fbpx

‘เกือบสุข’ ละครเวทีที่ว่าด้วยความสุข ไบโพลาร์ และสายตาที่มืดบอด

ละครเวทีที่เล่าเรื่องธรรมดาที่ไม่ธรรมดา และมุมมองที่แตกต่าง

ในยุคหนึ่ง คนเรานิยามความสำเร็จในชีวิตด้วยการประสบความสำเร็จด้านอาชีพ มีอาชีพการงานที่ดี และมีรายได้ที่มั่นคง 

แล้วเวลาก็ล่วงเลยเข้ามาอีกยุคหนึ่ง เราเข้าสู่ยุคที่นิยามความสำเร็จในชีวิตด้วยความสุข ในยุคของการตามล่าหาความสุขนี้ เราถูกบ่มเพาะให้เชื่อว่าความสำเร็จในเรื่องการเรียน อาชีพการงานก็เป็นเรื่องดี แต่การประสบความสำเร็จในชีวิตจริงๆ คือการมีชีวิตที่มีความสุข

แต่ความสุขเป็นเรื่องสากลจริงหรือ? แท้จริงแล้วความสุขคืออะไรกันแน่?


ในยุคสมัยที่เต็มไปด้วยผู้ป่วยภาวะซึมเศร้าหรืออาการป่วยทางจิต ละครเวทีเรื่อง Sunny Side Up ‘เกือบสุข’ จึงดูน่าสนใจเป็นพิเศษ เพราะนี่ไม่ใช่ละครที่พูดถึงความสุขเท่านั้น แต่ยังเป็นความสุขจากมุมมองของคนตาบอดและผู้ป่วยจิตเวช โดยสร้างจากบทสนทนาของหญิงสาวสองคน คือสโรชา กิตติสิริพันธุ์ นักจิตวิทยาฝึกหัดผู้พิการทางสายตา และโรฬา วรกุลสันติ นักแสดงผู้เข้ารับการบำบัดทางจิต คนหนึ่งมีความพร้อมทางกายภาพแต่บกพร่องทางใจ ในขณะที่อีกคนหนึ่งตาบอดโดยกำเนิดแต่กลับมีแสงสว่างทางใจ ท้ายสุดแล้ว พวกเธอมองสิ่งที่เรียกว่าความสุขแบบไหน?

“สิ่งที่ท้าทายที่สุดไม่ใช่การทำงานกับคนมองไม่เห็น หรือคนที่มีอาการทางจิตเวช แต่เป็นการค้นหาวิธีสื่อสารเรื่องราวนี้ต่อทุกๆ คนให้เรียบง่ายที่สุด แต่มีพลังมากที่สุดค่ะ” สตางค์-ภัทรียา พัวพงศกร นักเขียนบทละครเวทีมือรางวัลที่เป็นผู้สร้างสรรค์ละครเวทีเรื่องนี้กล่าว “ความยากอีกอย่างคือทำอย่างไรให้คนไม่สงสาร ไม่คิดว่าการสนับสนุนเรื่องนี้คือการทำบุญประเภทหนึ่ง สำหรับพวกเรา นี่เป็นงานศิลปะชิ้นหนึ่งที่เราตั้งใจทำเท่านั้น วิธีจัดการคือค้นหาวิธีเล่าเรื่องไปพร้อมๆ กับนักแสดง เรียนรู้ไปด้วยกันว่าจะถ่ายทอดสิ่งที่คิด สิ่งที่เป็นอย่างไรให้ใกล้เคียงกับภาพในหัวมากที่สุด”

เมื่อเราถามเจ้าของผลงานว่าเธอคิดว่าความสุขสำหรับเธอคืออะไร สตางค์ตอบว่า “คิดว่าความสุขคือความพอใจในตัวเอง มีความสงบในหัวใจ รู้ตัวว่าดีพอที่จะได้รับการยอมรับและความรัก เต็มพอที่จะเผื่อแผ่ความสุขต่อคนอื่นๆ และให้เกียรติเพื่อนมนุษย์ เพราะความคาดหวังหรือความคิดที่ผู้อื่นมีต่อเรา หรือเรามีต่อตัวเอง มักไม่ตรงกับความเป็นจริง พอไม่ตรงเลยทุกข์ ซึ่งจริงๆ เราแค่ต้องการการยอมรับในแบบที่เราเป็นเท่านั้นค่ะ” 

นอกจากจะเป็นคอลัมนิสต์ของเว็บไซต์ The Cloud แล้ว สตางค์ยังเจียดเวลามาทำงานละครเวทีที่เธอชอบอยู่เป็นครั้งคราว “การแสดงสดต่างจากภาพยนตร์ที่สื่อสารด้านเดียว ด้วยการดูและฟัง ละครเวทีเปิดโอกาสให้เราใช้ผัสสะอื่นๆ เช่น การสัมผัส การดมกลิ่น การรับรสชาติ และความรู้สึกเมื่อรับชมจะใกล้ชิด และผู้ชมมีส่วนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของละครได้ตลอดค่ะ​” ซึ่งในเรื่องนี้ ได้มีการระดมทุนเพื่อสนับสนุนการแสดงเพื่อให้เข้าถึงคนทั่วไปและผู้พิการด้วยการมีของที่ระลึกอย่างน้ำหอมกลิ่นดอกไม้และภาพวาดพอร์เทรตของผู้สนับสนุนโดยคุณพลอย สโรชา นักแสดงตาบอดด้วย

ละครเรื่อง Sunny Side Up: เกือบสุข a smellable performance เป็นส่วนหนึ่งของเทศกาล Performative Art Festival 2019 จัดแสดงในวันที่ 12-15 และ 20-22 กันยายน พ.ศ. 2562 เวลา 19.30 น. (วันอาทิตย์เวลา 15.00 น.) ณ สตูดิโอชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ราคาบัตร บุคคลทั่วไป 550 บาท บัตรนักศึกษา 350 บาท บัตรผู้พิการ 350 บาท จองบัตรการแสดงได้ ที่นี่

ภาพ: ปฎิพล รัชตอาภา

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin
Share on pinterest

More to explore

แผลเก่า:Old Wound แผลเดิมในเรื่องเล่า ที่ยังเป็นแผลสดของพล็อตสังคมไทย

นิทรรศการ แผลเก่า / Old Wound นิทรรศการเดี่ยวโดย ประทีป สุธาทองไทย ศิลปินนักตั้งคำถาม ผู้ซ่อนบทสนทนาทางสังคมไว้ในงานเสมอ

“Yesterday I Was, Tomorrow I Will Be” นิทรรศการแห่งความฝันและความสำเร็จของ “Pomme Chan”

ก้าวสู่โลกที่เปี่ยมไปด้วยแพชชั่น ผ่านผลงานศิลปะตั้งแต่ชิ้นแรกที่น้อยคนจะได้เห็น สู่วันที่ประสบความสำเร็จในสายอาชีพร่วมระยะเวลา 20 ปี