ในปี 2021 เป็นปีทองของกระแสการลงทุนใน Cryptocurrency (หรือที่เราเรียกกันว่า ‘คริปโท’) นักลงทุนหน้าใหม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สื่อหลักสื่อรองล้วนพูดถึงความสำคัญ และข้อควรระวังสำหรับการลงทุนในทรัพย์สินอย่าง Cryptocurrency ซึ่งนอกจากซื้อ-ขายเหรียญดิจิทัล บนกระดานต่างๆแล้ว ยังมีความนิยมในสิ่งที่เรียกว่า NFT หรือ Non-Fungible Token ด้วย แล้ว NFT คืออะไร เกี่ยวของกับ Cryptocurrency และครีเอเตอร์อย่างไรบ้าง มาดูกัน
NFT คืออะไร เกี่ยวอะไรกับ Cryptocurrency
Non-Fungible Token คืออะไร หาก Cryptocurrency คือตัวแทนของสกุลเงินบนโลกดิจิทัล โดยมีการทำงานอยู่บนระบบที่เรียกว่า Blockchain และเงินสกุลคริปโทนี้สามารถแทนเงิน (แม้ว่าหลายๆประเทศยังไม่ยอมรับในการชำระเงินชนิดนี้ก็ตาม) ส่วน NFT จะเป็นสิ่งที่อยู่บน Blockchain เช่นเดียวกัน แต่ไม่สามารถแตกแยกย่อยและใช้แทนเงินได้ และเรียกได้ว่าเป็นตัวแทนของการสะสมที่มีมูลค่า โดยมูลค่าเหล่านั้นจะสัมพันธ์กับปริมาณและความต้องการของเหล่านักสะสม (และนักเก็งกำไร) ยกตัวอย่างเช่น การสะสมพระเครื่อง, โมเดลฟิกเกอร์, กระเป๋าแบรนด์, นาฬิกา ฯลฯ
มูลค่าของ NFT มาจากไหน
หลักการของมูลค่า NFT ไม่ต่างจากของสะสมทั่วๆไป เมื่อปริมาณของกับปริมาณความต้องการไม่สมดุลกัน หากมีความต้องการมาก และของสะสมนั้นมีปริมาณที่จำกัด แต่อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจมองว่า ภาพที่อยู่บนโลกดิจิทัล ที่เราสามารถ Copy & Paste ได้ง่ายๆ ใครก็ถือครองได้จะไปมีค่าอะไร หากคุณกำลังคิดอย่างนั้น มันก็ไม่ถูกซะทีเดียว เพราะ NFT เองมีการเข้ารหัสที่เชื่อมต่อกับ Blockchain จึงทำให้เราสามารถทราบที่มาของภาพชิ้นนั้น และตรวจสอบได้ว่า NFT อยู่กับใครผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล ซึ่งเป็นสิ่งที่ยืนยันและระบุผู้ถือครองงานชิ้นนั้นเพียงหนึ่งเดียว นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดที่สามารถเพิ่มมูลค่าของตัว NFT ชิ้นนั้นๆ ได้จากชุมชน (Community) ที่มีความเชื่อ, ความคลั่งไคล้ หรือปรารถนาในสิ่งเดียวกัน ที่จะขับเคลื่อนให้มูลค่าของ NFT สูงขึ้น
อะไรที่สามารถเป็น NFT ได้บ้าง?
ในปัจจุบันมีการ Mint (การสร้างเหรียญ) NFT ออกมาหลากหลายรูปแบบไม่เพียงแต่การเป็นภาพ คุณยังสามารถสร้างมันขึ้นจากไฟล์ เสียง,วีดีโอ, ชื่อโดเมน และอื่นๆได้อีกด้วย และมันถูกแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท
- NFT สำหรับงานศิลปะและงานสะสม เป็นผลงานที่ศิลปิน หรือใครก็ตามที่อยากจะสร้างชิ้นงานออกมาเป็น NFT เพื่อการชื่นชมสะสม ผ่านการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ และแบ่งออกเป็น 2 ชนิดงานที่นิยมทำกัน
- งาน Mastepiece ผลงานศิลปะที่ถูกถ่ายทอดจากเรื่องราวแนวความคิดของศิลปิน เป็นผลงานที่มีเพียงชิ้นเดียว หรืออาจจะผลงานที่ได้รับความนิยมยกตัวอย่าง เช่น คลิปไวรัล, ทวีตแรกบนทวิตเตอร์
- งานสะสม (Collectible) ผลงานภาพขนาด 1:1 สร้างออกมาเป็นชุดและมีรายละเอียดที่ไม่ซ้ำกัน มักนำมาใช้เป็น Profile Avatar บน Platform Twitter, Telegram และอื่นๆ
- NFT Game/ Multiverse งาน NFT สำหรับใช้บน Game Play to Earn บนโลก Blockchain แบ่งเป็นกลุ่ม ตามวัตถุประสงค์ที่ต่างกัน โดยทั้งหมดถูกผลิตขึ้นผ่าน Developer ผู้สร้างเกม มีการแลกเปลี่ยน และราคาที่สูงตามความนิยมในช่วงเวลานั้นๆของแต่ละเกม
- NFT ตัวละคร ใช้สำหรับเล่นในเกมนั้นๆ
- NFT ไอเท็มอุปกรณ์ ใช้สำหรับเพิ่มศักยภาพของตัวละครตามที่เกมกำหนด เพื่อเพิ่มความสามารถในการ Earn
- NFT ที่ดิน (Land) ใช้สำหรับเป็นพื้นที่ที่ผู้ซื้อสามารถเอาไปต่อยอด เช่น สร้างเกม, ขาย, ปล่อยเช่า ขึ้นอยู่กับตัวเกมกำหนด
- NFT ที่มีการผูก คุณประโยชน์พิเศษ (Utility) ลงไป จึงทำให้ตัวผลงานมีความพิเศษมากขึ้น จึงทำให้ NFT ชิ้นนั้น สามารถนำไปใช้ต่อได้จริง ซึ่งการผูก Utility เข้ากับ NFT สามารถใช้ร่วมกับงาน NFT สองประเภทข้างต้น (งานสะสม และ Game) งาน NFT ประเภทนี้เองอาจเป็นส่วนเสริมให้ผลงานเป็นที่ต้องการได้อีกทางหนึ่ง ตัวอย่างเช่น งาน Stoner Cats NFT ที่ผู้ที่ซื้อ NFT สามารถนำไปเป็นสิทธิ์ ในการอ่านการ์ตูนตอนใหม่ๆ หรือการได้สิทธิ์การรับชิ้นงานจริงจากศิลปิน รวมถึงการเข้ากลุ่มพิเศษที่ได้ข้อมูลพิเศษ หรือการไปพบปะกับกลุ่มอย่าง Crypto Punks หรือ Bored Ape Yacht Club ที่ได้รับความนิยมมีคนดัง หรือธุรกิจมากมายสนใจซื้อ การสร้าง NFT ให้มี Utility เพิ่มโอกาสการเปลี่ยนมือได้สูง ทำให้เกิด Volume Trade สูงขึ้น เมื่อเป็นเช่นนั้น ศิลปินผู้สร้างผลงานเองก็จะได้เงินส่วนแบ่ง (Royalty) ในทุกครั้งของการ Trade
เริ่มสร้าง NFT อย่างไรดี
ในวงการสะสมงาน NFT ต่างประเทศ ให้การยอมรับว่าศิลปินไทยมีความสามารถขั้นสูง ในส่วนของความสร้างสรรค์นั้นคิดว่าทุกคนน่าจะทำผลงานออกมาได้เป็นอย่างดี แต่ปัญหาของศิลปินไทยที่พบมาก คือความเข้าใจเรื่อง Blockchain และ Cryptocurrency ไม่ว่าจะเป็นการซื้อเหรียญจากกระดาน การใช้กระเป๋าเงินดิจิทัล หรือแม้แต่ความรู้ความเข้าใจในเรื่องของการโอน และการทำธุรกรรมต่างๆ
สิ่งแรกที่ศิลปินควรเริ่มต้นศึกษา (ตามความเห็นของผู้เขียน) จาก Marketplace ที่เป็นเสมือนตลาดของเหล่านักสะสม (Collector) หรืออาจจะเรียกได้ว่าเข้าใจในตัว Target Group ของผู้ที่จะซื้อผลงานของเรา ว่าตรงกับความถนัดและจริตในผลงานของเราหรือไม่ รวมถึงรายละเอียดต่างๆในการใช้ Platform (Marketplace) นั้นๆ ว่ามีการทำงานอย่าง ต้องใช้เงินลงทุนในการทำธุรกรรม มากน้อยเพียงใด หรือหากใครยังไม่มีเงินทุนควรทราบว่า Platform ไหนที่เปิดโอกาสให้ศิลปิน Mint ผลงานได้ฟรี แล้วอย่าลืมสังเกตผลงานของ Top Artist บน Platform เหล่านั้นว่ามีที่มาของแนวความคิดในผลงานอย่างไร เพื่อใช้ประกอบการพัฒนาผลงานของเรา
หลังจากที่เราทราบถึง Platform ที่เราจะไปใช้บริการแล้ว เราต้องทำความเข้าใจว่า Platform นั้นอยู่ใน Chain (Blockchain) ไหน เพื่อที่เราจะเตรียมทุน โดยการซื้อเหรียญของ Chain นั้นในการทำธุรกรรม รวมถึงชนิดของกระเป๋าเงินดิจิทัล (ไม่ว่าจะเป็น Metamask, Phantom, Terra Station และอื่นๆอีกมากมาย) ที่เราจะต้องใช้ และอย่าลืมใช้ Hardware wallet ที่ตรงกับชนิดของกระเป๋าเงินดิจิทัล ในการปกป้องเงินดิจิทัลของคุณ
ในส่วนสุดท้าย ศิลปินควรเรียนรู้ ศิลปะการขาย และการใช้สื่อต่างๆสำหรับการขายอย่าง Twitter, Instragram, Telegram, Discord สำหรับสร้างฐานแฟนคลับผู้ติดตาม เพื่อนำเสนอผลงานให้เป็นที่รู้จัก และสร้างยอดขาย รวมถึงสร้างชุมชนที่แข็งแกร่งให้กับงานของคุณในระยะยาว
NFT คือโอกาส
มีผู้คนจำนวนมากกำลังเข้าใจผิดว่า Cryptocurrency และ NFT เป็นเหมือนสิ่งที่จะนำพาความร่ำรวยให้มาสู่ตนเองได้อย่างรวดเร็ว แต่ถ้าหากคุณกำลังคิดเช่นเดียวกัน ก็อยากจะให้คุณลองคิดดูใหม่ เพราะความรวดเร็วที่ว่านั้นอาจแปรเปลี่ยนไปคนละทางอย่างที่คุณตั้งหวัง คุณอาจจะเสียเงินทองมากมาย หรือแม้กระทั้งเสียสุขภาพจิต เนื่องจากในโลก Blockchain เป็นโลกที่มีความเป็นทุนนิยมแบบสุดโต่ง ผู้ที่มีเงินมากจึงมีข้อได้เปรียบที่มากกว่าผู้มีเงินน้อย แต่ก็ไม่ใช่ว่าผู้มีเงินน้อยจะไม่สามารถทำอะไรได้เลย เพราะโลกแห่ง Blockchain ก็ยังถือว่ามอบโอกาสดีๆให้ผู้ที่ทำการศึกษาและพยายามสร้างสรรค์สิ่งใหม่อยู่เสมอ ดังนั้นขอให้ศิลปินนักสร้างสรรค์ทุกท่านจงเตรียมพร้อมกับการได้รับโอกาสนี้อย่างสุดความสามารถ และคุณจะเป็นผู้สำเร็จบนถนนสาย(ดิจิทัล)นี้
ภาพ: Andrey Metelev/Unsplash