fbpx

“งานสถาปัตย์ต้องสนุกและเข้าใจง่าย” นิยามการออกแบบสไตล์ Bjarke Ingels Group

ผลงานสเกลเล็กที่สุด แต่เป็นผลงานศิลปะชิ้นแรกในประเทศไทยของบริษัทสถาปนิกสุดคูลจากเดนมาร์ก

ถึงวันนี้คงน่าจะพูดได้ว่าบริษัท Bjarke Ingels Group หรือ BIG คือหนึ่งในบริษัทสถาปนิกไฟแรงระดับโลกที่กำลังมาแรงและเป็นที่น่าจับตามองที่สุดแห่งหนึ่งในปัจจุบัน แม้จะไม่ใช่บริษัทสถาปนิกเก่าแก่ แต่บริษัทจากเดนมาร์กแห่งนี้ก็ได้ฝากผลงานไว้กับเมืองต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งล่าสุดนี้ เราได้พูดคุยกับไบรอัน หยาง (Brian Yang) สถาปนิกหนึ่งในพาร์ทเนอร์ของ BIG ที่รับหน้าที่ดูแล The Big Holiday โปรเจ็กต์แรกของ BIG ในไทย ที่เขาบอกว่าแม้จะเป็นโปรเจ็กต์ที่สเกลเล็กที่สุดเท่าที่บริษัทเคยทำมา แต่ก็น่าสนใจอยู่ไม่น้อย

คุณจะนิยามสไตล์การออกแบบของ BIG อย่างไร
“ในฐานะสถาปนิก เราอาจจะมีสิทธิ์พิเศษ แต่มันก็มาพร้อมกับความรับผิดชอบ นั่นคือการสร้างสรรค์พื้นที่ที่เราอยากจะอยู่ และเป็นพื้นที่ที่เราอยากจะส่งต่อให้กับคนรุ่นต่อไป แนวคิดนี้มีอยู่ในโปรเจ็กต์ทุกโปรเจ็กต์ของเราครับ เป็นการสร้างสรรค์พื้นที่ที่เหนือความคาดหมาย และมีความหมายสำหรับคนรุ่นนี้และคนรุ่นต่อๆไป”

โปรเจ็กต์ของ BIG หลากหลายมาก มีตั้งแต่ออกแบบห้างสรรพสินค้าไปจนถึงบ้านแพนด้า คุณมีวิธีการทำงานอย่างไร
“ในแต่ละโปรเจ็กต์ เราจะทำวิจัยเชิงลึกถึงความท้าทายที่มี แต่ความท้าทายมันก็เป็นโอกาสในการสร้างพื้นที่ทางสถาปัตยกรรมใหม่ๆ เหมือนกัน อย่างหนึ่งในโปรเจ็กต์ล่าสุดของเราคือ CopenHill ที่เป็นการเปลี่ยนโรงงานเผาขยะเพื่อผลิตพลังงานทางเลือกให้กลายเป็นพื้นที่สันทนาการสำหรับชุมชน โดยในโครงการนี้ เราทำเป็นลานสกีลอยฟ้า พร้อมพื้นผิวหิมะจำลองที่ทำให้เล่นสกีได้ทั้งปี แทนที่จะต้องไปเล่นที่สวีเดน เพราะเดนมาร์กเป็นประเทศที่ตั้งอยู่บนที่ราบ นอกจากนี้เรายังสร้างผนังสำหรับปีนเขาที่สูงที่สุดในโลกที่นี่ด้วยครับ โปรเจ็กต์นี้ใช้เวลา 9 ปีกว่าจะเสร็จ”

“ผมว่าพลังของสถาปัตยกรรมน่าจะอยู่ตรงนี้ มันเป็นพลังในการสร้างพื้นที่ที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง มันไม่ใช่แค่การออกแบบตึกสวยๆ แต่งานสถาปัตยกรรมเป็นเรื่องของการคืนสิ่งดีๆ ให้ชุมชนที่อยู่รอบๆ คุณด้วย”

คุณช่วยเล่าให้ฟังถึงแคมเปญ The Big Holiday ที่เซ็นทรัล เอ็มบาสซี่หน่อยได้ไหม
“แม้จะเป็นโปรเจ็กต์ที่สเกลเล็กที่สุด แต่เราก็ตื่นเต้นมาก เพราะเครือเซ็นทรัลก็เป็นเจ้าของห้างสรรพสินค้า Illum ซึ่งเป็นห้างที่เก่าแก่ที่สุดในโคเปนเฮเกน ความสนุกของโปรเจ็กต์นี้อยู่ที่การทดลองเปลี่ยนรูปทรงทางสถาปัตยกรรมมาอยู่ในสเกลของเฟอร์นิเจอร์ เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ๆในการมาห้างสรรพสินค้า และยังเชื่อมต่อตัวห้างกับเมืองผ่านริบบิ้นที่ยาวที่สุดในโลกด้วยครับ ในห้างก็จะมีงานอินสตอลเลชั่นในรูปทรงต่างๆ กระจัดกระจายอยู่ แต่ละงานก็จะมีหน้าที่แตกต่างกันออกไป และความน่าสนใจอีกอย่างน่าจะอยู่ที่การที่งานเหล่านี้เปลี่ยนไปตลอดระยะเวลาที่ตั้งอยู่”


ดูเหมือนงานของ BIG จะเน้นเรื่องชุมชนอยู่มาก
“อาจจะเป็นเพราะในเดนมาร์ก เรามีระบบสวัสดิการสังคม และหนึ่งในคำสำคัญของเดนมาร์กคือ ‘การเป็นเจ้าของร่วม’ (collective ownership) ซึ่งแนวคิดนี้ก็ส่งผลต่อการทำงานของเรามากอยู่ครับ เราไม่ได้ออกแบบให้สถาปนิกดู แต่ออกแบบให้ชาวเมืองด้วย งานของเราจึงเป็นมากกว่าการออกแบบ facade หรือตึก ซึ่งในประเทศอื่นๆ ก็ดูจะสนใจแนวคิดนี้มากขึ้นเหมือนกัน อาจจะเป็นเพราะทุกวันนี้ เมืองใหญ่ก็ขยายตัวมากขึ้น หนาแน่นและแออัดมากขึ้น เดเวลอปเปอร์ในประเทศต่างๆ ก็เริ่มให้ความสำคัญกับพื้นที่ทางสังคมมากขึ้น พวกเขาอยากจะสร้างชุมชนที่มีชีวิต มากกว่าตึกที่เป็นกล่องให้ซุกหัวนอนเท่านั้น”

คุณคิดว่าสถาปัตยกรรมแห่งอนาคตต้องเป็นอย่างไร
“สถาปนิกมีหน้าที่สร้างสรรค์เพื่อคนรุ่นต่อไป และหนึ่งในประเด็นที่สำคัญคือความยั่งยืน ทำอย่างไรเราถึงจะสร้างเมืองที่อยู่อย่างยั่งยืนได้? มันไม่ใช่แค่เรื่องสิ่งแวดล้อมนะ แต่เป็นเรื่องความยั่งยืนทางสังคม การเงินและเศรษฐกิจด้วย BIG อาจจะไม่ใช่บริษัทสถาปนิกเก่าแก่ แต่เราคิดถึงผลระยะยาว งานออกแบบไม่ใช่แค่เรื่องการทำเรนเดอร์ภายใน 8-12 สัปดาห์แรก แต่เป็นการทำตามสิ่งที่นำเสนอไว้ให้เกิดผลในระยะยาว และต้องคืนสิ่งดีๆ สู่สังคมครับ”

เนื่องจากโปรเจ็กต์ที่เซ็นทรัล เอ็มบาสซี่เป็นเรื่องรีเทล อยากรู้ว่า ‘พื้นที่รีเทลที่ดี’ ในมุมมองของคุณเป็นแบบไหน?
“ผมว่าธุรกิจรีเทลนั้นต้องเจอกับความท้าทายมากขึ้นนะ และก็ต้องพยายามปรับตัวให้ตัวเองมีความหมายมากยิ่งขึ้น เพราะตอนนี้วงการรีเทลก็ดูจะย้ายไปอยู่ที่ออนไลน์ซะส่วนใหญ่ ผมคิดว่าในตอนนี้ รีเทลต้องไม่มองแค่การค้าขาย แต่มองไปถึงการนำเสนอประสบการณ์ที่จับต้องได้จริงและมีคุณค่า ผู้บริหารห้างสรรพสินค้าในยุโรปท่านหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่าถ้าอยากให้ห้างประสบความสำเร็จ ห้างก็ต้องเป็นเหมือนนายกเทศมนตรีของเมือง ต้องเข้าใจวัฒนธรรม เข้าใจวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ เข้าใจว่าหัวใจของเมืองอยู่ตรงไหน เพราะทุกวันนี้มันไม่ใช่เรื่องของการช็อปปิ้งอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของประสบการณ์ชีวิตและการรู้สึกเชื่อมโยงกับเมืองด้วย”

คุณมาร่วมงานกับ BIG ได้อย่างไร
“ตอนที่เราเรียนสถาปัตย์ฯ ทุกอย่างดูวิชาการและเน้นทฤษฎีไปซะหมด ตอนนั้นยังไม่มี BIG แต่ผมได้มีโอกาสฝึกงานที่บริษัท PLOT ซึ่งเป็นบริษัทที่ยาร์เก (Bjarke) ร่วมก่อตั้งก่อนที่จะก่อตั้ง BIG ซึ่งผมเองก็ประทับใจมากที่บริษัทนี้สื่อสารสิ่งที่ตัวเองทำอย่างจริงใจ แสดงให้เห็นไปเลยว่าตัวเองต้องการจะทำอะไร พวกเขาทำให้สถาปัตยกรรมเป็นเรื่องง่ายและจริงใจมาก แต่ต่อมายาร์เกก็ออกมา ผมเจอกับเขาโดยบังเอิญ ตอนนั้นผมก็บอกว่าอยากทำงานที่ PLOT มากแต่ว่าวงแตกแล้ว เขาก็เลยชวนผมมาทำงานที่ BIG แต่คอนเซ็ปต์เดิมๆ ก็ยังคงอยู่ ในวงการนี้ สถาปนิกบางคนอาจพยายามทำงานให้ดูเป็นนามธรรม ซึ่งคุณต้องเข้าใจจริงๆ คุณถึงจะมีส่วนร่วมได้ แต่ BIG สนใจทำงานสถาปัตยกรรมที่คนทั่วไปเข้าถึงได้ แม้ว่าคุณอาจจะไม่เข้าใจทฤษฎีสถาปัตย์เลย แต่คุณก็ยังเข้าใจและใช้งานพื้นที่ได้ และเข้าใจว่าทำไมมันถึงออกมาในรูปแบบนี้ครับ” 

ผลงาน Architectural Park ในแคมเปญ The BIG Holiday ของ Bjarke Ingels Group ที่ประกอบด้วยผลงานริบบิ้นที่ยาวที่สุดในโลก (5,000 เมตร) ที่เปลี่ยนรูปร่างเป็นผลงานต่างๆ จะอยู่ให้ได้ร่วมสนุก ที่เซ็นทรัล เอ็มบาสซี่ ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2563

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin
Share on pinterest

More to explore

แผลเก่า:Old Wound แผลเดิมในเรื่องเล่า ที่ยังเป็นแผลสดของพล็อตสังคมไทย

นิทรรศการ แผลเก่า / Old Wound นิทรรศการเดี่ยวโดย ประทีป สุธาทองไทย ศิลปินนักตั้งคำถาม ผู้ซ่อนบทสนทนาทางสังคมไว้ในงานเสมอ

“Yesterday I Was, Tomorrow I Will Be” นิทรรศการแห่งความฝันและความสำเร็จของ “Pomme Chan”

ก้าวสู่โลกที่เปี่ยมไปด้วยแพชชั่น ผ่านผลงานศิลปะตั้งแต่ชิ้นแรกที่น้อยคนจะได้เห็น สู่วันที่ประสบความสำเร็จในสายอาชีพร่วมระยะเวลา 20 ปี