ถ้าเป็นเมื่อก่อน พอพูดถึง plant therapy แล้ว เชื่อว่าในความคิดของหลายๆ คนคงมีกลิ่นน้ำมันหอมระเหยลอยมาแต่ไกล แต่ไม่ใช่ เราไม่ได้พูดถึงสปาหรือการบำบัดด้วยกลิ่นหอมจากพืช แต่พูดถึงการบำบัดด้วยต้นไม้และการลงมือทำสวนจริงๆ
Horticultural therapy หรือ plant therapy ถือเป็นส่วนหนึ่งของคอนเซ็ปต์ใหญ่ที่เรียกว่า ecotherapy (การบำบัดเชิงนิเวศ) หรือ green therapy ที่แปลอย่างกว้างๆ ได้ว่าการบำบัดด้วยธรรมชาติ ที่เกิดจากความเชื่อที่ว่ามนุษย์และธรรมชาตินั้นอยู่ร่วมในระบบเดียวกัน และเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันเสมอ การที่มนุษย์ต้องพบกับโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ นั้นก็เป็นเพราะพาตัวเองห่างออกจากธรรมชาตินั่นเอง โดย ecotherapy นั้นเป็นการเชื่อมโยงมนุษย์เข้ากับธรรมชาติอีกครั้ง ซึ่งก็ทำได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่การเดินป่า การจัดดอกไม้ ไปจนถึงการทำสวน
แม้จะสอดรับกับเทรนด์รักโลกที่กำลังมาแรงในช่วงนี้ แต่สายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และต้นไม้ก็นับว่าเป็นสายสัมพันธ์เก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่โบราณ การเยียวยาจิตใจด้วยต้นไม้และธรรมชาติจึงเป็นอะไรที่มีมานานแล้ว นักเขียนอเมริกัน ราลฟ์ วัลโด เอเมอสัน ก็มักจะยกความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติมาพูดในงานของเขาเสมอ และในวัฒนธรรมอเมริกันเองก็ได้มีการนำการทำสวนมาใช้บำบัดจริงอย่างจริงจัง ในหลายกรณีในอดีต ทั้งทหารที่ประสบกับภาวะ PTSD หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ไปจนถึงการบำบัดเยาวชนหญิงที่มีแววออกนอกลู่นอกทาง ส่วนในปัจจุบันนี้ การบำบัดด้วยการทำสวนถูกนำมาใช้เป็นหนึ่งในวิธีเยียวยาจิตใจทหารผ่านศึก เด็กๆ คนชรา ไปจนถึงผู้ที่มีอาการเสพติดหรือมีปัญหาด้านจิตใจในโรงพยาบาลสถานบำบัดและศูนย์พักพิงหลายแห่งทั่วโลก

ประโยชน์ทางจิตใจของการทำสวน
- ช่วยให้อารมณ์ดีขึ้น เป็นธรรมชาติอยู่แล้วที่มนุษย์จะรู้สึกดีและมองโลกในแง่ดีขึ้นเมื่อรายล้อมด้วยธรรมชาติ นอกจากนี้ งานวิจัยยังชี้ว่าดอกไม้นั้นช่วยให้เกิดอารมณ์ด้านบวกด้วย แถมการทำสวนยังช่วยให้เราโฟกัสภาพใหญ่ ซึ่งสามารถช่วยบรรเทาอาการซึมเศร้าอีกทอดหนึ่ง
- ช่วยบรรเทาความเครียดและความวิตกกังวล การมองต้นไม้และดอกไม้คือกิจกรรมที่เสริมสร้างความสงบ ทำให้เราลืมความวิตกกังวลหรือความขัดแย้งต่างๆ ไปได้ชั่วคราว จริงๆ แล้วแค่ดมกลิ่นของต้นแมกโนเลียก็ทำให้ระดับคอร์ติซอลในร่างกาย (ที่เชื่อมโยงกับความเครียด) ลดลงไปด้วย เช่นเดียวกับการทำสวนที่มีการวิจัยว่าสามารถลดระดับคอร์ติซอลได้เช่นกัน
- ทำให้มีสมาธิได้นานขึ้น การทำสวนหรืออยู่กับต้นไม้ทำให้เรามีสมาธิและสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆได้นานยิ่งขึ้น งานวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ใน American Journal of Public Health ระบุว่าเด็กที่มีอาการสมาธิสั้นสามารถจดจ่อกับสิ่งต่างๆได้ยาวนานยิ่งขึ้นถ้าเป็นกิจกรรมที่อยู่ในสวนหรือในธรรมชาติ
- ช่วยเสริมความมั่นใจ การเฝ้ารดน้ำพรวนดินและได้เห็นต้นไม้ค่อยๆเติบโตทำให้เรารู้สึกมีคุณค่าและมีความหมาย การทำสวนจึงเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้คนเห็นคุณค่าในตนเองแบบไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับคนอื่น
- ช่วยให้ยอมรับความเปลี่ยนแปลง มีเกิดก็ต้องมีตาย มีผลิบานก็มีร่วงโรย และหลายๆอย่างก็อยู่เหนือการควบคุมของเรา และคงไม่มีใครที่สอนเรื่องนี้ได้ดีกว่าธรรมชาติแล้ว ฉะนั้นถ้าเกิดปลูกต้นไม้แล้วตายก็อย่าเพิ่งเสียใจไป เพราะบางทีธรรมชาติอาจจะกำลังสอนเราอยู่ก็ได้นะ
- ช่วยให้ยอมรับว่าโลกนี้ไม่มีอะไรเพอร์เฟ็กต์ เพราะแม้จะดูแลต้นไม้ของเราดีแค่ไหน ก็มักจะมีปัจจัยอื่นๆ มารบกวนอยู่เสมอ
- พัฒนา growth mindset เพราะการทำสวนเป็นกิจกรรมที่มีปัจจัยภายนอกมาเกี่ยวข้องมากมาย การทำสวนจึงต้องอาศัยการทดลองและปรับตัวอยู่เสมอ ทำให้เราเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา
- เรียนรู้ที่จะอยู่กับปัจจุบัน รับรู้ถึงการมีอยู่ของธรรมชาติรอบตัว แบบที่หลายๆคนเรียกว่า “Zen Moment” นั่นแหละ
- ได้ออกกำลัง การทำสวนทำให้เราต้องขยับร่างกายอยู่ตลอดเวลา ทั้งรดน้ำ พรวนดิน ถ้าสวนใหญ่ก็ทำให้ได้เหงื่อเหมือนไปยิมเลยนะ และเมื่อร่างกายเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนโดพามีนซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความสุขออกมา เรียกว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัวเลย