แฟนดีไซน์ในโลกนี้น้อยคนนักจะไม่เคยได้ยินชื่อ “Bauhaus” (บาวเฮาส์) โรงเรียนศิลปะหัวก้าวหน้าในเยอรมนี ที่เริ่มการเรียนการสอนกันตั้งแต่ปี 1919 จนถึง 1933 (และต้องปิดตัวไปจากพิษการเมือง) จวบจนปัจจุบัน Bauhaus movement ที่หลายคนมองว่าคือต้นแบบของ Modernist design ยังคงมีอิทธิพลหยั่งรากลึกในแทบทุกสาขาวิชาการออกแบบ ไมว่าจะในโลกสถาปัตยกรรม ศิลปะ อินทีเรียร์ กราฟิก ไปจนกระทั่งการออกแบบผลิตภัณฑ์ และตัวอักษร
Barcelona chair & ottoman Junghans clock Wassily chair
เมื่อครั้งที่โรงเรียนนี้ถูกปิดไปถาวรโดยคำสั่งนาซี เหล่าครูอาจารย์และนักเรียนของโรงเรียนได้กระจัดกระจายกันไปใช้ชีวิตและทำงานในหลากหลายมุมโลก โดยนำปรัชญาการออกแบบ ‘เพื่อคนหมู่มาก’ อันเป็นเสมือนจิตวิญญาณของ Bauhaus ติดตัวไปด้วย พวกเขาได้สร้างสรรค์ผลงานที่นำพาความ ‘เรียบง่าย’ เข้าสู่กระบวนการผลิตและได้กำหนดนิยามใหม่ให้กับความงามที่เราเรียกขานกันในวันนี้ว่า “Bauhaus Design”
ปี 2019 นี้ถือเป็นปี centennial anniversary ของสถาบันการศึกษาที่ทรงอิทธิพลที่สุดแห่งหนึ่งของโลก Kooper จึงได้รวบรวม 8 งานดีไซน์ ‘ไอคอนิก’ ที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากันดี แต่อาจไม่รู้ว่าเป็นฝีมือของอดีตครูและนักเรียนของ Bauhaus มาให้รับชม ที่สำคัญผลงานเหล่านี้ยังมีการผลิตแบบถูกลิขสิทธิ์กันอยู่ เผื่อใครอยากบริหารพอยท์บัตรเครดิต…คุณก็เริ่มเคาะซื้อกันได้เลย!
01 Wassily Chair โดย Marcel Breuer
เก้าอี้ตัวนี้คุณอาจรู้จักมันในชื่อ Model B3 chair เป็นผลงานการออกแบบของสถาปนิกและดีไซเนอร์ชาวฮังกาเรียน Marcel Breuer ตั้งแต่ช่วงปี 1925-1926 โดยเขานำแรงบันดาลใจจากการดัดโค้งของแฮนด์จักรยานที่ผู้คนขี่กันในยุคนั้นมาประยุกต์เป็นโครงขาเก้าอี้ ต่อมาผลงานนี้ถูกตั้งชื่อใหม่อีกครั้งว่า Wassily Chair ตามชื่อของ Wassily Kandinsky จิตรกรชาวรัสเซียที่เป็นเพื่อนรักของ Breuer ณ โรงเรียน Bauhaus

02 Baby Cradle โดย Peter Keler
ทฤษฎีสีของ Kandinsky คือแรงบันดาลใจให้สถาปนิกชาวเยอรมัน Peter Keler ออกแบบเปลเด็กตัวนี้เพื่อร่วมจัดแสดงในนิทรรศการแรกของ Bauhaus ในปี 1923 โดย Keler ได้นำรูปทรงที่เบสิกที่สุดในโลกการผลิตยุคนั้นคือ ‘สามเหลี่ยม’ และ ‘สี่เหลี่ยม’ มาออกแบบร่วมกับแม่สีทั้งสามของ Kandinsky (แดง เหลือง น้ำเงิน) ที่ต่อมาน่าจะถือว่าเป็นพาเลทท์สีหลักของงานดีไซน์จาก Bauhaus ก็ว่าได้

03 Bauhaus Chess Set โดย Josef Hartwig
Josef Hartwig ศิลปินจากเมืองมิวนิกได้ออกแบบชุดหมากรุกอันนี้ให้ทาง Bauhaus ในช่วงปี 1923-1924 โดยเลือกใช้เส้นสายที่เรียบง่าย รูปทรงกลม และทรงลูกบาสก์ มาลดทอนดีเทลของตัวหมากรุกในสมัยก่อนที่เน้นความหรูหรา แต่ยังคงมีฟังก์ชั่นการใช้งานที่สมบูรณ์แบบไว้ครบถ้วน

04 Brno Chair โดย Mies van der Rohe
Brno Chair ออกแบบโดยสถาปนิก Ludwig Mies van der Rohe ในช่วงปี 1929 – 1930 เป็นอีกงานที่สื่อชัดถึงหลักปรัชญาการออกแบบของ Bauhaus ที่ต้องการลดทอนทุกวัตถุไปสู่ความมินิมัลที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เก้าอี้ตัวนี้จุติขึ้นจากแนวคิดที่ว่าเก้าอี้ไม่จำเป็นต้องมีสี่ขาเสมอไป และเราสามารถนำรูปทรง C-shape เพียงชิ้นเดียวเข้ามาทดแทนได้

05 MT8 Lamp โดย William Wagenfeld และ Carl Jakob Jucker
โคมไฟตั้งโต๊ะนี้ออกแบบโดยสองดีไซเนอร์ Wilhelm Wagenfeld (เยอรมัน) และ Carl Jakob Jucker (สวิส) ที่ต่อมาถูกเรียกขานโดยทั่วไปว่า “Bauhaus Lamp” ผลงานนี้คือตัวอย่างที่ชัดที่สุดของวลีเด็ด “Form follows Function” และเป็นชิ้นงานออกแบบที่ประหยัดที่สุดในยุคของมัน ทั้งในเชิงการใช้วัสดุและระยะเวลาการผลิต

06 Nesting Tables โดย Josef Albers
ศิลปินอเมริกันเชื้อสายเยอรมัน Josef Albers ออกแบบโต๊ะลุคโมเดิร์นสดใสชุดนี้ในช่วงที่เขานั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ให้กับแผนกเฟอร์นิเจอร์ของ Bauhaus (ระหว่างปี 1926-1927) ตัวโต๊ะผลิตขึ้นจากไม้โอ๊คเนื้อแข็งเคลือบด้วยแก้วอะครีลิก และโด่งดังมากจากการใช้โทนสี แดง เหลือง น้ำเงิน ขาว

07 Barcelona Chair โดย Mies van der Rohe และ Lilly Reich
ผลิตครั้งแรกในปี 1929 ให้กับงาน Barcelona International Exposition เป็นผลงานที่ออกแบบโดย Ludwig Mies van der Rohe ผู้อำนวยการของ Bauhaus ร่วมกับสถาปนิก Lilly Reich
เก้าอี้ easy chair อันแสนคุ้นตานี้ประกอบขึ้นจากเบาะนั่งทรงสี่เหลี่ยมเรียบง่าย 2 ชิ้น ที่เชื่อมต่อกันบนโครงสร้างสเตนเลส นับเป็นงานที่ ‘ล้ำมาก’ในยุคปี 1920s

08 Junghans Wall Clock โดย Max Bill
ผลงานมินิมัลที่งดงามเหนือกาลเวลานี้เป็นฝีมือการสร้างสรรค์ของศิลปินและดีไซเนอร์ชื่อดังนาม Max Bill โดยหลังจากที่เขาเรียนจบจาก Bauhaus ในปี 1929 เขาได้ออกแบบทั้งนาฬิกาข้อมือ และนาฬิกาภายในบ้านให้กับแบรนด์สัญชาติเยอรมันนี้หลายต่อหลายชิ้น
