fbpx

สรุปโดยย่อ Bangkok Design Week 2020 มีอะไรน่าดูบ้าง

ไฮไลต์งานเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ที่บอกได้เลยว่าเดินเท่าไหร่ก็ไม่หมด

เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ กลับมาตามนัดอีกครั้งแล้วตอนนี้ ระหว่างวันที่ 1-9 กุมภาพันธ์ 2563 โดยนอกจากโซนเจริญกรุงที่เป็นโซนหลักๆ แล้ว ปีนี้ยังได้มีการเพิ่มย่านสร้างสรรค์ขึ้นอีกหลายย่าน ทั้งในส่วนของสามย่าน ทองหล่อ-เอกมัย ไปจนถึงอารีย์-ประดิพัทธ์ เรียกว่าสามารถ hop กันได้สนุกสนานตลอดทั้ง 9 วัน ส่วนไฮไลต์นั้นจะมีอะไรบ้าง นี่คือบางส่วนที่เราสรุปมาให้เห็นภาพคร่าวๆ เผื่อใครยังไม่รู้ว่าจะไปไหนก่อนจะได้ตามไปดูได้ง่ายๆ 

ย่านเจริญกรุง

ศุลกสถาน เจริญกรุง 36

Hundred Years Between นิทรรศการภาพถ่ายโดยท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน ที่เดินตามรอยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ไปนอร์เวย์ โดยนำเสนอร่วมกับเนื้อหาบางส่วนของพระราชนิพนธ์ ‘ไกลบ้าน’ จัดแสดงในอาคารศุลกสถาน (โรงภาษีร้อยชักสาม) ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 

Warehouse 30

Dreamspace Experience by Salt and Pepper Studio, Sponsored by Lamitak นิทรรศการที่ว่าด้วยสถานที่ในจินตนาการและความฝันของมนุษย์ ที่สามารถมีอยู่ได้ในโลกแห่งความจริง ด้านในทำเป็นงานแบบมิกซ์มีเดียที่ชวนให้นึกถึงป่าอันอุดมสมบูรณ์ที่อาจมีอยู่จริงก็ได้ ณ มุมหนึ่งของโลก 

Design Plant ในปีนี้ จัดขึ้นในธีม “สะดวกซื้อ” เพื่อนำเสนอผลงานเชิงทดลองของสตูดิโอต่างๆ โดยเน้นงานคอมเมอร์เชียลที่จับต้องได้ และซื้อไปใช้ได้จริง

SWEAR (Like Thai Spirit) โดย Luck Maisalee และ ศรัณย์ เย็นปัญญา ซึ่งแน่นอนว่าขึ้นชื่อว่าศรันย์ เย็นปัญญา ย่อมมาพร้อมกับสีสันและความแสบสันต์ไม่เหมือนใคร คราวนี้เขาจับมือร่วมกับแบรนด์น้องใหม่ One More Thing จัดนิทรรศการที่เต็มไปด้วยลวดลายเจ็บๆ และสีสันสดใส แถมด้านบนยังมีร้านกระเป๋าแบบป็อป-อัพให้ได้ช็อปกันด้วย 

บ้านพักตำรวจน้ำ

ผลงาน Parametric: PHKA x ๑๐๐๐ MALAI สำหรับงานนี้ กลุ่มศิลปินดอกไม้อย่าง Phka เลือกพูดถึงคอนเซ็ปต์เรื่อง “ความเร็ว” และ “ความช้า” ในการใช้ชีวิตของมนุษย์ในโลกยุคปัจจุบันผ่านการเลือกใช้วัสดุแห่งยุคสมัยอย่างพลาสติก ผสมผสานกับวิถีอันประณีตและแช่มช้าของการร้อยมาลัย เกิดเป็นผลงานที่ช่วยชุบชีวิตพลาสติกที่ใช้แล้วทิ้งให้มีประโยชน์อีกครั้ง

D17/20 “Design in Southeast Asia” นิทรรศการที่จัดขึ้นโดยฝ่ายวัฒนธรรมของสถานทูตฝรั่งเศส โดยจัดแสดงผลงานที่เกิดจากโครงการสร้างสรรค์ร่วมกันระหว่างนักออกแบบฝรั่งเศสกับช่างฝีมือทั้งของไทยและประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

บ้านริมน้ำ ตลาดน้อย

โอชารมณ์ โดย Thannthai เป็นการออกแบบเชิงทดลองโดย Thaan Thai สตาร์ทอัพที่ต้องการทำให้อาหาร plant-based กลายเป็นเรื่องสนุกและอร่อย โดยนิทรรศการนี้นำเสนอเมนูจากนักสร้างสรรค์และดีไซเนอร์ ไม่แน่ใจ อนาคตของอาหาร plant-based อาจจะหน้าตาหรือคอนเซ็ปต์ประมาณนี้ก็ได้

TCDC

Everlasting Forest by GC by PTT Global Chemical PLC / Pavilion by Plural designs โอเอซิสขนาดย่อมที่ตั้งอยู่หน้าอาคารไปรษณีย์กลาง มุ่งแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติและสมดุลด้านการออกแบบผ่านการเลือกใช้วัสดุที่มีกระบวนการผลิตและการติดตั้งที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด

The Nestel Living in a Gallery

โฮสเทลเล็กๆ ที่เปิดบ้านภายใต้แนวคิด Color Palettes of Charoen Krung โดยมีผลงานของศิลปินและกลุ่มศิลปินให้ชมกันหลายงานเลยทีเดียว ทั้งงานอินสตอลเลชั่นของกลุ่มศิลปิน Keep_Your_Eyes_On ผลงาน 10eyes spider/แมงมุม 10 ตาของปัญจพล อัศวลาภนิรันดร คอลเลคชั่นเสื้อผ้าและรองเท้า Collector Project x Devant – Bangkok Edition โดยเอก ทองประเสริฐ ที่ทำจากวัสดุต่างๆ รวมถึงเครื่องรางของขลังจากหลากหลากหลายย่าน ผลงานชุด “มืดกับสว่าง” โดยศิลปิน ชลิต นาคพะวัน และงาน The Nest in the Nestel ที่ชวนผู้ชมงานมาถักทอเรื่องราวของเจริญกรุงด้วยกัน 

ATT 19

Survival Craft – from 1989 to 2020 นิทรรศการรวมผลงานของ สุวรรณ คงขุนเทียน โดย Issaraphap นิทรรศการรวบรวมผลงานการออกแบบตลอด 3 ทศวรรษของสุวรรณ คงขุนเทียน ศิลปินศิลปาธรสาขาการออกแบบสร้างสรรค์ ปีพ.ศ. 2551 ผู้ก่อตั้งแบรนด์ โยธกา แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ไทยที่โดดเด่นด้วยการริเริ่มนำผักตบชวามาใช้เป็นวัสดุ

AP presented “The Inconvenience Store” โดย ลิงขี่เสือ ดินเนอร์แบบเชฟส์เทเบิลที่ชวนมาครุ่นคิดถึงอาหารจากร้านสะดวกซื้อที่เราบริโภคกันอยู่ทุกวัน (แต่ไม่ได้นำอาหารจากร้านสะดวกซื้อมาปรุงแต่อย่างใด)  ที่หลายคนชื่นชอบเพราะ “สะดวกจะตาย” แต่ไลฟ์สไตล์แบบนี้มันดีจริงๆหรือ? 

บ้านเลขที่ 1

Haus of Everything ท่ามกลางกระแสที่ว่า “สิ่งพิมพ์กำลังจะตาย” นิทรรศการนี้แสดงให้เห็นว่าสิ่งพิมพ์ที่ดีก็ยังสร้างอิมแพ็คได้ โดยนำเสนอผลงานศิลปะจากเหล่าดีไซเนอร์และศิลปินไทยในบรรยากาศที่คนทำแมกกาซีนต้องบอกว่าคุ้นเคยสุดๆ แถมยังมีบริการพิมพ์แมกกาซีนของคุณเอง ที่คุณสามารถเลือกเลย์เอาต์ได้เองด้วย 

ตึกแถวห้อง 1527 สามย่าน

Phāla (ผล) Floral installation and tea experience by PHKA และ Work Tea People ถ้าจะมีใครจัดอันดับคำยอดฮิตในประเทศไทยในปีที่ผ่านมา เชื่อว่าหนึ่งในลำดับแรกๆ ต้องมีคำว่า “มลภาวะ” อยู่แน่ๆ กลุ่มศิลปิน Phka สะท้อนถึงมลภาวะที่อยู่รอบตัวเรา ที่เราอาจจะมองไม่เห็นหรือละเลย ผ่านงานอินสตอลเลชั่นที่ใช้น้ำเสียที่มนุษย์สร้างขึ้นในชีวิตประจำวัน อย่างน้ำจากการล้างจานหรือการทำอาหารมาหล่อเลี้ยงดอกไม้หลากชนิดที่เป็นตัวแทนของ “ชีวิต” เกิดเป็นปฏิกิริยาที่หลากหลาย ชวนให้คิดใคร่ครวญต่อไปถึงอนาคตที่รออยู่ โดยงานอินสตอลเลชั่นชิ้นนี้จับคู่กับชาที่เบลนด์พิเศษโดย Work Tea People ที่พูดถึงมลภาวะหรือสภาพอารมณ์ภายในจิตใจของตัวเอง 

Rawroom Bangkok

Balance Elements by L&E x Jay Plodpai  ศิลปินเล่นกับรูปทรงสามเหลี่ยม หนึ่งในสัญลักษณ์ที่สะท้อนถึงสมดุลแห่งชีวิต ผ่านทั้งกราฟิกและการจัดแสงที่ผสมผสานองค์ประกอบของธาตุทั้งสี่เข้าด้วยกัน พร้อมลดทอนความเยือกเย็นของห้องเปล่าสีขาวด้วยช่อดอกไม้ที่อยู่ตรงกลาง

MOONG Samyan

เมืองถ้า : Mixed Media Installation by MOONG – Samyan and friends “ถ้า” ห้ามสูบบุหรี่ … “ถ้า” ห้ามมีขยะสักชิ้นบนท้องถนน … หลายๆ ครั้ง การเปลี่ยนแปลงก็เริ่มต้นขึ้นจากคำว่า “ถ้า” นิทรรศการ “เมืองถ้า” ที่เกิดจากการรวมตัวกันของทั้งช่างภาพ นักจิตวิทยาและสถาปนิกนี้ชวนมาสำรวจพฤติกรรมต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในบริบทของเมืองใหญ่ และทดลองเปลี่ยนเงื่อนไขบางอย่าง แล้วมาดูกันว่าจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง 

Last Mile Challenge by Op-portunist และ PAGA Architects (อารีย์-ประดิพัทธ์) โปรเจ็กต์สนุกๆ ที่มุ่งประเด็นไปที่การเดินทางต่อสุดท้ายสู่จุดหมายปลายทางภายในย่านอารีย์-ประดิพัทธ์ โดยนำเสนอแนวทางการปรับปรุงสภาพแวดล้อมการเดินทางใหม่ๆ ที่อาจทำให้ชีวิตสนุกขึ้นอีกนิด โดยโครงการนี้ประกอบด้วยโครงการย่อย 3 โครงการ ได้แก่ “unknot”, “scoot scoot” และ “7 mins seat” 


Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin
Share on pinterest

More to explore

แผลเก่า:Old Wound แผลเดิมในเรื่องเล่า ที่ยังเป็นแผลสดของพล็อตสังคมไทย

นิทรรศการ แผลเก่า / Old Wound นิทรรศการเดี่ยวโดย ประทีป สุธาทองไทย ศิลปินนักตั้งคำถาม ผู้ซ่อนบทสนทนาทางสังคมไว้ในงานเสมอ

“Yesterday I Was, Tomorrow I Will Be” นิทรรศการแห่งความฝันและความสำเร็จของ “Pomme Chan”

ก้าวสู่โลกที่เปี่ยมไปด้วยแพชชั่น ผ่านผลงานศิลปะตั้งแต่ชิ้นแรกที่น้อยคนจะได้เห็น สู่วันที่ประสบความสำเร็จในสายอาชีพร่วมระยะเวลา 20 ปี