วัสดุเหลือใช้ล้วนมีคุณค่าเสมอถ้าเราคิดและนำมาพัฒนาต่อ เศษเส้นตอกเตยซึ่งเป็นวัสดุเหลือใช้จากงานหัตถกรรมปาหนันของวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์เตยปาหนันบ้านดุหุน จ.ตรัง ก็เช่นเดียวกัน ในวิถีหัตถกรรมเตยตั้งแต่ไหนแต่ไรมา 5 – 20 % ของเส้นตอกที่เหลือในงานหัตถกรรมจำเป็นต้องตัดทิ้งอยู่เสมอ ถึงแม้จะมีประโยชน์อยู่บ้างสำหรับการทำหน้าที่เป็นตัวกันกระแทกในการขนส่ง แต่สุดท้ายปริมาณเส้นตอกที่ถูกตัดทิ้งก็ยังคงปริมาณที่มาก และล้นพื้นที่จัดเก็บ บางครั้งในอดีตจำเป็นต้องนำไปเผาทำลายเสียด้วยซ้ำ แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Circular Economy) ภายใต้ BCG model จึงถูกนำมาใช้เป็นแนวทางสำคัญในการต่อยอดการใช้ทรัพยากรเตยให้เกิดประโยชน์สูงสุด และคุ้มค่าอย่างสร้างสรรค์

“สาดปาหนัน” คำว่า “สาด” ภาษาท้องถิ่นภาคใต้ หมายถึง “เสื่อ” เสื่อหรือสาดเตยเป็นวัตถุทางวัฒนธรรมสำหรับใช้ในวิถีชีวิต จันทร์เพ็ญ ปูเงิน ประธานวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์เตยปาหนันบ้านดุหุน รวมทั้งช่างสานเตยในชุมชนให้คุณค่าในวิถีการใช้สาด สาดเตยปาหนันจึงเปรียบเสมือน “ตัวบุญ” ที่มีคุณในการพึ่งพาแก่ชุมชนตั้งแต่แรกเกิดจวบวันที่ลาจากโลกผ่านรูปแบบการใช้ในชีวิตประจำวัน และพิธีการต่าง ๆ ตามวิถีมุสลิมมาตั้งแต่อดีต นอกจากนี้การสานสาดเตยปาหนันก็เป็นทักษะพื้นฐานที่ช่างสานทุกคนพึงเรียนรู้เพื่อใช้เป็นแนวทางในการคลี่คลายสู่การออกแบบสร้างสรรค์ในรูปแบบอื่นๆ อีกด้วย ซึ่งเป็นที่มาของ “สาดปาหนัน สาดสร้างสรรค์” อันเป็นชื่อโครงการสร้างสรรค์เชิงนวัตกรรมในงานวิจัยเรื่อง “วิถีปาหนัน” ส่วนหนึ่งของโครงการให้ความสำคัญกับการส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อมในเชิงสร้างสรรค์ อาทิ ในปี 2564 ได้ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนฯ โดยเชื่อมโยงในการเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในโครงการ Green Production ของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้รับการรับรองในระดับ G ทองแดง และส่งเสริมต่อเนื่องด้วยการนำวัสดุเหลือใช้ซึ่งเป็นเส้นตอกจากการสาน อาทิ สาดเตย ขมุกยา ซองใส่ของ กระเป๋า และสินค้าต่าง ๆ มาพัฒนาต่อยอดเป็นวัสดุใหม่ สราวุธ กลิ่นสุวรรณ นักวิจัย/นศ.ป.เอก จากสาขาวิชาศิลปะการออกแบบเชิงวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้มีการศึกษาและทดลองการนำเศษเส้นตอกเตยที่เหลือมาทำการย่อยเส้นใยเพื่อสร้างเยื่อจากธรรมชาติสำหรับเป็นวัสดุต้นทางในการสร้างสรรค์เป็นวัสดุใหม่ โดยเชื่อมโยงเครือข่ายด้วยการร่วมมือกับ สมสมร สัจจา นักออกแบบรุ่นใหม่จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ในการร่วมคิดค้นหาวิธีการในการย่อยเส้นใยเตยสำหรับการต่อยอดเป็นวัสดุใหม่เชิงสร้างสรรค์ภายใต้การคำนึงถึงกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ด้วยคุณสมบัติทางกายภาพของเตยปาหนันที่มีความเหนียว การย่อยเส้นใยจากเส้นตอกเตยปาหนันที่แห้งจึงกระทำได้ค่อนข้างยากกว่าใบสด แต่ผู้วิจัยก็หาวิธีการในการสลายเซลลูโลสเพื่อทำเยื่อเตยปาหนันที่ยังคงคุณสมบัติทางกายภาพของความเป็นเตยปาหนัน เยื่อเตยปาหนันสามารถพัฒนาโดยแปรรูปเป็นกระดาษปาหนัน (Panan Paper) ระยะเวลาในการย่อยและการปั่นหรือการตำด้วยการประยุกต์ใช้ครกไม้ซึ่งเป็นภูมิปัญญาในวิถีการทำนาของชาวบ้านดุหุนในอดีตมาตำเส้นใยเตยที่ผ่านการต้มให้กลายเป็นเยื่อเตยทำให้สามารถสร้างผลงานกระดาษได้หลากหลายพื้นผิว ด้วยคุณค่าของพื้นผิวที่มีความเฉพาะจากเส้นใยเตย ประกอบกับกระบวนการผลิตที่ไม่ผ่านการฟอกขาว ไร้ซึ่งการเจือสีย้อมเคมีทำให้กระดาษเตยปาหนันที่ผลิตแต่ละครั้งมีความเป็นอัตลักษณ์ของวัสดุ มีสีสัน และกลิ่นเฉพาะของเตยที่คงความเป็นธรรมชาติ ปัจจุบันกระดาษเตยปาหนันของชุมชนเป็นหนึ่งในวัสดุของฐานข้อมูลวัสดุไทย TCDC Material Database ของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ CEA ด้วย

กระดาษปาหนันจากการพัฒนาเป็นวัสดุใหม่ในโครงการ “สาดปาหนัน สาดสร้างสรรค์” ยังมีการพัฒนาวัสดุกระดาษให้สามารถขึ้นรูปเป็นรูปทรง 3 มิติ มีการออกแบบเป็นโคมไฟภายใต้ชื่อผลงาน “สาด – แสง” ซึ่งสะท้อนเรื่องราวจากวิถีช่างสานเตยของชุมชนดุหุนในอดีตที่มีการใช้ตะเกียงเป็นแสงส่องสว่างในการจักสานเตยปาหนันยามค่ำคืนหลังจากเสร็จภารกิจจากการทำเกษตร การทำนาในช่วงกลางวัน นอกจากผลงานจะสื่อถึงการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และการแสดงออกถึงความเป็นวิถี เสน่ห์ของชิ้นงานอย่างหนึ่งคือการขึ้นรูปทรงด้วยวิธีการหัตถกรรมในทุกขั้นตอน ชุมชนมีโอกาสนำผลงานไปร่วมแสดงนิทรรศการ DEmark Show ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศพร้อมกับผู้ประกอบการสินค้าไลฟ์สไตล์อื่น ๆ เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา
การพัฒนาต่อยอดด้วยการเชื่อมโยงโดยสร้างเครือข่ายใหม่ ๆ ให้กับชุมชนให้มีโอกาสนำวัสดุเหลือใช้อย่างเศษเส้นตอกเตยปาหนันโดยร่วมการพัฒนาวัสดุกับแบรนด์อื่นๆ มากขึ้น เป็นกลยุทธ์สำหรับในการทำงานสร้างสรรค์ร่วมแบบบูรณาการ ถือเป็นโอกาสดีที่ ปองภพ เกณฑ์ชัยภูมิ นักพัฒนาวัสดุรุ่นใหม่จาก REHUB Studio เห็นคุณค่าของวัสดุท้องถิ่นภาคใต้อย่างเตยปาหนัน โดยมาร่วมต่อยอดเศษวัสดุเหลือใช้จากหัตถกรรมเตยปาหนันด้วยการทดลองและพัฒนาเป็นวัสดุใหม่เชิงนวัตกรรมสร้างสรรค์ในรูปแบบไม้ทดแทนที่คงเสน่ห์ความงามจากพื้นผิวของเศษวัสดุเส้นตอกเตยหลากสีสัน มีการใช้เทคนิคเฉพาะซึ่งเป็นสูตรพิเศษของ REHUB Studio ที่ทำให้วัสดุมีคุณสมบัติที่ดีสามารถใช้งานได้เหมือนไม้จริง ปองภพ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าในอนาคตหากมีการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นวัสดุใหม่ชนิดนี้จะเป็นวัสดุทดแทนไม้ที่มีลักษณะทางกายภาพและดีไซน์ที่เฉพาะตัวสำหรับรองรับการใช้งานในอุตสาหกรรมไลฟ์สไตล์ยุคใหม่ ซึ่งยังสามารถต่อยอดในการผลิตให้เกิดลวดลายต่างๆ ที่เกิดจากการจัดองค์ประกอบเส้นตอกเตยได้หลากหลาย อีกทั้งสร้างทางเลือกใหม่ด้วยการผลิตชิ้นงานตามความต้องการของผู้ซื้อซึ่งจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้นภายใต้การทำงานที่เชื่อมโยงกับวิถีชุมชน

“103Paper Shop” เป็นอีกแบรนด์หนึ่งที่ทำงานสร้างสรรค์เกี่ยวกับการนำกระดาษรีไซเคิลมาแปรรูปเป็นสินค้าไลฟ์สไตล์ทั้งในเชิงการใช้สอยและการตกแต่งผ่านการนำเสนอในรูปแบบประติมากรรมกระดาษสมัยใหม่ 103Paper Shop ให้ความสนใจในการร่วมพัฒนากับโครงการโดยทดลองนำเศษเส้นตอกเตยเหลือใช้ไปทำงานผ่านกระบวนการของแบรนด์ ทว่าในระยะแรกที่เริ่มโครงการเมื่อปี 2564 ยังหาวิธีการในการพัฒนาต่อได้ค่อนข้างยากเนื่องจากข้อจำกัดในคุณสมบัติของเส้นตอกเตยที่มีความเหนียวและย่อยเส้นใยได้ยาก เมื่อโครงการมีการพัฒนาอีกขั้นจึงมีการนำกระดาษเตยไปพัฒนาร่วมกับแบรนด์อีกครั้ง วิทยา ชัยมงคล ผู้ก่อตั้งแบรนด์ ใช้วิธีการย่อยเยื่อกระดาษเตยอีกครั้งโดยผสมผสานกับสูตรพิเศษ และเทคนิคในการขึ้นชิ้นงานตามแบบฉบับของแบรนด์ ในการสร้างสรรค์มีการนำเสนอทั้งในรูปแบบสัจจะวัสดุที่แสดงออกผ่านพื้นผิวและสีจากเยื่อเตยซึ่งหากพิจารณาในรายละเอียดก็จะเห็นโครงสร้างเส้นใยเตยอย่างชัดเจนอยู่บ้าง และรูปแบบที่ผสมผสานวัสดุจากเยื่อเตยกับเยื่อกระดาษรีไซเคิลอื่นๆ ซึ่งสามารถ mix & match ผ่านการสร้างรูปทรง และสร้างลวดลายแนวนามธรรมได้อย่างลงตัว ภายใต้ชื่อผลงาน “Simple” สำหรับใช้ เป็น Stationery อเนกประสงค์ใส่อุปกรณ์ขนาดเล็กบนโต๊ะทำงาน หรือการใช้งานต่าง ๆ การนำวัสดุเหลือใช้ผ่านการเชื่อมโยงระหว่าง 2 พื้นที่ที่มีอุตสาหกรรมที่ต่างกัน วัสดุต่างกัน และไม่เคยร่วมกิจกรรมกันมาก่อนสื่อให้เห็นรูปแบบการทำงานสร้างสรรค์ที่เอื้อประโยชน์ในการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ผ่านแนวคิดการนำวัสดุเหลือใช้ให้สามารถกลับมีชีวิตอีกครั้ง และสามารถใช้งานได้จริงในวิถีใหม่ตามรูปแบบ the next life ที่สามารถเกิดได้จริงในชีวิตปัจจุบันอีกครั้งผ่านวิถีวัฒนธรรมในรูปแบบความร่วมมือในการสร้างสรรค์

นอกเหนือจากการให้ความสำคัญกับแนวคิด Circular Economy ซึ่งเกี่ยวข้องกับมิติเชิงเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมแล้ว โครงการ “สาดปาหนัน” ยังวางแผนต่อไปในอนาคตว่าการทำ “กระดาษปาหนัน” หรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ จากเศษเส้นตอกเตยปาหนันนี้จะเกิดประโยชน์แก่ชุมชนบ้านดุหุนในองค์รวม 3 เสาหลักภายใต้แนวคิด “การพัฒนาเพื่อความยั่งยืน” (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) ทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ในมิติเชิงสังคมจะเกิดประโยชน์ต่อผู้คนในชุมชนในการสร้างโอกาสของอาชีพทางเลือกใหม่ ๆ การยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยการเรียนรู้เชิงนวัตกรรม ที่จะนำไปสู่มิติเชิงเศรษฐกิจซึ่งกิจกรรมนี้จะช่วยเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับเศรษฐกิจชุมชน การสร้างรายได้แก่ผู้คนในชุมชนที่สนใจต่อยอดมากขึ้น รวมทั้งมิติเชิงสิ่งแวดล้อมโดยสร้างให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเตยในท้องถิ่นอย่างคุ้มค่าและคำนึงถึงกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมภายในชุมชน
วิถีหัตถกรรมเตยปาหนันชุมชนดุหุนซึ่งเดิมมีแต่ผู้หญิงและช่างสานวัยกลางคนถึงระดับอาวุโส ประกอบกับคนรุ่นใหม่ในชุมชนก็ให้ความสนใจน้อยลงเรื่อยๆ การสร้างสรรค์กิจกรรมรูปแบบใหม่ๆ รวมทั้งการสร้างโอกาสด้วยการเชื่อมโยง และสร้างเครือข่าย หรือ networking อย่างเป็นรูปธรรม จึงเป็นกลยุทธ์หนึ่งในการสร้างพื้นฐานในการปรับเปลี่ยนวิถีจากวิถีปาหนันในรูปแบบหัตถกรรมท้องถิ่นให้กลายเป็นวิถีปาหนันในเชิงนวัตกรรมสร้างสรรค์มากขึ้นภายใต้การคำนึงถึงวัฒนธรรมและภูมิปัญญา นอกจากจะเสริมสร้างให้ชุมชนมีการเชื่อมโยงกับหน่วยงาน และแบรนด์ต่าง ๆ แล้ว การหันกลับมาเชื่อมโยงชุมชนถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะส่งเสริมให้ชุมชนเกิดการขับเคลื่อน เมื่อ วรวุฒิ ปูเงิน และ ณัฐวัตร เขียดเขียว นักออกแบบรุ่นใหม่ซึ่งอาศัยอยู่ในชุมชนบ้านดุหุนเริ่มเห็นความสำคัญในการพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาด้วยการมาเวิร์คชอปเพื่อเรียนรู้วิธีการพัฒนาเศษวัสดุเตยในโครงการ วรวุฒิ ยังเป็นประธานกลุ่มเยาวชนของหมู่บ้าน และเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหนึ่งในการจัดกิจกรรมเพื่อสังคมในชุมชน ทั้ง 2 คนก็ได้ชักชวนเครือข่ายเยาวชนรุ่นใหม่อีกหลายๆ คนในหมู่บ้านมาร่วมกิจกรรมของโครงการในครั้งนี้ภายใต้การสนับสนับสนุนและคำแนะนำจากวิสาหกิจชุมชนฯ เช่นเดียวกัน

ปัจจุบัน 2 นักออกแบบสามารถนำความรู้จากการเวิร์คชอปมาสร้างสรรค์ผลงานด้วยตนเอง ถึงแม้การพัฒนาจะอยู่ในระยะเริ่มต้น แต่นักออกแบบก็ได้เรียนรู้ความเป็นธรรมชาติของวัสดุอย่างเตยปาหนันจากการลงมือปฏิบัติจริง ทำให้เกิดการเข้าใจถึงคุณสมบัติของวัสดุ รวมทั้งการให้ความสำคัญในการต่อยอดเป็นผลงานสร้างสรรค์ภายใต้การเคารพต่อความเป็นเนื้อแท้ของวัสดุ ความพยายามในการค้นหาวิธีการใหม่ๆ จากข้อจำกัดในกระบวนการผลิตผ่านการรักษาวิธีการเชิงหัตถกรรมที่เชื่อมโยงกับภูมิปัญญาที่สืบสานมาตั้งแต่อดีตเพื่อสร้างคุณค่าของผลงานด้วยการใช้ทรัพยากรที่อยู่คู่กับชุมชน และวิถีชุมชนอย่างสร้างสรรค์สู่ความยั่งยืนต่อไป