fbpx

Animal Farm นิทรรศการที่พูดถึงเรื่องทุนนิยมผ่านงานจิวเวลรี่

ฟังศิลปินเจ้าของผลงาน Animal Farm เล่าถึงที่มาของนิทรรศการจิเวลรี่อาร์ตที่เกรียวกราวที่สุดงานหนึ่งของปี

แว่บแรกที่ได้เห็นผลงาน Animal Farm ที่บอกเล่าเรื่องทุนนิยมผ่านปฏิมากรรมกว่า 10 ชิ้นที่ผลิตจากเหล็ก ไม้ หนังจระเข้ ฯลฯ พร้อมกลไกการเปิด-ปิด ‘ไข่’ ด้วยเพลาลูกเบี้ยว มันทำให้ผมจินตนาการไปว่าศิลปินคนนี้น่าจะเป็นผู้ชายดาร์กๆ คนหนึ่ง แต่ในความจริงแล้ว ผลงานที่เห็นทั้งหมดนี้เป็นของหญิงสาวมากอารมณ์ขัน ฟิ่ว – ฐิติรัตน์ คัชมาตย์ ดีไซน์เมกเกอร์/ศิลปิน ที่สนใจเรื่องราวของระบอบทุนนิยมมาตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาโท ก่อนที่เธอจะใช้เวลากว่าสิบปีหลังจากนั้นกลั่นกรองนัยยะและความเชื่อมโยงของวิถีทุนนิยมนี้ผ่านนิทรรศการเครื่องประดับที่ชื่อว่า “Animal Farm”

เรียนเพื่อหาคำตอบ

หลังจบการศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชาศิลปอุตสาหกรรม ฐิติรัตน์ใช้เวลาสองปีแรกทำงานเป็นนักออกแบบเซรามิกและนักออกแบบผลิตภัณฑ์ตามที่ร่ำเรียนมา แต่ไม่นานเธอก็เกิดคำถามกับตัวเองว่า “หน้าที่ของนักออกแบบมีเพียงแค่การปรับรูปทรงข้าวของและสร้างสีสันเพื่อกระตุ้นให้คนซื้อสินค้าเท่านั้นหรือ” ความสงสัยนี้ผลักดันให้เธอเดินทางไปศึกษาต่อที่ Royal College of Art (RCA) ประเทศอังกฤษในสาขา Design Products ซึ่งทำให้เธอเรียนรู้ว่าโลกของงานออกแบบนั้นยังมีอะไรอีกมากมายให้ได้คิดค้นและสำรวจ การมีเพื่อนนักเรียนต่างชาติและการใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมที่เป็นพหุวัฒนธรรมสูง ช่วยเปิดโลกทัศน์ให้เธอเข้าใจว่า ‘การค้นคว้าหาคำตอบผ่านกระบวนการทำงาน’ เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในวิชาชีพนักออกแบบ ต่างจากสมัยอดีตที่เธอมักมีภาพจบในหัวก่อนจะเริ่มต้นสเก็ตช์งานด้วยซ้ำ

สื่อสารผ่านเครื่องประดับ

ฐิติรัตน์อธิบายว่าถ้าเธอเลือกทำงานในสายงานออกแบบผลิตภัณฑ์ ทุกวันนี้เธอคงหลีกเลี่ยงข้อจำกัดของระบบอุตสาหกรรมไปไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่นเรื่องจำนวนผลิต เรื่องจุดคุ้มทุน เรื่องช่องทางจัดจำหน่าย เรื่องสต๊อกสินค้า ฯลฯ เพราะปัจจัยเหล่านี้เป็นสิ่งที่นักออกแบบผลิตภัณฑ์ควบคุมเองไม่ได้ทั้งหมด แต่สำหรับงานเครื่องประดับแล้ว เธอสามารถจะจบงานตามที่เธอต้องการได้ง่ายกว่า ยกตัวอย่างเช่นแหวนแต่งงานก็สามารถทำขึ้นเพียงคู่เดียว ตอบโจทย์คู่บ่าวสาวคู่หนึ่งเท่านั้น

อย่างไรก็ดีฐิติรัตน์มองว่าเครื่องประดับก็เป็นมิติหนึ่งของงานผลิตภัณฑ์ เพียงแต่มีอารมณ์ความรู้สึกเข้าไปผูกพันได้มากกว่า นอกจากนี้งานเครื่องประดับส่วนใหญ่มักมีขนาดเล็ก ดีไซเนอร์จึงสามารถจบชิ้นงานขั้นสุดท้ายได้ด้วยตัวเอง ขนย้ายง่าย จัดแสดงได้ทันที และที่สำคัญคือสามารถสื่อสารแนวคิดของตนเองได้อย่างครบถ้วน

ความย้อนแย้งในฟาร์มสัตว์

ในนิทรรศการ Animal Farm ฐิติรัตน์นำเสนอภาพความเป็นไปของระบอบทุนนิยมผ่านการเล่าเรื่องด้วยปฏิมากรรมราว 10 ชิ้นโดยมี ‘จิวเวลรี่’ ทำหน้าที่เป็นของที่ระลึกแบบ emotional product ให้ผู้ชมจับจ่ายกลับไปได้  

“งานชุดนี้สะท้อนถึงวิถีทุนนิยมที่ทุกคนไม่สามารถหลีกพ้น มันเป็นวิถีอัตโนมัติที่เราเป็นส่วนหนึ่งของมันมาตั้งแต่ลืมตาดูโลก”

“หลายครั้งเราอาจรู้สึกไม่ชอบใจว่าบางองค์กรเข้าควบคุมวิถีการบริโภคของผู้คนแบบกินรวบ เริ่มตั้งแต่การทำวัตถุดิบ การผลิตสินค้า ไปจนถึงการจัดจำหน่ายทุกอย่าง ซึ่งหากมองในเชิงเปรียบเทียบแล้ว หมูและวัวในฟาร์มก็คือตัวแทนของพนักงานออฟฟิศที่เข้างาน 9 โมงเช้าเลิกงาน 5 โมงเย็น เราอาจจะมองว่าเขาเป็นแค่ทรัพยากรหรือเครื่องจักรในวงจร แต่ใครจะรู้ว่าจริงๆ แล้วสัตว์เหล่านี้อาจเป็นกลุ่มประชากรที่มีความสุขที่สุดก็ได้นะ เพราะเขาไม่ต้องคิดอะไรมากไง เลิกงานก็ไปกินชาบูกับเพื่อนๆ”

จากการสังเกต ฐิติรัตน์พบว่าผู้ชมนิทรรศการของเธอชอบเข้าไปเล่นกับชิ้นงาน ไปหมุนไข่บ้าง ไปขยับกระจกให้แม่ไก่บ้าง ซึ่งเธอมองว่านั่นเป็นหัวใจสำคัญของการจัดแสดงผลงานชุดนี้ ส่วนใครจะเข้าใจระบอบทุนนิยมได้มากน้อยแค่ไหนนั้น ก็คงขึ้นอยู่กับวุฒิภาวะและประสบการณ์ของแต่ละคน ซึ่งเธอเองไม่ได้คาดหวังว่าทุกคนจะต้องเข้าใจภาพรวมทั้งหมด ส่วนในอนาคต หากเธอมีโอกาสได้พื้นที่จัดแสดงที่ใหญ่ขึ้น เธอก็อยากเติมแนวคิด Saving Money With Us เข้าไปในนิทรรศการด้วย “เราอยากล้อเลียนการฝากเงินกับธนาคาร โดยชวนให้ผู้ชมมาฝากเงินกับเราในพื้นที่นิทรรศการ แล้วได้ของที่ระลึกบางอย่างกลับไป”

“เราเปรียบตัวเองเป็นเหมือนแม่ไก่ในฝูง นั่นคือเป็นผู้นำที่ดูเหมือนสดใสคอยนำทางลูกๆ แต่ท้ายสุดเมื่อยกกระจกส่องหน้า เราก็สำนึกได้ว่าเราก็ไม่ต่างจากตัวเงินตัวทองนั่นแหละ” (หัวเราะ)

รอชมนิทรรศการต่อไปของ ฟิ่ว – ฐิติรัตน์ คัชมาตย์ ได้ที่งาน Bangkok Design Week 2020

ภาพ: tithi.info / อวิกา บัววัฒนา

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin
Share on pinterest

More to explore

แผลเก่า:Old Wound แผลเดิมในเรื่องเล่า ที่ยังเป็นแผลสดของพล็อตสังคมไทย

นิทรรศการ แผลเก่า / Old Wound นิทรรศการเดี่ยวโดย ประทีป สุธาทองไทย ศิลปินนักตั้งคำถาม ผู้ซ่อนบทสนทนาทางสังคมไว้ในงานเสมอ

“Yesterday I Was, Tomorrow I Will Be” นิทรรศการแห่งความฝันและความสำเร็จของ “Pomme Chan”

ก้าวสู่โลกที่เปี่ยมไปด้วยแพชชั่น ผ่านผลงานศิลปะตั้งแต่ชิ้นแรกที่น้อยคนจะได้เห็น สู่วันที่ประสบความสำเร็จในสายอาชีพร่วมระยะเวลา 20 ปี