fbpx

สนทนาฮาเฮกับ Be > Our > Friend ว่าด้วยการทำธุรกิจออกแบบให้โตไปพร้อมกับแพชชั่น

สู่ขวบปีที่ 15 กับสตูดิโอออกแบบที่เรียกว่าทำงานมาหลากหลายที่สุดแห่งหนึ่ง บทความนี้เราคัดเฉพาะเมนคอร์สด้านธุรกิจมาให้อ่าน แต่สำหรับแฟนพันธุ์แท้ของ BOF ขอแนะนำให้ฟัง podcast ฉบับเต็มท้ายบทความนี้ เรามีของหวานแถมให้อีกคอร์ส !

ผ่านร้อนผ่านหนาวเข้าสู่ขวบปีที่ 15 แล้วสำหรับสตูดิโอออกแบบที่เรียกว่าทำงานได้หลากหลายที่สุดแห่งหนึ่งของไทย ซึ่งถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่ติดตามงานดีไซน์รอบตัวอยู่เป็นประจำ เราเชื่อว่าคุณน่าจะได้มีประสบการณ์ร่วมไม่ทางใดก็ทางหนึ่งกับงานของ Be > Our > Friend กันมาแล้วล่ะ เพราะสตูดิโอแห่งนี้เปิดทำการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2547 และทำงาน ‘เยอะมาก’ ด้วยพลังของทีมงานรุ่นก่อตั้งเพียงสามคน ปัจจุบัน Be > Our > Friend Studio ย้ายออฟฟิศมาแล้วสามรอบ เพื่อรอบรับจำนวนทีมงานที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงเกือบหกสิบคน (กันยายน 2562) ซึ่งสิ่งหนึ่งที่เราสนใจคือทำไมธุรกิจออกแบบนี้ถึงเติบโตได้รวดเร็วโดยแพชชั่นไม่ตกหายไประหว่างทางสักนิด ในทางตรงกันข้าม พวกเขาดูเหมือนจะทำงานได้สนุกและหลากหลายขึ้นกว่าเดิมเสียอีก

Kooper แวะเยี่ยม มะลิ จุลเกียรติ และ ปอม จิตรประทักษ์ สองดีไซเนอร์ผู้ร่วมก่อตั้งสตูดิโอ ที่วันนี้ต้องสวมหมวกหลายใบทั้งในฐานะผู้บริหารและนักออกแบบที่ยังดูแลงานดีไซน์อย่างใกล้ชิด ที่สำคัญเมื่อขวบปีที่ผ่านมาทั้งสองได้ต้อนรับหุ้นส่วนคนใหม่ โดม – ทิวัตถ์ นิตย์โชติ นักออกแบบกลยุทธ์ชั่วโมงบินสูงที่เข้ามาเสริมทัพให้ Be > Our > Friend ทำงานกับลูกค้าได้ราบรื่นและมีพลังยิ่งขึ้นอีก และต่อไปนี้คือบทสัมภาษณ์ฉบับฮาเฮแต่ได้สาระของ Kooper & Friends ที่เราไม่อยากให้คุณพลาดแม้แต่บรรทัดเดียว

KP: พูดถึงตัวตนและบทบาท ณ ปัจจุบันของคุณทั้งสามคน

มะลิ: ก็เรียกว่าผู้บริหารได้ค่ะ ในนามบัตรของเราทั้งสามคนจะเขียนว่า Partner งานหลัก คือต้องบริหารจัดการทั้งเรื่องภายนอกและภายในองค์กร แต่เนื้องานที่เราทำจริงๆ ก็ยังลงลึกถึงการพัฒนางานดีไซน์ด้วยตัวเองด้วย

ปอม: ส่วนผมดูแลทีมที่ทำงานเกี่ยวกับสเปซทั้งหมดครับ (space-related) อันได้แก่สถาปัตยกรรม อินทีเรียร์ และอินสตอลเลชัน จริงๆ ผมเพิ่งมาจับงานส่วนนี้ได้ราวสี่ปี ก่อนนี้ทำในส่วนอิลลัสเตรชัน แต่พอ Be > Our > Friend ขยายมารับงานออกแบบพื้นที่ด้วย ผมก็อาสามาดูเพราะสนใจอยู่แล้ว แต่ก่อนเราใช้ชื่อว่า Friends On Site ครับ แต่ตอนหลังเปลี่ยนมาเป็น Be > Our > Friend Space เพราะมันง่ายกับลูกค้ากว่า ผมไม่ต้องอธิบายมากเวลาทำเอกสาร ยังไงสุดท้ายแล้วเราก็เป็นบริษัทเดียวกันอยู่ดี แค่แยกส่วนการจัดการเท่านั้นเอง

“วัฒนธรรมการทำงานของเราคือเราแบ่งกันดูแลโปรเจ็กท์ แต่ละทีมมีซับคัลเจอร์ของตัวเอง แต่ภาพรวมคือเราก็บริหารบริษัทนี้ด้วยกัน

-ปอม-

โดม: นั่นแหละครับ คือผมมองว่าเรากำลังทำแบรนด์ๆ หนึ่งอยู่ แล้วเราจะมาตั้งชื่อหลายๆ ชื่อให้งงทำไมวะ (หัวเราะ) ทีมที่ผมดูแลตอนแรกใช้ชื่อว่า Friend Shifts ทำเรื่องกลยุทธ์ เรื่องแบรนด์ดิ้ง เป็น Brand Design Lab แต่ในเมื่อคุณค่าความเป็น Be > Our > Friend มันดีที่สุดอยู่แล้ว ฉะนั้นเราควรจะให้เขาเป็นแบรนด์แม่และต่อยอดจากเขาดีกว่า ทุกวันนี้ก็เลยเปลี่ยนมาเป็น Be > Our > Friend Strategy ครับ

(จากซ้ายไปขวา) ปอม จิตรประทักษ์, มะลิ จุลเกียรติ, โดม – ทิวัตถ์

“เราสามคนมองเห็นภาพจบเดียวกันในการทำธุรกิจ และก็เห็นตรงกันด้วยว่าถ้าต่างคนต่างทำ โอกาสที่จะไปถึงภาพจบนั้นคงยาก”

-โดม-

KP: ในยุคแรกเริ่มพวกคุณถือเป็นสตูดิโอที่เติบโตหวือหวามาก ถ้ามองย้อนกลับไปคิดว่าอะไรคือแรงผลักให้คุณก้าวกระโดดเร็วแบบนั้น

มะลิ: ในช่วงแรกการเติบโตของเรามันออร์กานิกมากค่ะ พูดง่ายๆ คือไม่ได้วางแผนอะไรเลย (หัวเราะ) มันเกิดมาจากที่เราต้องเผชิญกับปริมาณงานที่มากขึ้น มีลูกค้าที่ให้โอกาสและให้ความไว้วางใจมากขึ้น งานมันก็เลยเพิ่มขึ้นมาอย่างเร็วมากกก แต่พอช่วงหลังการเติบโตของ Be > Our > Friend จะมีแผนมากขึ้นแล้ว เพราะเราไม่ได้ทำงานดีไซน์แบบ for design sake อีกต่อไป เรามองภาพที่ไกลกว่าการสร้างวิช่วลสวยๆ เพื่อตอบสนองลูกค้าเท่านั้น

เมื่อการทำงานให้ลูกค้าแต่ละครั้งมีจุดประสงค์ที่ชัดขึ้น เราจึงต้องการบุคลากรที่เพิ่มขึ้นมารองรับ เพราะเราต้องอาศัยทักษะและความเชี่ยวชาญหลายๆ ด้านมาเสริมกัน นั่นคือที่มาของการขยายไซส์ธุรกิจมาเรื่อยๆ

KP: ในฐานะคนทำงานครีเอทีฟ เคยรู้สึกไหมว่าการเติบโตของธุรกิจ…ทำให้แพชชั่นลดลง

โดม:  ถามตรงตอบตรงนะครับ มันก็เกิดขึ้นแหละ แต่ท้ายที่สุดแล้วเราต้องมาตอบคำถามตัวเองว่าเรามองภาพจบไว้ตรงไหน ถ้าเราอยากสร้างแบรนด์ให้แข็งแรง เราต้องทำมันผ่านทั้งงานดีไซน์และงานกลยุทธ์ ช่วงที่เรากำลังขยับขยาย ที่เราต้องทำงานกันหลากหลายขึ้น มันจะมีทีมงานบางคนที่ต้องปรับบทบาท ซึ่งก็อาจจะสูญเสียแพชชั่นกันไปบ้าง มันเป็นเรื่องปกติของการทำแบรนด์ แต่สุดท้ายแล้วมันมีประโยชน์ต่อเป้าหมายของธุรกิจเราครับ ข้อแรกคือมันเป็นการคัดกรองคนไปในตัว ว่าคนแบบไหนที่ใช่หรือไม่ใช่กับอนาคตขององค์กรเรา ข้อที่สองคือเด็กๆ บางคนโดยเฉพาะในทีมของพี่มะลิ เขาไม่รู้หรอกว่าแพชชั่นจริงๆ ของเขามันอยู่เหนือจากสิ่งที่เขาเคยทำอยู่ไปได้อีก พอเขาถูกผลักดันให้ทำในสิ่งที่ต้องพัฒนาตัวเองขึ้นไปอีกระดับ เขากลับรู้สึกว่าเขาชอบและสนใจมันมาก ในฐานะผู้ใหญ่ที่สุดในทีม (หัวเราะ) ผมว่านั่นคือความมหัศจรรย์ที่พี่มะลิเขารู้สึกกับทีมของเขานะ

มะลิ: มันกลายเป็นแพชชั่นของเราในตอนนี้ไปแล้วที่ได้เห็นน้องๆ พัฒนาตัวเองหรือมีแพชชั่นกับสิ่งใหม่ คือเด็กบางคนเขาเติบโตไปเป็นอีกคนหนึ่งได้เลยนะเวลาที่เราให้โอกาสแล้วเขาเปิดรับมัน

“พอเราโตขึ้นคุณค่าในชีวิตมันไม่ได้อยู่แค่ที่งาน มันคือการสร้างคน คือการได้เห็นพัฒนาการของคนที่เรามองเป็นครอบครัว”

-มะลิ-

ปอม: อีกวิธีที่ผมคิดว่าช่วยรักษาแพชชั่นในการทำงานไว้ได้ดี ก็คือการที่เรายังรับทำงานโปรเจ็กท์เล็กด้วย เป็นงานที่เราทำได้ค่อนข้างอิสระ มันช่วยได้มากนะครับ แต่ยังไงก็ตามเรื่องแพชชั่นนี้ผมว่ามันเปลี่ยนไปตามอายุ เช่นแต่ก่อนผมวาดรูปเยอะมากเพราะมันคือแพชชั่น แต่ตอนนี้แพชชั่นของผมมันก็เคลื่อนที่ไป กลายเป็นผมมีความสุขเวลาเห็นน้องๆ ในทีมมีชีวิตที่ดีขึ้น มีความมั่นคง ได้ไปงานแต่งงานเขา ได้เห็นเขาดูแลพ่อแม่ แพชชั่นของผมตอนนี้มันกลายเป็นสิ่งนี้ไปแล้ว

“ผมชอบรับเด็กจบใหม่ที่สุด ผมไม่แคร์ว่าเขามีประสบการณ์หรือเก่งแค่ไหน แต่ข้อดีคือเราสามารถสร้างทัศนคติที่จะเติบโตไปด้วยกันได้”

-ปอม-

มะลิ: ทุกวันนี้เราก็ยังรับงานทุกสเกลนะคะ ตั้งแต่งานที่เล็กมากๆ ไปจนถึงงานระดับองค์กรใหญ่ยักษ์ เพราะเราคิดว่านี่คือกลยุทธ์หนึ่งที่ตอบโจทย์เรื่องแพชชั่นในเชิงเนื้องาน งานเล็กใช่ว่าจะง่ายเสมอไปนะคะ บางทีมันก็ยากพอกัน งานใหญ่อาจจะยากเรื่องการบริหารจัดการ การวางกลยุทธ์ การสร้างแพลทฟอร์ม การดีลกับลูกค้า การคุมโปรเจ็กท์ให้แล้วเสร็จ ฯลฯ แต่งานเล็กมันจะท้าทายไปอีกแบบ ซึ่งเราก็มีรับเรื่อยๆ นะ ไม่ใช่ว่าเราโตแล้วไม่ทำงานเล็ก

KP: ในวันทำงานจริง คุณสามคนต้องสุมหัวกันมากน้อยแค่ไหน

โดม: ก็เยอะอยู่นะ ผมกับพี่มะลินี่ต้องร่วมหัวจมท้ายกันมากๆ ส่วนผมกับปอมนี่แล้วแต่โปรเจ็กท์ ถ้ามันเป็นงานที่ไม่ต้องอาศัยเรื่องกลยุทธ์ เป็นเรื่องความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านพื้นที่ หรือเรื่องรสนิยมส่วนบุคคล พวกนี้ปอมก็ทำไปเลย แต่ด้วยโปรโตคอลที่เราตั้งกันไว้แต่แรกคือเราเชื่อว่าคุณภาพของดีไซน์มันขึ้นอยู่กับคุณภาพของกระบวนการคิด ฉะนั้นเวลาที่ไปรับบรีฟงานใดก็ตาม เราจะพยายามไปรับด้วยกัน ไปรับรู้ปัญหาของลูกค้าด้วยกันก่อน

สมมติว่าโจทย์คือการหาปลาชนิดหนึ่งในทะเล ผมมีหน้าที่ขีดเส้นว่าเราต้องออกเรือไปที่ละติจูดลองติจูดไหน เพื่อจะได้เจอปลาชนิดนั้นมากที่สุด เพราะถ้าไม่มีเข็มทิศนี้ งานดีไซน์ที่เราพัฒนาขึ้นเป็นสิบเป็นร้อยก็เหมือนการเหวี่ยงแหไปในทะเลแบบไม่รู้เหนือรู้ใต้ แล้วแอบหวังว่ามันจะติดปลาชนิดนั้นขึ้นมา

แต่พอเราตั้งเข็มทิศก่อน ซึ่งก็คือการวางเฟรมความคิดที่นำไปสู่งานดีไซน์ สุดท้ายแล้วดีไซเนอร์ไม่จำเป็นต้องทำงานตามเฟรมนี้แบบร้อยทั้งร้อยก็ได้นะครับ เขายังมีสิทธิ์ที่เหวี่ยงแหเลยออกไปทิศไหนก็ได้ ถือเป็นการสำรวจความคิดไปด้วยกันระหว่างการหาปลา ซึ่งเราก็พยายามจะให้ลูกค้าได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการนี้ด้วย

ปอม: ผมคิดว่าเพราะคุณโดมเป็นแพลนเนอร์ที่อยากรู้เรื่องดีไซน์ ฉะนั้นเขาเลยเปิดใจให้ดีไซเนอร์เข้าไปมีส่วนร่วมในการคิดได้ตั้งแต่ต้น หรือตัวผมเองทำดีไซน์มาเยอะ แต่ผมก็แอบอยากรู้ในสิ่งที่คุณโดมเขาเชี่ยวชาญกว่า มันทำให้เราสามคนสร้าง harmony กลมๆ ขึ้นมาได้ เพราะเราต่างสนใจอยากรู้โลกของคนอื่นมั้ง

มะลิ: สิ่งหนึ่งที่แฮปปี้มากเมื่อคุณโดมเข้ามาทำด้วย คือวิธีการทำงานมันทั้ง solid และ flexible ขึ้น เพราะคุณโดมเขาเฉียบคมเรื่องแนวคิด แต่เขาก็รู้ธรรมชาติการทำงานของพวกเรา มันเป็นความลงตัวที่เราเชื่อมกันได้พอดี เช่นทีมของพี่จะเน้นเรื่องการสำรวจความคิด ก็จะคิดนั่นลองนี่ไปเรื่อย แต่คุณโดมเขาจะสร้างขอบเขตให้การทดลองของพี่ เพื่อไม่ให้พี่ทำเยอะไปจนเสียทั้งของเสียทั้งเวลา (หัวเราะ)

ธรรมชาติคือถ้าเรามีเวลาให้กันนอกเหนือจากในโปรเจ็กท์ มันจะส่งผลให้การทำงานมีมิติที่ลึกขึ้น กับลูกค้าก็เหมือนกัน เราไม่มองว่าเราแค่รับงานจากลูกค้ามาทำให้ดี แต่จะคิดเสมือนว่าเรามีส่วนได้ส่วนเสียกับธุรกิจเขา คิดว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจนั้นแล้วงานจะมีพลังมากขึ้น

KP: ทำงานใกล้ชิดกันคงต้องมีขัดกันบ้าง พวกคุณจัดการปัญหานี้ยังไง


มะลิ:
โอ๊ย…ตลอดเวลาค่ะ แต่เรื่องส่วนตัวไม่ค่อยมีหรอก …รึเปล่า?

ปอม: เรื่องส่วนตัวก็มีนิดๆ คือพี่ลิก็เป็นเหมือนพี่สาวผม บางทีผมหงุดหงิดก็ไปบ่นใส่เขาเยอะแยะ ลืมไปว่านี่เรากำลังออกนอกเขตความเป็นเพื่อนร่วมงาน ที่สำคัญตรรกะของผมกับพี่ลิจะเป็นคนละแบบครับ บางทีคุยกันก็ไม่เก็ท สุดท้ายผมก็เออๆ แล้วแต่พี่ละกัน …แต่ผมหงุดหงิดนะ (หัวเราะ)

“พี่มะลิทำงานเหมือนทำขนมชั้นครับ แต่ของผมเป็นแพนเค้ก เลเยอร์ลำดับคน การจัดการของผมจะน้อยกว่ามาก และผมให้ทีมฟุ้งได้เต็มที่แต่ถ้าถึงหมุดเวลาที่ตั้งไว้แล้วคือเราต้องมีโซลูชั่น” 

-ปอม-

มะลิ: ส่วนของพี่จะให้น้องคิดไปได้เรื่อยๆ เรื่องงานไม่เรียกว่ามีปัญหาละกัน แต่ถามว่าหงุดหงิดใส่กันมั้ย…ก็ตามนั้น

KP: เพราะอะไรปอมถึงตัดสินใจมาเริ่มทำ Be > Our > Friend Space

ปอม: เหมือนว่ามีลูกค้ารายหนึ่งที่เค้าเห็นรูปวาดผม เลยอยากลองให้ผมทำอินทีเรียร์ (นิ่งคิดสองวิ) อ่อ…งานของ Bad Motel ครับ ตอนนั้นผมก็ตอบรับไป เพราะอะไรที่ไม่เคยทำเราก็อยากลอง จากจุดนั้นก็ค่อยๆ เรียนรู้มากับงาน แล้วก็เรียนจากน้องๆ ในทีมที่เขาเป็นอินทีเรียร์ดีไซเนอร์ แต่งานสเปซดีไซน์ของผมจะเบสจากอารมณ์เป็นหลักนะครับ เหมือนกับการวาดรูป ส่วนรูปธรรมกับฟังก์ชั่นค่อยมาเติมเต็มทีหลัง เราจะใช้อารมณ์นำก่อน คิดว่าเมื่อคนเข้าไปในพื้นที่นั้นแล้วเราอยากให้เขารู้สึกอะไร อยากให้เขาก้าวพ้นจากโลกที่อยู่มาก่อนหน้านี้แล้วเข้าไปอยู่อีกโลกหนึ่งที่เราสร้างขึ้น เช่นในการดีไซน์บาร์ บางทีเราก็ไม่ได้อยากให้คนเข้าไปแล้วรู้สึกสบายนะ เราอยากให้เขารู้สึกแปลกๆ หรืออึดอัดนิดๆ ก็ได้ …อาจเพราะผมไม่ได้เรียนอินทีเรียร์มาด้วย วิธีคิดผมเลยเป็นแบบนี้ ผมจะใช้สัญชาตญาณนำไปก่อน

มะลิ: พี่คิดว่าเรื่อง sense of space ของปอมมันไม่ปกติอยู่แล้วด้วย ทีนี้พอเขานำเซ้นส์พวกนี้ไปสร้างเป็นงานอินทีเรียร์ พอเราก้าวเข้าไปในพื้นที่นั้นเราจะรู้สึกถึงความไม่ปกติ มันจะกระตุ้นความรู้สึกบางอย่างที่ผิดไปจากธรรมดา เหมือนที่คุณโดมเคยบอกว่างานอินทีเรียร์ของปอมมันไม่ได้สวยสำหรับทุกคน

โดม: แต่บางทีมันก็จำเป็นนะครับ ที่ผมบอกว่างานปอมเขาไม่ได้สวยสำหรับทุกคนคือมันไม่ได้มีบุคลิกที่เป็นสากล ข้อดีคือความประหลาดนั้นแหละที่จะทำให้แบรนด์ๆ หนึ่งแตกต่างจากแบรนด์อื่นได้ทันที ผมมองสิ่งนี้เป็นความพิเศษนะ

KP: ถ้าเราบอกว่า Be > Our > Friend เหมือนเป็น 7/11 ของธุรกิจออกแบบ พวกคุณคิดยังไง

โดม: ถูกครึ่งหนึ่งและผิดครึ่งหนึ่ง ส่วนที่ผมว่าถูกคือเราก็อยากเป็นอย่างนั้น เพราะมันแปลว่าเราทำได้หมดทุกอย่าง นั่นคือหน้าที่ของคนสร้างแบรนด์ บางทีลูกค้าก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่เขาตามหาคืออะไรหรอก แต่เขาเดินเข้าเซเว่นก่อน เพราะเชื่อว่าเซเว่นอาจจะมีสิ่งนั้น เซเว่นเขามีของใหม่ๆ มาเซอร์ไพรส์เราได้ตลอดเวลาไง แต่ในอีกส่วนที่ไม่ถูกคือในขณะที่ 7/11 เขามีจุดยืนเป็นร้านสะดวกซื้อ เขาส่งมอบความง่าย ความไม่ซับซ้อน แต่งานของ Be > Our > Friend เราไม่ได้มอบสิ่งนั้นให้คุณนะ เนื้องานที่เราทำมีความ complex เราคิดเยอะ และชวนลูกค้าคิดเยอะด้วย เพื่อจะหาคำตอบปลายทางที่ดีที่สุดให้กับเขา

“เราดีไซน์ได้ทุกอย่าง แต่เราไม่ใช่ fast design
เรากำลังต่อสู้กับเทรนด์นี้ที่ดาษดื่นมาก”

-โดม-

ปอม: ผมอยากเป็นได้ทุกอย่างแต่ไม่ convenient ได้มั้ย ที่ผมชวนคุณโดมมาทำงานด้วยแต่แรกเพราะผมมีปัญหาในใจข้อหนึ่งมานาน คือเวลาที่ผมทำอินทีเรียร์แล้วเป็นคนอื่นเลยมาทำแบรนด์เนี่ย ผมรู้สึกบ่อยมากว่าภาพรวมมันไม่มีเอกภาพ งานแต่ละส่วนมันไม่ตอบโจทย์กันและกันได้พอ บางทีคอมมูนิเคชั่นก็ไปคนละทิศกับสเปซดีไซน์ ซึ่งเวลาเห็นภาพจบแบบนั้นแล้วผมเซ็งอ่ะ อันนี้ไม่ใช่ว่างานของคนอื่นไม่ดีนะ แต่มันไม่ synchronize กับแนวคิดของเราเลย นี่คือสาเหตุที่ผมอยากให้ทีมเราได้เริ่มต้นทุกอย่างเองจากศูนย์ ให้คุณโดมทำแบรนด์ดิ้งก่อน ผมรับช่วงต่อทำอินทีเรียร์ พี่มะลิทำคอมมูนิเคชั่น ฯลฯ ผลงานมันจะได้ออกมาจากฐานความคิดเดียวกัน แล้วผมว่าภาพจบของแบรนด์มันจะสมบูรณ์แบบกว่า 

ยกตัวอย่างนะครับ เหมือนว่าผมเก็บเงินซื้อเสื้อผ้าชุดหนึ่งซึ่งผมชอบมาก แต่ผมดันไม่มีเงินจะซื้อรองเท้า แล้วพ่อผมก็เดินมายื่นรองเท้าให้คู่หนึ่ง บอกเอาไปใส่ก่อน ซึ่งมันไม่แมทช์กับชุดผมเล้ยยย ในเคสนี้พ่อก็เปรียบได้กับลูกค้าครับ ซึ่งสุดท้ายผมก็ต้องเดินออกจากบ้านไปกับรองเท้าคู่นั้น คุณนึกออกมั้ยว่ามันเป็นความรู้สึกยังไง …คือผมอุตส่าห์เก็บเงินตั้งนานมาซื้อชุดนี้อ่ะ!

มะลิ: จริงๆ พี่ลิชอบทำงานดีไซน์ไปพร้อมกับลูกค้านะ ซึ่งมันก็ไม่ convenient สำหรับลูกค้าหรอก (หัวเราะ) แต่เรามีวิถีการทำงานแบบนี้ คืออยากให้ลูกค้ามีส่วนร่วมทางความคิดกับเราตลอดทาง เพราะแน่นอนว่าลูกค้าย่อมมีมุมมองต่อแบรนด์และตัวตนของเขาในแบบหนึ่ง ที่บางทีเราก็ไม่เห็น ผลลัพธ์ของการทำงานลักษณะนี้มันจะตอบโจทย์ที่ยั่งยืนต่อแบรนด์ได้มากกว่า

KP: ขอคีย์เวิร์ดในการทำงานของคุณแต่ละคน

โดม: ของผมมีสามคำคือ Meaningful – มีคุณค่า Futuristic – ก้าวไปในอนาคต และ Positive interaction – สร้างความรู้สึกดี …ผมเป็นพวกโลกสวย

มะลิ: ของพี่ไม่เคยคิดไว้เลยอ่ะ แต่ถ้าให้คิดสดตอนนี้ก็น่าจะมีคำว่า Hypothesis – การตั้งคำถาม Planning – การวางแผน Storytelling – การเล่าเรื่องราว และ Relationship – การสร้างความสัมพันธ์ (ระหว่าง form, content, context) ประมาณนี้จ้ะ

ปอม: ของผมคำเดียวเลยคือ Emotional เพราะทุกวันนี้มนุษย์เราซื้อประสบการณ์ครับ บริโภคอารมณ์ เพราะถ้าเราจะซื้อของที่ฟังก์ชั่นเราไปซื้อออนไลน์กันได้หมด แต่ในการสร้างความรู้สึกร่วมกับแบรนด์ ผมเชื่อว่าเรายังต้องพึ่งพื้นที่ทางกายภาพในการสร้างบรรยากาศและภาพรวม

** ฟัง Kooper Podcast เวอร์ชั่นเต็มของสามทหารเสือ Be > Our > Friend ว่าด้วยมุมมองการใช้ชีวิต แบรนด์ที่หลงใหล เป้าหมายส่วนตัว และเกร็ดคิดที่ทำให้พวกเขามีความสุขได้ในสไตล์ของตัวเอง **

ภาพประกอบ: พลากร รัชนิพนธ์, กุศลศิริ จิตรพงษ์

More info: beourfriend.com

สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับธุรกิจออกแบบ ลองอ่านบทความต่อไปนี้ที่เราแนะนำ
โควิด – 19 พลิกโฉมธุรกิจออกแบบ : 5 ดีไซน์สตูดิโอไทยชวนคุณคิดถึง ‘โอกาส’ และ ‘การก้าวผ่าน’ สู่โลกใหม่

ศรัณย์ เย็นปัญญา x จารุพัชร อาชวสมิต : หนึ่งอาชีพ สองเจเนอเรชั่น กับความสนุกในการเปลี่ยนขยะเป็นทอง

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin
Share on pinterest

More to explore

แผลเก่า:Old Wound แผลเดิมในเรื่องเล่า ที่ยังเป็นแผลสดของพล็อตสังคมไทย

นิทรรศการ แผลเก่า / Old Wound นิทรรศการเดี่ยวโดย ประทีป สุธาทองไทย ศิลปินนักตั้งคำถาม ผู้ซ่อนบทสนทนาทางสังคมไว้ในงานเสมอ

“Yesterday I Was, Tomorrow I Will Be” นิทรรศการแห่งความฝันและความสำเร็จของ “Pomme Chan”

ก้าวสู่โลกที่เปี่ยมไปด้วยแพชชั่น ผ่านผลงานศิลปะตั้งแต่ชิ้นแรกที่น้อยคนจะได้เห็น สู่วันที่ประสบความสำเร็จในสายอาชีพร่วมระยะเวลา 20 ปี