แม้ตอนนี้ไวรัสโควิดจะครองพื้นที่ข่าวไปหมด แต่ในภาคเหนือนั้น ภัยเงียบที่รุนแรงไม่แพ้กันคือภัยจากฝุ่นควันที่สร้างความเสียหายให้ในหลาย ๆ จังหวัด การใส่หน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กแน่นอนว่าไม่ใช่วิธีลดภาวะมลพิษที่เกิดขึ้น แต่เป็นเพียงการป้องกันส่วนบุคคลและเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น ซึ่งไม่ได้ช่วยให้ค่าของมลพิษในอากาศลดลงเลย และเพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหามลพิษทางอากาศ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละประเทศจึงออกนโยบายต่าง ๆ ทั้งการปรับผังเมือง การเพิ่มประสิทธิภาพของการขนส่งสาธารณะ การรณรงค์ให้ใช้จักยานและการเดิน เข้ามาช่วยในการลดปัญหานี้อย่างเคร่งครัด แต่ละประเทศรับมือกับปัญหาอย่างไร ลองศึกษาจากบทความต่อไปนี้ได้เลย
เดลี

เมืองเดลี ประเทศอินเดีย ที่ประสบกับปัญหาหมอกควันพิษปกคลุมอย่างหนักมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยองค์การอนามัยโลกได้เปิดเผยรายชื่อเมืองที่มีมลพิษมากที่สุด 10 อันดับของโลก และเก้าในสิบก็เป็นเมืองที่อยู่ในอินเดีย โดยมีเมืองนิวเดลีเป็นอันดับที่หก และมีค่า PM2.5 ของเมืองเกิน 300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรในสัปดาห์ ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่เป็นอันตรายพอ ๆ กับการถูกลมควันในห้องแก๊ส ซึ่งควันพิษดังกล่าวมีสาเหตุมาจากไอเสียรถยนตร์ ควันโรงงานอุตสาหกรรม และจากการเผาพื้นที่เกษตรในรัฐใกล้เคียง มลพิษทางอากาศในเมืองหลวงกลายเป็นเรื่องรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น เพื่อบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น รัฐบาลนิวเดลีจึงสั่งยกเลิกรถยนต์ดีเซลขนาดใหญ่ รถ SUV ใหม่ที่มีเครื่องยนต์มากกว่า 2,000 ซีซี และยกเลิกแท็กซี่ดีเซลหลายหมื่นคัน แล้วให้การสนับสนุนรถมินิบัสแบบ Uber แทน นอกจากนี้ยังมีการใช้มาตรการกำหนดวันอนุญาตให้รถยนต์ที่ติดป้ายทะเบียนลงท้ายด้วยเลขคู่ และเลขคี่ วิ่งสลับวันกันบนท้องถนนอีกด้วย
ปารีส

กรุงปารีสเป็นหนึ่งในเมืองใหญ่ที่พบกับปัญหาการจราจรติดขัดจนทำให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศที่พุ่งพรวดจนน่าตกใจ เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกเดินทางไปชมสถานที่สำคัญต่าง ๆ นายกเทศมนตรีกรุงปารีสจึงสั่งห้ามไม่ให้รถยนต์วิ่งในย่านใจกลางเมืองประวัติศาสตร์หลายแห่งในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ และกำหนดให้มีการขนส่งสาธารณะฟรีในช่วงที่เกิดมลพิษทางอากาศ ทั้งยังส่งเสริมโครงการแบ่งปันรถยนต์และจักรยานอีกด้วย ส่วนทางชายฝั่งด้านขวาของแม่น้ำแซน ตอนนี้ได้เริ่มนโยบายเป็นถนนปลอดรถยนต์ไปแล้ว และเริ่มบังคับใช้ ‘คาร์ฟรีเดย์’ บนถนนชอง เอลิเซ่ เพื่อลดปริมาณรถยนต์ที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ
เนเธอร์แลนด์

ในประเทศเนเธอร์แลนด์ รัฐบาลได้มีการเสนอนโยบายห้ามการขายรถยนต์ดีเซล และหันไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าหรือไฮโดรเจนแทน ซึ่งหากร่างนโยบายนี้ผ่านการอนุมัติก็จะมีผลบังคับใช้ภายในปี พ.ศ.2568 ทันที นอกจากนี้ยังมีการเสนอกฎหมายจำกัดความเร็วของรถ โดยให้รถสามารถทำความเร็วได้ไม่เกิน 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตามคำสั่งศาล และกฎหมายดังกล่าวจะเริ่มใช้ในปี 2020 นี้ ส่วนใครที่เป็นเจ้าของรถยนต์เบนซินหรือดีเซลอยู่ก่อนแล้วก็สามารถใช้งานได้ต่อไป
ไฟรบูรก์

นโยบายของเมืองไฟรบูร์กในเยอรมนีได้มีการสนับสนุนให้คนหันมาใช้จักรยานมากขึ้น ด้วยการจัดสรรเส้นทางจักรยาน 500 กม. และจัดให้มีบริการสาธารณะอย่างเส้นทางรถราง และระบบขนส่งสาธารณะ โดยกำหนดค่าบริการในอัตราที่ถูกแต่ยังคงมีประสิทธิภาพ ส่วนในย่านชานเมืองบางแห่งได้มีมาตรการห้ามไม่ให้ผู้คนจอดรถใกล้บ้านของตัวเอง ทำให้เจ้าของรถต้องจ่ายเงินเพื่อเช่าพื้นที่จอดรถกว่า 18,000 ยูโร และประชาชนคนไหนที่ไม่มีรถยนต์เป็นของตัวเองจะได้รับสวัสดิการด้วยบ้านราคาถูก การใช้บริการรถขนส่งสาธารณะฟรี และพื้นที่สำหรับจอดรถจักรยานมากมาย
โคเปนเฮเกน

เมืองโคเปนเฮเกนในประเทศเดนมาร์กลดปัญหามลพิษด้วยการใช้แนวคิด การหามูลค่าให้กับชุมชน โดยคิดเปรียบเทียบระหว่างการใช้ ‘จักรยาน’ กับ ‘รถยนต์’ โดยการขี่จักรยาน 1 ไมล์ จะให้มูลค่ากับชุมชนประมาณ 0.42 ดอลล่าสหรัฐ แต่การขับรถยนต์ส่วนตัวเป็นระยะทาง 1 ไมล์กลับให้มูลค่ากับชุมชนน้อยกว่า หรือประมาณ 0.20 ดอลล่าสหรัฐ เมืองส่วนใหญ่ในเดนมาร์กได้ทยอยหยุดใช้รถยนต์มาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว เพื่อทำตามนโยบายที่มุ่งจะเป็นเมือง Carbon Neutral หรือเมืองที่มีกิจกรรมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเท่ากับศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2568 หรืออีก 6 ปีข้างหน้า
ออสโล

เมืองออสโล ประเทศนอร์เวย์ ได้มีการวางแผนที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงครึ่งหนึ่งภายในปี พ.ศ. 2563 นี้ และเสนอเขตปลอดรถยนต์ขนาดใหญ่ สร้างถนนจักรยานใหม่ 40 ไมล์ นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มค่าธรรมเนียมรถติดกับผู้ใช้รถยนต์ในชั่วโมงเร่งด่วนและลดพื้นที่ลานจอดรถหลายแห่ง
เฮลซิงกิ

เฮลซิงกิเมืองหลวงของฟินแลนด์มีแผนที่จะลดจำนวนรถยนต์บนท้องถนนอย่างเข้มงวด โดยมีแนวคิดที่จะทำให้ระบบขนส่งสาธารณะของเมืองมีคุณภาพและประสิทธิภาพสูงสุด เพราะเมื่อประชาชนได้รับความสะดวกสบายอย่างเต็มที่ก็จะไม่มีคนไหนต้องการใช้รถยนต์อีกต่อไป จากแนวคิดดังกล่าวจึงเกิดการลงทุนอย่างมากในการสร้างขนส่งสาธารณะที่ดีขึ้น และได้มีมาตรการเรียกเก็บค่าจอดรถที่สูงขึ้นควบคู่กันไปด้วย นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมให้พลเมืองหันมาใช้การเดินและจักรยานแทนการใช้รถยนต์ ด้วยการเปลี่ยนถนนวงแหวนรอบเมืองเป็นพื้นที่อยู่อาศัย เพื่อให้สะดวกต่อการเดินและปั่นจักรยาน
ซูริค

เมืองซูริคในประเทศสวิตเซอร์แลนด์มีมาตรการจัดการปัญหามลพิษด้วยการจำกัดจำนวนที่จอดรถในเมืองและอนุญาตเพียงรถยนต์บางคันให้สามารถเข้ามาในเมืองได้ นอกจากนี้ยังได้เร่งสร้างพื้นที่ปลอดรถยนต์ พื้นที่สาธารณะ เส้นทางสำหรับรถราง และทางเดินเท้า เพื่อลดการจราจรที่ติดขัดและลดมลพิษให้น้อยลง
กูรีตีบา

กูรีตีบาเป็นเมืองทางตอนใต้ของประเทศบราซิลที่มีประชากร 2 ล้านคน การแก้ปัญหาของเมืองนี้คือ เริ่มจากการจัดระเบียบการใช้ชีวิตของผู้คนในเมืองเรื่องการใช้ถนน อย่างเช่น ปัญหาการจอดรถไว้ข้างทางเพื่อแวะซื้อของจนทำให้การจราจรติดขัดวุ่นวาย แต่พอถึงช่วงเวลาที่ร้านค้าปิด ย่านนั้น ๆ ก็กลับกลายเป็นเหมือนเมืองร้าง ปัญหาจึงไม่ใช่ว่าคนขาดระเบียบ แต่เป็นพื้นที่ที่ต้องเอื้อให้เห็นว่าคนในเมืองสำคัญกว่ารถยนต์ ดังนั้น นายกเทศมนตรีและทีมงานจึงวางแผนที่จะลองเปลี่ยนย่านช้อปปิ้งกลางเมืองของถนนบางสายให้กลายเป็นโซนถนนคนเดิน ซึ่งในระยะเวลาทดลอง 30 วัน แผนนี้กลับประสบความสำเร็จและได้รับผลตอบรับที่ดี จึงเกิดการขยายโครงการต้นแบบนี้เพื่อใช้กับถนนสายอื่นในเมืองด้วยเช่นกัน ทำให้ในปัจจุบันย่านช้อปปิ้งใจกลางเมืองกูรีตีบามีลักษณะเป็นเครือข่ายเดินถึงกันได้ ซึ่งไม่เอื้อต่อการนำรถยนต์ส่วนบุคคลเข้าไป แต่จะมีเพียงรถประจำทาง รถจักรยานและการเดินเท่านั้นที่เหมาะแก่การเข้ามาสู่ใจกลางเมือง นอกจากนี้ยังได้มีการพัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างรถประจำทางทั้งหมดของเมืองใหม่ให้มีระบบและเครือข่ายเดียวกัน ทำให้ 70% ของเมืองไปทำงานด้วยระบบขนส่งสาธารณะ และการที่ประชากรจำนวนมากไม่ใช้รถยนต์ได้ช่วยให้อากาศของเมืองปลอดมลพิษมากขึ้น
บังกาลอร์

Photo by Piyush Kaila on Unsplash
เมืองบังกาลอร์ ประเทศอินเดียอจัดการกับปัญหาฝุ่นละอองด้วยการนำก๊าซธรรมชาติมาใช้ในการเดินรถเมล์ 6,000 คันภายในเมือง และรณรงค์ยกเลิกการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล นโยบายดังกล่าวได้ช่วยลดความแออัดบนท้องถนนลง ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น เป็นผลให้มลพิษทางการจราจรลดลงประมาณ 20%
เกาหลีใต้

รัฐบาลชุด มุน แจอิน อนุมัติให้ปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินในเกาหลีใต้ 8 แห่งชั่วคราว เพื่อลดมลพิษทางอากาศ โดยในปีที่ผ่านมารัฐบาลสั่งปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินเหล่านี้เป็นเวลา 4 เดือนในช่วงฤดูใบไม้ผลิ และมีแผนการจะปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินโรงเก่าถาวรภายในเดือนพฤษภาคมปี พ.ศ. 2563 เพื่อลดมลพิษทางอากาศและทำตามข้อตกลงปารีส เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง แม้ว่าในปัจจุบันโรงไฟฟ้าถ่านหินเหล่านี้ผลิตไฟฟ้าให้กับประเทศถึงร้อยละ 40 ก็ตาม