การเขียน Calligraphy หรืออักษรวิจิตร อาจไม่ใช่เรื่องใหม่นัก หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับการคัดลายมือด้วยปากกาคอแร้งกันมาบ้างแล้ว แต่ในบ้านเรา Calligraphy ได้มีบทบาทมากขึ้นในวงการศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบการ์ดต่างๆ หรือการออกแบบโปสเตอร์ ก็เริ่มมีวิธีการเขียน Calligraphy เข้ามาปรับใช้มากขึ้นด้วย และนี่คือ 6 Calligrapher ไทยมีฝีมือที่คุณควรรู้จัก
Sorravis P.

ศิลปิน Calligraphy ที่กำลังฮอตฮิตในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นงานแสดงศิลปะ หรืองานเวิร์คช็อปเราก็จะเห็นได้ว่ามีชื่อของเขาอยู่ในฐานะวิทยากรเสมอ Sorravis P. หรืออั้ม นักศึกษาจากคณะมัณฑนศิลป์ ภาควิชาออกแบบเครื่องประดับ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับการเขียนอักษรวิจิตรสักเท่าไร เพราะนี้เป็นความชอบส่วนตัวของอั้มล้วนๆ อั้มเริ่มเป็นที่รู้จักจากคลิปที่เอาลงในเพจเกี่ยวกับการฝึกเขียนด้วยปากกาคอแร้ง อั้มเล่าให้เราฟังว่า “คลิปนั้นถือเป็นคลิปที่เปลี่ยนชีวิตของตัวเองเลยพี่” เพราะหลังจากนั้นก็มีคนทาบทามให้ไปเป็นวิทยาการเวิร์คช็อปจนเรารู้จักกันในทุกวันนี้ แต่ความชอบก็ต้องใช้ความพยายามไม้แพ้กัน “มีคนเคยบอกว่าฝึกเขียน calligraphy ก็เหมือนฝึกเล่นดนตรี ผมนี่เห็นด้วยเลย คือแรกๆ เราก็ cover เพลงเบสิกฝึกจากเบสิกก่อน พอเริ่มได้ที่ก็ลองแต่งเพลงเอง เพื่อให้มีสไตล์เป็นของตัวเองนั่นแหละครับ” เห็นแพชชั่นของหนุ่มคนนี้แล้ว ต้องรีบหาคอร์สเวิร์คช็อปเรียนแล้วล่ะ
www.facebook.com/sorravisp/
Nari.luna

มาต่อกันที่งานสายหวานแบบสาวๆ กันหน่อย nari.luna หรือนริ สาวแฟชั่นจากรั้วจามจุรี ที่เริ่มรู้สึกว่างานด้านสายแฟชั่นไม่ใช่ตัวตนของตัวเองเท่าไร นริจึงเริ่มออกมาทำงานในสายฟรีแลนซ์ และด้วยความชอบที่มีต่อตุ๊กตาบลายท์ เธอจึงเริ่มรับคัสตอมหน้าตุ๊กตาด้วยตัวเอง (Blythe Customizer) หลังจากหมดกระแสตุ๊กตาบลายท์ นริก็กลับมาทำงานสายออกแบบ และไปเรียนต่อที่เมลเบิร์น ออสเตรเลีย ในสาขาแอนิเมชั่น จากนั้นก็เริ่มเปิดเพจ nari.luna ขึ้น “ก่อนกลับไทยคิดว่าจะมีโปรเจคเล็กๆ กลับมาขีดๆ เขียนๆ ด้วยความอัดอั้นที่ 4 ปีที่นู่นเราไม่ได้ทำตามใจเรียกร้องเลย เลยเปิดเพจ nari.luna ตั้งแต่ที่เมลเบิร์น พอกลับมาก็มาเจอกับปากกาคอแร้งที่เคยใช้เรียนตั้งแต่ ป.4 พอได้จับคือมันใช่ ความชอบที่เคยมีตอนเด็กตอนนี้ก็ยังใช่ เลยเรียนรู้ฝึกฝนด้วยตัวเองมาเรื่อยๆ” ปัจจุบันนริเปิดเวิร์คช็อป และสอน private class มีทั้ง pointed pen (คอแร้ง) และ Brush pen งานอื่นๆ ก็รับฟรีแลนซ์วาดภาพประกอบ และออกแบบการ์ดแต่งงานร่วมด้วย ใครอยากได้การ์ดแต่งงานสวยๆ หวานๆ เราขอแนะนำเธอคนนี้เลย
www.facebook.com/nari.luna.art/
Typer

Typer กลุ่มศิลปิน Calligraphy ที่น่าจับตามองไม่แพ้ใคร จุดเริ่มต้นของ Typer เริ่มจากนาย – ไชยวัฒน์ ที่อยากจะส่งจดหมายให้กับผู้หญิงคนหนึ่งแต่เพื่อความสวยงามเขาจึงเขียนไปแบบ Calligraphy เป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่ดูน่าสนใจไม่น้อย หลังจากนั้นเขาก็เริ่มจับปากกาอย่างจริงจัง “เริ่มเขียนงานแบบ Calligraphy จริงๆ ทั้งหมด 16 เดือนครับ ถ้ารวมจับปากกาด้วยก็ 24 เดือนพอดีครับ” สไตล์งานเขียนของ Typer จะเน้นไปที่ Modern Calligraphy เพื่อให้อ่านได้ง่ายขึ้น และด้วยความชอบในการเขียน Calligraphy รวมถึงนิยามตัวเองไว้ว่าเป็น ‘Lettering Designer’ เขาก็เริ่มเขียนลงเพจ และเปิดคอร์สสอนเวิร์คช็อปจนกลายเป็นที่รู้จัก นอกจากนี้ Typer ยังสร้างสรรค์สินค้า Calligraphy ออกมาให้ผู้ที่ชื่นชอบอักษรวิจิตรได้เก็บสะสมอีกด้วย เท่านั้นยังไม่พอ Typer ได้ออกแบบปากกา Maple Oblique Pen Holder เพื่อตอบโจทย์คนที่ชื่นชอบ Calligraphy ได้นำไปฝึกเขียนกันอย่างจริงจังด้วยล่ะ
www.facebook.com/typerofficial/
RAPI RIK.

RAPI หรือมด ศิลปิน Calligraphy ที่ทำงานประจำด้านกฎหมาย ไปพร้อมๆ กับการเขียนอักษรวิจิตร ดูเป็นอะไรที่แตกต่างกันคนละขั้ว “มันเริ่มจากความชอบและความสนใจครับ คือตอนเด็กๆ มันเป็นวิชาหนึ่งในโรงเรียน แต่เขาสอนคัดเป็นตัวๆ ในสคริป Old English แค่นั้น เราก็เอามาประกอบเป็นคำ เป็นประโยคไม่เป็น ซึ่งตอนเด็กก็มองว่ามันเจ๋งและพิเศษมาก” หลังจากนั้นเขาก็เก็บความสนใจนี้ไว้จนได้เริ่มเขียนอีกครั้งตอนเพื่อนสนิทแต่งงาน “เราไปช่วยกันหาแบบการ์ดใน pinterest Instagram แล้วเจอว่าที่ต่างประเทศเขายังเขียนกันอยู่เลย แล้วมันสวยมาก มากจนเราคิดว่ามันออกมาจากคอมพิวเตอร์ แต่พอเป็นการเขียนด้วยมือ มันมีอะไรมากกว่านั้น ก็เลยหันกลับมาลองอีกครั้งหนึ่งครับ” มดเล่าว่าแนวทางที่เขาชอบคือการเขียนแบบดั้งเดิม ซึ่งมีรายละเอียดลึกซึ้งมาก และต้องใช้ความพยายาม หากรีบร้อนก็ไม่อาจทำให้สวย มดใช้เวลาว่างหลังเลิกงานในการฝึกฝนงานเขียน Calligraphy อย่างหนัก จนออกมามีความสวยงาม ละเอียดอ่อน และมีความน่าสนใจไม่แพ้ศิลปินคนอื่นๆ เลย นอกจากนี้ฝีมือของเขายังเข้าตาแบรนด์ดังๆ จนได้ไปร่วมงานมากมาย ใครอยากเรียนกับ RAPI ก็ต้องคอยติดตามคอร์สสอนของเขาให้ดี
www.rapirik.com
TUSK

ศิลปินคนสุดท้าย เป็นหนุ่มชาวเหนือที่หลงใหลในการเขียน Calligraphy ที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัวอย่างมาก เราได้ยินชื่อเขาจากศิลปิน Calligraphy ท่านอื่น จนอดไม่ได้ที่จะต้องเข้าไปดูผลงานแล้วพบว่า ผลงานของเขามีความน่าสนใจมากทีเดียว “ผมเริ่มเขียนเมื่อประมาณ พ.ศ. 2554 สนใจเพราะว่าตอนนั้นในไทยยังไม่ค่อยมีคนทำงาน calligraphy แบบจริงจัง” ส่วนสไตล์งานของ TUSK นั้น เป็น calligraphy ภาษาอังกฤษ ในรูปแบบของล้านนาสไตล์ เขาพัฒนางานจนมีฟร้อนเป็นของตัวเอง TUSK พัฒนางานของตนให้มีความเป็นศิลปะมากขึ้น เขาไม่ได้เปิดคอร์สสอนที่ไหน อาจมีไปบรรยายตามที่ต่างๆ บ้าง แต่ถ้าคุณอยากติดตามเขา เขาก็มีโปรดักส์อย่างเช่น หมวก และเสื้อผ้า ที่เขียนด้วยฟร้อนตามรูปแบบล้านนาสไตล์ของเขานั่นเอง ส่วนใครที่อยากเห็นผลงานแบบเต็มๆ เร็วๆ นี้เขากำลังจะมีจัดนิทรรศการเดี่ยวของตัวเองที่เชียงใหม่ด้วย ติดตามกันให้ดี
www.facebook.com/tusk6/