fbpx

ถ่ายรูปงานศิลปะยังไงให้ไม่โดนฟ้อง? ว่าด้วยเรื่องลิขสิทธิ์ในงานศิลปะในวันที่โลกไร้พรมแดน

ศิลปิน ลิขสิทธิ์ และการปรับตัวของสถาบันด้านศิลปะในยุคที่ทุกอย่าง free download

สำหรับคนที่เดินเข้าออกแกลเลอรี่หรือสถาบันทางศิลปะบ่อย ๆ คงเป็นเรื่องคุ้นชินแล้วที่ก่อนถ่ายภาพงานศิลปะใด ๆ ก็จะมองดูป้ายที่อยู่ใกล้ ๆ ก่อน ว่าสามารถถ่ายภาพได้หรือไม่ เพราะแม้ว่าผลงานจะโดนใจเราแค่ไหนก็ตาม ก็เป็นที่รับรู้กันโดยนัยว่าผลงานสร้างสรรค์ทุกประเภท เป็นทรัพย์สินทางปัญญาอย่างหนึ่งของผู้สร้างสรรค์ที่ผู้ชมควรให้ความเคารพ

เมื่อโลกถูกแทรกแซงจากความสะดวกสบายในยุคเทคโนโลยีดิจิตอล ทุกอุตสาหกรรมย่อมต้องปรับตัวตาม ซึ่งนั่นหมายรวมถึง ‘โลกศิลปะ’ ด้วย จากเดิมที่ผลงานระดับโลกถูกสงวนไว้ให้ตาดูเท่านั้น (ห้ามถ่ายภาพ) เนื่องด้วยข้อกฏหมายด้านลิขสิทธิ์ ปัจจุบัน สถาบันศิลปะระดับโลกหลายแห่งเร่ิมปรับนโยบายใหม่ โดยอนุญาตให้สามารถถ่ายภาพได้ในบางโซน ซึ่งแน่นอนว่านโยบายนี้สามารถดึงดูดคนให้เข้ามาในพื้นที่ได้มากขึ้น แต่สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือการทำให้พื้นที่ทางศิลปะเปลี่ยนหน้าที่กลายเป็นอย่างอื่น… ไม่ใช่เป็นแค่สตูดิโอถ่ายภาพเท่านั้น แต่ไปไกลถึงขนาดเป็นโลเคชั่นสำหรับถ่ายภาพไทอินขายสินค้าโดยเอาผลงานศิลปินทั้งของไทยและระดับโลกเป็นฉากหลัง

แล้วสถาบันทางศิลปะในไทยเองมองเรื่องนี้อย่างไรบ้าง Kooper ได้คุยกับ คุณสืบแสง แสงวชิระภิบาล หัวหน้าฝ่ายนิทรรศการ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) คุณพอใจ อัครธนกุล หนึ่งในทีมฝ่ายนิทรรศการของบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2020 (BAB2020) และคุณคิด-คณชัย เบญจรงคกุล ผู้บริหารของพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย (MOCA Bangkok) ถึงประเด็นดังกล่าว

หน้าที่ของลิขสิทธิ์

ก่อนที่จะไปถึงเรื่องลิขสิทธิ์ของผลงานศิลปะ สิ่งสำคัญคือการเข้าใจหน้าที่ของลิขสิทธิ์ก่อน “ถ้าเป็นระดับสากล กฎหมายลิขสิทธิ์ถือกำเนิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โดยใจความหลักของกฎหมายลิขสิทธิ์ คือการคุ้มครองสิทธิ ทรัพย์สินทางปัญญาของผู้สร้างสรรค์ ซึ่งทรัพย์สินที่ว่าก็มีตั้งแต่หนังสือ สิ่งพิมพ์ เทปบันทึก วิทยุ ภาพยนตร์ ไปจนถึงงานศิลปะ วรรณกรรมและละครเวที กฎหมายลิขสิทธิ์มีขึ้นเพื่อคุ้มครองสิทธิ์ทางปัญญาที่บุคคลสร้างสรรค์ขึ้น และป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดหรือการสร้างผลประโยชน์จากสิทธิทางปัญญาของผู้อื่นนั่นเอง ถึงมีข้อกำหนดว่าห้ามทำซ้ำหรือดัดแปลง หรือมีส่วนช่วยส่งเสริมให้เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์” คุณสืบแสงอธิบาย 

ตามกฎหมายแล้ว ลิขสิทธิ์จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติเมื่อผลงานถูกสร้างสรรค์ขึ้น โดยผู้สร้างสรรค์ถือเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ แต่ถ้าผู้สร้างสรรค์เสียชีวิต ลิขสิทธิ์ก็จะตกเป็นของทายาทตามกฎหมาย นับจากวันที่ผู้สร้างสรรค์เสียชีวิตไป คุ้มครองออกไป 50 ปี ปัจจุบันนับว่าน้อยมากที่ศิลปินจะขายลิขสิทธิ์ให้กับผู้อื่น แม้แต่นักสะสมผลงานศิลปะก็ไม่ได้มีลิขสิทธิ์ในผลงานศิลปะ กฎหมายลิขสิทธิ์ในแต่ละประเทศมีรายละเอียดแตกต่างกัน สำหรับในประเทศไทยจะเป็นพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 ซึ่งต่อมาได้แก้ไขเป็นพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537

“แต่แม้กฎหมายลิขสิทธิ์จะครอบคลุมถึงงานศิลปะ ในไทยเองนั้น เรื่องลิขสิทธิ์มักจะไปเข้มข้นในวงการภาพยนตร์และดนตรีเป็นส่วนใหญ่ เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดรายได้มหาศาล ส่วนในวงการศิลปะร่วมสมัยไทย อาจยังไม่มีคดีตัวอย่างมากเท่าไหร่”

กรณีที่โดดเด่นที่สุดในไทยที่เกี่ยวกับลิขสิทธิ์ของงานสร้างสรรค์น่าจะเป็นกรณีของ “โดราเอม่อน” เมื่อสองสามปีก่อน ซึ่งเกี่ยวกันกับนิยามของ “งานศิลปกรรม” และ “งานศิลปประยุกต์” รวมถึง “เครื่องหมายการค้า” ส่วนในวงการร่วมสมัยนั้น คุณสืบแสงกล่าวว่า “อาจเป็นเพราะมันไม่ได้มีมูลค่าสูงหากเทียบกับวงการอื่น ๆ  ขึ้นศาลไปก็อาจจะไม่คุ้มค่าเสียเวลาหรือค่าทนาย หรืออาจจะเป็นเพราะศิลปะมีลักษณะหนึ่งเดียว (authenticity) ถ้าจะดูก็ต้องมาดูที่นี่ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะการรับรู้การเสพแตกต่างกัน และลักษณะการปลอมแปลงก็ไม่ได้ฉาบฉวย ในวงการศิลปะ เรื่องลิขสิทธิ์ปรากฏลักษณะการประนีประนอมโดยพิจารณาที่เจตนาเสียมาก” 

แล้วแบบไหนถึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์งานศิลปะ ถ้าถ่ายภาพแล้วติดผลงานบางส่วนถือว่าละเมิดไหม คุณสืบแสงกล่าวว่าตามข้อกฎหมายแล้วก็ต้องดูที่เจตนา “ถ้าจะถ่ายภาพเก็บไว้ดูเองเป็นความทรงจำก็คงไม่เป็นไร แต่ถ้าใช้ในเชิงพาณิชย์ที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ก็ผิด ถ้าจะยืมผลงานไปจัดแสดงนิทรรศการ ก็ขออนุญาตศิลปินหรือนักสะสม ที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ และผู้ถือกรรมสิทธิ์ ถ้านำไปทำซ้ำ ดัดแปลง ผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ ก็ต้องขอศิลปินเจ้าของลิขสิทธิ์ ถ้าศิลปินเสียชีวิตไปแล้วก็ต้องขอทายาท อันนี้คือเส้นตรงตามข้อกฎหมาย ที่หอศิลปกรุงเทพ ฯ (BACC) เวลาจัดแสดงก็จะมีสัญญายืมเรียบร้อย หนึ่งในข้อสัญญา คือการขออนุญาตเผยแพร่ในช่องทางประชาสัมพันธ์ของ BACC และในมิติทางการศึกษา เป็นต้น ในทางตรงกันข้าม กรณีผลงานดังกล่าวถูกจัดแสดงที่หอศิลปกรุงเทพ ฯ BACC ผู้ที่ต้องการนำไปเผยแพร่ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์อื่น ๆ อาทิ วารวิชาการ หนังสือ หรือบทความ ต้องได้รับการอนุญาตโดยตรงจากเจ้าของผลงานหรือเจ้าของลิขสิทธิ์เท่านั้น ซึ่งส่วนนี้มีผู้เข้าใจผิดหลายกรณี ทางหอศิลปกรุงเทพ ฯ ไม่มีสิทธิ์ในการอนุญาตให้นำภาพผลงานไปใช้นอกจากที่ได้ทำสัญญาไว้” 

การจัดการกับลิขสิทธิ์ ในเทศกาลศิลปะระดับนานาชาติ

เทศกาลศิลปะร่วมสมัยระดับนานาชาติอย่าง BAB 2020 ก็มีการดูแลเรื่องลิขสิทธิ์อย่างเข้มงวดเช่นกัน “ในมุมมองของ BAB เอง เวลาทำสัญญายืมงานมาจัดแสดง เราจะพยายามเจรจาหาวิธีให้สามารถเผยแพร่ผลงานสู่สาธารณะให้ได้มากที่สุดอยู่แล้วค่ะ แต่ศิลปินแต่ละคนก็จะมีเงื่อนไขแตกต่างกันไปในเรื่องของการใช้ภาพหรือลิขสิทธิ์ เพราะงานของเขาต้องเกี่ยวกับคนหลายส่วน บางทีก็ทำงานกับช่างภาพด้วย เบื้องหลังเราก็ไม่รู้ว่าเขาต้องพัวพันอีกกี่ปาร์ตี้ในการสร้างงานขึ้นมาหนึ่งชิ้น หรือศิลปินบางคนก็จะกังวลเรื่องการเผยแพร่ในอินเตอร์เน็ตเพราะผลงานของเขาใช้สื่อที่เผยแพร่ ทำซ้ำง่าย  นอกจากนี้ ศิลปินบางคนก็จะห่วงเรื่องภาพลักษณ์และคุณภาพของงานตัวเอง อยากให้ภาพที่ปรากฏในสื่อเป็นภาพที่เขาอนุมัติแล้วเท่านั้น หรือมั่นใจว่าภาพที่ออกไปสื่อสารในแบบที่เขาต้องการ เนื้อหาของงานไม่ถูกบิดเบือน และตรงกับสิ่งที่เขาคิดไว้” คุณพอใจ จากทีมงาน BAB 2020 อธิบาย

คุณพอใจกล่าวว่าสำหรับ BAB 2020 อาจจะง่ายหน่อยตรงที่งาน BAB ยินดีให้ผู้ชมถ่ายภาพกับงานศิลปะอยู่แล้ว ถึงขนาดมีแคมเปญประกวดถ่ายภาพ Shoot & Share เลยด้วยซ้ำ “ในฐานะคนที่ยืมผลงานมาแสดง เราก็อยากทำตามกฎและทำให้ถูกต้องกับศิลปิน แต่ก็ไม่อยากห้ามคนดูจนไม่ได้ทำในสิ่งที่ตั้งใจมาทำเลย หรือเข้ามาแล้วมีกฎเต็มไปหมด” คุณพอใจกล่าวว่าคงต้องยอมรับว่าการถ่ายภาพงานศิลปะ หรือการถ่ายภาพคู่กับงานศิลปะ กลายเป็นวิถีของการเสพงานศิลปะยุคใหม่ไปแล้ว ซึ่งสถาบันและองค์กรทางศิลปะทั่วโลกก็ต้องปรับตัว

“พอใจมองว่าการถ่ายภาพอาจเป็นวิธีหนึ่งในการที่คนจะ engage กับงานศิลปะ ถ้าเขาสามารถใช้วิธีนี้เรียนรู้หรือเพิ่มความสนใจเกี่ยวกับศิลปะได้ก็ดี แต่บางทีมันก็มีเบื้องหลังที่ทำให้เราไม่ได้ทำทุกอย่างอย่างที่ใจคิดได้ 100% แต่จริงๆ ถ้าจะทำทุกอย่างให้ถูกวิธีก็ทำได้ และมันก็มีหลายทาง”

เมื่อศิลปะคือเทรนด์ใหม่ของสังคม

คุณคณชัย เบญจรงคกุล จาก MOCA เองก็มีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกัน “มิวเซียมเราเปิดทำการมาปีนี้เข้าปีที่ 9 แล้ว เราได้เห็นพฤติกรรมของ museum-goers หรือ ผู้ที่มาเดินพิพิธภัณฑ์ที่เปลี่ยนไป ที่สังเกตเห็นได้ชัดเลย คือพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะของวัยรุ่นไทยที่ชอบการโพสต์และบันทึกภาพในที่ต่าง ๆที่พวกเขาไป คนดูต้องการเป็นส่วนร่วมของงานศิลปะมากกว่าแค่มาดูด้วยตาเปล่า พิพิธภัณฑ์ฯ ของเราจึงอนุญาตให้ถ่ายรูปได้เกือบทุกจุดอยู่แล้ว แค่ไม่ให้ใช้แฟลช เนื่องจากแสงจากแฟลชเป็นอันตรายต่อผลงานศิลปะ แต่เดิมมีแค่ห้อง Richard Green ที่เราไม่ให้อนุญาตให้ถ่ายภาพเลยจากหลายเหตุผล หนึ่งในนั้นคือเรากลัวการที่คนจะถ่ายรูปแล้วเอาไปทำการดัดแปลงหรือทำออกมาในเชิงพาณิชย์ แต่เราก็มานั่งคิดดูว่าเรากำลังตัดช่องทางการประชาสัมพันธ์พิพิธภัณฑ์ฯ ที่ดีอีกช่องทางใหญ่ออกไป  เมื่อไม่นานมานี้ เราจึงตัดสินใจเปิดให้ถ่ายรูปในห้อง Richard Green ได้ ผมคิดว่าถ้าคนเค้าอยากจะนำรูปไปดัดแปลงเราก็คงห้ามไม่ได้ แต่ถ้าเจอเราก็จะดำเนินคดีตามกฏหมายต่อไป ท้ายที่สุดแล้วของจริงก็คือของจริง ของปลอมก็คือของปลอมในความคิดผมครับ” 

นอกจากจะอนุญาตให้ถ่ายภาพได้แล้ว ทาง MOCA ได้มีการเผยแพร่ผลงานผ่านช่องทางดิจิตอลด้วย “เรามีพิพิธภัณฑ์เสมือนที่ MOCA BANGKOK ร่วมมือกับ Google ใน Google Arts &Culture Project โปรเจ็กต์นี้เกี่ยวข้องกับการแปลงผลงานในคอลเลคชันให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล เพื่อเผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ แม้เราจะอยู่ในฐานะพิพิธภัณฑ์ที่เป็นเจ้าของผลงานศิลปะที่นำมาจัดแสดง แต่เราก็ให้ความสำคัญกับเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญา โดยฝ่ายกฎหมายของเราดูแลเรื่องการขออนุญาตเผยกับศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงาน หรือเจ้าของลิขสิทธิ์ผลงานที่นำมาเผยแพร่ไว้ทั้งหมดครับ

“ผมว่ามันหลีกเลี่ยงไม่ได้หรอก และที่สำคัญ คือยุคนี้ Google ผลงานระดับโลก ทำได้ง่ายมากและมันก็มีให้ดูออนไลน์เกือบหมดแล้วครับ เช่นรูป Mona Lisa ใครจะพิมพ์ออกมาจากอินเตอร์เน็ตก็ทำได้ แต่มันก็ไม่เหมือนกับไปดูผลงานจริงในสถานที่จริงอยู่ดี งานศิลปะในปัจจุบันถึงมีหลากหลายแขนงมาก เช่นงาน Installation art หรือ Performance art ซึ่งยิ่งทำให้ลิขสิทธิ์ของงานอยู่ที่ตัวงานจริง ๆ และไม่สามารถลอกเลียนแบบได้”

คุณคณชัยบอกว่าที่ MOCA มีการปรับนโยบายเหล่านี้ คงเพราะผู้สร้างสรรค์ผลงานและเจ้าของลิขสิทธิ์ผลงานเองก็เข้าใจพฤติกรรมของผู้มาเข้าชมที่ต้องการถ่ายภาพและอนุญาต “แต่พวกอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ  เช่น ขาตั้งกล้อง ไฟ หรือไม้เซลฟี่ เรายังคงไม่อนุญาตให้ใช้เหมือนเดิม เหตุผลหลักคือเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุจากการใช้งานแล้วทำให้ผลงานเสียหาย และไม่ให้เป็นการรบกวนผู้เข้าชมท่านอื่นๆ ครับ” เขาเสริมอีกว่าในฐานะคนที่ทำงานอยู่ในแวดวงศิลปะ ท้ายที่สุดแล้ว เป้าหมายที่ต้องการก็คือการทำให้ศิลปะเป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ และมีระบบนิเวศที่แข็งแรง “เราอยากสร้าง Community สำหรับคนรักศิลปะหรืออยากจะได้รับแรงบันดาลใจก็ตาม ปีที่ผ่านมาเราก็ได้จัดกิจกรรมหลายหลากมากขึ้น ทั้งเวิร์คช็อปออนไลน์  รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ อย่างโยคะในพิพิธภัณฑ์ หรือแม้กระทั่งสร้างแรมป์สเก็ตบอร์ดในนิทรรศการ ทั้งหมดนี้เป็นความพยายามของเราที่จะเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจหลากหลาย ปรากฏการณ์นี้ผมหวังว่ามันจะทำให้ภาพลักษณ์เดิม ๆ ที่อาจดูเข้าถึงยากของพิพิธภัณฑ์ฯ เปลี่ยนไปครับ” 

อนาคตของสถาบันศิลปะ

สำหรับหอศิลปกรุงเทพ ฯ (BACC) เป้าหมายต่อไปก็คือ การหาจุดสมดุล ระหว่างกระแสนิยมของโลกที่เปลี่ยนไปกับการรักษาคุณค่าสินทรัพย์ทางปัญญาของนักสร้างสรรค์ คุณสืบแสงกล่าวสรุปไว้ว่า “ถ้ามองอีกมุม เรื่องลิขสิทธิ์อาจจะไม่มีอยู่จริงด้วยซ้ำ เพราะทุกอย่างมัน free download era จริง ๆ แล้ว มันก็คล้ายกับเรื่องสิทธิส่วนบุคคล (privacy) แหละครับ ถ้าอยู่ในยุโรป คุณถ่ายรูปเด็กสามขวบลงโซเชียลมีเดียก็ผิดแล้ว มันเรื่องเดียวกันเลยนะ คุณไป record อะไรมา คุณไปละเมิดเขาอยู่รึเปล่าคุณไปทำให้เขาเสียหายหรือนำมาใช้เชิงพาณิชย์หรือเปล่า ผมว่าท้ายที่สุดแล้วมันก็คือเรื่องของความเคารพสิทธิผู้อื่นครับ เคารพผู้สร้างสรรค์ เคารพผู้จัด เคารพผู้ชมท่านอื่น ๆ ด้วยกัน ทางหอศิลป์เองก็กำลังหาจุดสมดุลดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง หอศิลปกรุงเทพ ฯ (BACC) ดีใจที่มีปริมาณผู้ชมเข้ามาในพื้นที่มากขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่ง ปี พ.ศ. 2562 จำนวนหนึ่งล้านแปดคน แต่จะทำอย่างไรให้คนที่มาเพื่อการถ่ายภาพ จะไม่รบกวนสิทธิของผู้อื่น ที่ตั้งใจมาชมผลงานศิลปะ ก็ต้องหาทางออกให้เจอ หอศิลปกรุงเทพ ฯ (BACC) พยายามอย่างที่สุดที่จะให้อนุญาตถ่ายภาพได้ในส่วนต่าง ๆ ของอาคาร ถ้าสแนปเป็นความทรงจำ ง่าย ๆ เร็ว ๆ คงไม่มีปัญหา แต่ถ้ามีการเชื่อมโยงให้เห็นเจตนาเชิงพาณิชย์ก็ต้องดำเนินการกันต่อไป”

“ผมมองว่าเรื่องลิขสิทธิ์ในผลงานศิลปะของประเทศไทยเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายค่อย ๆ เดินไปด้วยกัน และวันหนึ่งเราคงเดินไปถึงจุดที่มีแสงสว่างที่ดี แต่กว่าจะถึงจุดนั้น สิ่งที่เราควรกระตุ้นคือ ความจริงที่ว่าทุกอย่างในโลกมีสิทธิ์ของตนเอง แม้แต่ธรรมชาติก็มีสิทธิ์ของตนเองครับ ศิลปะก็เหมือนกัน ไม่ต้องมองว่าเป็นอะไรที่ล้ำเลิศ อยากให้มองว่าศิลปะเป็นสิ่งสามัญอย่างหนึ่ง ก็เหมือนสิ่งอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของผู้สร้างสรรค์ เมื่อไรก็ตามที่จะนำมาใช้ ก็ต้องใช้ให้ถูก จะมาขโมยไม่ได้ เมื่อไรก็ตามที่เข้าใจว่าละเมิดมิได้ ถ้าจะนำไปใช้ก็ควรเคารพและให้เกียรติ อันนี้เป็นประชาธิปไตยขั้นพื้นฐานครับ” คุณสืบแสงสรุป

ภาพ: Jukkrit H. for BACC และ MOCA Bangkok

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin
Share on pinterest

More to explore

แผลเก่า:Old Wound แผลเดิมในเรื่องเล่า ที่ยังเป็นแผลสดของพล็อตสังคมไทย

นิทรรศการ แผลเก่า / Old Wound นิทรรศการเดี่ยวโดย ประทีป สุธาทองไทย ศิลปินนักตั้งคำถาม ผู้ซ่อนบทสนทนาทางสังคมไว้ในงานเสมอ

“Yesterday I Was, Tomorrow I Will Be” นิทรรศการแห่งความฝันและความสำเร็จของ “Pomme Chan”

ก้าวสู่โลกที่เปี่ยมไปด้วยแพชชั่น ผ่านผลงานศิลปะตั้งแต่ชิ้นแรกที่น้อยคนจะได้เห็น สู่วันที่ประสบความสำเร็จในสายอาชีพร่วมระยะเวลา 20 ปี