เส้นทางของศิลปินดังหลายคนอาจเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ธรรมดาๆ และสำหรับ Chalkboy ก็เช่นกัน เขาบอกกับเราว่าจุดเริ่มต้นของการเป็นศิลปินเขียนชอล์กหรือ chalk artist คนแรกของญี่ปุ่นของเขาเกิดจากการแอบอู้งาน
ง่ายๆ แบบนั้นเลย
แต่ด้วยอะไรหลายๆ อย่าง ทั้งความพยายาม ผู้คนรอบข้าง รวมถึงโชคชะตาก็พาเขามายืนอยู่ ณ จุดนี้ ในฐานะศิลปินวาดมือชั้นนำ ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอีกมากมาย และผู้ได้ร่วมงานกับแบรนด์ดังระดับโลกอีกมากมายเช่นกัน ในระหว่างที่เขามาจัดนิทรรศการครั้งแรกที่ Soko Creative Space ที่เราได้พูดคุยกับศิลปินอารมณ์ดีคนนี้

Kooper: เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของ Chalkboy หน่อยได้ไหมคะ
Chalkboy: “มันเริ่มจากตอนที่ทำงานเป็นพนักงานพาร์ทไทม์ของคาเฟ่ Café & Books Bibliothèque Umeda ในโอซาก้าครับ และที่นั่นเป็นหน้าที่ของพนักงานพาร์ทไทม์ที่ต้องเขียนกระดานดำ เขียนเมนูใหม่ลงไป ตอนที่เขาได้รับหน้าที่นี้ ก็คิดด่ามันเป็นการพักใจ พักผ่อนอย่างหนึ่งนะ อีกอย่างคือเป็นการอู้งานไปด้วย ผมเลยใช้เวลานานมากในการเขียน แต่พอใช้เวลานานก็จะโดนเจ้านายดุอีก ก็เลยเริ่มคิดว่าทำยังไงให้ไม่โดนดุ ทีนี้ผมก็ยิ่งตั้งใจมากขึ้นไปอีก ใส่พลังงานทั้งหมดลงไป โดยวิธีคือดูฉลาดขวดไวน์และขวดเบียร์ต่างๆ แล้วลองมาวาดเองครับ ทำไปทำมา ปรากฏว่าคนเริ่มสนใจ เจ้าของร้านก็ชอบ คนก็เริ่มมาเฝ้าดูเหมือนเป็นอีเวนต์บางอย่างในการเปลี่ยนเมนู พอร้านขยายไปเปิดที่อื่นก็เลยได้ตามไปเขียนที่อื่นด้วย
จุดเปลี่ยนน่าจะเป็นตอนที่เจ้าของร้านกาแฟเริ่มไปทำงานโปรดิวซ์ ดูเรื่องอาร์ตไดเร็กชั่นให้กับร้านกาแฟอื่นๆด้วย ซึ่งเขาก็ให้ผมไปด้วย และแนะนำผมกับร้านอื่นๆ แต่จะแนะนำว่าเป็นพาร์ทไทม์ก็คงกะไรอยู่ เลยแนะนำว่าเป็นศิลปิน ก็เลยได้ชื่อว่าเป็นศิลปินตั้งแต่นั้นครับ”

แล้วชื่อ Chalkboy นี่มาจากไหนคะ
“พอดีว่ามีอยู่วันหนึ่ง คาเฟ่ของเจ้าของร้านได้ลงนิตยสารแล้วมีภาพที่ผมเขียนอยู่ด้วย ทางนิตยสารก็โทรมาขอชื่อศิลปิน ผมก็คิดว่าถ้าจะใช้ชื่อจริงว่า โยชิดะ โคเฮ ซึ่งเป็นชื่อที่โหลมากในญี่ปุ่นก็คงไม่ดีนัก ก็เลยตอบไปทันทีว่าชื่อ Chalkboy ได้แรงบันดาลใจมาจากล็อบบี้บอยในหนัง The Grand Budapest Hotel ของเวส แอนเดอร์สัน ซึ่งเป็นหนังที่ผมชอบมาก ล็อบบี้บอยมีหน้าที่อยู่ล็อบบี้อย่างเดียว เลยคิดว่าถ้าจะมีคนที่จะมีหน้าที่เขียนกระดานดำอย่างเดียวก็ต้องเป็นชื่อ Chalkboy นี่ล่ะครับ แต่สงสัยตอนแจ้งชื่อไปสำเนียงผมจะไม่ค่อยดีเท่าไหร่ คนฟังเลยได้ยินเป็น Chokeboy ประมาณว่าถูกบีบคอแทน (หัวเราะ)”
ก่อนหน้านั้นคุณทำงานศิลปะมาบ้างแล้วรึเปล่า
“ตอนมัธยมผมเรียนเรื่องวิชวล ดีไซน์นะครับ ไปเรียนที่ Central Saint Martins ที่ลอนดอนอยู่ปีหนึ่ง แต่ก่อนหน้านั้นคือเป็นคนชอบฟังเพลงไปเรื่อยๆ ฟังแล้วก็ชอบวาดรูปหรือเขียนเนื้อเพลงลงไปพร้อมๆกัน โดยเฉพาะเพลงแบบ white noise รู้สึกอะไรหรือคิดอะไรได้ก็จะเขียนลงไป นอกจากเพลงแล้ว เวลาคุยกับคนอื่นก็จะชอบนึกเป็นภาพเหมือนกัน การแปลส่วนนั้นออกมาเป็นภาพสองมิติก็สนุกดี ตอนนี้ก็ยังทำอยู่นะ การเปลี่ยนเสียงให้เป็นภาพเนี่ย”

นิทรรศการ What a Handwritten Thailand! นี้เกิดขึ้นได้อย่างไรคะ
“ปกติแล้ว เวลาตัดผม คนญี่ปุ่นจะชอบไปตัดผมกับช่างคนเดิม ช่างผมก็เลยเป็นเหมือนคนสนิทคนหนึ่ง ซึ่งผมตัดผมที่ Boy Tokyo เป็นประจำ มิซาเอะซังที่เป็นสไตลิสต์ของผมก็แนะนำว่ามีร้านที่เมืองไทยด้วย ผมก็เลยมาตัดที่ Rikyu by Boy Tokyo ด้วยครับ ทางร้านก็เลยชวนมาจัดนิทรรศการนี้”
มาเมืองไทยครั้งแรก คุณรู้สึกอย่างไรกับประเทศไทยบ้าง
“อาจจะฟังดูธรรมดา แต่ผมว่าเมืองไทยไม่ร้อนเท่าที่คิดนะ โตเกียวหน้าร้อนร้อนกว่านี้เยอะ อีกอย่างกรุงเทพฯ เป็นที่ที่รีแล็กซ์ เรื่องการสื่อสารระหว่างคนที่นี่ทำให้เรารู้สึกไม่เครียด สบายๆ มาครั้งแรกก็เลยไม่รู้สึกเครียดอะไรขนาดนั้น สนุกดีเหมือนกันครับ เหมือนได้พักผ่อนด้วย ส่วนงานนี้นอกจากจะมาจัดแสดงผลงานแล้ว ก็จะมีเวิร์กช็อปและ live painting ด้วยครับ”
งานของคุณจัดในช่วง Bangkok Design Week 2020 คุณได้ไปดูชุมชนครีเอทีฟของกรุงเทพฯ มาบ้างแล้วหรือยัง สังคมครีเอทีฟไทยต่างจากญี่ปุ่นมากมั้ย
“ผมได้ไปดูนิทรรศการที่ Yelo House มา เป็นงานของศิลปินผู้หญิงสามคน ซึ่งเป็นงานวาดมือเหมือนกัน ผมดีใจมากที่เมืองไทยก็มีงานแนวนี้ ในญี่ปุ่นตอนนี้เริ่มมีมากขึ้นแล้วเหมือนกันครับ ก่อนที่ผมจะเริ่มทำงานศิลปะเขียนชอล์ก ยังไม่มีศิลปินเขียนชอล์กในญี่ปุ่นเลย แต่ผมก็มีเปิดเวิร์กช็อปด้วย พิมพ์หนังสือด้วย มีจัดนิทรรศการแสดงผลงานของศิลปินที่มีแนวคล้ายๆกันด้วย”
ในฐานะศิลปินที่ทำงานวาดมือแบบอะนาล็อก คุณคิดว่าศิลปะแบบอะนาล็อกนี้จะมีบทบาทอย่างไรบ้างในโลกยุคดิจิตอล
“โลกทุกวันนี้เป็นโลกยุคเทคโนโลยี จะว่าเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 ก็ว่าได้นะครับ เรามีเทคโนโลยีที่พัฒนาไปทุกๆด้าน มีทั้ง AI และแอนดรอยด์ที่พยายามลอกเลียนแบบมนุษย์ จนเราแทบจะแยกไม่ออกแล้วว่าอะไรจริง อะไรปลอม อย่างเรื่อง fake news นี่ก็เหมือนกัน ผมมองว่าโลกทั้งสองฝั่งกำลังซ้อนทับกันนะ
แต่ผมเองสนใจเรื่องยูโทเปียมากกว่าดิสโทเปียครับ สิ่งที่ผมสนใจคือถ้าโลกเป็นแบบนี้ แล้วความเป็นมนุษย์คืออะไร ที่ญี่ปุ่นกำลังฮือฮามากเรื่องเกมโอเทลโล (Othello) ที่มนุษย์ไม่สามารถชนะ AI ได้แล้ว แล้วความเป็นมนุษย์คืออะไรล่ะ? หนึ่งในคำตอบของผมคือความไม่สมบูรณ์แบบครับ ยกตัวอย่างเช่นตอนนี้ คุณกำลังจดโน้ตอยู่ ถ้าผมบอกให้คุณเขียนให้เหมือนกันเป๊ะอีกหน้าหนึ่ง คุณก็ทำไม่ได้ จริงมั้ย? แต่ในทางกลับกัน ถ้าคอมพิวเตอร์เอาไปสแกนแล้วปรินต์ออกมาก็ทำได้ง่ายมาก ความเป็นมนุษย์คือข้อผิดพลาด ความไม่เที่ยงตรง ความไม่ได้เป๊ะเสมอไป และหนึ่งในสิ่งที่ถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ได้ดีที่สุดคือการวาดมือ และนี่คือสิ่งที่ผมอยากจะทำครับ การถ่ายทอดความเป็นมนุษย์ผ่านการวาดมือ
“ผมไม่ได้บอกว่าการวาดมือของ Chalkboy คือดีที่สุด แต่อยากจะบอกว่าการเขียนมือของคุณมันเป็นสิ่งที่ออกมาจากคุณเท่านั้น และมีแค่คุณเท่านั้นที่ทำได้ “
สิ่งที่คนๆหนึ่งเขียน จะเขียนอีกครั้งก็ไม่ได้ คนอื่นจะมาเขียนให้เหมือนก็ไม่ได้อีก การเขียนมือเป็นสิ่งที่เขียนได้ครั้งเดียว อย่างเส้นตรง เขียนจริงก็อาจจะไม่ตรงก็ได้ การเปลี่ยนไปเรื่อยๆ นี้เองคือความน่าสนใจและเสน่ห์ของการวาดมือ ซึ่งนั่นก็เป็นที่มาของประโยคที่ผมชอบใช้ ว่า “What a Handwritten World” ซึ่งมาจาก What a Wonderful World พอมาแสดงงานที่เมืองไทย ก็เลยตั้งชื่อว่า What a Handwritten Thailand! ครับ”
ท้ายสุดนี้ คุณมีเคล็ดลับที่อยากฝากถึงศิลปินรุ่นใหม่ที่อยากประสบความสำเร็จแบบคุณมั้ย
“เรียกว่าเป็นคำแนะนำที่ไม่ใช่สำหรับเด็กรุ่นใหม่เท่านั้น แต่สำหรับทุกคนดีกว่าครับ ผมอยากจะบอกว่าถ้ามีสิ่งที่อยากทำ หรือสิ่งที่ชอบ ก็อยากให้ทำเลย มีกี่อย่างก็ทำให้หมด ถ้ามีสิบอย่างก็อยากจะให้ทำให้หมดเลย เพราะตอนนี้มีคนจำนวนมากนะที่ไม่รู้ว่าตัวเองอยากทำอะไร ถึงแม้จะอายุเยอะแล้ว การมีสิ่งที่เราชอบและอยากทำแล้วทำให้เห็น จะกลายเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นๆหาตัวเองให้เจอด้วยครับ”
นิทรรศการ What a Handwritten Thailand นิทรรศการครั้งแรกของ Chalkboy ในเมืองไทย จัดแสดงที่ Soko Creative Space จนถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์นี้ เวิร์กช็อปรอบสุดท้ายจะจัดขึ้นในวันที่ 9 กุมภาพันธ์นี้ เวลา 13:00-14:30 น. (ราคา 2,000 บาท ต่อคน) สำรองที่นั่งที่ sokospace32@gmail.com ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ Soko Creative Space
ภาพ: อวิกา บัวพัฒนา