fbpx

นักเขียนไทย ที่ชาติที่แล้วคงเกิดเป็นแขก กับหนังสือฮาร์ทเมดที่จะทำให้คุณรักอินเดีย

แพท พัทริกา ลิปตพัลลภ เล่าถึงการเดินทางบนเส้นทางนักเขียนและนักทำหนังสือ และความหมายของการเดินทาง

“มันคือโชคชะตา”

เรานึกถึงประโยคนี้เสมอว่าเวลาได้คุยกับพี่แพท-พัทริกา ลิปตพัลลภ รุ่นพี่ทั้งในวงการนักเขียน และวงการการเดินทาง พี่แพทบอกเราอยู่หลายครั้งว่าโชคชะตานี่แหละที่นำพาเรามาเจอกัน และโชคชะตาอีกนี่เองที่เธอมักใช้เป็นเข็มทิศเวลาเดินทาง และโชคชะตาที่เธอยึดมั่นก็นำพาไปบนเส้นทางที่ทำให้เธอพบเจอกับผู้คนหลากหลาย และตกเครื่องบินอยู่บ่อยครั้ง และท้ายสุดก็คงเป็นโชคชะตาอีกนั่นเองที่กำหนดให้เธอได้ก่อตั้งสำนักพิมพ์เล็กๆ ที่ชื่อว่า ‘มาลาฤดูร้อน’ เพื่อพิมพ์หนังสือเล่มแรก ‘ชาติที่แล้วคงเกิดเป็นแขก’ ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอินเดีย

อินเดีย… พูดถึงอินเดียแล้ว พี่แพทมักเป็นบุคคลแรกที่เรานึกถึง ถ้าคนบอกว่าอินเดียเป็นประเทศที่ไม่ ‘รัก’ ก็ ‘เกลียด’ เลย พี่แพทคงเป็นคนหนึ่งที่รักและอินกับอินเดียมากที่สุดคนหนึ่ง ตลอดระยะเวลาสิบกว่าปีนี้ เธอเดินทางไปอินเดียกว่าสามสิบครั้งแล้ว เมื่อได้โอกาส เราจึงขอดอดไปเยี่ยมบ้านพี่แพทเพื่อคุยกันถึงเหตุผลว่าทำไมถึงรักอินเดียขนาดนั้น แถมยังแอบถามถึงหนังสือเล่มล่าสุดของพี่แพทด้วย

KP: ทำไมพี่แพทถึงเลือกเขียนเรื่องอินเดีย พี่แพทรู้สึกผูกพันกับอินเดียอย่างไรบ้าง
“ครั้งแรกที่ไปอินเดียเนี่ย เราไม่ได้รู้จักอินเดียมาก เราแค่รู้สึกว่าเราสนใจในสีสันบางอย่างของอินเดีย ไม่ได้รีเสิร์​ชอะไรมากมาย แล้วพอถึงเวลาที่จะทดลองไป พอไปถึงจริง วันแรกจำได้ว่าเกลียดอินเดียมาก ทุกอย่างที่เราเห็นรอบตัวคือมีแต่ความหดหู่ และอาจจะด้วยบรรยากาศและสถานการณ์ที่เราเข้าไปเผชิญ มันทำให้เรารู้สึกหดหู่มาก จนคืนแรกที่ไปถึง วันกลับมานี่อยากจองตั๋วกลับบ้านเลย คือไม่เอาแล้ว แต่ว่านั่นล่ะค่ะ นั่นคือเมื่อ 12 ปีที่แล้วที่เรารู้สึกแบบนั้น

แต่จากวันนั้นจนวันนี้ เราก็ยังเดินทางต่อไปเรื่อยๆ ไปกลับ แล้วก็ไปเมืองต่างๆ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ บางทีเราก็มีมุมที่รู้สึกว่าเฮ้ย หรือว่าการที่เราต้องกลับไปซ้ำแล้วซ้ำอีกเนี่ย เพราะว่าชาติที่แล้วคงเกิดเป็นแขกมั้ง และมันไม่ใช่แค่นั้นด้วย มันมีเรื่องของความสัมพันธ์ที่แต่ละครั้งเราไป แล้วเราได้เข้าไปใช้ชีวิตกับชาวบ้านและชุมชน คือพอเข้าไปได้อย่างหนึ่ง มันก็จะทางใหเราเลี้ยวไปเจออีกอย่างหนึ่งอยู่เสมอ แล้วทุกครั้งของการไปเจอนั่นเจอนี่ เราไม่ได้อยู่คนเดียวซะทีเดียว ถึงแม้เราจะไปคนเดียว แต่ว่าพอไปแล้วมันจะมีคนพื้นที่หรือบางสิ่งบางอย่างนำพาเราไปเสมอ แม้กระทั่งในความมืดที่สุด ท้ายที่สุดแล้วความมืดที่สุดก็นำพาเราไปหาความสว่างบางอย่าง มันเหมือนมีบางอย่างคอยดูแลเราอยู่เสมอในทุกทริปของการไปอินเดีย”

แต่ละทริปมีวางแผนอย่างไรบ้าง
“ตอนแรกๆ เวลาเลือกไปจะเลือกเมืองที่เริ่มทำความรู้จัก เป็นภาพกว้างของอินเดียก่อน ไปแบบเมืองง่ายๆ ที่คนอื่นไปกัน อย่างกัลกัตตา เดลี ชัยปุระหรืออักรา พอเราเริ่มรู้จักความเป็นอินเดีย รู้ว่ามันเป็นประมาณนี้ คาแร็กเตอร์แบบนี้ การดีลกับคนทำแบบนี้ ก็จะเริ่มขยายเส้นทาง ว่าต่อไปเราอยากรู้จักอะไรนอกเหนือจากสิ่งที่เห็นแล้วบ้าง มันก็จะเริ่มเขยิบไปไกลขึ้น เช่น การออกไปหายิปซีในทะเลทราย ซึ่งออกไปมันไม่มีใครเลยจริงๆ มันคือหมู่บ้านยิปซี มีชาวยิปซีที่ใส่เสื้อผ้าแบบ…สีมาค่ะ! เห็นแล้วอยากจะพุ่งตัวเข้าหา เข้าไปทำความรู้จัก แต่พวกนั้นก็จะพูดภาษาฮินดี เราก็ต้องมีคนพื้นที่ที่เราต้องไปแสวงหาทำความรู้จักเพื่อที่จะพาเราไป”

แสดงว่ากว่าจะได้ข้อมูลนี่ต้องอาศัยทั้งเวลา ทั้งการทำความรู้จักกับแหล่งข่าว
“ใช่ มันจำเป็นมากเลยนะ สำหรับเรา การเดินทางทุกครั้ง สิ่งที่สำคัญที่สุดคือคน คนมักจะนำทางเราไปเจออะไรเสมอ ไม่ว่าคนๆนั้นจะเป็นใครก็ตาม เขาจะเป็นแค่ชาวบ้านหรือใคร แค่เรามีจุดเริ่มต้น เดี๋ยวมันจะมีเส้นทางที่จะนำทางเราไปเอง ที่อินเดียเนี่ย ตอนแรกๆ ก็เหมือนคนทั่วไปคือแบ็คแพ็คไป กะว่าจะไปด้นสดข้างหน้า การด้นสดก็ได้ประมาณหนึ่ง ได้เห็นนั้่นเห็นนี่ แต่ถ้าเราอยากรู้จักความเป็นเมืองจริงๆ ต้องทำความรู้จักคนก่อน เพราะว่าคนจะเป็นตัวบอกที่ดีว่าพื้นถิ่นเหล่านั้นคืออะไรแล้ว แล้วเขาจะนำทางเราไปสู่เรื่องราวที่มันซับซ้อนหรือแอบอยู่ตามซอกซอยต่างๆ” 

มีประสบการณ์ที่ประทับใจที่สุดมั้ย
“ถ้าเป็นอินเดียก็มีหลายอย่างนะ เวลาคนจะไปอินเดียเนี่ย อย่างแรกจะชอบมีคนถามว่าพี่คะ หนูต้องทำยังไง ก็เลยบอกว่าอย่างแรกคือปิดหูไปก่อนเลย ทุกวันนี้คนมักจะบอกว่าไปอินเดียต้องเจอขอทานหลอก เจอตุ๊กตุ๊กหลอกนะ ระวังเกสต์เฮาส์หลอกนะ ก็คือจะเจอกันอยู่แค่นี้ แล้วทุกคนก็จะฟังแบบนี้มาซ้ำๆ ว่าไปแบบนี้ก็จะเจอแบบนี้ พอไปจริงก็เลยเจอแบบนี้ แล้วก็จบแค่นั้น แต่ถ้าเราเปิดใจให้กว้างมากพอ แล้ว explore มันมากขึ้น 

ยกตัวอย่างเช่นเรื่องขอทาน สำหรับเราก็เจอขอทานหรือคนหลอกระหว่างทางเหมือนกัน มีเมืองหนึ่งที่เป็นเมืองทะเลสาบศักดิ์สิทธื์ที่จะมีการทำบุญตรงแม่น้ำ มีโยคี ก็จะมีชาวบ้านเอาดอกไม้ให้เรา ถ้ารับไว้หมายถึงว่าเราตกลงที่จะไปทำบุญกับเขา เมืองนี้ไปทุกครั้ง พอลงจากรถ ก็จะมีเด็กถือดอกกุหลาบในมือรอเราอยู่แล้วยื่นให้เรา พอลงปุ๊ป เจอเด็กคนเดิม ก็ยื่นให้เรา เราบอกว่าไม่เอา เขาก็พยายามจะยัดเยียด ก็เลยบอกว่ารู้นะว่าพยายามจะหลอกไปทำบุญใช่มั้ย เพราะการทำบุญที่นี่ต้องทำด้วยโยคี ไม่ใช่ชาวบ้านทั่วไป แต่บางทีจะมีเด็กพวกนี้มาหลอก พอเริ่มพิธีมันจะมีบทว่าให้เราเติมตัวเลขว่าจะทำบุญเท่าไหร่ โดยธรรมชาติก็ต้องยอมบอก ซึ่งเด็กพวกนี้จะหวังแค่โมเมนต์นั้น ซึ่งเงินทำบุญก็จะเข้ากระเป๋า พอโดนจับได้ เขาก็เสียหน้า ก็ปล่อย ไม่ให้ดอกไม้เรา 

เราก็เลยบอกไปว่าถ้าอยากได้เงิน ไม่ต้องใช้วิธีนี้ พรุ่งนี้มาเจอฉันบ่ายสอง แล้วให้พาไปบ้านเธอ เหมือนพาไปเที่ยว แล้วนี่แหละคือรายได้ที่เธอควรได้ คือมาเป็นไกด์ให้เรา หลังจากนั้นก็พาไปบ้านเค้า สิ่งที่เราได้เจอคือได้เห็นความเป็นอยู่ ได้เข้าใจคนอินเดียว่าบางทีมันก็เป็นเรื่องของการเอาตัวรอด เพราะในประเทศนี้มีผสมกันทั้งเรื่องชนชั้นวรรณะ คนที่มีการศึกษาและไม่มี คราวนี้ถเ้าเราตัดสินว่าทุกคนมาหลอกเรา มันจะจบแค่นั้นเลย แต่ถ้าเราเปลี่ยนมุมมาคิดใหม่ว่าที่เขาหลอกเราเพราะอะไร เข้าต้องการอะไร แล้วมันจะทำให้เราเริ่มมองเขาลึกเข้าไปในใจว่าจริงๆแล้ว เค้าคืออะไรกันแน่ มันจะเริ่มเกิดการเห็นอกเห็นใจ เกิดความเคารพ และเมื่อไหร่ก็ตามที่เราเคารพเค้า เค้าก็จะเคารพเรากลับ หลังจากนั้นเวลาเราไปเมืองนี้้ พอลงมาปุ๊ป เก็บดอกไม้เลย เลยรู้เลยว่าคนที่เราเจอระหว่างทาง เค้าอาจจะ tricky กับเรา แตี่ถ้าเราใช้เวลากับเขาให้มากพอ แล้วไม่ตัดสินตั้งแต่แรกทั้งหมด เราจะได้เห็นอะไรที่มากกว่านั้น”

“เพราะการที่อินเดียเปลี่ยนมุมมองโลกของเรา ก็เลยถือว่านี่คือความประทับใจของเรา เพราะมันไม่ใช่แค่การเรียนรู้ในการเคารพคนอื่นจากคนอินเดีย แต่การที่คนที่นั่นทำให้เรารู้สึกแบบนั้นได้เนี่ยมันเอากลับมาใช้ในชีวิตประจำวันของเราได้ด้วย ทุกวันนี้เวลาเจอคนที่ทำไม่ดีกับเราหรือทำอะไรที่เราไม่ชอบ เราจะมองลึกเข้าไปข้างในว่าทำไมเขาเป็นแบบนั้น พื้นฐานคืออะไร”

วันไหนที่ตัดสินใจว่าเราจะทำหนังสือขึ้นมา
“เอาจริงๆเลยนะคะ การตัดสินใจที่จะทำหนังสือเกิดจากการเอาต้นฉบับหนังสือไปเสนอสามสี่ที่ เงียบหมดเลย บางคนก็ตอบมาด้วยประโยคที่สุภาพ แต่หลายๆที่ก็เงียบไป เราคิดว่ามนุษย์ทุกคนเป็นเหมือนกันอย่างหนึ่ง คือเมื่อไหร่ก็ตามเราที่เราอยู่กับความเงียบที่ไม่มีคำตอบ หรืออยู่กับคำปฏิเสธ เราจะเริ่มเฟล เริ่มรู้สึกสั่นคลอน ไม่แน่ใจว่าเอ๊ะ หรือเราเขียนไม่ดี หรือเราไม่ดีพอ ซึ่งความคิดแบบนี้คือน่ากลัวมาก เพราะเมื่อไหร่ ก็ตามที่เราใช้ความคิดหรือการตัดสินของคนอื่น หรือความเงียบจากคนอื่นที่เราเดาเอาเองว่าเค้าคงไม่ชอบงานเรา มาเป็นตัวตัดสินการทำงานของเรา มันจะทำให้งานเราหยุดทันที

ตอนนั้นพอเราเริ่มเฟล ก็ลังเลว่าจะยังไงต่อ ซึ่งเราเชื่อว่าหลายๆคนที่อยู่ในสถานการณ์แบบนี้คงตัดสินใจไม่ทำ แต่ ณ โมเมนต์นั้น เราจำภาพนั้นได้เลย ตอนนั้นเราอยู่บนถนนในอินเดีย แล้วบนคอ เราเอามาลัยที่เหมือนเอาไว้ถวายพระมาใส่เป็นสร้อย ข้างทางเป็นตลาดดอกไม้ทั้งหมด มีวัด มีกลิ่นธูป มีเสียงโอมออกมา มีเสียงผู้คนขวักไขว่ เราก็เดินคิดเรื่องหนังสือ แล้วก็ถามตัวเองว่าทำไมถึงอยากทำ แล้วเราก็ตอบว่าเราเดินทางไปกลับอินเดียมา 11 ปี เราเก็บประสบการณ์หลายๆ อย่างมากมาย เราอยากให้คนรู้จักเนื้อแท้ของอินเดีย อยากให้คนได้รู้จักอินเดียผ่านการเดินทางของเราที่ไม่ใช่แค่ไปเช็คอิน แต่เป็นการเข้าไปทำความรู้จักคนในพื้นที่ และสิ่งที่เราได้กลับมา อยากให้คคนได้รู้จักอินเดียที่เป็นอินเดียจริงๆ พอได้คำตอบคือยืนกลางถนน แล้วก็ เออว่า ทำเองก็ได้นี่หว่า ก็เลยตัดสินใจว่าทำเองวะ เอาไงเอากัน ตอนนั้นไม่ได้สนใจเลยว่าขายได้มั้ย รู้แต่ว่าเราต้องทำ” 

ตัดสินใจได้แล้วทำยังไงต่อ
“อย่างแรกคือรวบรวมแมทีเรียลว่าเรามีอะไรอยู่บ้าง สมุดบันทึกก็มีหลายเล่ม 11 ปี คือเรื่องเยอะมาก แต่การเอามาไว้ในหนังสือหนึ่งเล่มนี่มันยากมาก ก็เลยคัดก่อน แล้วหยิบเอเลเมนต์มาแผ่ลงพื้นว่ามีอะไรอยู่บ้าง แล้วเอาทั้งหมดมาคิดว่าไดเร็กชั่นจะเป็นแบบไหน แล้วก็เริ่มคุยกับคนวาดภาพประกอบและคนออกแบบรูปเล่ม จากวันที่ตัดสินใจทำจนพิมพ์ออกมาก็ใช้เวลา 7-8 เดือนนะ แล้วยิ่งเราอยากจะทำหนังสือให้คนได้รู้จักกับอินเดียจริงๆ สำหรับเราอยากให้คนรู้จักตั้งแต่แรกเห็น แรกจับเลย สำหรับเราอินเดียคือเรื่องของสัมผัสและเท็กซ์เจอร์ มันก็เลยมีเรื่องของปกผ้า ที่ใช้งานไปเรื่อยๆมันจะรุ่ยตามประสบการณ์ใช้งาน ก็เหมือนอินเดีย มีความอิเหละเขะขะ สะบักสะบอม มีขอทาน แต่สักพักก็จะมีวัดที่ขลังมาก แล้วมีผู้หญิงใส่ชุดส่าหรีเดินผ่านไป มันมีเรื่องของการที่ต้องใช้เวลามองมัน ก็เลยเป็นที่มาของปกผ้า เพราะถ้าพูดถึงความคราฟต์ของอินเดียก็คือผ้า เราเลยใช้ผ้ามาเล่นกับปก ยิ่งรุ่ยยิ่งงาม

ตั๋วรถไฟและสติ๊กเกอร์ ก็ไม่ได้แค่ทำขึ้นมาสวยๆ แต่สติกเกอร์ที่ทำมีตัวตนจริงๆ หมด คนที่เราเจอมาทั้งหมด หรือแม้กระทั่งตั๋วรถไฟก็เป็นตั๋วใบแรก เราก็เอาต้นฉบับมาก็อปให้เหมือนที่สุด ขาดตรงไหนก็ต้องขาดเหมือนกัน อยากให้จริงที่สุด เพราะสำหรับเรา การทำหนังสือคือการหยิบเอเลเเมนต์การเดินทางมาใส่ไว้ในหนังสือ ต้องเป็นเอเลเมนต์ที่จริงด้วย เป็นเรื่องราวที่มีอยู่จริง เพราะเราเชื่อว่าหนังสือมันพูดได้ มันมีชีวิต และชีวิตก็มาจากเอเลเมนต์จากการเดินทางของเรานี่แหละ” 

ด้วยความที่เป็นหนังสือที่ดีเทลเยอะ เรามีวิธีเวิร์กกับโรงพิมพ์อย่างไรบ้าง
“ดีเทลเยอะขนาดนี้ คาดว่าถ้าไปทำกับโรงพิมพ์ที่อื่นต้องโดนด่าแน่นอน แต่โรงพิมพ์นี้ เจ้าของกับเรามีเคมีบางอย่างที่คุยกันได้ง่าย ก็เลยเป็นการเวิรืกเอาท์ด้วยกันทุกขั้นตอน เลยไม่มีปัญหาอะไรเลย”

พิมพ์ครั้งแรกก็ขายหมดเลย รู้สึกยังไงกับฟีดแบ็คบ้าง
“ถ้ามีคนบอกเราว่าหนังสือสวยนี่จะเฉยๆ แต่ส่วนใหญ่ที่กลับมาจะกลายเป็น เฮ้ยพี่ หนูอ่านละอยากไปอินเดีย หรือหนูซื้อตั๋วแล้ว หรือพี่ไปตรงนั้นได้ยังไง คือทุกอย่างที่ถามเป็นการถามเรื่องคอนเทนต์ เลยทำให้เรารู้สึกว่าตัวตนความเป็นอินเดียที่เรานำเสนอมันไปถึงเขาจริงๆ แล้วเขาสัมผัสได้จริงๆว่าอินเดียไม่ได้มีด้านเดียว ยังมีอีกหลายด้านที่เขาก็อยากไปเห็น แบบนี้พอฟังแล้วก็รู้สึกดีค่ะ เคยคิดว่าจะไม่พิมพ์แล้วเพราะอยากให้มันจบอยู่แค่นั้น แต่ทุกวันนี้มันยังมีคนถามหาอยู่เป็นจำนวนมาก ก็เลยกำลังคิดว่าก็เป็นไปได้ว่าพิมพ์ครั้งที่สอง แต่ต้องตามจำนวนที่ตั้งไว้”

คิดว่านี่คือไดเร็กชั่นของมาลาฤดูร้อนเลยรึเปล่า
“ถ้าถามว่าคอนเซ็ปต์ของมาลาฤดูร้อนคืออะไร ตอนทำเล่มแรกเนี่ยเพราะเราต้องการทำชาติที่แล้วฯ แล้วตอนนั้นที่เราทำก็ไม่ได้มีคอนเซ็ปต์ว่ามาลาฤดูร้อนต้องเป็นแบบไหน แต่พอทำเล่มที่สองก็เริ่มเห็นคอนเซ็ปต์ชัดเจนว่ามาลาฤดูร้อนคือการทำหนังสือเพื่อพรีเซนต์ตัวตนหรือคาแร็กเตอร์ของประเทศประเทศหนึ่ง หรือส่ิงใดสิ่งหนึ่งออกมาเป็นรูปเล่ม ผ่านเอเลเมนต์ของการเดินทางที่เราได้ประสบพบเจอมา เอเลเมนต์ที่ว่าคือมันอาจจะเป็นสี เป็นสัมผัส นิสัยใจคอคน หรือแม้แต่บรรยากาศที่เราไปพบเจอ เป็นเรื่องของภาษา ซึ่งทั้งหมดเราจะหยิบมาใส่หนังสือหนึ่งเล่มได้ยังไงให้คนรู้สึกถึงสิ่งเหล่านั้น มันคือเรื่องของการเดินทางผ่านคัลเจอร์ ผ่านเรื่องราวที่ลึกลงไปอีกสเต็ป ที่ไม่ใช่แค่การไปเที่ยวย่านท่องเที่ยว”

จริงๆแล้วส่งลูกไปเรียนอินเดียด้วย ทำไมถึงตัดสินใจแบบนั้น
“จริงๆ ความตั้งใจของเราคือไม่ได้ส่งไปเรียน เราส่งไปใช้ชีวิต คือความเป็นซิงเกิลมัม และคนเป็นซิงเกิลมัมหลายๆคนจะมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน คือทุกคนต้องเข้มแข็ง เพราะเราต้องทำหน้าที่หลายๆอย่าง ต้องจัดการกับสติตัวเองหลายๆครั้ง และต้องจัดการตัวเองหลายอย่างในการเลี้ยงดูลูกคนนึง จะมีข้อนึงที่เหมือนกันคือการปกป้องลูก ชอบไปคิดแทนลูก หรือเข้าไปจัดการอะไรไปหมด เราก็เลยเป็นแบบนั้นมาก่อน จนมาถึงจุดหนึ่ง สักช่วงลูกม.1 ลูกเริ่มเป็นวัยรุ่น เราก็รู้สึกว่าเป็นแบบนี้ไม่ได้แล้ว เราอยากให้เขาเรียนรู้โลก อยากให้เขาได้เรียนรู้ว่ามันมีอะไรมากกว่านี้ อยากให้ได้ไปใช้ชีวิตแบบเด็กผู้ชาย อยากให้ฝึกการพึ่งพาตัวเอง เพราะท้ายที่สุดพ่อแม่ก็คงเป็นเหมือนกัน คืออยากให้ลูกอยู่ได้บนโลกใบนี้ในวันที่ไม่มีฉันก็ตาม ก็ต้องทำให้เขาแข็งแรงและเข้มแข็ง พอคิดได้ก็คิดว่าอยากส่งไปเรียนต่างประเทศเพื่อให้เรียนรู้การดูแลตัวเอง ซึ่งอินเดียก็ไม่ใช่คำตอบแรก แต่คิดไปอินเดียตอบโจทย์ที่สุด ค่าใช้จ่ายก็มีแบบกลางๆ ก็มี

อีกอย่างคือเรารู้สึกว่าอินเดียเนี่ย ใครที่ได้ไปใช้ชีวิตหรือไปเรียนที่นั่น อีกหน่อยจะไปอยู่ที่ไหนในโลกก็ได้ ไม่มีอะไรต้องกลัวแล้ว อินเดียมีคนหลายรูปแบบ โรงเรียนก็เป็นแบบนั้น จากประสบการณ์การเดินทางของเรา สิ่งเหล่านี้จะทำให้เราเห็นคุณค่าของคน เพราะบางทีการที่เราเข้าไปใช้ชีวิตกับคนหลายรูปแบบกับสถานการณ์ที่เลือกมากไม่ได้ เขาต้องปรับตัว”

เนื่องจากชีวิตพี่แพทผูกพันกับการเดินทาง คิดว่าการเดินทางให้อะไรกับพี่แพทบ้าง
“ก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามันให้อะไรกับเรานะ แต่มีคำหนึ่งที่เรารู้สึกเสมอ คืออิสรภาพ เหมือนเวลาเราไปไหนก็ตาม เป็นที่ที่เราไม่รู้จักใครเลย มีแต่คนแปลกหน้า เราชอบมากเลยนะ ชอบอยู่ในที่ที่ไม่รู้จักอะไรเลย บางทีเราไม่เสิร์ชหาข้อมูลอะไรเลย เพราะเราอยากไปแบบไม่รู้อะไรเลย อยากไปด้วยความเพียวไปหมด ไม่มีกรอบ ส่วนอิสรภาพที่เราพูดถึง เวลาอยู่กรุงเทพฯ กรุงเทพฯทุกวันนี้ก็แน่นมาก จะออกไปไหนที จะนัดเพื่อนอีกคนที่อีกฟากนี่เราต้องรักมากเลยนะถ้าจะไปหา เพราะต้องคำนวณเวลาหมด ทุกอย่างคือสิ่งที่ต้องคิด ทุกอย่างมันล็อคเราไว้หมด อิสรภาพที่เราพูดถึงคือเราไม่มีอะไรเลย ไม่มีข้อมูล ไม่มีเดดไลน์ นั่นล่ะอิสรภาพของเรา” 

แอบแย้มถึงหนังสือเล่มใหม่ ‘ซินญอริต้าในชุดผ้ากันเปื้อน’ หน่อยได้มั้ยคะ
“ทำไมต้องเม็กซิโก เราก็เหมือนคนอื่นที่ชอบฟรีด้า คาห์โล สำหรับเราฟรีด้าเหมือนเทอร์มิเนเตอร ์ เหมือนโรโบค็อบ ผู้หญิงบ้าอะไร เกิเมาเป็นโปลิโอ โดนเพื่อนล้อ คือความเจ็บปวดทั้งหมด ต้องใส่กระโปรงกรอมพื้น โตขึ้นมาวัยรุ่น นั่งรถราง ประสบอุบัติเหตุ รางรถไฟทิ่มทะลุมดลูก กระดูกเชิงกรานแตกหมด โตมาเจอคู่รักก็เป็นคเจ้าชู้มาก ขนาดเป็นชู้กับพี่สาวตัวเอง ความเจ็บปวดทั้งหมดนี้มาอยู่บนผืนผ้าใบ ลองคิดดูว่าคนเราถ้าต้องอยู่กับความเจ็บปวด วาดมันออกมา เราจะอยู่ได้แค่ไหน เราชื่นชมผู้หญิงที่ใช้ชีวิตของเธอยังไง แต่เวลาดูเราไม่ได้ดูแค่กระโปรง เสื้อผ้า ความสวยงามหรือดูแค่ผู้หญิงคนนี้เท่ แต่เราดูเอเลเมนต์รอบๆ ตัวของความเป็นเม็กซิกัน 

แล้วก็สงสัยว่าเม็กซิโกเป็นแบบนี้จริงรึเปล่า เราก็เสิร์ชข้อมูลนิดหน่อย แล้วก็ไป ปรากฏว่าไปแล้วตกใจมาก ไม่ได้มีแต่ฟรีด้านี่หน่า ถ้าเม็กซิโกสำหรับเราคือเสียงตะโกน คือคำว่าอ๊ายยยยแบบตื่นเต้น เพราะบนถนนเส้นหนึ่ง มีทั้งสีซึ่งแรงมาก ชมพูคือชมพูแจ๋น เหมือนคนที่นั่นคือชัดเจนมาก มีภาษาชนเผ่า มีเสียงและกลิ่นอาหาร และเม็กซิโกมีประวัติยาวนานตั้งแต่ชนเผ่าแอ็ชเท็ก แล้วเพิ่งมาเป็นอิสรภาพตั้งแต่ปี 1826 ประมาณ 198 ปี ก็เลยมีความผสมผสานทั้งซากวัตถุโบราณ มีแกลเลอรี่ที่ทันสมัยมาก มีชนเผ่าเดินตัดหน้าเราไป มีเสียงข้างหลังที่พยายามจะขายของต่างๆ 

อีกหนึ่งเมืองที่เราไปมาคือเมืองวาฮาก้า เมืองที่เป็นศูนย์รวมของศิลปิน มีศิลปินเยอะมากและศิลปินพร้อมมาต่อสู้เสมอถ้ารัฐบาลทำอะไรที่ไม่ชอบธรรมกับประชาชน หรือชนเผ่าที่รัฐบาลพยายามล้มล้างภาษาก็ลุกมาต่อสู้ สิ่งเหล่นี้คืแเอเลเมนต์ที่เราพูดถึง และเม็กซิโกก็มีเอเลเมนต์มากมายที่คิดว่าถ้าเอามาทำหนังสือก็น่าจะสนุกนะ ก็เลยเป็นที่มาของซินยอริต้าในชุดผ้ากันเปื้อนนี่ล่ะค่ะ”

หนังสือซินญอริต้าในชุดผ้ากันเปื้อน โดยพัทริกา ลิปตพัลลภ พิมพ์โดยสำนักพิมพ์มาลาฤดูร้อน ปกแข็ง ราคา 1,690 บาท ปกอ่อน ราคา 1,290 บาท (รวมค่าส่ง) สั่งจองได้ที่เพจ Summermala

ภาพ: พัทริกา ลิปตพัลลภ, อวิกา บัวพัฒนาและพลากร รัชนิพนธ์
วิดีโอ: อวิกา บัวพัฒนา และพลากร รัชนิพนธ์

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin
Share on pinterest

More to explore

แผลเก่า:Old Wound แผลเดิมในเรื่องเล่า ที่ยังเป็นแผลสดของพล็อตสังคมไทย

นิทรรศการ แผลเก่า / Old Wound นิทรรศการเดี่ยวโดย ประทีป สุธาทองไทย ศิลปินนักตั้งคำถาม ผู้ซ่อนบทสนทนาทางสังคมไว้ในงานเสมอ

“Yesterday I Was, Tomorrow I Will Be” นิทรรศการแห่งความฝันและความสำเร็จของ “Pomme Chan”

ก้าวสู่โลกที่เปี่ยมไปด้วยแพชชั่น ผ่านผลงานศิลปะตั้งแต่ชิ้นแรกที่น้อยคนจะได้เห็น สู่วันที่ประสบความสำเร็จในสายอาชีพร่วมระยะเวลา 20 ปี