fbpx

เที่ยวลอนดอนฉบับภัณฑารักษ์นักสำรวจที่ไม่เคยใช้ทิศจำทาง

'ลอนดอน' ในมุมของนักจัดการวัฒนธรรม อาจไม่ได้เนี้ยบ แต่ก็มีเสน่ห์เสมอ

#CharinTrip
#London

ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกของเราที่ได้มีโอกาสมาที่นี่ ภาพจำของเมืองนี้แตกต่างหลากหลายออกไปตามช่วงเวลาและสถานะที่ได้มาเยี่ยมเยือน หากมองแบบเลนส์มุมกว้างเหมือนโปสการ์ด ท้องฟ้า ตึกรามบ้านช่อง และสถานที่สำคัญ ภาพรวมของ “ลอนดอน” ยังคงเหมือนเดิม แต่ถ้ามองแบบซูมอินในระยะเลนส์กล้องมือถือ หันซ้ายหันขวา เงยหน้าหันหลัง และมองทะลุเข้าไปในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่แอบซ่อนอยู่ในซอกเมือง ความงามพวกนี้จะทำให้เราตื่นเต้นและเห็นลอนดอนเป็นเมืองใหม่อยู่เสมอ

ลอนดอนมีหลายมุม — เมืองนี้ไม่ได้เนี้ยบจนไม่มีชีวิต แต่ก็ไม่เละจนเป็นมลพิษทางสายตา ย่านเก่าแก่ไม่ได้ตายเมื่อมีย่านใหม่ๆ เกิดขึ้น เพราะที่นี่แต่ละพื้นที่ล้วนมีคาแรคเตอร์เป็นของตัวเอง เราสามารถใช้ชีวิตสงบในเมืองได้อย่างดีมีคุณภาพ พอๆ กับหาความสนุกของชีวิตนอกบ้านในพื้นที่ที่ต้องใช้ร่วมกับคนอื่นได้แบบไม่จำกัด

การสนับสนุนอย่างสม่ำเสมอจากภาครัฐและการตอบรับที่ดีจากภาคเอกชนต่อวงการออกแบบและศิลปะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เมืองนี้มีชีวิตชีวาอยู่ตลอดปี คงไม่ผิดหากจะบอกว่าเสน่ห์ของลอนดอนอยู่ที่ความเก่าแบบมีคุณภาพ และความใหม่ที่เปิดกว้าง ทุกอย่างดูเป็นธรรมชาติและกลมกลืนไปกับเมืองและผู้คน ทุกอย่างถูกออกแบบมาอย่างตั้งใจเพื่อตอบรับและชี้นำการใช้ชีวิตในวิถีแบบ “ลอนดอนเนอร์”

ถึงแม้จะมีโอกาสเคยได้ใช้ชีวิตช่วงหนึ่งพักอาศัยอยู่ในเมืองนี้ แต่เดินไปไหนก็ยังคงหลงทุกที สมองเราไม่สามารถเชื่อมโยงเส้นทางเป็นแผนที่ อาจเพราะเราไม่อยากเข้าใจเมืองด้วยทิศก็เป็นได้ เราเห็นเมืองเป็นมิติ เราจดจำเมืองด้วยเรื่องราว เราเข้าใจเมืองเมื่อเห็นความงามแบบใหม่ทับทาบบนพื้นที่เดิม และสำหรับมหานครที่มีอายุเกือบสองพันปีเช่นที่นี่ มันไม่เคยเก่าเลย มันคือลอนดอนในมุมของเรา

Please Be Seated (2019), Paul Cocksedge

Finsbury Avenue Square, Broadgate, London EC2M

การออกแบบคือ “กระบวนการ” ที่ขาดขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งไปไม่ได้ ต้องเริ่มต้นด้วยแนวคิดที่ดี มีเซนส์การออกแบบที่ลงตัว ทำให้เป็นจริงด้วยกระบวนการผลิตและงานฝีมือที่เป็นเลิศ และสุดท้ายวัดผลสำเร็จกันตอนใช้งาน

ทริปนี้คือทริปเที่ยวที่เราตั้งใจมาในช่วงเทศกาลออกแบบประจำปี และสำหรับเรา นี่คือผลงานชิ้นที่ดีที่สุดใน London Design Festival 2019 ม้านั่งโค้งหน้าตาประหลาดที่มีขนาดใหญ่มากนี้ถูกจัดวางอยู่กลางย่านออฟฟิศ เชื้อเชิญให้คนมานั่งเล่นตามชื่อ ‘Please Be Seated’ ผลงานทำจากไม้นั่งร้านที่ใช้แล้ว ถอนตะปูออก นาบแผ่นให้ตรง ขัดผิวให้เรียบด้วยมือ เคลือบเรซินจนเนียน ก่อนจะต่อแผ่นไม้แต่ละชิ้นด้วยเทคนิกการเข้าไม้แบบเดือยให้เป็นแผ่นโค้งต่อเนื่องตามโครงเหล็ก ด้านล่างมีการถ่วงน้ำหนักป้องกันโครงสร้างพลิกจากแรงลมด้วยค่าเดียวกันกับตึกสูง ผลลัพธ์ที่ออกมาเหมือนภาพเรนเดอร์ไม่ผิดเพี้ยน เนี้ยบ นั่งสบาย เอนหลังดี เป็นความลงตัวของการออกแบบ งานฝีมือ วิศวกรรม (และสปอนเซอร์)

Room for One Color (1997), Olafur Eliasson

Tate Modern, Bankside, London SE1

รู้สึกตัดสินใจถูกมากที่เลือกขึ้นลิฟต์มาชั้นสองเพื่อมาดูนิทรรศการนี้ เพราะเมื่อก้าวเท้าออกมาจากลิฟต์ ตาก็ปะทะกับแสงสีส้มอย่างแรง ความรู้สึกแรกเมื่อเห็นแสงสีนี้ทำให้นึกถึงตอนที่ได้มาเห็น Turbine Hall ถูกฉาบไว้ด้วยแสงสีส้มจากพระอาทิตย์ดวงใหญ่ในงาน The Weather Project เมื่อปี 2003 — รู้เลยว่าเราขึ้นมาเจองานของ Olafur เข้าแล้ว เป็นการเลือกชิ้นงานเปิดนิทรรศการที่ดีมาก

ความรู้สึกที่สองเมื่อมีสติและหันไปมองรอบข้างอย่างช้าๆ ก็เพิ่งเห็นว่าทุกสิ่งภายใต้แสงสีส้มนี้ได้กลายเป็นสีขาวดำไปหมดแล้วทั้งสิ้น ประสาทสัมผัสตื่นตัว สมองเชื่อมโยงทุกสิ่งรอบข้าง ทุกอย่างได้ผลตามที่ศิลปินตั้งใจในช่วงเวลาเพียงไม่กี่วินาที

Your Blind Passenger (2010), Olafur Eliasson

Tate Modern, Bankside, London SE1

ห้องแคบยาว 39 เมตรที่อัดแน่นไปด้วยหมอกจำลอง มันลอย มันเบา แต่มันแน่นเต็มห้องจนเหมือนเราตาบอดชั่วขณะ เพราะมันทึบจนแทบมองไม่เห็นคนข้างหน้าในระยะประชิดเลย การสร้างประสบการณ์ร่วมและการกระตุ้นประสาทสัมผัสเป็นความตั้งใจสูงสุดในทุกๆ ผลงานของศิลปิน โดยคาดหวังว่าเมื่อเราเผชิญหน้ากับชิ้นงานแล้ว เราจะค่อยๆ รู้สึกกับประสาทสัมผัสของตัวเอง รู้สึกกับสิ่งรอบตัว คนรอบข้าง และเนื้อหาที่อยู่ตรงหน้า

สำหรับเราแล้ว ชื่อนิทรรศการ “In Real Life” ในครั้งนี้เหมาะสมทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นการรวบรวมผลงานของ Olafur Eliasson ที่เยอะที่สุดตั้งแต่ปี 1990 จนถึงผลงานในปัจจุบัน หรือเนื้อหาที่ว่าด้วยเรื่องของธรรมชาติและปรากฏการณ์อันเป็นสิ่งที่ไม่อาจเข้าใจได้ถ่องแท้หากเขียนเป็นตัวหนังสือหรือบรรยายด้วยภาพ แต่เป็นสิ่งที่ต้องสัมผัสและรับรู้ด้วยตัวเอง

Museum of the Moon (2016), Luke Jerram

The Natural History Museum, South Kensington, London SW7

ดวงจันทร์ประดิษฐ์นี้มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 7 เมตร ลอยเบาเรืองแสงอยู่กลางโถง ลวดลายที่เห็นบนผิวด้านนอกคือภาพถ่ายพื้นผิวดวงจันทร์ที่มีความละเอียดสูงมากจากองค์การนาซา มันเดินทางโคจรมาแล้วเกือบรอบโลกเพื่อให้คนยลโฉมใกล้ๆ สร้างความรู้สึกกึ่งจริงกึ่งฝันจนเราเชื่อว่าเราสัมผัสดวงจันทร์ได้ไม่ไกลเกินเอื้อม

The Ancestors, Carthie Pilkinton RA & Alison Wilding RA

Royal Academy of Arts, Mayfair, London W17

นิทรรศการรูปปั้นครึ่งตัวถูกจัดวางระหว่างทางผ่านจากตึกหน้าไปตึกหลังที่ทำให้เราต้องหยุดดู คิวเรเตอร์เลือกรูปปั้นของเหล่า “บรรพบุรุษ” ที่มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับสถาบัน Royal Academy of Arts แห่งนี้มาจัดแสดง ไม่ว่าจะเป็นตัวแบบเองหรือช่างปั้นที่ต่างก็เป็นสมาชิกของราชบัณฑิตยสถานศิลปะแห่งนี้ 

นิทรรศการมาพร้อมข้อมูลไม่มากไม่น้อยเกี่ยวกับความสำคัญในอดีตของการสร้างรูปปั้นแบบครึ่งตัวและประวัติสั้นๆ ของผลงานบางชิ้น เราได้ความรู้ใหม่ว่า ในอดีต นักวิชาการทั้งหลายนิยมสร้างรูปปั้นครึ่งตัวให้แก่กันและกันเพื่อแสดงความระลึกถึง แล้วจึงค่อยมอบรูปปั้นนั้นให้กับสถาบันเพื่อเก็บในคอลเลคชั่นเป็นมรดกให้คนรุ่นหลังต่อไป แต่บางชิ้นก็ทำขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ที่ต่างจากนี้ เช่น รูปปั้นชิ้นหน้าสุดตรงกลางจัดวางบนฐานอิฐ  “The Death Mask of John Constable” (1837) รูปปั้นนี้หล่อขึ้นด้วยความรวดเร็วบนใบหน้าของแบบที่เพิ่งเสียชีวิต (ก่อนที่แก้มจะแฟบและผิวจะเหี่ยวลงไป) เป็นการทำขึ้นเพื่อเก็บข้อมูลเชิงนิติเวชของศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ในสภาพสุดท้ายของชีวิต

นิทรรศการ The Ancestors ยังไม่จบแค่การจัดแสดงวัตถุและบอกเล่าเนื้อหาแต่เพียงเท่านั้น ที่มุมเล็กๆ ยังมีกระดาษเปล่า ดินสอ และม้านั่งจัดเตรียมให้ผู้เข้าร่วมชมได้ใช้เวลาตามสบายในการสเก็ตช์ภาพของท่านบรรพบุรุษทั้งหลายที่อยู่ตรงหน้า รื้อฟื้นสกิลการวาดแล้วนำมาติดบนบอร์ดด้านข้าง ที่คิวเรเตอร์ตั้งใจจัดวางพร้อมรูปถ่ายขาวดำในอดีตของคณาจารย์ บรรยากาศห้องเรียน และผลงานประติมากรรมบางส่วนของโรงเรียนศิลปะเก่าแก่แห่งนี้

Flash Crossings (2016), Eley Kishimoto

Coldharbour Lane, Brixton, London SW2

งานศิลป์และงานออกแบบที่ลอนดอนไม่ต้องเข้าไปดูในมิวเซียมหรือแกลเลอรี่เท่านั้น บนท้องถนนทั่วไปก็มักมีงานดีๆ ให้พบเห็นอยู่เป็นประจำ เหมือนทางม้าลายซิกแซกคล้ายสายฟ้าฟาดในภาพนี้ ที่หลายคนเห็นก็รู้ทันทีว่าเป็นของ Eley Kishimoto แฟชั่นสตูดิโอที่โด่งดังจากงานออกแบบกราฟิกแพทเทิร์น อีกทั้งยังเป็นคนท้องถิ่นของย่านที่ได้รับเชิญจาก London Design Festival เมื่อปี 2016 ให้มาออกแบบทางม้าลายชุดพิเศษที่ประกอบไปด้วยสี่สี คือ ขาว เหลือง แดง น้ำเงิน ณ สี่แยกที่พลุกพล่าน เหตุผลที่หนึ่งคือเพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนน เหตุผลสองคือเพื่อสร้างสีสันให้กับย่านที่ครั้งหนึ่งเคยติดอันดับเรื่องความอันตราย ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของการใช้ความคิดสร้างสรรค์สร้างย่านให้น่าอยู่ภายใต้โครงการ Brixton Design Trail ที่ปัจจุบันได้พัฒนาและเปลี่ยนชื่อเป็น The Brixton Project แล้ว

Untitled, Chewing Gum Art, Ben Wilson

Millennium Bridge, South Bank, London SE1

ก้มมองพื้นสะพานมาหลายครั้งก็เห็นสีและตัวหนังสือจิ๋วขยุกขยิกแบบนี้ ได้แต่คิดสงสัยว่ามันคืออะไรนะ สวยดี วันนี้ได้คำตอบเพราะเดินมาเจอคนกำลังนั่งขูดพื้นสะพานอยู่พอดี เมื่อเดินไปดูใกล้ๆ และฟังคนที่เค้ากำลังคุยด้วยก็พบว่าคนที่นั่งขูดพื้นนั่นคือศิลปิน ไม่ใช่พนักงานทำความสะอาดสะพานแต่อย่างใด

เขาชื่อ “เบน วิลสัน” ช่างแกะสลักไม้ที่สนใจทำงานศิลปะกับเศษขยะอย่างเดียว เพนท์เศษหมากฝรั่งด้วยสีอะคริลิกมาแล้วเกือบสิบปีทั่วลอนดอน วันนี้เบนมาขูดศิลปะชิ้นเก่าๆ ออก พร้อมกับเล่าที่มาของงานว่ามันคือรูปอะไร ชื่อใคร ทำไมถึงวาด ส่วนใหญ่เป็นคนที่เบนพบเจอในชีวิต เขาขูดออกแล้วก็วาดงานชิ้นใหม่ลงบนเศษหมากฝรั่งว่างๆ (ผ้าใบของศิลปินคือเศษขยะของเรา) มองไปไกลๆ เห็นงานของเบนอยู่ทุกระยะ ทำไมคนทิ้งหมากฝรั่งบนสะพานเยอะขนาดนี้ และถ้าหากเราต้องการสนับสนุนศิลปินก็สามารถหาซื้องานของเบนได้ในโลกออนไลน์ และขอให้ทิ้งหมากฝรั่งไม่ลงถังกันต่อไป

Labyrinth 143/270 (2013), Mark Wallinger

Liverpool Street Station, Bishopsgate, London EC2M

ส่วนตัวเป็นคนชอบเดินและนั่งรถเมล์ดูเมือง รถไฟใต้ดินในลอนดอนถ้าไม่ใช่เส้นทาง “จำเป็น” เรามักจะไม่เลือกใช้ เพราะอึดอัด ฝุ่นเยอะ และต้องเดินอ้อมไกลวกไปวนมากว่าจะถึงชานชาลา แต่ถึงกระนั้นการใช้ชีวิตโดยสารใต้ดินในเมืองนี้ก็มีอะไรให้ดูมากกว่าป้ายบอกทาง หากไม่รีบเดินเกินไปนักเราจะสังเกตเห็นงานกราฟิกสีขาวดำกรอบสี่เหลี่ยมจัตุรัสนี้ติดอยู่บริเวณใกล้ๆ ประตูทางเข้า-ออกเสมอ งานศิลปะสาธารณะชุดนี้ทำขึ้นโดยศิลปินรุ่นใหญ่ Mark Wallinger (เจ้าของรางวัล Turner Prize ปี 2007) เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 150 ปีของรถไฟใต้ดิน เป็นงานจัดแสดงถาวรอยู่ทุกสถานีทั่วเมือง (270 แห่ง)

“เขาวงกต” แต่ละชิ้นออกแบบมาไม่เหมือนกัน มีรายละเอียดแตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ เดินตามหาแต่ละชิ้นไปเรื่อยๆ ก็สนุกดี และถ้าว่างพอจะยืนลากเส้นเราจะพบทางออกในทุกชิ้นงานเสมอ เหมือนเดินวนในสถานีรถไฟใต้ดินนั่นแหละ อ้อมหน่อยแต่ก็พาเราไปถึงจุดหมายแน่นอน

Let the Music Transport You, Transport For London (TFL)

Jubilee Line, Southwark, London SE1

อีกหนึ่งความน่ารักของเมืองนี้คือการให้พื้นที่สาธารณะเป็นของทุกคนอย่างแท้จริง … สติ๊กเกอร์ครึ่งวงกลมนี้มีความหมายอย่างยิ่งสำหรับนักดนตรีเปิดหมวก เพราะไม่ใช่ว่าใครก็ได้ที่จะมายืนร้องเพลงเล่นดนตรีบนพื้นที่นี้ได้ ศิลปินแต่ละคนต้องผ่านการคัดเลือกและขึ้นทะเบียนเพื่อหมุนเวียนมาแสดงดนตรีกันคนละสองชั่วโมง ในสถานีใต้ดินที่หน่วยงาน TFL เลือกแล้วว่าเป็นสถานีใหญ่ คนสัญจรเยอะ และเป็นสถานีปลายทางท่องเที่ยวยอดนิยม เราชอบโครงการนี้เป็นพิเศษเพราะมันเป็นการจัดระเบียบเมืองที่ชาญฉลาด ให้ประโยชน์กับทุกฝ่าย ทั้งเมืองเอง ทั้งศิลปินนอกระบบที่ต้องทำมาหากิน ทั้งคนสัญจรทั่วไปอย่างเรา

Columbia Primary School Mosaic (2006), Carina Wyatt and Cathy Ludlow

Ezra Street, Bethnal Green, London E2

ในวันหยุดสุดสัปดาห์ลอนดอนมีตลาดมากมายให้เดินเล่น วันอาทิตย์เช้าตรู่เราไม่พลาดต้องมาเดินที่ Columbia Market ตลาดดอกไม้ที่พอตกสายคนจะเยอะมาก ทั้งมาซื้อดอกไม้ ดื่มเบียร์ ยืนคุยนั่งคุยเต็มถนนจนแทบมองไม่เห็นบรรยากาศ แต่เราว่ามันก็คึกคักดี — เป็นภาพจำของย่านนี้ ภาพข้างบนนี้ถ่ายวันพุธตอนบ่าย ร้านค้าที่เคยเปิดก็ปิด ถนนเงียบ คนเดินนับหัวได้ Columbia Market สงบสวยงามไปอีกแบบ มีช่องว่างให้เราได้ชื่นชมตึกต่างๆ ที่ในวันอาทิตย์จะถูกบังเป็นแค่แบคกราวน์อยู่ด้านหลัง เรามีโอกาสหยุดดูงานโมเสกชิ้นสวยประดับรั้วโรงเรียนอย่างเต็มตา ประทับใจมากขึ้นไปอีกเมื่อรู้ว่าศิลปินคู่นี้ทำแต่งานศิลปะสาธารณะให้กับโรงเรียนปฐมวัยร่วมกับเด็กๆ และชุมชนมาตลอดเกือบยี่สิบปี

Sunday & Pimm’s

Ezra Street, Bethnal Green, London E2

กันยายนที่ผ่านมาอากาศค่อนข้างร้อนผิดฤดู เราจึงเห็นหลายร้านขายซัมเมอร์ค็อกเทลต้นตำรับอังกฤษอย่าง Pimm’s อยู่ ร้านนี้ก็เช่นเดียวกัน แต่ที่เราสนใจนอกเหนือไปจากรายการเครื่องดื่มในวันที่แสนร้อน ก็คือการที่ร้านเจาะรั้วสังกะสีเป็นช่องกว้างแค่เมตรเป็นหน้าร้าน แอบส่องเข้าไปข้างในก็ไม่ได้ลึกมาก ไม่มีโต๊ะ ไม่มีเก้าอี้ เชิญลูกค้านั่งดื่มกันตามสบายบนทางเท้าด้านหน้า เสียดายไม่ได้อุดหนุนเพราะคนต่อคิวเยอะมาก กว่าจะได้กลับมาเดินย่านนี้อีกทีก็วันพุธ ซึ่งเราแทบจะเดินผ่านร้านไปเลยเพราะป้ายหน้าร้านถูกเก็บเรียบ ช่องหน้าต่างสั่งอาหารปิดกลับไปเป็นแผ่นเดียวกับรั้วสังกะสี — ราวกับไม่เคยมีความวุ่นวายใดๆ เกิดขึ้นตรงนี้มาก่อน

Coal Office Restaurant x Natoora Carrot Cafe

Coals Drop Yard, King Cross, London N1C

ร้านแครอทคาเฟ่เฉพาะกิจสำหรับ London Design Festival นี้เป็นหนึ่งในฐานการตามหาประสาทสัมผัสทั้งห้าของนิทรรศการ TouchySmellyFeelyNoisyTasty โดย Tom Dixon

วัตถุดิบที่ใช้มาจากร้านขายผักผลไม้ Natoora ที่สนับสนุนเกษตรกรท้องถิ่นและปฏิเสธการปลูกแบบอุตสาหกรรมทุกรูปแบบ “แครอทมีสี รสชาติ ขนาด และรูปลักษณ์แตกต่างกันไปตามธรรมชาติของแร่ธาตุในดินและความสูงของพื้นที่ที่ปลูก แต่ระบบอุตสาหกรรมหลอกให้เราบริโภคแต่แครอทสีส้มเพราะเชื่อว่าผิวมันสวยและสีดูน่ากินที่สุด” หนึ่งในทีม Natoora กล่าว

น้ำแครอทคั้นจากห้าสายพันธุ์ถูกจัดวางในถ้วยชิมเล็กๆ ไล่ตามสีและรสชาติความเข้มข้น ประสบการณ์การชิมเริ่มต้นที่แครอทสีส้มพันธุ์ปกติที่หาได้ตลอดปี (Standard) หลังจากนั้นจึงค่อยไล่ชิมแครอทตามฤดูกาลสีอื่น เริ่มต้นจากสีขาว (White Satin) สีเหลือง (Yellowstone) สีส้มอมน้ำตาล (Sandy) และสีม่วงคล้ำ (Purple Haze) เราไม่อยากจะเชื่อลิ้นตัวเองว่าแครอทจะหวานและมีรสชาติหนักเบาได้ต่างกันขนาดนี้ (ความรู้สึกเหมือนชิมไวน์) เมื่อชิมเสร็จ ทีมงานก็ถามเราว่าชอบแครอทสีไหนมากที่สุด เราชอบสีเหลืองเพราะมีรสหวานแหลม ใส ดื่มแล้วสดชื่นดี

Host Café, St Mary Aldermary

St Paul’s, London EC4M

“คาเฟ่ในโบสถ์” ฟังดูฮิปสเตอร์ แต่นี่เป็นกิจการเพื่อสังคมของกลุ่ม Moot Community ภายใต้ Church of England ที่เปิดโบสถ์เซนต์แมรี่เป็นร้านกาแฟ เปลี่ยน “Private Space” ให้เป็น “Public Space” ของชุมชนสมตามหน้าที่ของโบสถ์อย่างแท้จริง เราแวะมาตอนบ่ายสองจึงเห็นคนหลากหลาย ตั้งแต่พนักงานออฟฟิศที่เข้ามาทานอาหารกลางวัน คุยงาน บางคนก็เข้ามาหลับ อ่านหนังสือ ทำคอมพ์ บางคนก็มานั่งภาวนา และคนจรจัดแถวนี้ที่เข้ามาขอซุปร้อนทาน (ซุปหมด พนักงานเลยให้น้ำผลไม้เย็นๆ จากตู้แทน) นอกเหนือจากธุรกิจร้านกาแฟที่เปิดทุกวันจันทร์ถึงศุกร์แล้ว โบสถ์แห่งนี้ยังมีโปรแกรมการฝึกสมาธิอาทิตย์ละสองวัน จัดคลาสโยคะและเวิร์คชอปศิลปะในช่วงที่โบสถ์ไม่มีมิสซาด้วย

Conservatory Archives

Lower Clapton Road, Hackney, London E5

อย่าเข้าใจผิดว่านี่คือร้านกาแฟที่เอาต้นไม้มาตกแต่งบังหน้าสำหรับถ่ายรูป แต่นี่เป็นร้านต้นไม้จริงๆ ขนาดใหญ่สามคูหา มีผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำในการเลือกซื้อและดูแลต้นไม้สำหรับปลูกในร่มอย่างจริงจัง เพื่อนเกาหลีของเราที่อาศัยอยู่ในอีสต์ลอนดอนบอกว่าต้นไม้ที่นี่ราคาปกติ ไม่แพง และคนขายก็เก่ง รู้เรื่องต้นไม้ดีมาก หากอยากแวะมาดูต้นไม้นานาพันธุ์และยังได้ดื่มกาแฟกับทานเบเกอรี่อร่อย (แนะนำ lemon coconut poppy seed cake) อย่าแปลกใจถ้าหาป้ายชื่อร้าน Conservatory Archives ไม่เจอ (เพราะเงยหน้าดูแล้วคุณอาจพบว่าป้ายยังเป็นชื่อร้านขายเฟอร์นิเจอร์และที่นอนอยู่) ที่นั่งในร้านมีเพียงสี่โต๊ะ เข้าไปในเว็บไซต์ก็ไม่มีเมนูกาแฟหรือเครื่องดื่มให้ดู ก็ร้านนี้ชื่อ Conservatory Archives นี่นะ — เค้าคงขายกาแฟเป็นของแถม

London Borough of Jam

Chatsworth Road, Hackney, London E5

การเดินลัดเลาะเรื่อยเปื่อยแล้วบังเอิญพบเจอร้านใหม่ๆ คือความสุขอย่างหนึ่งของเรา แต่ร้านนี้เป็นร้านที่ตั้งใจตรงดิ่งมาตามการนำทางของเพื่อนผู้อยู่อาศัยในย่าน “เธอจะต้องชอบ ร้านนี้ขายแต่แยมอย่างเดียว”

จริง — พอเห็นหน้าร้านปุ๊บก็ชอบปั๊บ เดินเข้าไปข้างในยิ่งตื่นตาตื่นใจ เขาจัดวางขวดแยมและสิ่งของเรียงรายบนผนังได้อย่างมีจังหวะ เป็นระเบียบสวยงาม ฉลากสวย ฟ้อนท์สวย เลือกของมาจัดวางสีก็สวย หลังเคาน์เตอร์ตรงหน้าเป็นครัวขนาดเล็กที่เจ้าของกำลังเคี่ยว baked bean กลิ่นหอมฟุ้งเป็นเมนูพิเศษสำหรับขายวันในเสาร์ ร้านนี้ขายแยมโฮมเมดที่ทำจากผลไม้ในฤดูกาลเท่านั้น ทำขายในจำนวนน้อย เคี่ยวในเวลาที่สั้น แยมจะมีรสจัดนำด้วยรสเปรี้ยวของผลไม้ที่ไม่ใช่รสหวานจากน้ำตาลเหมือนยี่ห้อทั่วไป ตามด้วยรสและกลิ่นเครื่องเทศที่จับคู่สร้างความพิเศษให้กับผลไม้นั้นๆ

แยม Chuckleberry ที่เราได้ติดมือกลับมาพบว่าเป็นรุ่นลิมิเต็ดเอดิชั่น เพราะเป็นเบอร์รี่พันธุ์ผสมจากห้าสายพันธุ์ที่หากินได้แค่ช่วงเดือนกรกฏาคม มีรสเปรี้ยวจัดเหมาะสำหรับทำแยม ส่วนฉลากก็พิมพ์ด้วยเทคนิก Risograph บนกระดาษสีพิเศษ และออกแบบโดยศิลปินนักวาดภาพประกอบ – เราช่างแวะไปร้านนี้ถูกเวลาจริงๆ

More moments from #CharinTrip / London Summer 2019

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin
Share on pinterest

More to explore