fbpx

“a piece(s) of paper” จากกระดาษสู่แบรนด์ไลฟ์สไตล์ไทยหัวใจอีโค

เราได้ยินคำว่า Eco หรือการรณรงค์รักษ์โลก ประหยัดไฟ รักษาสิ่งแวดล้อมกันมานับครั้งไม่ถ้วน บางครั้งเราก็ทำตามบ้างปิดไฟดวงที่ไม่ได้ใช้ แต่หลายๆ ครั้งเราก็ทำเป็นหูทวนลม ไม่ใส่ใจและยังคงทำในสิ่งที่เคยชิน ดึงกระดาษทิชชู่ออกมาใช้มากเกินไป ใช้กระดาษหน้าเดียว แต่ก็มีอีกหลายคนที่พยายามจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง และพยายามบอกต่อให้คนอื่นได้รู้ว่า Eco นั้นคือสิ่งที่ใกล้ตัวเรามาก และทำได้ไม่ยาก

หากพูดถึงแบรนด์กระดาษที่มีคาแรคเตอร์ดีไซน์น่ารักๆ ของคนไทย อันดับต้นๆ ที่เรานึกถึง คงหนีไม่พ้น a piece(s) of paper สินค้า Eco-friendly ที่ประกอบไปด้วยโปรดักต์มากมาย ตั้งแต่ กระดาษห่อของขวัญ สมุดโน้ต สติ๊กเกอร์  ไปจนกระทั่งกระเป๋า ด้วยลวดลายกราฟิก งาน Illustration สุดน่ารัก โดยมี แก๊ป – ธนเวทย์ สิริวัฒน์ธนกุล เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งและผู้อยู่เบื้องหลังผลงานเหล่านี้ ด้วยแนวคิดที่อยากให้โปรดักต์สามารถทำให้ผู้ใช้เกิดประโยชน์สูงสุด และใช้งานได้อย่างคุ้มค่า จึงต้องมองให้ไกลกว่าแค่การเป็น Eco Product แต่ต้องทำให้ผู้บริโภครู้สึกอยากเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมบางอย่างของตัวเอง วันนี้ Kooper อยากให้คุณอ่านบทสัมภาษณ์นี้ให้จบ คุณอาจจะอยากลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงนิสัยเคยชินของตัวเองก็ได้นะ

กระดาษ คือ จุดเริ่มต้นที่สำคัญของ a piece(s) of paper

เริ่มต้นคือเราอยากทำ Graphic on Product เพราะว่าเราจบมาทางกราฟิก จากนั้นเราก็มาคิดต่อว่า Graphic on Product มันจะเป็นอะไรได้บ้าง ก็เลยคุยกันกับแฟน (น้ำ – รัตนิน สุพฤฒิพานิชย์) พอดีช่วงนั้นเขาอิ่มตัวเหมือนกัน ก็เลยออกมาหาอะไรทำร่วมกัน เริ่มหาโจทย์จากสิ่งที่เราชอบก่อนว่า เออ เราชอบอะไรบ้าง เราได้เรื่องของกราฟิกเรื่องของงานคราฟท์  ก็ไปดูในท้องตลาดว่ามีโปรดักต์อะไรที่มันน่าสนใจ จนไปเจอว่า เฮ้ย! กระดาษห่อของขวัญนี่แหละ แล้วกระดาษห่อของขวัญในบ้านเรา มันยังไม่มีแบรนด์ที่เป็น Top of Mind ที่เมื่อพูดถึงแล้วต้อง อ๋อ! ส่วนใหญ่มันก็จะเป็นแบรนด์ต่างประเทศ เราก็แบบนี่แหละใช่เลย กระดาษห่อของขวัญนี่แหละ

แล้ววันหนึ่งเราก็ไปอ่านหนังสือ a day เขาแถมเล่มเล็กๆ มาเล่มหนึ่งเป็นเรื่อง Social Enterprise กิจการเพื่อสังคมมันก็ตรงเป๊ะเลยสมมติว่าเราทำ Business ขึ้นมาอันหนึ่ง เราทำอย่างไร สังคมก็ได้เราก็ได้ด้วย จนเราไปเจอเรื่องของกระดาษ มันน่าจะเป็น  Eco – Friendly ได้ แต่จะทำแบบไหนที่มันจะแตกต่างกับที่เขาทำกันอยู่ เราก็ไปหาดูว่า Eco – Friendly แบบไหนดี มันก็มีในส่วนของกระดาษรีไซเคิลกับใช้หมึกถั่วเหลือง สองอันนี้คือเบสิคเลยนะ คือมีคนทำอยู่แล้ว แต่เรารู้สึกว่า Eco มันน่าจะไปได้ไกลกว่านี้ ก็มาลิสต์เลยว่า สามคำหลักๆ ที่เป็นหัวใจสำคัญของ Eco ก็คือ Reuse, Reduce, Recycle สามคำเนี้ยถ้ามาดูจริงๆ มันไม่ใช่แค่เรื่องวัสดุ มันจะเป็นเรื่องของพฤติกรรม พฤติกรรมของมนุษย์อันไหนที่เป็นปัญหาแล้วเราแก้ไขได้ สมมติว่าเรานั่งเก้าอี้ พอเราต้องเท้า มันก็เกิดการดีไซน์เก้าอี้ที่ต้องมีที่เท้าแขน เรื่องนี้ก็เช่นกัน

เราก็คิดว่ากระดาษห่อของขวัญเนี่ยพฤติกรรมของคนเขาทำอะไรกันบ้าง ก็ไปเจอว่าเวลาเราให้ของขวัญกันอะ ให้ปั๊ป เขาฉีกทิ้งทันที ขยำทิ้งไปเลยอะ ทำไม Life Cycle มันสั้นจัง ทำอย่างไรถึงจะยืดอายุมันได้ โจทย์มันก็เลยเป็นการยืดอายุให้กับกระดาษห่อของขวัญ และการยืดอายุนี้คนใช้ต้องช่วยเราด้วย มันจะกลับไปที่พฤติกรรมของคนละ เราก็ตั้งชื่อมันไว้ว่า ‘Reusable wrapping paper’ กระดาษห่อของขวัญที่สามารถใช้ซ้ำได้ ก็หากันไปหากันมาจนสิ่งที่เราเจอก็คือการทำให้กระดาษเรามีรอยปรุ เป็นสี่เหลี่ยมทั่วแผ่นเลย เรากำหนดไซส์มันให้เป็นขนาด 8 x 8 cm ซึ่งมันพอดีกับการเป็น Notepad

สิ่งที่เราอยากให้เขาทำก็คือพอห่อเสร็จปุ๊ปแทนที่จะขยำทิ้งก็ค่อยๆ คลี่มันออก แล้วก็ฉีกตามรอยปรุ อย่างน้อยเราจะได้กระดาษที่เหลือมา คือไม่ต้องคิดอะไรมาก เอาไปเป็นโน้ตแพตเขียนเองก็ได้ หรือจะเอาไว้เขียนส่งหาคนนั้นคนนี้ก็ทำได้ เป็นการออกแบบเพื่อให้ใช้ซ้ำได้อย่างคุ้มค่า

โปรดักต์ชิ้นแรก คือ กระดาษห่อของขวัญ

สมุดเนี่ยถ้าพูดตรงๆ ตามมาแบบบังเอิญมากๆ แล้วมันเป็นสิ่งที่ทำให้เราค้นพบว่าการทำธุรกิจบางทีต้องลองผิดลองถูก ได้ทำไปก่อนเราถึงจะรู้ว่าอะไรเวิร์คไม่เวิร์ค สมุดก็เช่นเดียวกันเป็นอะไรที่นอกเหนือจากแพลนที่เราวางไว้ คือจากตอนแรกที่เราไม่ได้เน้นสมุดมากๆ ตอนหลังก็กลายเป็นว่ามาโฟกัสกับสมุดมากขึ้นครับ สมุดรุ่นแรกของเราจะผสมผสานไป มีเป็นปฏิทิน เส้นบรรทัด แล้วก็เป็นตาราง แล้วเราก็ไม่ลืมที่จะเอากระดาษห่อของขวัญของเราใส่เข้าไป ตอนนั้นคือคิดว่าทำอย่างไรก็ได้ให้ไอเดียของกระดาษห่อของขวัญมันคงอยู่ เราก็เลยแถมกระดาษใส่เข้าไปด้วย เพื่อบอกเขาว่ากระดาษแบบนี้มันมาจากกระดาษห่อของขวัญของเรานะ คุณสามารถใช้มันซ้ำได้ฉีกไปเป็นโน้ตเป็นอะไรแบบนี้ก็ได้

ลวดลายน่ารัก ในสไตล์ a piece(s) of paper

เรื่องลายของกระดาษเราทำกันสองคน คือผมกับแฟน สีน้ำก็จะเป็นคาแร็กเตอร์หลักๆ ของเราเลย องค์ประกอบหลักๆ ของเราคือเป็นสัตว์กับเป็นดอกไม้ เป็นเรื่องของ Nature ต่างๆ ลายเส้นจะมีลักษณะของโทนสีน้ำ  ซึ่งตอนแรกค่อนข้างชัดเจนว่าแฟนผมจะทำแบบหวานๆ ไปเลย หลังๆ กลัวว่าจะหวานไป เราก็เลยทำกราฟิกมาเวทมันหน่อย แต่พอทำไปเรื่อยๆ เราก็ค่อยๆ เจอทาง คาแรคเตอร์ของแบรนด์มันก็ชัดขึ้น แต่สิ่งแรกที่กำหนดไว้ก็คืออยากทำในเชิงสีพาสเทล เอาสไตล์ของความเป็นญี่ปุ่นขึ้นมาตั้งเป็นโจทย์แล้วก็ไปในทิศทางนั้นแล้วมันก็ค่อยๆ ชัดเรื่อยๆ

สองแรงแข็งขัน

งานทั้งหมด ก็คือช่วยกันนะ สมมติว่าถ้าคิดได้ก็จะโยนกันแบบง่ายๆ เลย ช่วงนี้มีอะไรที่กำลังเป็นกระแสบ้าง มันก็จะมีลายที่ตามเทรนด์ประมาณหนึ่งกับลายอีกแบบที่เป็นออบเจ็กต์ของสัตว์ต่างๆ ที่คาแรคเตอร์โดดเด่น แปลกตา และน่าสนใจ อย่างลายตัวคาปิบาร่า (Capybara) คนก็อาจจะงงว่ามันคืออะไร มันก็คือหนูยักษ์ที่ชอบไปอยู่ตามบ่อน้ำร้อนอะไรแบบนี้ กินข้าวโพด ความแตกต่างก็คือสมมติถ้าเป็นเจ้าอื่นเขาอาจจะไม่เลือกทำออบเจ็กต์แบบนี้ เขาอาจจะมีคำถามว่ามันจะขายได้ไหม จริงๆ เราว่ามันอยู่ที่การวาดมากกว่าว่าเราจะทำคาแรคเตอร์ของออบเจ็กต์ออกมาเป็นรูปแบบไหน

การเป็นดีไซเนอร์พร้อมๆกับการเป็นนักธุรกิจ

ยากนะครับ พอเรามาสายดีไซน์เลย มาร์เก็ตติ้งเราก็จะค่อนข้างอ่อน สิ่งที่เรารู้ก็แค่ว่าเราก็จะทำอะไรในแนวทางที่เราเชื่อก่อน คือบางทีเราก็จะรู้สึกว่าถ้าลดความซอฟท์ของสี เราอาจจะรู้ก็ได้ว่าสีนี้เวลาไปอยู่บนเชลฟ์มันจืดนะ เจอแบรนด์อื่นมันดึงดูดตากว่า ในช่วงแรกๆ เราอาจจะไม่ได้เข้าใจในเรื่องการตลาดมาก มีสิ่งหนึ่งที่ผมเรียนรู้คือเวลาเราทำธุรกิจแล้วมันจะมีสิ่งที่เราเรียนรู้จากตัวเองกับสิ่งที่เราเรียนรู้จากข้างนอก เราต้องมาเวทกันว่าสุดท้ายแล้วเราจะยอมให้กับมันไหม คือถ้าเป็นคำที่เขาใช้กันก็คือว่าจะยอมขายวิญญาณหรือเปล่า คือจริงๆ เรามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเหมือนกัน พอโตขึ้นเราก็ยอมลดลงนะ คิดมากขึ้นว่าแบบนี้มันไม่น่าขายได้ สมมติคิดมาห้าแบบจะรู้เลยว่าลายไหนที่น่าจะมาดี ลายไหนที่จะเงียบๆ หน่อย แต่ในทุกๆ ลายเราก็จะค่อนข้างหาจุดที่มันโอเค แล้วเรื่องของการตลาด ผมเชื่อว่ามันต้องเรียนรู้ด้วยการไปเจอเอง

ช่องทางการจำหน่าย

ออนไลน์ก็มีครับในเฟซบุ๊ก แล้วก็ในไลน์ในไอจีก็สามารถสั่งได้ แล้วก็ในห้างก็มีที่ Loft ทุกสาขา มีที่ BeTrend ที่พารากอน เอ็มโพเรียม แล้วก็ใน B2S ที่เซ็นทรัลประมาณ 10 สาขา แล้วก็มีในดีไซน์ช็อปต่างๆ อย่างต่างประเทศก็มีออเดอร์ไปบ้างแต่ว่าไม่ได้เยอะมาก ก็ค่อยๆ ขยับขยายไป จุดอ่อนอย่างหนึ่งของเราคือ เราทำกันเองแค่สองคนด้วยก็เลยอาจจะไปช้าหน่อย เราก็ค่อนข้างอยากไปช้าๆ แต่ชัวน์ เพราะข้อดีคือเราคุมทุกอย่างเองได้ ถ้าปุปปัปเราตั้งบริษัทจ้างพนักงานมา ผมเชื่อว่าภาระตรงนี้ต้องจัดการเยอะ แต่อันนี้พอเราเป็นดีไซเนอร์เองเราก็พอจะประหยัดไปได้หลายขั้นตอนเลย

อนาคตที่วางไว้ของ a piece(s) of paper

จริงๆ ตอนนี้มันก็มีพวกกล่องของขวัญ การ์ดอวยพรขนาดเล็ก accessories เกี่ยวกับการห่อของขวัญ หรือจะเป็นสติ๊กเกอร์ กระเป๋า ผ้าพันคอก็มี ก็จะเป็นลายที่ลิ้งค์กันกับกระดาษที่เราออกแบบ สมัยนี้เราจะเห็นธุรกิจแบบนี้เยอะพอเขาคิดแพทเทิร์นอะไรขึ้นมาเขาก็จะแตกโปรดักส์ออกมาหลายๆ อย่าง ทำเสื้อทำอะไรก็ได้แต่ว่าเราก็จะ based on stationary มันมีหลายเรื่องที่เราพยายามปลูกฝังอะไรบางอย่าง

อย่างตอนนั้นเรามีร้านห่อของขวัญที่สยามดิสคัฟเวอรี่ เราก็พยายามคิดแคมเปญอะไรที่เป็น Eco ด้วยการให้คนนำแกนกระดาษทิชชู่มาบริจาค แล้วเราจะให้สติ๊กเกอร์เขาเป็นการแลกเปลี่ยน ด้วยนิสัยของผมเองคือจะเป็นคนที่งกนิดหน่อย เคยเก็บแกนกระดาษทิชชู่แบบนี้ไว้เยอะมาก แล้วก็คิดว่าเราจะเอามาทำอะไร ก็มาพบว่าเวลาเราไปซื้อกระดาษตามห้าง เขาจะเอากระดาษอีกแผ่นหนึ่งสีขาวที่เป็นกระดาษเอสี่มาม้วนอีกชั้นแล้วก็ติดสก๊อตเทปให้ เราก็คิดว่ามันเปลืองกระดาษ เราเลยใช้วิธีการแบบเราคือนำแกนกระดาษทิชชู่มาใช้แทน มันเป็นตัวแพคเกจจิ้งที่ดีเลย คือเป็นจุดเล็กๆ ที่อยากทำให้ลูกค้าเห็นว่า Eco มันควรเริ่มต้นจากอะไร

การให้ความรู้ด้านโปรดักต์ Eco

หลายๆ อย่างผมพยายามทำให้มันเกิด แต่ว่าเราก็เจอความยากของมันเหมือนกัน พอเป็น Eco โปรดักต์ พอเราเปลี่ยนมันเป็นกระดาษห่อของขวัญที่ไม่ได้อยู่ในรูปของการม้วน ก็มีปัญหาเกี่ยวกับการขายเยอะนะครับ คนก็จะงงว่ามันคืออะไร มันก็เป็นสิ่งที่เราค่อยๆ เรียนรู้มา ทุกวันนี้คนก็ยังสงสัยอยู่เลยแบบว่า มันเป็นปรุแบบนี้มันจะขาดง่ายไหม คนเขาไม่ใช้ก็มี แต่เราได้ทดลองระยะห่างและความถี่ของรอยฟันปลาที่ช่วยให้กระดาษเหนียวพอดีกับการห่อ แต่ก็มีความง่ายต่อการฉีกนำไปใช้ต่อด้วย

หากถามว่า Eco – Friendly โปรดักต์มันมีปัญหาอะไรบ้างไหม  ก็ต้องยอมว่ามันมีนะ คือมันเปลี่ยนพฤติกรรมที่เคยชินของคน อย่างขวดน้ำที่เขาดีไซน์กันออกมาใช้พลาสติกน้อยลง มันเลยทำให้ขวดค่อนข้างบางจับไม่ถนัด แต่ผมก็รู้สึกว่าแบบมันเป็นอะไรที่ควรแลกเหมือนกัน

จริงๆ อย่างที่บอกว่าสุดท้ายแล้ว Eco Product เราอย่าทำมันแค่ชั้นเดียวเพราะว่ามันจะไม่ครบลูป สุดท้ายผมทำอย่างนี้มาถ้าคนไม่ฉีก มันก็จะกลายเป็นขยะอยู่ดี ไม่เรียนรู้ที่จะฉีกแล้ว Reuse ใหม่ อย่างขวดน้ำถ้าเราดื่มแล้วไม่บิด มันก็ไม่เซฟพื้นที่ในถังขยะ ผมว่ามันเป็นเรื่องของ Behavior จริงๆ ถ้าเกิดเราดีไซน์ออกมาได้มันจะครบลูปแล้วมันจะยั่งยืนกว่า

ผมก็ไม่ได้มองว่ามันเป็นเทรนด์นะ หลายๆ ครั้งเราเจอคำถามว่ามองว่า Eco มันเป็นเทรนด์ไหม ผมบอกว่าจริงๆ มันก็ไม่ใช่เทรนด์ Eco มันไม่ควรจะเป็นแค่เทรนด์นะ เรามองว่ามันเป็น need เป็นสิ่งจำเป็นที่ควรอยู่ในตัวทุกคน ถ้าเราจะทำอะไรก้ตามแต่ทุกวันนี้อย่างทำแบรนด์เสื้อผ้า สิ่งที่เราต้องคิดก็คือต้องทำยังไงให้เราเหลือเศษผ้าให้น้อยที่สุด ทำร้านอาหารเราก็ต้องคิดว่าวัตถุดิบที่เราเอามาใช้ให้มันคุ้มค่าที่สุด มันคือเรื่องของการ reduce คือการงดปริมาณอะไรซักอย่าง ปิดไฟถ้าไม่จำเป็น จริงๆ มันคือสิ่งที่เรามีอยู่แล้ว เพียงแต่บางคนไปมองว่า Eco มันเป็นอย่างอื่น มันก็กลายเป็นแบบว่าไปผลักมันออกไปไกลแต่จริงๆ มันคือสิ่งที่ทุกคนมีอยู่แล้ว อยู่ที่จะเริ่มมันหรือยังแค่นั้นเองครับ

ภาพ : KarN Tantiwitayapitak

ติดตาม a piece(s) of paper ได้ทาง apiecesofpaper

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin
Share on pinterest

More to explore

แผลเก่า:Old Wound แผลเดิมในเรื่องเล่า ที่ยังเป็นแผลสดของพล็อตสังคมไทย

นิทรรศการ แผลเก่า / Old Wound นิทรรศการเดี่ยวโดย ประทีป สุธาทองไทย ศิลปินนักตั้งคำถาม ผู้ซ่อนบทสนทนาทางสังคมไว้ในงานเสมอ

“Yesterday I Was, Tomorrow I Will Be” นิทรรศการแห่งความฝันและความสำเร็จของ “Pomme Chan”

ก้าวสู่โลกที่เปี่ยมไปด้วยแพชชั่น ผ่านผลงานศิลปะตั้งแต่ชิ้นแรกที่น้อยคนจะได้เห็น สู่วันที่ประสบความสำเร็จในสายอาชีพร่วมระยะเวลา 20 ปี