครั้งใหญ่เป็นเวลาอย่างน้อย 6 ปี






ภาพ: พลากร รัชนิพนธ์, สุวิทย์ วงศ์รุจิราวาณิชย์, จรินทิพย์ ชูหมื่นไวย
อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับผู้ออกแบบแสงให้กับนิทรรศการนี้ได้ที่บทความ “Light matters : กนกพร นุชแสง จาก APLD เล่าถึงการสร้างแสงแห่งชีวิต ณ ศุลกสถาน”