KP: กรุงเทพ…เมืองแห่งการออกแบบของยูเนสโก? เราได้รับสมาชิกภาพนี้มาได้อย่างไร
“เพราะกรุงเทพมหานครเป็นผู้สมัครไปครับ โดยมี CEA เป็นทีมงานสนับสนุนด้านข้อมูลให้ ผมเชื่อว่าทุกคนคงพอรู้กันอยู่แล้วว่ายูเนสโกเป็นองค์กรที่ทำงานส่งเสริมด้านศิลปวัฒนธรรมระดับนานาชาติ แต่ที่คุณอาจไม่รู้คือหนึ่งโครงการที่เขาเริ่มทำมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 คือการสร้างเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์หรือ UNESCO Creative Cities Network โดยเขาแบ่งออกเป็น 7 สาขา คือเมืองสร้างสรรค์ด้านศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน ด้านการออกแบบ ด้านภาพยนตร์ ด้านอาหาร ด้านวรรณกรรม ด้านสื่อศิลปะ และด้านดนตรี
สำหรับในปี 2562 กรุงเทพเราได้รับเลือกเป็นสมาชิกใหม่ในสาขาการออกแบบ พร้อมกันกับที่สุโขทัยได้รับเลือกในสาขาศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน ปีนี้ประเทศเราส่งสมัครไป 2 เมืองครับ ก็น่ายินดีว่าได้รับคัดเลือกทั้งคู่”
KP: ประโยชน์ที่คนกรุงฯ จะได้รับจากสมาชิกภาพนี้คืออะไรบ้าง
“ปัจจุบันเมืองแห่งการออกแบบของยูเนสโกมีอยู่ 40 เมืองทั่วโลกเอง ส่วนปีนี้ได้รับเลือกเข้าไปอีก 9 เมือง กรุงเทพคือหนึ่งในนั้น ผมมองว่าตัวเมืองและคนกรุง 16 ล้านคนจะได้ผลดีจากเครือข่ายนี้ในหลายมิติ อันดับหนึ่งคือเรามั่นใจได้ว่าหน่วยงานระดับนานาชาติจะให้การยอมรับในศักยภาพด้านการสร้างสรรค์ของกรุงเทพมากขึ้น ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือด้านโยบายในอนาคต สองคือคนกรุงเองจะได้รับรู้ และภูมิใจว่าเมืองที่เราอยู่อาศัยนี้มีศักยภาพที่จะพัฒนาไปในด้านการออกแบบสร้างสรรค์ระดับสากล สามคือกรุงเทพจะกลายเป็นเดสทิเนชั่นด้านการท่องเที่ยวในเชิงสร้างสรรค์ของโลก และสี่คือกรอบการให้สมาชิกภาพของยูเนสโกนี้สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรต่างๆ ที่ปัจจุบันล้วนมีบทบาทเกี่ยวข้องกับการออกแบบ เกี่ยวกับธุรกิจสร้างสรรค์ หรือเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองพัฒนาชุมชนกันอยู่แล้ว เราจะได้มองเห็นจุดหมายปลายทางเดียวกัน เพราะยูเนสโกเขาจะต้องตรวจสอบศักยภาพของเราทุก 4 ปีที่จะคงตราสัญลักษณ์นี้ไว้
“มันไม่ใช่แค่การสร้างภาพลักษณ์ของเมืองอย่างเดียวแน่ๆ ครับ แต่มันจะผลักดันให้หน่วยงานที่มีโครงการในมืออยู่แล้วทำงานเหล่านั้นได้เต็มประสิทธิภาพ เดินเรื่องกันได้เร็วขึ้น มีหลายฝ่ายมาช่วยกันเติมเต็ม”
และผมมั่นใจว่าระหว่างหน่วยงานก็จะมีการวางโครงการระยะยาวร่วมกันมากขึ้น เพื่อให้คนในกรุงเทพได้รับประโยชน์สูงสุดในอนาคต ยกตัวอย่างโครงการหนึ่งที่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้คือพระปกเกล้าสกายปาร์ค หรือสะพานด้วนเดิม ที่ถูกทิ้งร้างมานาน ต้นปีหน้านี้คงจะได้เริ่มก่อสร้างใหม่เป็นทางเดินเชื่อมระหว่างกรุงเทพและฝั่งธน สกายปาร์คนี้จะเป็นพื้นที่ข้ามแม่น้ำสำหรับคนและจักรยานนะ ไม่ใช่ของรถยนต์เหมือนสะพานอื่นๆ มันจะเป็นพื้นที่สาธารณะอีกรูปแบบที่เอื้อต่อการมีปฏิสัมพันธ์ของคน มีต้นไม้ให้ความร่มรื่นตลอดทางให้เราไปใช้พักผ่อนหย่อนใจได้”
KP: นอกจากโครงการที่จะช่วยประสานความร่วมมือแล้ว มีโครงการไหนบ้างที่ CEA เป็นเจ้าภาพเอง
“ก็มี Bangkok Design Week ที่ในปีนี้น่าจะคึกคักขึ้นกว่าเดิมด้วย เชื่อว่าจะมีกลุ่มผู้ประกอบการและประชาชนที่สนใจเข้าชมงานมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านๆ มาแน่นอน จะว่าไปการเข้าเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกนี้ก็ทำให้ CEA เรามีกำลังใจมากขึ้นนะครับ เช่นสำหรับงาน Bangkok Design Week ปี 2020 นี้ผมว่าตัวเลขประมาณการผู้เข้าชมก็น่าจะมากกว่า 400,000 คนล่ะ
ที่ผมอยากเปิดประเด็นอีกเรื่องคือเรามีแผนที่จะจัด Creative Economy Forum เป็นเวทีสาธารณะระดับนานาชาติครับ ส่วนหนึ่งก็อยากชวนคนมาพูดคุยกันเรื่องเมืองแห่งการออกแบบด้วย คือผมอยากเห็นคนที่จะลงสมัครเป็นผู้ว่ากรุงเทพมหานครครั้งหน้ามาพูดเรื่องเหล่านี้กัน เราจะได้พอมองเห็นทิศทางการเติบโตของเมืองต่อไปในอนาคต เพราะยังไงก็ตาม สภาพแวดล้อมในปัจจุบันมันก็บีบบังคับอยู่แล้วล่ะว่าเราต้องใช้การออกแบบสร้างสรรค์มาแก้ปัญหาเมือง มาปรับปรุงคุณภาพชีวิตของคนเมือง ฯลฯ
“เราต้องยอมรับความจริงว่ากรุงเทพไม่ได้มีแต่สิ่งดีๆ เรายังมีปัญหาและความท้าทายอีกเยอะที่ต้องเผชิญหน้า”
สุดท้ายทุกหน่วยงานก็ต้องมาช่วยกันทำนะ ผมฝากความหวังไว้กับผู้ว่ากรุงเทพมหานครคนต่อไปจริงๆ บอกตรงนี้เลยว่า CEA เรายินดีที่จะร่วมมือกับท่านเสมอ เพื่อกรุงเทพจะได้เป็นเมืองที่น่าอยู่มากขึ้นกว่าเดิมในวันพรุ่งนี้ครับ” (ยิ้ม)
ข้อมูลเพิ่มเติม: Unesco Creative Cities Network