ทุกวันนี้วาทกรรมที่ว่า “คนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ยไม่เกินปีละ 8 บรรทัด” น่าจะเป็นเพียงแค่คำพูดประชดประชันไปเสียแล้ว เพราะเราเชื่อว่าพฤติกรรมการอ่านของคนไทยนั้นกำลังเปลี่ยนไป อย่างน้อยๆ กระทู้ดราม่าที่หลายคนอ่านก็ดึงสมาธิให้เข้าไปจดจ่อและอ่านเกือบทุกความคิดเห็นได้อย่างไม่น่าเชื่อ
เมื่อเราเชื่อว่าพฤติกรรมการอ่านของคนไทยเปลี่ยนไป และมีหลายคนนำเรื่องการอ่านมาตั้งเป็น New Year’s Resolution เช่น จะอ่านหนังสือให้ได้ปีละ 50 เล่ม หรือ จะอ่านหนังสือที่ตนซื้อมาจากงานสัปดาห์หนังสือให้หมด เป็นต้น แต่ถ้าเป้าหมายที่คุณตั้งมันดูไกลตัวไปหน่อย kooper มีคำแนะนำมาฝาก เพราะเราเพิ่งได้พูดคุยกับ 6 นักเขียนโดยขอให้แต่ละคนแนะนำหนังสือที่ตัวเองได้อ่านและประทับใจในปีที่ผ่านมา ใครที่ไม่รู้จะไปเคาท์ดาวน์ที่ไหน เราท้าให้คุณมาหนังสือข้ามปีดูสักตั้ง
เล่มที่ 01 ถ้าพอจะเรียกมันว่าบทกวี เลือกโดย ใบพัด นบน้อม

“ถ้าพอจะเรียกมันว่าบทกวี เขียนโดย เวฬุ เวสารัช หนังสือรวมบทกวีคัดสรร 50 บทของ “เวฬุ เวสารัช” นามปากกาที่เป็นร่างอวตารของ “เชตวัน เตือประโคน” นักเขียน กวีและนักหนังสือพิมพ์หนุ่ม ที่สังเกตการณ์บรรยากาศทางการเมืองในช่วงปี 2556-2559 แล้วกลั่นออกมาเป็นบทกวี เขาเล่าถึงความเป็นมาของหนังสือเล่มนี้ว่า เป็นความอึดอัดที่อยากระบาย ที่ต้องเขียนออกมาเพราะว่าไม่อยากจะไปชกใคร ก็เลือกไปชกกับหน้ากระดาษแทนก็แค่นั้นครับ ทุกบทเข้าทุกหมัดกระแทกทุกบรรทัด สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ทำไมเขาเลือกวิธีพูดเรื่องแบบนี้ผ่านบทกวี บทกวีมันทำหน้าที่ มีอำนาจ มีความแหลมคมแค่ไหนในเวลานี้ ในยุคที่คนทำงานสร้างสรรค์ถูกเซ็นเซอร์ มีคนบอกว่าอะไรที่เราพูดตรงๆ ไม่ได้ในร้อยแก้วเราก็จะพูดผ่านร้อยกรอง พูดผ่านบทกวี คำถามคือ “เวฬุ เวสารัช” ซ่อนนัยยะไว้เยอะมั้ย เข้ารหัสอะไรไว้บ้าง เมื่อ “เชตวัน เตือประโคน” มาเขียนกวีในร่างของ “เวฬุ เวสารัช” ความน่าสนใจอย่างหนึ่งคือ เขาเป็นนักข่าว การเป็นนักข่าวที่แวดล้อมด้วยข้อมูล อยู่กับความเป็นจริงมากกว่าการนึกมโนเอาเองมันน่าจะทำให้เขาเก่งในการจับประเด็นได้ดี”
ผลงานเขียนของใบพัด นบน้อม ได้แก่ ดื่มไดอะล็อก ที่รวบรวมบทสัมภาษณ์ที่ตัวเขาเป็นผู้ซักถาม เนื่องจากงานหลักของใบพัดนั้นคือการเป็นนักสัมภาษณ์มืออาชีพที่สามารถซักถามและเล่าบทสัมภาษณ์ได้อย่างน่าสนใจ
เล่มที่ 02 i write you a lot เลือกโดย คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง

“i write you a lot ของเต๋อ นวพล เป็นหนังสือประกอบนิทรรศการของนวพล คอนเซปต์คือนวพบจะถ่ายจากที่นู่นที่นี่มา โดยมากเป็น ต่างประเทศ เพราะเจ้าตัวไปเทศกาลหนังบ่อยแล้วนวพลก็จะเอาภาพนั้นมาใส่แคปชั่นแบบมั่วๆ มโนๆ เช่น มีป้ายืนเกาะรั้ว เต๋อก็ใส่ว่า ป้ามายืนเพราะเมื่อคืนดูหนังหว่องกาไว เลยอยากกระทำความหว่อง (สมมติ) หนังสือ + นิทรรศการนี้ เลยตั้งคำถามหลายๆ อย่าง เช่น นี่คือการบุกรุกคนแปลกหน้ามั้ย เปนการ expoit (ใช้ประโยชน์) คนอื่นหรือเปล่า หรือในนามศิลปะเลยทำได้ เลยอยากแนะนำเล่มนี้”
ผลงานเขียนของคันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง (merveillesxx) ได้แก่ ONE LIFE STAND เดี่ยวดี เดี่ยวร้าย, วัตถุ WI-FI และ เพียงชายคนนี้เป็นอาจารย์พิเศษ เป็นต้น นอกจากเขียนหนังสือแล้วเขายังเป็นอาจารย์พิเศษด้านภาพยนตร์อีกด้วย
เล่มที่ 03 The Penguin Lessons เลือกโดย ภาณุ มณีวัฒนกุล

“The Penguin Lessons by Tom Michell เป็นหนังสือเกี่ยวกับการเดินทางใช้ชีวิตในต่างแดนอันไกลโพ้น (อเจนติน่า) ของหนุ่มอังกฤษ เรื่องสนานสนุกของการใช้ชีวิตและเรียนรู้ระหว่างผู้คน และระหว่างคนกับนกเพนกวิน ที่ชะตากรรม(ที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์) ทำให้ท้ังสองมาเจอะเจอกัน ภายในหนังสือมีเนื้อหาที่อบอุ่น และอบอวลด้วยมิตรภาพ เป็นหนังสือที่ทำให้มองเห็นความงามในตัวตนของสิ่งมีชีวิตงดงามมากกว่าแค่ตาเห็น”
ภาณุ มณีวัฒนกุล
เล่มที่ 04 The Perks of Being a Wallflower เลือกโดย วิกรานต์ ปอแก้ว

“The Perks of Being a Wallflower – Stephen Chbosky เป็นอีกปีที่ได้อ่านหนังสือดีๆ หลายเล่ม แต่แทบไม่มีเล่มไหนทำกับเราได้แบบนี้ ส่วนหนึ่งอาจมาจากเวอร์ชั่นภาพยนตร์ที่ได้ดูก่อนจะอ่านจบ ความรู้สึกที่พอจะอธิบายได้สั้นๆ คือมันเหมือนว่าหัวใจถูกกระทืบซ้ำแล้วซ้ำเล่า อย่างที่แม้แต่ตัวเองที่เป็นเจ้าของหัวใจก็ไม่อาจทัดทาน”
ผลงานเขียนของวิกรานต์ ปอแก้ว ได้แก่ ความโดดเดี่ยวของนักวิ่งระยะไกล เขาเป็นนักเขียนหน้าใหม่ที่มีผลงานหน้าจับตามองคนหนึ่ง และรางวัลด้านงานเขียนมาหลายเวที เช่น รางวัลมติชน 2557 เป็นต้น
เล่มที่ 05 The Color Master เลือกโดย จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์

“การอ่านเรื่องสั้นของ Aimee Bender ให้อารมณ์คล้ายการดูภาพยนตร์ของ Miranda July ในเวอร์ชั่นเหนือจริง เอมี่น่ารักตรงที่เธอเล่าเรื่องหลุดโลกและเวิ่นเว้อได้อย่างกระชับ รวดเร็ว และเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ขันหน้ามึน The Color Master ประกอบด้วยเรื่องสั้น 15 เรื่อง แต่ละเรื่องก็มีพล็อตแปลกๆ อย่างศัลยแพทย์ที่ลาออกมาเย็บผ้าและรับงานเป็นช่างเย็บเสือสันหลังหวะ หญิงสาวขี้เหร่ผู้แต่งงานกับยักษ์กินคน ก่อนจะตั้งครรภ์และคลอดลูกไว้เป็นอาหาร ฯลฯ หลายเรื่องมีกลิ่นอายแบบเทพนิยายร่วมสมัยที่แปลกแปร่งและ ‘มึงจะเล่นกันอย่างนี้เลยหรอ?’ และก็มีหลายเรื่องที่พออ่านจบ เราก็ได้แต่เกาหัวไม่เข้าใจว่าคนเขียนจะบอกอะไร แต่ช่างเถอะ อ่านสนุกก็โอเคมากแล้ว เป็นเล่มที่อยากให้คนอื่นได้อ่าน เล่มนี้มีฉบับแปลไทยด้วย โดยสำนักพิมพ์กำมะหยี่ครับ”
ผลงานเขียนของจิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์ ได้แก่ สนไซเปรส, ฮาวายประเทศ, พิพิธภัณฑ์เสียง และล่าสุด US AND THEM จากอัมสเตอร์ดัมถึงบาร์เซโลน่า และบทสนทนาของมหานคร เขาเป็นนักเขียนรุ่นใหม่ไฟแรงที่ได้เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ ประจำปี 2558
เล่มที่ 06 อ่านเอกเขนก เลือกโดย นิวัต พุทธประสาท

“อ่านเอกเขนก เขียนโดย สนธยา ทรัพย์เย็น : หนังสือเล่มนี้เป็นบันทึก ประสบการณ์ การท่องเที่ยวผ่านวรรณกรรม ภาพยนตร์ และ พิพิธภัณฑ์ ของสนธยา ที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก มันเป็นการเดินทางออกไปข้างนอก สำรวจโลก แล้วเขียนถึงมันในแง่ของชีวิต เป็นหนังสืออีกเล่มที่น่าสนใจสำหรับปี 2016 ที่กำลังผ่านไป และก้าสู่ปี 2017 ”
ผลงานเขียนของนิวัต พุทธประสาท ได้แก่ หิ่งห้อยในสวน, รัตติกาลของพรุ่งนี้ และล่าสุด กายวิภาคของความเศร้า เขาเป็นผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม เพื่อผลิตงานวรรณกรรมทั้งไทยและต่างประเทศอีกด้วย