จังหวัดตรังเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่ได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ ทำให้มีความหลากหลายทางด้านธรรมชาติ และวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งงาน ‘หัตถศิลป์’ ภายในท้องถิ่นที่มักจะแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติ และเปรียบเสมือนมรดกที่ถูกถ่ายทอดโดยครูช่างศิลป์จากรุ่นสู่รุ่นจนสร้างชื่อเสียงให้จังหวัด เช่น ผ้าทอนาหมื่นศรี ที่มีการสืบสานภูมิปัญญาและลายผ้ามากว่า 200 ปี และงานจักสานเตยปาหนัน มรดกท้องถิ่นที่อยู่คู่วิถีชีวิตชาวตรังมายาวนานไม่แพ้กัน

ทั้งนี้ SACICT หรือ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ ซึ่งมีหน้าที่ในการส่งเสริมและสนับสนุนศิลปหัตถกรรมไทย มีความตั้งใจที่จะนำสื่อมวลชนลงพื้นที่ศึกษาแนวทางการพัฒนาและยกระดับงานหัตถกรรมท้องถิ่นให้ทัดเทียมตลาดโลก โดยได้ร่วมมือกับองค์กรและบุคลากรที่มีทักษะความสามารถเชิงช่างชั้นสูง เช่น ครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรมในภูมิภาคต่างๆ
Kooper เดินทางลงใต้กับ SACICT ไปยังจังหวัดตรังเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา เพื่อสัมผัส-เรียนรู้วิถีการทำงานหัตถศิลป์ของย่ายายที่เป็นครูช่างและช่างฝีมือของชุมชน และเพื่อนำมา ‘เล่าต่อ’ ให้ผู้อ่านของเราได้เห็นความงดงามและทรงคุณค่าของงานมือเหล่านี้

‘ผ้าทอนาหมื่นศรี’ ผ้าทอพื้นเมืองที่อยู่คู่คนตรังมา 200 ปี
ที่แรกที่เราได้เข้าไปศึกษางานหัตถกรรมท้องถิ่น คือ ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี ที่จัดตั้งโดยชาวบ้านในชุมชนตำบลนาหมื่นศรี เพื่อสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ด้วยเทคนิคการทอที่ขึ้นชื่อว่ามีความยากและซับซ้อนมาก โดยมี ครูลัดดา ชูบัว ทายาทช่างศิลปหัตถกรรมปี 2562 ของ SACICT เป็นผู้พาเราชมกระบวนการทอ และลายผ้ามรดกเก่าแก่ที่ชุมชนเก็บสะสมไว้
ปัจจุบันผ้านาหมื่นศรีมีลวดลายมากถึง 32 ลาย เป็นลายเกี่ยวกับสัตว์ พืชและดอกไม้ และลายจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว ซึ่งลวดลายที่โดดเด่นคือลายแก้วชิงดวง ที่เน้นการใช้สีแดง-เหลือง ซึ่งเป็นคู่สีที่ตัดกันมาสร้างความสดใส


นอกจากนั้น ชุมชนยังมีการสืบสานงานผ้าทอไปสู่เยาวชนในสถาบันการศึกษา มีการเรียนการสอนทอผ้าที่เชื่อมโยงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม และฝึกเยาวชนรุ่นจิ๋วเป็นมัคคุเทศก์ถ่ายทอดเรื่องราวแก่ผู้มาเยือน เพื่อสร้างความรักความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์พื้นถิ่นและส่งต่อความภาคภูมิใจนี้ไปยังคนรุ่นต่อไป
ครูอ๊ะ หลงกลาง ผู้ต่อลมหายใจให้จักสานเตยปาหนันแห่งบ้านนาชุมเห็ด
เราเดินทางต่ออย่างรวดเร็วมายังชุมชนบ้านนาชุมเห็ดที่มีชื่อเสียงเรื่องจักสานเตยปาหนัน เพื่อพบกับ ครูอ๊ะ หลงกลาง ครูช่างศิลปหัตถกรรมปี 2556 ของ SACICT ผู้นำกลุ่มสตรีชุมชนที่สืบทอดวิถีการออกแบบและผลิตจักสานเตยปาหนันมายาวนาน


เตยปาหนัน เป็นพืชตระกูลปาล์มที่ขึ้นตามริมหาด ชายทะเล ป่าโกงกาง ลักษณะลำต้นเป็นกอ และแตกกิ่งใบยาวเป็นพุ่ม สูงประมาณ 5 เมตร ใบเตยปาหนันจะมีสีเขียวและยาวคล้ายกับเตยหอม ต่างที่มีหนามริมใบทั้ง 3 ด้าน ทำให้การนำเตยปาหนันมาสานนั้นต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน และต้องอาศัยความรู้ที่สืบทอดกันมาเพื่อให้ได้ ‘เส้นเตย’ ที่เหมาะแก่การจักสาน
เมื่อผ่านกระบวนการตระเตรียมต่างๆ แล้ว วัสดุเตยปาหนันจะมีคุณสมบัติที่ยืดหยุ่นและทนทานต่อสภาพแวดล้อมมาก จึงไม่ต้องกังวลเรื่องความชื้นหรือการขึ้นราอีกต่อไป
วิธีการเตรียมใบเตยปานันเริ่มตั้งแต่การเลือกใบที่เหมาะสมไม่อ่อนไม่แก่จนเกินไป นำใบมากรีดหนามออก ก่อนนำไปตากแดด หรือบางที่จะใช้การลนไฟเพื่อให้ใบนิ่ม จากนั้นนำใบมาขูดหรือรีดด้วยเครื่องรีดเพื่อให้เรียบและนิ่ม และยังต้องผ่านกระบวนการฉีก แช่น้ำ ตาก และรีดอีกครั้ง ก่อนจะนำเตยมาใช้สานหรือนำไปย้อมสีต่อได้
ซึ่งการย้อมสีในแต่ละเฉดนั้น ผู้สานจะต้องมีความเข้าใจในแพทเทิร์นของลวดลายเป็นอย่างดี เพื่อให้เกิดการจับคู่สีที่สวยงาม และสามารถสานเส้นเตยปาหนันได้อย่างแยบยลไร้รอยต่อ


งานจักสานเตยปาหนันของชุมชนบ้านนาชุมเห็ด ที่มีครูช่างศิลป์อย่าง ครูอ๊ะ หลงกลาง เป็นผู้ออกแบบลวดลายการสาน จะใช้เตยทุ่งซึ่งเป็นพืชธรรมชาติในท้องถิ่นนำมาสร้างสรรค์เป็น ‘เสื่อวงกลม’ อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ นอกจากนั้นครูอ๊ะยังสามารถสานหมวกขึ้นรูปเป็นชิ้นเดียวได้แบบไร้รอยต่อ จับคู่สีได้โดดเด่นเก่งกาจ และสามารถสานลายตัวอักษรได้อย่างเชี่ยวชาญ จนต่อยอดเป็นเครื่องใช้อื่นๆ ในชีวิตประจำวันได้หลากหลาย เช่น กระเป๋าในรูปแบบ Word-Bags ที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน

นอกจากนี้ เรายังได้พบกับกลุ่มชุมชนจักสานที่สามารถพัฒนาผลงานจนเป็นที่ยอมรับของตลาดร่วมสมัยได้อย่างกลุ่มของ พี่จันทร์เพ็ญ ปูเงิน สมาชิก SACICT ตัวแทนคนรุ่นใหม่ ที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบอาชีพเกษตรกรรม (พืชผลทางการเกษตรมีราคาตกต่ำและไม่แน่นอน) จึงได้รวบรวมกลุ่มสตรีมุสลิมในบ้านดุหุนให้หันมาทำงานหัตถกรรมเพื่อต่อลมหายใจจนกลายเป็นอาชีพหลัก โดยใช้วัตถุดิบเตยทะเลซึ่งเป็นพืชที่ขึ้นเองตามริมหาด หรือป่าโกงกาง มาทำจักสานและแปรรูป เน้นการออกแบบเป็นสินค้าของใช้ในชีวิตประจำวัน ที่ดูร่วมสมัย ประณีต และสีสันสวยงาม

อัตลักษณ์หัตถกรรมท้องถิ่นต่อยอดสู่ไลฟ์สไตล์การพักผ่อนที่ Kachong Hills Tented Resort

“ผมอยากเชื่อมโยงวัฒนธรรมและความเป็นชุมชนอย่างเรื่องราวของผ้าทอและเสื่อปาหนันให้เข้ามาอยู่ในรีสอร์ท เพื่อให้คนที่เดินทางเข้ามาได้สัมผัสเห็นถึงอัตลักษณ์ที่แท้ในชุมชนของเรา”
จิรวัฒน์ วิระพรสวรรค์

จิรวัฒน์ วิระพรสวรรค์ ผู้จัดการ Kachong Hills Tented Resort คืออีกหนึ่งคนรุ่นใหม่ไฟแรง ผู้นำงานศิลปหัตถกรรมในท้องถิ่น จ.ตรัง ทั้งงานผ้า งานไม้ และงานจักสาน มาใช้ในรีสอร์ตของครอบครัวได้อย่างมีรสนิยมและกลมกลืน เขายกตัวอย่างการนำผ้าทอนาหมื่นศรีมาเป็นเครื่องแบบของพนักงาน โดยมีการปรับดีไซน์และรูปแบบให้เรียบง่ายดูทันสมัย และมีฟังก์ชั่นมากขึ้น

“ที่ Kachong Hills Tented Resort หัวใจสำคัญอันหนึ่งคือการคัดสรรสินค้าท้องถิ่นและงานหัตถกรรมพื้นเมืองที่มีเสน่ห์ของดีไซน์ยุคใหม่มาผสมผสานใช้ในการตกแต่ง และการทำข้าวของเครื่องใช้ในรีสอร์ทกลางป่าครับ องค์ประกอบต่างๆ ที่เราเลือกจึงต้องเน้นความเป็นธรรมชาติเพื่อให้ทุกอย่างหลอมรวมเป็นภาพเดียวกัน” ผู้บริหารหนุ่มเล่าถึงแนวคิดของเขา
“สินค้าหัตถกรรมมักมีเรื่องราวที่สามารถบอกเล่าได้อย่างมีเสน่ห์ สามารถสร้างอารมณ์ความรู้สึกร่วม ให้ผู้มาเยือนซึมซับถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมความเป็นอยู่ได้ผ่านตัวสินค้า มันช่วยส่งผ่านคุณค่าความเป็นไทยของชาวปักษ์ใต้เราได้อย่างน่าประทับใจ” จิระวัฒน์มองว่าโอกาสทางการตลาดของงานหัตถกรรมชุมชนยังมีอนาคตสดใสเพราะเมื่อการท่องเที่ยวกลับมามีชีวิตได้อีกครั้งหลังโควิด-19 นั่นคือเวลาที่สินค้าชุมชนจะกลายเป็นที่ต้องการอย่างมากของธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท ร้านอาหารและคาเฟ่
SACICT กับการผลักดัน “หัตถศิลป์ถิ่นใต้” สู่สากลอย่างยั่งยืน
พรพล เอกอรรถพร ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ เน้นย้ำกับพวกเราว่าการส่งเสริมศิลปาชีพในอนาคตจะต้องเป็นไปอย่างยั่งยืน และสามารถผลักดันงานศิลปาชีพได้ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำอย่างแท้จริง

“เริ่มจากการลงพื้นที่ศึกษาความเป็นไปในชุมชนเพื่อให้ทราบถึงภูมิปัญญา องค์ความรู้ กระบวนการผลิต และปัญหาต่างๆ อย่างถ่องแท้ จากนั้นค่อยเริ่มวางแผนเพื่อผลักดันงานศิลปหัตถกรรมของแต่ละชุมชน โดยต้องร่วมมือกับนักวิจัย และองค์กรต่างๆ นำเทคโนโลยี และเครื่องทุ่นแรงบางอย่างเข้ามาช่วย โดยยังคงคุณค่าของภูมิปัญญาเดิมไว้ แต่ทำให้การผลิตมีศักยภาพมากขึ้น ได้ชิ้นงานที่มากขึ้นในระยะเวลาที่สั้นลง ช่วยชุมชนลดต้นทุนการผลิต
และหากเรานำนวัตกรรมใหม่ๆ จากงานวิจัยเข้ามาช่วย เช่น การเคลือบนาโนในงานผ้า เพื่อเพิ่มอายุการใช้งาน แก้ปัญหาการดูแลรักษา ซักรีดง่ายขึ้น หรือในงานจักสานก็อาจมีการเคลือบผิววัสดุบางชนิดเพื่อช่วยแก้ปัญหาเรื่องเชื้อรา หรือเพิ่มความยืดหยุ่น ซึ่งยังเป็นจุดอ่อนของงานสานปัจจุบันก็น่าจะดี” ผ.อ. พรพล กล่าวถึงวิสัยทัศน์ของท่านอย่างชัดเจน

นอกจากนี้ SACICT ยังมีแผนสนับสนุนด้านการตลาดเพื่อ เพิ่มช่องทางการขายใหม่ๆ ผ่านแพลทฟอร์มออนไลน์ แอพลิเคชั่น รวมถึงการจัดแสดงนิทรรศการและงานจำหน่ายสินค้า เพื่อให้ผู้สร้างสรรค์ศิลปหัตถกรรมท้องถิ่น ได้เรียนรู้แนวทางของตลาดสมัยใหม่ และก้าวทันความเปลี่ยนแปลงของโลกการค้าได้ทันท่วงที

จะเห็นได้ว่างานหัตถกรรมของไทยนั้นมีอัตลักษณ์ที่โดดเด่น มีคุณค่าทั้งทางวัฒนธรรมที่ถูกสืบทอดกันมาหลายชั่วชีวิต และมีคุณค่าในเชิงเศรษฐกิจที่สามารถสร้างอาชีพหล่อเลี้ยงคนในชุมชน และนำไปต่อยอดให้ตอบรับความต้องการในตลาดสากลได้อย่างหลากหลาย
แต่ทั้งหมดทั้งปวง คงต้องอาศัยความร่วมมือแบบบูรณาการจริงจัง จากทั้งคนในชุมชน ภาครัฐ ภาคเอกชนท้องถิ่น และกลุ่มผู้บริโภคในวงกว้าง ที่จะต้องมองให้เห็นถึงคุณค่าความงดงามของมรดกเหล่านี้ และช่วยกันส่งเสริมผลักดันให้เกิดความภาคภูมิใจ เพื่อให้สินค้าหัตถกรรมไทยมีที่ทางในชีวิตประจำวันของคนรุ่นใหม่ได้จริงๆ
Kooper คือหนึ่งเสียงที่เชื่อว่าความฝันนี้จะเป็นจริงได้ในวันหนึ่ง…ไม่นานเกินรอ
รายละเอียดเพิ่มเติม: SACICT