บ่ายวันนี้เป็นโชคดีของผมที่ได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกับ ดร. พีรียา บุญชัยพฤกษ์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เกี่ยวกับเรื่อง ‘ย่านเก่า’ ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัดในปัจจุบัน มุมมองของ ดร.พีรียากระตุกต่อมคิดของผมได้ในหลายๆ ประเด็น เริ่มจากบทสนทนาแรกที่ว่า ‘กรุงเทพมหานคร’ นั้นกำลังจะกลายเป็นมหานครไร้รอยต่อเทียบเท่ากับ ปารีส ลอนดอน นิวยอร์ค หรือโตเกียว เหตุเพราะการพัฒนาความเป็นเมืองของเราขยายตัวอย่างรวดเร็วมาก จนบางครั้งคนกรุงเทพเองก็แยกกันไม่ออกว่าจุดเริ่มต้นของจังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ สมุทรสาคร หรือนครปฐม ที่เชื่อมต่อกับจุดสิ้นสุดของกรุงเทพนั้น…มันอยู่ตรงไหนกันแน่
อย่างไรก็ดี แม้ว่าการเติบโตเป็นมหานครไร้รอยต่อจะทำให้ผู้คนเคลื่อนย้ายออกจากย่านเก่าไปสู่แหล่งอาศัยใหม่ๆ (ที่ทุกวันนี้ก็เรียกได้เต็มปากว่าศูนย์กลางเมืองเช่นกัน) แต่ปรากฏการณ์หนึ่งที่ทั้งผมและดร.พีรียาเห็นตรงกันก็คือ เราพบว่ามีกลุ่มชนชั้นกลางจำนวนหนึ่งที่กำลังก้าวขาออกจากบ้านในทิศทางที่สวนกระแสกับการขยายตัวของกรุงเทพ นั่นก็คือพวกเขาเลือกที่จะเดินทางกลับเข้ามาสร้างชีวิตใหม่ในย่านเก่า และปลุกความเงียบเหงาของชุมชนที่มีอายุกว่าร้อยสองร้อยปีนี้ให้กลับมาครึกครื้นอีกครั้ง

ย่านเก่าในบริบทใหม่
ในมุมมองของผมความเป็น ‘ย่าน’ ในอดีตนั้นมักเกิดขึ้นตามประเภทของกลุ่มธุรกิจที่ไปกระจุกตัวกันอยู่ ยกตัวอย่างเช่น ย่านตลาดน้อยที่เป็นแหล่งเซียงกงหรืออะไหล่ยนต์มือสอง ย่านบ้านหม้อที่เป็นแหล่งอุปกรณ์ไฟฟ้าและอัญมณี ย่านเสาชิงช้าที่เป็นแหล่งรวมพระพุทธรูป หรือย่านพาหุรัดที่เป็นตลาดผ้าและอุปกรณ์ตัดเย็บต่างๆ แต่ด้วยกลไกการขยายตัวของเมืองในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาได้นำพาผู้คนซึ่งเคยอาศัยในย่านเก่านี้ให้เคลื่อนย้ายหายไปจากพื้นที่ บ้างก็ย้ายไปตามวิถีการทำงาน บ้างก็ขยายธุรกิจไปยังพื้นที่ใหม่ๆ และมีอีกไม่น้อยที่ตัดสินใจย้ายที่อยู่ไปตามแนวรถไฟฟ้าหรือไปยังหมู่บ้านจัดสรรที่เกิดใหม่ใหญ่โตแถบชานเมือง วิถีการเติบโตเช่นนี้ส่งผลให้ย่านเก่าของกรุงเทพค่อยๆ เงียบเหงาลง ผู้คนที่ยังหลงเหลืออยู่มักเป็นคนรุ่นเก่าวัยเบบี้บูม (เกษียณแล้ว) หรือคนเจนเอ็กซ์ยุคต้นที่รับสืบทอดกิจการมาจากบิดามารดาเท่านั้น

ในประเด็นนี้ ดร.พีรียามีแนวคิดเชิงวิเคราะห์ที่ผมฟังแล้วต้องนำมาเล่าต่อ เธอตั้งข้อสังเกตว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีธุรกิจแนวคิดใหม่ที่ทยอยกลับเข้าไปแทรกตัวอยู่ตามย่านเก่าอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นคาเฟ่เก๋ไก๋ โรงแรมแบบบูติก อาร์ตแกลเลอรี่ร่วมสมัย เรื่อยไปจนถึง co-working space ที่เปิดตัวขึ้นเป็นดอกเห็ดตามพฤติกรรมของมนุษย์เจนวาย
“มันคือปรากฎการณ์ที่เรียกว่า city gentrification ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนผ่านภายในย่านหนึ่งๆ ทั้งในเรื่องของกลุ่มคน กิจกรรม และรูปลักษณ์ทางกายภาพของย่าน”

“เรามองว่านี่เป็นการสร้างคุณค่าใหม่ให้ย่านเก่าในทางหนึ่ง โดยอาศัยศักยภาพของคนกลุ่ม middle class และ upper middle class อันประกอบไปด้วยคนเจนเอ็กซ์ตอนปลายและเจนวายตอนต้น คนกลุ่มนี้แหละที่เริ่มกลับเข้ามาปรับปรุงพื้นที่ย่านเก่าด้วยความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ เพราะพวกเขาเบื่อหน่ายกับวิถีของชนชั้นกลางแถบชานเมืองแล้ว เขาโหยหาที่จะกลับไปสัมผัสร่องรอยประวัติศาสตร์ในย่านเก่า ที่สำคัญคือเป็นกลุ่มคนที่มีกำลังทรัพย์ มีความสร้างสรรค์ และมีทักษะที่พร้อมจะเริ่มต้นธุรกิจของตัวเองได้” ดร.พีรียาอธิบายให้ผมเห็นภาพชัดเจน
“ธุรกิจเกิดใหม่ในย่านเก่าจะงอกงามไปตามไลฟ์สไตล์ของคน ไดนามิกของย่านจะมีความหลากหลายขึ้น เกิดการผสมผสานไปตามพฤติกรรมและรสนิยมของกลุ่มคนที่ไม่เหมือนเดิม”
ดร.พีรียายังคาดการณ์ด้วยว่าในอีก 10 ปีข้างหน้ากรุงเทพมหานครจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก นอกจากผู้คนที่เคยอาศัยอยู่ชานเมืองจะทยอยกลับเข้ามาอยู่ในเมืองหรือในย่านเก่ามากขึ้นแล้ว กลุ่มคนที่เราเรียกกันว่า ‘Creative Class’ ซึ่งมีความต้องการเฉพาะในการใช้ชีวิต เช่น “ฉันอยากมีร้านกาแฟแบบนี้ใกล้บ้าน” “อยากทำงานในบรรยากาศแบบนี้” “อยากซื้อของในร้านแบบนี้” จะมีอิทธิพลผลักดันภาพใหม่เข้าสู่เมืองเก่าแบบยกเซ็ต “จากการศึกษาพบว่าทุกวันนี้คนไทยโดยเฉพาะคนเจนวายชอบเดินทางเข้าไปเที่ยวย่านเก่ากันมาก เช่นไปแวะนั่งร้านกาแฟ ไปหามุมถ่ายภาพสวยๆ แต่ในอนาคตเมื่อระบบขนส่งสาธารณะครอบคลุมพื้นที่เมืองเก่ามากขึ้น มันจะกระตุ้นให้กลุ่มคนที่เคยมาเที่ยวนี้พิจารณาการเข้ามาอยู่อาศัยในย่านเก่าจริงๆ ซึ่งก็สอดคล้องกับทิศทางการเติบโตของเมืองใหญ่อื่นๆ ในโลกที่เทรนด์ของคนรุ่นใหม่ก็นิยมอยู่อาศัยในเมืองเก่าเช่นกัน”
เชื่อมต่อวัย สานต่อธุรกิจ
ผมคิดตามเธอว่าหากเราดูพัฒนาการของย่านเก่าในประเทศอื่นๆ เราจะพบว่ากลุ่มศิลปินและครีเอทีฟคือคนกลุ่มแรกที่กลับเข้าไปพัฒนาย่านเก่าให้มีความสวยงาม แปลกใหม่ แปลกตา ซึ่งพอย่านเริ่มดูดี ก็จะกลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้คนกลุ่มอื่นๆ หันมาสนใจย่านเหล่านี้กันมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ย่าน South Bank ของลอนดอนที่อดีตเป็นท่าเทียบเรือริมแม่น้ำเทมส์ ปัจจุบันก็กลายร่างเป็นแหล่งที่พักอาศัยชั้นหรู เป็นศูนย์รวมไลฟ์สไตล์ มีสถานที่ท่องเที่ยวมากมายที่ดึงดูดทั้งคนท้องถิ่นและชาวต่างชาติ เช่นพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ Tate Modern ที่รีโนเวทมาจากโรงไฟฟ้าเก่า ไปจนถึงชิงช้าสวรรค์ความสูง 135 เมตรอย่าง London Eye (Millennium Wheel) ที่ปัจจุบันกลายเป็นแลนด์มาร์คสำคัญอีกแห่งของกรุงลอนดอนไปแล้ว
ณ กรุงเทพมหานคร สิ่งที่ผมสังเกตเห็นแม้จะอยู่ในสเกลที่เล็กกว่าแต่ก็เป็นความเปลี่ยนแปลงที่ตอบโจทย์มนุษย์ครีเอทีฟคล้ายๆ กัน ยกตัวอย่างเช่นคาเฟ่สุดชิค Oneday Wallflowers ที่วันดีคืนดีก็มาเปิดร้านกลางซอยนานา (เยาวราช) ในตึกแถวเล็กๆ อายุกว่าร้อยปีที่ภายนอกดูเกรอะกรัง ชั้นล่างเป็นร้านดอกไม้แสนสวย ส่วนชั้นบนเป็นคาเฟ่ที่นำดอกไม้มาเป็นส่วนประกอบของเมนูต่างๆ การตกแต่งร้านที่นี่ทำให้ผมนึกไปถึงบรรยากาศชนบทในยุโรป และทุกวันนี้ Oneday Wallflowers ก็ได้กลายเป็นจุดเช็คอินของทั้งคนกรุงและนักท่องเที่ยวไปแล้วโดยปริยาย น่าจะด้วยความขัดแย้งสุดๆ ระหว่างคอนเส็พท์กับโลเคชั่นของมันนั่นเอง

ผมตั้งคำถามกับ ดร.พีรียาว่า “ทำไมร้านกาแฟจึงกลายเป็นธุรกิจที่ฮอตมากในย่านเก่า” ซึ่งเธอตอบยิ้มๆ ว่า “พี่เชื่อไหมว่าในวิทยานิพนธ์ระดับปริญเอกเรื่องการเปลี่ยนแปลงของย่านในตัวเมืองชั้นในของกรุงเทพฯ (ปี 2014) เขาพบว่าร้านกาแฟคือตัวแทนของ city gentrification เลยนะ ย่านไหนที่กำลังจะเปลี่ยน มันจะมีร้านกาแฟเกิดขึ้นเป็นสิ่งแรก เพราะมันสื่อให้เห็นถึงความต้องการใช้พื้นที่ third place ของคนในสังคมนั้น ซึ่งถ้าถึงวันหนึ่งมันไม่เวิร์ค ร้านกาแฟก็จะหายไปก่อน”
“อย่าลืมว่าการที่ธุรกิจใหม่ๆ เข้ามาพึ่งพาสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมของย่านเก่า มันย่อมทำให้เกิดความเป็นพหุวัฒนธรรม คำถามคือเมื่อคุณเข้ามาแล้วจากไปในวันหนึ่ง คุณจะทิ้งคุณค่าอะไรไว้ให้ย่านเก่าบ้าง”
แม้จะชื่นชมในบริบทเชิงสังคมวัฒนธรรม แต่ ดร.พีรียาก็เสนอแนวคิดหนึ่งที่น่าสนใจมากสำหรับผม เธอบอกว่า “เราต้องยอมรับว่าทุกอย่างจะเปลี่ยนแปลงนะ ในเชิงธุรกิจเราไม่จำเป็นต้องดึงเอาประวัติศาสตร์เดิมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของงานออกแบบเสมอไป เราทุกคนสามารถสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ขึ้นเองได้ สามารถทำในสิ่งที่สะท้อนถึงคุณค่าของคนยุคเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเทรนด์ ค่านิยม รสนิยม ฯลฯ แต่อย่างน้อยที่สุดก็ควรให้ความเคารพกับรากเหง้าของเดิมบ้าง

“ถ้าเราจำเป็นต้องทุบตึกเก่า เราต้องมั่นใจนะว่าเราจะทำตึกใหม่ได้ดีกว่าเดิม สิ่งที่เราจะสร้างสรรค์ขึ้นควรต้องสะท้อนถึงค่านิยมในยุคสมัยของเรา เช่นว่าเรากำลังให้คุณค่ากับอะไร เราใช้เทคโนโลยีแบบไหน คุณค่าของสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่คือมันควรจะกลายเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ในอนาคต”
คงไม่ผิดหากจะกล่าวว่าช่วงนี้คือช่วงไพรม์ไทม์ของคอนเส็พท์ ‘ย่านเก่าเล่าใหม่’ ที่ชัดที่สุด สังเกตจากสีสันบนถนนพระสุเมรุ ถนนพระอาทิตย์ ย่านท่าเตียน ฯลฯ ที่มีธุรกิจไลฟ์สไตล์ของครีเอทีฟชนเปิดตัวขึ้นมากมาย หรือในย่านบางรักที่ก็มีองค์กรอย่าง CEA ไปตั้งหลักเป็นผู้ชักใยให้เจริญกรุงเติบโตเป็นย่านสร้างสรรรค์ ในขณะที่ย่านเก่าอื่นๆ ก็ทยอยปรับตัวตามกันไปอย่างช้าๆ (แต่มีความหวัง) เช่น ย่านหลานหลวง ย่านแม้นศรี ที่กำลังเปลี่ยนพลวัติไปกับกิจกรรมใหม่ๆ ในพื้นที่ “เราชอบเห็นย่านเก่าที่ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงตัวเองไปในทิศทางนี้ สิ่งนี้แหละที่ทำให้ย่านเก่ามีความสนุก และอินเทรนด์ตลอดเวลา” ดร.พีรียาบอกอย่างนั้น และผมก็เห็นด้วยกับเธอที่สุด
5 จุดเช็คอิน: เส้นทางเดินเล่นย่านตลาดน้อย

ย่านตลาดน้อยมีเสน่ห์ที่ความเป็นลูกผสมระหว่างกลุ่มชนหลายชาติพันธุ์ ผมแนะนำให้คุณเริ่มต้นก้าวแรกกันที่ซอยวานิช 2 ข้างศูนย์การค้าริเวอร์ซิตี้ และเดินไปชม ‘โบสถ์กาลหว่าร์’ อันเป็นศูนย์รวมจิตใจของคริสตศาสนิกชนชาวโปรตุเกส (ที่ย้ายมาจากวัดซางตาครู้สฝั่งกุฎีจีน) ถัดไปไม่ไกลกันคือ ‘ธนาคารไทยพาณิชย์’ หรือแบงก์สยามกัมมาจล ธนาคารแห่งแรกของไทยที่ยังเปิดให้บริการอยู่ จากนั้นเดินตามทางเลี้ยวซ้ายเข้าตรอกศาลเจ้าโรงเกือก (ตรงข้ามเป็ดตุ๋นเจ้าท่า) เพื่อชมงานศิลป์แนว Street Art สุดทางจะพบกับ ‘ศาลเจ้าพ่อฮ้อนหว่องกุง’ ที่ตั้งอยู่ริมน้ำเจ้าพระยา เป็นศาลเจ้าเก่าแก่ที่ก่อสร้างโดยพ่อค้าชาวจีนฮักกา (จีนแคะ) จากนั้นเดินเลาะตามตรอกไปจนเจอประตูสีแดงของ ‘บ้านโซวเฮงไถ่’ คฤหาสน์เก๋งจีนที่สร้างมาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และที่ขาดไม่ได้คือ ‘รถเฟียตสีส้ม’ ที่จอดเป็นซากอยู่ข้างกำแพง


เพิ่มเติมสำหรับสายกิน ย่านตลาดน้อยมีของอร่อยหลายร้านที่ไม่ควรพลาด อาทิ ภัตตาคารกว้าวสิ่วกี่บนถนนเจริญกรุง ที่โด่งดังเรื่องติ่มซำ ร้านเป็ดตุ๋นเจ้าท่า ที่นอกจากจะเด่นเรื่องเป็ดตุ๋นสูตรลับแล้ว ยังมีหมี่ผัดกระเฉดกุ้งสดที่อร่อยจนต้องสั่งเพิ่ม ร้านชองกี่หมูสะเต๊ะ หอมกลิ่นเครื่องเทศด้วยการปิ้งหมูบนเตาถ่านอ่อนๆ ปิดท้ายด้วย แดงราชาหอยทอด ที่เสิร์ฟความอร่อยมากว่า 100 ปี
แนะนำหนังสือ 3 เล่มสำหรับผู้ที่สนใจเรื่องเมืองสร้างสรรค์

1) The Rise of Creative Class โดย Richard Florida
Richard Florida เป็นนักเขียนคนแรกๆ ที่พูดถึงพลวัติของเมืองที่เกิดจากกลุ่มชนสร้างสรรค์ (Creative Class) เขาพูดถึงการพัฒนาเมืองผ่านสถิติเชิงลึกว่าเมืองที่จะดึงดูดชนชั้นครีเอทีฟให้มาอยู่อาศัยนั้น จะต้องมีทัศนคติที่เปิดกว้างต่อคนต่างถิ่น เป็นเมืองที่มีความลื่นไหลและกลมกลืนทางวัฒนธรรม ไม่ใช่เมืองอนุรักษ์นิยม
2) Distinction โดย Pierre Bourdieu
เล่มนี้เป็นหนังสือที่ต่อยอดมาจากงานวิจัยโดยการสำรวจพฤติกรรม (Consumer Practices) รสนิยมทางวัฒนธรรม (Cultural Tastes) และรูปแบบการดำเนินชีวิต (Lifestyles) ของคนในฝรั่งเศส สื่อถึงความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นกับรสนิยมการบริโภครวมไปถึงไลฟ์สไตล์ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกันอย่างไร
3) The Cultural Economy of Cities โดย Allen J. Scott
เล่มนี้เป็นงานวิจัยเชิงลึกที่ชี้ให้เห็นว่าธุรกิจเชิงวัฒนธรรมสามารถสร้างมูลค่าให้กับเมืองได้อย่างไรบ้าง และทำไมมันถึงกลายมาเป็นกลไกในการพัฒนาเมืองระดับโลกได้
ภาพประกอบ: สุวิทย์ วงศ์รุจิราวาณิชย์, สุวารี ศิริโชคธนวัชร์