fbpx

Passion Economy มาแรง! เทรนด์ใหม่ที่ครีเอเตอร์ไทยต้องรู้จัก

เรามองเห็นเทรนด์อะไรในแวดวงครีเอเตอร์บ้าง ในช่วงเวลาที่คนทั่วโลกถูกจำกัดการเดินทางเพราะการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา?

โอเค… ถ้าช่วงล็อคดาวน์ในเมืองไทยคุณอาจตอบว่า TikTok ไงล่ะจ๊ะ… เอิ่ม ก็ไม่ผิดหรอก แต่ถ้าลองมองไปให้ไกลกว่านั้นล่ะ เป็นต้นว่าในหลายๆ ประเทศ คุณอาจพบว่าผู้คนจำนวนมากใช้เวลาเหลือเฟืออยู่กับบ้าน (ที่ไม่เคยมีมาก่อน) สรรหาความรู้ใหม่ๆ โดยเฉพาะในสิ่งที่พวกเขาสนใจหลงใหล หรือที่เรียกกันว่า “มี passion”

บางคนไปลงเรียนร้องเพลงกับ Christina Aguilera เรียนการแสดงกับ Nathalie Portman เรียนทำอาหารกับ Gordon Ramsay เรียนออกแบบและสถาปัตยกรรมกับ Frank Gehry หรือที่มันไปกว่านั้นอีกก็มีคอร์สเรียนทำเบียร์คราฟต์ วิธีย่างเนื้อ เล่นไพ่โป๊กเกอร์ยังไงให้เป็นเซียน หรือวิธีเจรจาต่อรองที่สอนโดยอดีต FBI ฯลฯ

ช่องทางการเรียนวิชาความรู้เหล่านี้แน่นอนว่าคือ online platform แต่ไม่ใช่ platform เดิมๆ ดังๆ ที่รวมเอาคอนเทนต์ทุกอย่างเข้าไว้ด้วยกันอีกต่อไป แต่เป็น platform ที่วางตัวเป็นห้องเรียนออนไลน์ชัดเจน ที่ดังที่สุดก็เห็นจะเป็น Masterclass แต่ Skillshare และ Udemy ก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจไม่แพ้กัน

Passion Economy คือปรากฏการณ์ที่เหล่าครีเอเตอร์นำเอาทักษะความรู้ความชำนาญ ที่พวกเขามี passion และสั่งสมประสบการณ์ยาวนานมาเปลี่ยนให้เป็นรายได้ โดยใช้ online platform ที่ไม่ใช่กระแสหลัก และมักมีลักษณะเป็น community ที่รวมเอากลุ่มคนที่มีความสนใจเรื่องเดียวกันไว้ด้วยกัน… 5 ข้อนี้ล่ะคือองค์ประกอบและคำอธิบายง่ายๆ ของสิ่งที่เราเรียกว่า Passion Economy 

เมื่อ Attention Economy เริ่มเฝือ ก็ถึงเวลาของ Passion Economy

Passion Economy เกิดมาจากความน่าสนใจที่ลดน้อยถอยลงทุกทีใน Attention Economy เช่นเดียวกับที่ผู้บริโภคจำนวนมากเริ่มเหม็นเบื่อโซเชียลมีเดียบิ๊กเนมที่หากินกับเวลาและความสนใจของพวกเขา แต่กลับตอบสนองความพอใจได้ไม่ถึงครึ่งเลยด้วยซ้ำ ลองนึกภาพง่ายๆ ว่าผู้บริโภคใช้เวลาควานหาสิ่งที่ตัวเองสนใจในโซเชียลมีเดียเกือบทั้งวัน แต่ผลลัพธ์กลับกลายเป็นว่าพวกเขาต้อง “เสียเวลา” มากกว่าครึ่งหนึ่งในนั้นว่ายวนอยู่ท่ามกลาง “ขยะ” ที่พวกเขาไม่ได้ต้องการเลย

ผลที่ตามมาจากนั้นคือ ผู้บริโภคจะใช้เวลากับโซเชียลมีเดียเดิมๆ น้อยลง และพวกเขาจะเริ่มมองหา platform ใหม่ที่ตอบสนองความต้องการได้ตรงจุดกว่า ในส่วนนี้เองที่ Passion Economy เข้ามาตอบโจทย์ ด้วยการเสนอ “พื้นที่” ที่สร้างขึ้นจากครีเอเตอร์ที่มีความหลงใหลสนใจเดียวกันกับผู้บริโภค รวมทั้งเป็นพื้นที่ที่สร้างขึ้นอย่างจริงใจ เพื่อให้เป็น community สำหรับผู้ที่มีความหลงใหลสนใจร่วมกันได้เข้ามาปฏิสัมพันธ์กัน

ว่าแต่… สินค้าและบริการอะไรบ้างที่เข้าข่าย Passion Economy

นอกจากคอร์สออนไลน์ที่ยกตัวอย่างไปในตอนต้น สินค้าและบริการอื่นๆ ก็สามารถเป็น Passion Economy ได้ แต่ มันจะต้องเป็นสินค้าและบริการที่มาจากทักษะความรู้ความชำนาญเฉพาะตัวของครีเอเตอร์นั้นๆ แม้แต่การรีวิวของเล่นก็เป็น Passion Economy ได้ หากมันเป็น passion ของครีเอเตอร์

อย่างในกรณีของหนูน้อยไรอัน จาก Ryan’s World ที่เริ่มรีวิวของเล่นมาตั้งแต่ 4-5 ขวบ จนตอนนี้ 9 ขวบ ทำรายได้ไปแล้วกว่า 30 ล้านเหรียญสหรัฐ! หรือครีเอเตอร์ที่มีความสามารถในการทำงานฝีมือและงานออกแบบ แล้วเอาผลงานของพวกเขาไปขายทาง Etsy ที่เสมือนตลาดออนไลน์ที่รวมคนรักงานดีไซน์งานคราฟต์เข้าไว้ด้วยกัน ก็จัดเป็น Passion Economy เหมือนกัน

ที่สำคัญที่สุด Passion Economy จะต้องไม่ใช่แค่สินค้าและบริการที่ตอบสนองความต้องการพื้นฐาน อย่าง ปัจจัย 4 หรือ ความต้องการทางจิตใจทั่วไป เช่น ความมั่นคงปลอดภัย ความสบายใจ และความรัก/การเป็นเจ้าของ ฯลฯ แต่สินค้าและบริการที่เข้าข่าย Passion Economy จะต้องตอบสนองความต้องการที่เหนือไปกว่านั้น นั่นคือ ความภาคภูมิใจในความสามารถและการแสดงออกถึงศักยภาพของตน

หรืออย่างที่ทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ (Maslow’s Hierachy of Needs) เรียกว่า “ความสมบูรณ์ของชีวิต” ซึ่งกิจกรรมต่างๆ ที่อยู่ในหมวดความคิดสร้างสรรค์ (creativity) ก็รวมอยู่ในความหมายนี้ด้วย

แล้วครีเอเตอร์จะได้อะไรจาก Passion Economy

แน่นอน สิ่งที่ครีเอเตอร์จะได้คือ โอกาสทองในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่มี passion เดียวกัน และโอกาสในการเปลี่ยน passion ให้กลายเป็นอาชีพที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ เพราะ online platform เหล่านี้ เป็น community ที่คัดเอาคนที่มีความหลงใหลสนใจแบบเดียวกันกับคุณมายื่นให้คุณแล้ว คุณจึงไม่ต้องไปเปลืองแรงเสียเวลาเรียกร้องความสนใจอย่างแต่ก่อนอีกต่อไป เพราะความหลงใหลนั้นมีอยู่ใน community นั้นๆ เรียบร้อยแล้ว

ยกตัวอย่าง หากคุณเป็นครีเอเตอร์ที่ชื่นชอบการเขียนเล่าเรื่อง เช่น เรื่องภาพยนตร์ ดนตรี กีฬา ฯลฯ คุณก็อาจสมัคร Substack หลังจากนั้น ผู้อ่านที่สนใจในเรื่องเดียวกันกับคุณก็จะสามารถเลือกติดตามผลงานเขียนของคุณที่ส่งตรงถึงพวกเขาได้ทุกครั้งที่คุณอัพโหลดบทความนั้น

เมื่อคุณเข้าใจ Passion Economy 101 แล้ว ถึงเวลาต้องคิดให้ดีว่าอะไรคือ passion ที่คุณชำนาญจนสามารถสร้างเป็นอาชีพได้ จากนั้นก็เลือก platform ที่เหมาะสมกับ passion นั้น (ในบทความนี้เราก็ยก platform ที่น่าสนใจมาให้เห็นหลายเจ้าอยู่) และจำไว้ให้ดีว่า platform ที่จัดทำโดยองค์กรที่แสวงหากำไรจะใช้ไม่ได้ผลสำหรับผู้บริโภคกลุ่มนี้ แต่ต้องเป็น platform ที่มีผู้ดูแลจัดการเป็นคนที่มี passion ในสิ่งนั้นจริงๆ

เพราะผู้บริโภคของ Passion Economy จะไม่ยอมถูกหลอกอีกต่อไปแล้ว

ที่มา: forbes.com, altar.io

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin
Share on pinterest

More to explore

แผลเก่า:Old Wound แผลเดิมในเรื่องเล่า ที่ยังเป็นแผลสดของพล็อตสังคมไทย

นิทรรศการ แผลเก่า / Old Wound นิทรรศการเดี่ยวโดย ประทีป สุธาทองไทย ศิลปินนักตั้งคำถาม ผู้ซ่อนบทสนทนาทางสังคมไว้ในงานเสมอ

“Yesterday I Was, Tomorrow I Will Be” นิทรรศการแห่งความฝันและความสำเร็จของ “Pomme Chan”

ก้าวสู่โลกที่เปี่ยมไปด้วยแพชชั่น ผ่านผลงานศิลปะตั้งแต่ชิ้นแรกที่น้อยคนจะได้เห็น สู่วันที่ประสบความสำเร็จในสายอาชีพร่วมระยะเวลา 20 ปี