fbpx

อยากโปรโมทงานอาร์ตให้ปัง สื่อโซเชียลไหนคือใช่ที่สุด

สวัสดีเหล่าศิลปินและนักสร้างสรรค์ หากคุณกำลังสับสนเกี่ยวกับการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อ ‘โปรโมทอาชีพและผลงาน’ ขอให้รู้ไว้ว่าไม่ใช่คุณคนเดียวหรอกที่กำลังกลุ้ม

โซเชียลมีเดียแต่ละแพลตฟอร์มจริงๆ มีความแตกต่างกันมาก ตั้งแต่วิธีการใช้งาน กลุ่มคนที่ใช้ ไปจนถึงช่วงเวลาที่ควรโพสต์ ฯลฯ แรกๆ คุณอาจคิดว่า “ฉันจะต้องช่ำชองให้หมดทุกแพลทฟอร์ม” เพราะคุณอยากจะเข้าถึงแฟนๆ ให้ได้มากที่สุด  แต่ในโลกความเป็นจริงแล้วคุณทำไม่ได้หรอก! และไม่ควรจะทำด้วย!  

กลยุทธ์การเลือกใช้โซเชียลมีเดียที่ถูกต้องนั้นขึ้นอยู่กับ
1) แนวทางการสร้างอาชีพและธุรกิจของคุณ
2) บุคลิกภาพและตัวตนของคุณ และ
3) กลุ่มคนที่คุณอยากจะสื่อสารด้วยมากที่สุด

ด้วยโจทย์ตั้งต้นนี้ แน่นอนว่าบางแพลทฟอร์มก็จะเหมาะกับคุณมากกว่าอย่างอื่น แถมมันจะเป็นการดีกว่าด้วยที่คุณจะเริ่มต้นกับแค่หนึ่งหรือสองแพลทฟอร์ม แล้วโฟกัสกับมันได้จริงๆ ดีกว่าดิ้นรนทำทุกสิ่ง แต่ทำได้ไม่สม่ำเสมอ และท้ายที่สุดก็ไปไม่ถึงฝั่งฝัน

เพื่อช่วยคุณสำรวจโลกออนไลน์อันบ้าคลั่งนี้ เราจะพูดกันถึง ‘ข้อดีและข้อเสีย’ ของแต่ละแพลตฟอร์มกันในบทความนี้ เพื่อว่าคุณจะสามารถเลือกแพลตฟอร์มที่เหมาะกับตัวคุณและวิถีการทำงานของคุณได้ดีที่สุด

FACEBOOK

เทคนิคการใช้งาน: โพสต์เฉลี่ยวันละครั้ง แต่ต้องโต้ตอบทุกวัน

ข้อดี:

  • แชร์โพสต์ได้ทุกประเภทที่เกี่ยวโยงกับการทำมาหากินของคุณ ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพ, วิดีโอ, ลิงก์เว็บไซต์, คลังภาพผลงาน, พอดคาสต์, บล็อก ฯลฯ
  • ลิงก์กับช่องทางโซเชียลมีเดียอื่นๆ ได้ง่าย และสามารถแชร์โพสต์มาจากไอจี ทวิตเตอร์ หรือ Pinterest ได้อีก
  • ตั้งเวลาโพสต์ได้ด้วยบัญชีธุรกิจ (แบบไม่ต้องเสียงตังค์) ช่วยประหยัดเวลาและการบริหารจัดการเพจ
  • มีข้อมูลเชิงลึกให้เข้าถึงได้ฟรี ทั้งในส่วนแฟนๆ ผู้ติดตามเพจ และผลงานการโพสต์ของคุณด้วย
  • มีฐานผู้ใช้จำนวนมากมายมหาศาล
  • มีกรุ๊ปคอมมูนิตี้ให้เข้าร่วม ซึ่งเป็นช่องทางให้คุณแชร์ทุกอย่างได้ ตั้งแต่โชว์งาน โชว์เทคนิคการทำงาน ไปจนถึงขายงาน ประมูลงาน ฯลฯ แต่อย่าลืมว่าต้องเคารพกฎของแต่ละกรุ๊ปด้วยล่ะ
  • สามารถใส่ข้อมูลเกี่ยวกับตัวคุณได้อย่างเต็มที่ (ใน About section) เช่น ปรัชญาการทำงานศิลป์ของคุณ จะใส่ลิงค์ไปยังเว็บไซต์ส่วนตัวของคุณ หรือช่องทางโซเชียลมีเดียอื่นๆ ของคุณก็ได้เช่นกัน
  • ทำให้การขายงานศิลปะง่ายขึ้น ด้วยการมีปุ่ม CTA (Call To Action) ลิงค์ตรงไปยังเว็บไซต์ของคุณได้เลย
  • สร้างอัลบั้มภาพโชว์ผลงานได้ แบ่งเป็นคอลเล็กชั่น เป็นซีรีย์ ได้หมด
  • เติมคำบรรยายภาพและใส่ดีเทลสำคัญๆ ได้เต็มที่
  • สามารถใช้ภาพปกและโพสต์ปักหมุดสำหรับการโปรโมทและทำการตลาด

ข้อเสีย:

  • ปฏิสัมพันธ์คือสิ่งจำเป็นที่สุดในเฟสบุ๊ค ละเลยไม่ได้เด็ดขาด
  • คุณต้องยอมสละเวลาเพื่อตอบคอมเมนท์ต่างๆ และต้องคอยกดไลค์โพสต์ของคนอื่นด้วย
  • ถ้าโพสต์หรือรูปของคุณดูไม่เรียบร้อย ไม่เป๊ะปัง ก็อาจทำให้คน unfollow และบั่นทอนภาพลักษณ์ของคุณ
  • อัลกอริธึมโหดขึ้นทุกวัน ถ้าไม่จ่ายเงินก็ยากมากที่โพสต์ของเราจะปรากฏในฟีดของคนอื่นได้

TWITTER

เทคนิคการใช้งาน: โพสต์วันละหลายครั้ง และโต้ตอบทุกวัน

ข้อดี:

  • กำหนดเวลาทวีตล่วงหน้าได้ (ผ่านเว็บไซต์การจัดตารางโพสต์)
  • การสร้างความสัมพันธ์ผ่านช่องทางนี้มักนำไปสู่การสื่อสารต่อเนื่อง
  • โพสต์ได้ทั้งรูปภาพ วิดีโอ และลิงค์
  • Hashtag (หรือ keyword) ช่วยให้คนอื่นค้นเจอทวีตของคุณได้
  • สามารถจัดระเบียบคนที่คุณติดตามเป็นหมวดหมู่ได้ (เช่น หอศิลป์, ศิลปิน, ธุรกิจศิลปะ) เพื่อสะดวกต่อการติดตามอ่าน
  • ใช้ภาพปกและทวีตปักหมุดสำหรับการโปรโมทและทำการตลาดได้

ข้อเสีย:

  • ต้องทวีตให้บ่อย มิฉะนั้นคุณจะหายสาบสูญไปจากหน้าฟีดของคนอื่น
  • มีการจำกัดตัวอักษรในทวีต ดังนั้นคุณต้องเขียนไบโอและทวีตของคุณให้สั้น
  • เป็นแพลทฟอร์มที่อินเตอร์แอคทีฟมาก บางทีอาจจะมากเกินไปสำหรับคน Introvert  

INSTAGRAM

เทคนิคการใช้งาน: โพสต์ทุกวันหรือหลายครั้งต่อสัปดาห์ และโต้ตอบทุกวัน

ข้อดี:

  • เป็นที่ทราบกันว่านี่คือแพลทฟอร์มที่นักสะสมใช้ในการตามหางานศิลปะ
  • เหมาะกับการขายงานศิลปะเนื่องจากเป็นแพลตฟอร์มที่เน้นภาพ
  • การใช้ hashtag ที่ใช่จะช่วยให้ผู้คนค้นเจองานศิลปะของคุณได้ง่าย
  • สามารถตั้งโพสต์ล่วงหน้า หรือทำดราฟท์ไว้ก่อนเพื่อโพสต์ภายหลังได้
  • โพสต์จากมือถือได้อย่างสะดวก ไม่จำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์
  • สามารถโชว์ทุกแง่มุมของการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นภาพเบื้องหลังการทำงานในสตูดิโอ ผลงานที่กำลังทำอยู่ ฯลฯ
  • ทำโฆษณาและรับข้อมูลเชิงลึก (insight) ได้ด้วยบัญชีธุรกิจแบบฟรี
  • แชร์โพสต์ไปยัง Facebook และ Twitter ได้ง่าย

ข้อเสีย:

  • ใส่ลิงก์ตรงไปยังเว็บไซต์ได้เฉพาะในประวัติของคุณ (bio) ไม่สามารถใส่ลิงค์ในคำบรรยายของโพสต์
  • ใช้งานได้สะดวกบนมือถือเท่านั้น

PINTEREST

เทคนิคการใช้งาน: ปักหมุดโพสต์วันละสองสามครั้งในช่วงเวลาต่างๆ กัน

ข้อดี:

  • เหมาะกับการขายงานศิลปะเนื่องจากเป็นแพลตฟอร์มที่เน้นภาพ
  • บันทึกและจัดระเบียบรูปและลิงก์ลงในบอร์ดต่างๆ ได้ง่าย เช่น ชิ้นงานศิลปะ แรงบันดาลใจ วิธีการซื้อขาย ฯลฯ
  • เพิ่มคำอธิบายของคุณลงในรูปภาพที่ปักหมุดได้
  • ทำโฆษณาและรับข้อมูลเชิงลึก (insight) ได้ด้วยบัญชีธุรกิจแบบฟรี
  • ภาพที่มีลิงค์จะเชื่อมผู้เข้าชมไปยังเว็บไซต์ของคุณ เป็นโอกาสให้เกิดการซื้อขายต่อไป
  • มีความเป็นคอมมูนิตี้ของกลุ่มคนทำงานศิลป์และนักสะสม
  • ไม่ค่อยต้องอาศัยการปฏิสัมพันธ์มากมาย ถ้าเทียบกับโซเชียลมีเดียอื่น
  • สามารถขายของได้ทันทีด้วยหมุด ‘buyable’

ข้อเสีย:

  • รูปไม่ปัง คำอธิบายที่ไม่ดี อาจทำให้คุณเสียโอกาสกับลูกค้าในอนาคตไปเลย
  • การเข้าถึงบน Pinterest ไม่ค่อยกว้างเหมือนโซเชียลมีเดียอื่น

LINKEDIN

เทคนิคการใช้งาน: อัพเดทโปรไฟล์และโพสต์ให้เป็นปัจจุบันที่สุด

ข้อดี:

  • สามารถเข้าร่วมกลุ่มที่ส่งเสริมโอกาสศิลปินหรือที่เผยแพร่คำแนะนำในการประกอบอาชีพได้
  • เป็นช่องทางที่ดีในการเชื่อมโยงกับสมาคม สมาพันธ์ หรือเครือข่ายศิลปินแขนงต่างๆ
  • เหมาะกับการสร้างโปรไฟล์ในฐานะศิลปินมืออาชีพ
  • ไฮไลท์ความสำเร็จ ทักษะพิเศษ และโครงการที่โดดเด่นของคุณได้
  • สามารถแชร์ข้อเขียน ลิงค์เว็บไซต์ รูปภาพ และวิดีโอ

ข้อเสีย:

  • ไม่ใช่แพลทฟอร์มที่กลุ่มผู้ซื้อมาตามหางานศิลปะ
  • ผู้ใช้งานส่วนใหญ่ไม่ได้แอคทีฟใน LinkedIn เท่ากับในโซเชียลมีเดียอื่นๆ
  • การปฏิสัมพันธ์จำกัดอยู่ในรูปแบบที่เป็นทางการเท่านั้น

ถึงบรรทัดนี้ก็ได้เวลาตัดสินใจแล้ว คุณพอจะตอบคร่าวๆ ได้หรือยังว่า
1) กลุ่มเป้าหมายของคุณ (ลูกค้าในอนาคตของคุณ) เขาแอคทีฟกันมากที่สุดบนโซเชียลมีเดียไหน?
2) คุณต้องการจะมีพื้นที่สำหรับการเขียนบล็อกให้เป็นเรื่องเป็นราวรึเปล่า?
3) คุณกังวลเรื่องการต้องพูดคุยโต้ตอบ คอมเมนท์ กดไลค์ กดแชร์ อยู่ตลอดเวลาไหม?
4) คุณมีเวลาและความพยายามมากน้อยแค่ไหนในการโพสต์?

การถามคำถามเหล่านี้กับตัวเองจะช่วยให้คุณ ‘เลือกโซเชียลมีเดียที่ใช่’ กับตารางชีวิตของคุณ อุปนิสัยของคุณ รวมทั้งเงื่อนไขในอาชีพและการทำธุรกิจของคุณได้ง่ายขึ้น และถ้าคุณโฟกัสกับมันอย่างดี สามารถสร้างโปรไฟล์ที่สวยงามในที่ทางที่ตอบโจทย์ เชื่อเถอะว่าคุณจะมีเวลามากขึ้นอีกเยอะเลยที่จะกลับไปทุ่มเทสร้างผลงานศิลปะดีๆ ออกมาอวดชาวโลก

อ้างอิง: artworkarchive
ภาพประกอบ: Unsplash

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin
Share on pinterest

More to explore

แผลเก่า:Old Wound แผลเดิมในเรื่องเล่า ที่ยังเป็นแผลสดของพล็อตสังคมไทย

นิทรรศการ แผลเก่า / Old Wound นิทรรศการเดี่ยวโดย ประทีป สุธาทองไทย ศิลปินนักตั้งคำถาม ผู้ซ่อนบทสนทนาทางสังคมไว้ในงานเสมอ

“Yesterday I Was, Tomorrow I Will Be” นิทรรศการแห่งความฝันและความสำเร็จของ “Pomme Chan”

ก้าวสู่โลกที่เปี่ยมไปด้วยแพชชั่น ผ่านผลงานศิลปะตั้งแต่ชิ้นแรกที่น้อยคนจะได้เห็น สู่วันที่ประสบความสำเร็จในสายอาชีพร่วมระยะเวลา 20 ปี