Made by Hotcake
ถ้าเสื้อหนึ่งตัวสามารถเล่าเรื่องได้ เราเชื่อว่าเสื้อผ้าของ Made by Hotcake ของคุณตุ้ม-กรรณิการ์ แสนจันทร์ คือเรื่องราวของผู้คน นอกจากจะเป็นเรื่องของเธอเองแล้ว ยังเป็นเรื่องของกลุ่มคนที่อยู่เบื้องหลังเสื้อผ้าแต่ละชิ้น ที่ทำให้อดทึ่งไม่ได้ว่าเสื้อตัวหนึ่งจะต้องผ่านการเดินทางมายาวนานแค่ไหน
เรื่องราวจากชุนชนต่าง ๆ ถูกถ่ายทอดผ่านประสบการณ์ตรงของคุณตุ้มอย่างพรั่งพรู เราเห็นความกระตือรือร้น เราเห็นไฟ เราเห็นความสุข และเราเห็นประกายน้ำตาแห่งความซาบซึ้งใจในดวงตามุ่งมั่นคู่นั้นของเธอ นี่เป็นการสัมภาษณ์ครั้งแรกของ Kooper กับสไตลิสต์มากความสามารถอย่างคุณตุ้ม ที่ได้เดินทางลึกเข้าไปยังชุมชนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ ภาคอีสาน หรือแม้แต่ภาคใต้ เพื่อนำสิ่งที่เป็นวิถีชีวิตและวัฒนธรรมอันเป็นหัวใจของชุมชนออกมาสู่โลกภายนอก รวมไปถึงยังผลักดันให้ความงามและความสามารถจากฝีมือของคนในชุมชนไปปรากฏต่อสายตาชาวต่างชาติอีกด้วย

Made by Hotcake คุกรุ่นด้วยความหอมหวานและหนักแน่นไปด้วยศรัทธา
คุณตุ้มเล่าให้ฟังว่าตัวเองเริ่มจากการเป็นนักเขียนมาก่อน “สมัยก่อนตอนเรียน เพื่อนชอบเรียกว่า hotcake หรือแปลเป็นภาษาไทยก็คือ เค้กร้อน ๆ ซึ่งดูน่ารัก มีความหอมหวานในตัว คำว่า hotcake ก็เลยเป็นชื่อที่ถูกนำมาใช้เป็นทั้งนามปากกา และชื่อแบรนด์ร้านเสื้อผ้า อย่างแบรนด์ hotcake vintage ก็เป็นแบรนด์เสื้อผ้ามือสองที่ตุ้มสร้างขึ้นควบคู่กับการเป็นนักเขียนและสไตลิสต์”
เธอบอกกับเราว่าเป็นคนที่ชอบทางด้านเสื้อผ้าอยู่แล้วตั้งแต่เด็กๆ เนื่องจากจากพ่อแม่ที่ทำผ้าขายมาตลอด “จนวันนึงความรู้สึกชอบในด้านเสื้อผ้าได้มาบวกเข้ากับการสังเกตเห็นว่าตัวเองชอบเที่ยวต่างจังหวัดมาก ชอบไปโน่นไปนี่ ก็เลยคิดว่าอยากจะหาอาชีพที่สามารถสนับสนุนคนอื่นได้ด้วยและทำให้เป็นการเที่ยวที่ได้เงินด้วย เราก็เริ่มเข้าไปลงพื้นที่ในชุมชน โดยมีความตั้งใจที่จะทำให้ตัวเองและคนในชุมชนมีรายได้ไปพร้อม ๆ กัน ประกอบกับช่วงนั้นรัชกาลที่ 9 กำลังจะสวรรคต จึงรู้สึกว่าตัวเองก็เป็นลูกท่านเหมือนกัน แม้บนโลกที่กว้างใหญ่ไพศาลนี้ ตัวเองจะเป็นประชาชนตัวเล็ก ๆ แต่ก็อยากทำอย่างท่านได้บ้าง แม้จะเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ก็ยังดี”
จากความตระหนักในข้อนี้คุณตุ้มจึงตัดสินใจไปเรียนย้อมผ้าที่จังหวัดสกลนครเป็นที่แรก แล้วก็ได้ไปเจอชาวบ้านที่ทำให้คุณตุ้มประทับใจมาก จากนั้นก็ไปที่จังหวัดแพร่ แล้วก็เริ่มทำผ้าคราม จนเริ่มนำไปขายได้ ก็เลยเปลี่ยนชื่อแบรนด์มาเป็น Made by hotcake เพื่อให้คนที่ได้เห็นแบรนด์นี้รู้ว่าเป็นเสื้อผ้าที่มาจากคุณตุ้ม
คำมั่น และความตั้งใจที่ให้ไว้กับในหลวงรัชกาลที่ 9
คุณตุ้มออกเดินทางเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับผ้า โดยเริ่มเข้าไปเรียนรู้การทำผ้าย้อมครามที่จังหวัดแพร่ จากนั้นก็เข้าไปที่จังหวัดน่าน ที่นั่นทำให้คุณตุ้มได้ไปเจอกับกลุ่มม้งที่ทำผ้าเขียนเทียน หลังจากได้ความรู้มาก็เริ่มมาทำขายเล็ก ๆ น้อย ๆ เอง โดยมีออเดอร์เข้ามาจากโรงแรมบ้าง จากชาวต่างชาติบ้าง “ตรงนี้เองทำให้เราคิดว่า ผ้าไทยยังมีหนทางให้ไปได้อีก บวกกับช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่รัชกาลที่ 9 กำลังจะสิ้น เราจึงไปเฝ้าท่านที่โรงพยาบาลศิริราช พอประกาศออกมาอย่างเป็นทางการว่าท่านจากไปแล้ว เราก็ก้มลงกราบกับพื้นและตั้งคำมั่นไว้ว่า “พ่อ เดี๋ยวลูกจะไปทำผ้านะ ไปที่ไหนก็ขอให้พ่อไปกับลูก ลูกจะไปพัฒนา ลูกจะเอาสมองน้อย ๆ และมือน้อย ๆ นี้ไปลงมือทำ และขอทำเอง และเชื่อไหม หลังจากนั้น เราได้ไปในสถานที่ที่ท่านเสด็จฯ ไปอย่างคาดไม่ถึงหลายครั้ง”



ตัวอย่างเช่น การเดินทางลงไปทำงานในพื้นที่สามชายแดนภาคใต้ อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส เกิดจากความบังเอิญที่คุณตุ้มเดินไปเจอกลุ่มพี่มุสลิมที่อตก. ซึ่งกำลังยืนขายของที่เป็นงานสามชายแดนใต้อยู่ คุณตุ้มเข้าไปคุยด้วย แล้วก็เกิดความประทับใจในความน่ารักของชาวมุสลิม บวกกับที่ตัวเองก็สนใจและคิดมาตลอดว่าผ้าปาเต๊ะมีความสูสีกับผ้าจาไมก้า จึงเกิดแรงบันดาลใจที่จะทำผ้าปาเต๊ะ พอเอาไปลองคุยกับพี่ชาวมุสลิมที่บังเอิญเจอในครั้งนั้นดู ก็เกิดการตกลงกันว่าคุณตุ้มจะขอเข้าไปเรียนรู้เรื่องผ้าปาเต๊ะกับพี่ ๆ ต่อที่นาราธิวาส พอไปถึงที่นั่น พี่มุสลิมพัฒนาชุมชนก็ขี่มอเตอร์ไซค์มารับ จากนั้นก็พาคุณตุ้มขี่ผ่านทางอำเภอตากใบ บ้านป่าพรุโต๊ะแดง ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีการทำกระจูดเป็นอาชีพ และเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้เข้ามาพัฒนาและช่วยเหลือชาวบ้าน



ครั้งแรกที่ได้เดินทางไปที่บ้านเจาะบางกงนั้น คุณตุ้มเดินทางไปกับผู้ใหญ่บ้าน ระหว่างทางก็เห็นเขาจอดรถ เลยเดินตามลงไปด้วย แล้วภาพที่เห็นข้างหน้าก็คือ สะพานที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเคยนั่งพิงรถแลนด์โรเวอร์แล้วจับแผนที่อยู่ตรงสะพานนั้น ซึ่งเป็นรูปที่ทุกคนเคยเห็นมาตลอด “วินาทีต่อมา จำได้ว่าวันนั้นเป็นวันที่ 13 ตุลาคม ครบรอบ 2 ปี ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 สวรรคตพอดี เราก้มลงกราบสะพานแล้วก็ร้องไห้ พอหันกลับไปก็เห็นภาพพี่ ๆ ชาวมุสลิมกำลังทอกระจูดกันอยู่ มันเป็นภาพที่เห็นแล้วสะท้อนเข้าไปในใจและเกิดเป็นคำถามว่าท่านมาถึงตรงนี้เลยเหรอ? ซึ่งชาวบ้านก็ตอบว่าใช่แล้วเล่าต่อว่า ในสมัยก่อนตอนที่ท่านมา ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเสด็จมากับสมเด็จพระเทพฯ ด้วย โดยสมเด็จพระเทพฯ ไปรอพระบิดาในสวนป่ายางกับคุณยาย แล้วชาวบ้านก็ชี้ให้ดูหนองน้ำข้างหน้าว่า นี่เป็นหนองน้ำที่ไปไม่ได้ แต่พระองค์ก็แน่วแน่ที่จะนำรถแลนด์โรเวอร์ลงไป”
เมื่อค่อย ๆ ได้สัมผัสและฟังเรื่องราวทั้งหมดที่เกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ 9 คุณตุ้มก็เกิดแรงบันดาลใจ และเริ่มสานฝันกับความตั้งใจด้วยการนำงานเข้าไปให้กับชุมชม ให้พี่ ๆ ชาวมุสลิมช่วยตัดชุดผ้าปาเต๊ะออกมา
การเข้าไปทำงานกับชุมชนในทุกพื้นที่นั้นย่อมมีปัญหา แต่ก็มีเหตุมีผลเช่นกัน ดังนั้น เมื่อเลือกเอาตัวเองเข้าไปอยู่กับชาวบ้านก็ต้องเข้าใจในวิถีของชาวบ้าน
เสื้อผ้าหนึ่งชิ้น คือ ผลงานที่เกิดขึ้นจากฝีมือของคนมากกว่าหนึ่งชุมชน
ขั้นตอนต่อไปหลังจากผ้าปาเต๊ะของพี่มุสลิมล็อตที่หนึ่งทำเสร็จแล้ว คุณตุ้มก็ส่งผ้าทุกชิ้นขึ้นไปตัดที่หมู่บ้านชาวม้งที่แม่ริม ซึ่งถือเป็นสิ่งหนึ่งในงานนี้ที่ทำให้คุณตุ้มดีใจและประทับใจมาก เพราะสามารถทำให้ชุดหนึ่งชุดผ่านหลายชุมชนได้ เพื่อเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชนอย่างแท้จริง “การที่เรายึดแม่ริมเป็นฐาน ทำให้ชาวเขามีอาชีพใหม่ จากที่ต้องนั่งรถไปขายของในกาดหลวงทุกวัน เชียงใหม่ – แม่ริม ระยะทางประมาณ 12 กม. ซึ่งเป็นทางคดเคี้ยวและขึ้นดอย เราเลยให้ชาวบ้านชาวเขารออยู่บ้าน เย็บผ้าให้กับเรา การทำงานของชาวบ้าน คือ ตื่นเช้ามาที่ศูนย์ฯ แล้วเราก็จะเป็นคนป้อนงานว่าวันนี้เย็บอะไรบ้าง มีการนำผ้าจากอุบลฯ ซึ่งต้องส่งด้วย kerry ใช้เวลาประมาณ 2 วัน มาให้พี่ ๆ ชาวม้งเย็บ เราจะทำหน้าที่ให้งาน ให้รายได้กับชาวบ้าน ถือเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชนจริงๆ ชุมชนมีรายได้และได้อาชีพทำกิน และเราจะคอยบอกชาวบ้านอยู่เสมอว่า หากว่าตัวเราไม่สั่งสินค้า ยังไงพี่ ๆ ชาวบ้านก็จะต้องอยู่ได้และไปต่อได้”
“เหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้รู้สึกดีใจมาก วันนั้นชาวเขาโทรมาหาแล้วบอกว่า “น้องตุ้ม พี่เห็นน้องตุ้มมีแบรนด์เป็นของตัวเองแล้วพี่อยากมีแบรนด์เป็นของตัวเองบ้าง” ประโยคนี้คือสิ่งที่คุณตุ้มเฝ้ารอมาตลอด ไม่ใช่การเป็นเศรษฐี แต่การทำให้ชาวบ้านมีรายได้ คือเป้าหมายสูงสุดของเรา”
การทำงานระหว่างคุณตุ้มกับชาวบ้านชาวเขา คือ 7 โมงเช้าคุณตุ้มจะวาดแบบเสร็จ หลังจากนั้นคุณตุ้มจะให้รายละเอียดว่าตรงไหนเย็บตะเข็บแบบไหน ใต้คอเย็บไปถึงตรงไหน และมีตรงไหนที่ต้องระวังเรื่องการเย็บเป็นพิเศษ “พอทำแบบนี้ ชาวบ้านเองก็จะค่อย ๆ ซึมซับว่าการทำแบรนด์ต้องมีป้ายคอ ต้องมีชื่อแบรนด์ ต้องมียี่ห้อ ชาวบ้านคนไหนที่อยากทำแบรนด์ของตัวเองก็จะไปคิดชื่อยี่ห้อแล้วเอามาให้เราช่วยคิดช่วยเลือก จนวันหนึ่งชาวบ้านคนนั้นได้มีโอกาสไปออกงานที่ประเทศจีน



คุณตุ้มจะคอยทำหน้าที่ให้กำลังใจและสนับสนุนชาวบ้านอยู่เสมอ แต่บางวัน บางมุม การทำงานร่วมกันก็มีผิดพลาดบ้าง แต่สิ่งที่ได้จากความผิดพลาดก็ให้แง่คิดที่มีคุณค่ากับการทำงานระหว่างคุณตุ้มกับชาวบ้านมากเช่นกัน “ตุ้มว่าโลกใบนี้มันมีคำว่า “ไม่ได้” มันมีคำว่า “ผิดพลาด” คนในเมืองมักเคยชินกับการอยู่ในกรุงเทพฯ อยู่ในสังคมเมืองที่ทุกอย่างต้องสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อไปอยู่กับชาวบ้านก็ต้องยอมรับว่า โลกใบนี้มันมีคำว่าไม่ได้ มีคำว่าทำผิดอยู่นะ ดังนั้น เวลาไปทำงานกับลูกค้า กับห้างแล้วมีของส่งไปให้เขาน้อย ก็ต้องอธิบายและทำความเข้าใจซึ่งกันและกันใหม่ว่า นี่ไม่ได้เป็นการทำงานแบบโรงงาน มันไม่สามารถตั้งเป้าที่ตายตัวแล้วไปบังคับให้ชาวบ้านตั้งหน้าตั้งตาทำได้ ฉะนั้น ลูกค้าก็ต้องเข้าใจด้วยว่าเป้าหมายที่ Made by hotcake ตั้งใจทำมา คืออะไร”
เข้าใจและเรียนรู้ หลักการสำคัญในการพิชิตใจคนในชุมชน
หลังจากทำงานนี้มาแล้วหลายปี คุณตุ้มยอมรับว่าชาวบ้านกลายเป็นส่วนที่ช่วยสอนให้คุณตุ้มกลายเป็นคนอ่อนโยนมากขึ้น “จากเมื่อก่อนเคยเป็นคนเกรี้ยวกราด ทำงานต้องเป๊ะ ไม่มีคำว่าไม่ได้ กลายเป็นคนที่มองโลกในสองด้าน เราเริ่มรู้จักการใช้จิตวิทยาในการสื่อสารกับชาวบ้านมากขึ้น ไม่ใช้อารมณ์ในการสื่อสาร ทำให้ทั้งสองฝ่ายเข้าใจกันและเกิดความอบอุ่นหัวใจในการทำงาน เสื้อผ้าทุกชิ้นที่ดาราเอาไปใส่ หรือได้ไปถ่ายต่างประเทศ เราจะคอยส่งรูปให้ชาวบ้านดูตลอด พอชาวบ้านได้เห็นผลงานของตัวเองออกทีวี ออกสื่อ พวกเขาจะดีใจมาก แล้วก็เกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง อย่างตอนไปออกร้านที่เชียงใหม่ ชาวบ้านก็ลงจากเขามาดูผลงานของตัวเอง แค่ได้เห็นพี่ ๆ ชาวบ้านรู้สึกปลื้มใจในผลงานที่พวกเขาสร้างขึ้นมา แค่นั้นก็แฮปปี้แล้ว นี่แหละสิ่งที่บอกกับเราว่าที่ทำมาทั้งหมดไม่ใช่เรื่องสูญเปล่า”






“กว่าจะมาถึงวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ความเหนื่อย ความยากลำบากของการทำนี้มีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเดินทางขึ้นเขาต่าง ๆ เมารถบ้าง ขึ้นเขาไปแล้วไม่เจอผ้าบ้าง บางทีไปเจอเทศกาลเก็บลำใย ที่ดอยเต่า ชาวบ้านก็จะไม่ว่างทอผ้าให้ ก็กลายเป็นได้ไปร่วมเก็บลำใยกับชาวบ้านแทน ดังนั้น ถ้าจะเข้าไปทำงานกับคนในชุมชน ก็ต้องเต็มใจและเต็มที่กับการเรียนรู้วัฒนธรรมของชาวบ้านด้วย อย่างเรื่องประเพณี ที่จังหวัดแพร่ ชาวบ้านที่เป็นแม่ ๆ ก็จะไม่ว่างเย็บผ้าให้ถ้าตรงกับงานบวช เพราะแม่ ๆ จะไปรำอยู่หน้างาน หรือ ในชุมชนอื่น ๆ ก็จะมีช่วงที่ชาวบ้านต้องไปเก็บต้นกัญชงโครงการหลวง ทำให้ไม่สามารถเย็บตัดผ้าให้ได้ พอไม่ได้งานเราก็ต้องกลับมาบอกกับลูกค้าตามความเป็นจริงว่า แม่ ๆ รำอยู่นะ หรือ ชาวบ้านไปเก็บใยกัญชงโคงการหลวงนะ ทำให้ผ้าส่งไม่ทัน เป็นการให้ความรู้กับลูกค้าของเราอีกแบบหนึ่ง ว่าบางทีก็ต้องรอนะ”
วิถีชีวิตชุมชนริมแม่น้ำโขงสู่ปารีส MEKHONG RIVER TO PARIS
สำหรับคอลเลคชั่นล่าสุดนี้ เน้นไปที่ผ้าจากอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี “ความพิเศษของเส้นใยฝ้ายที่ได้เกิดจากพื้นที่แห่งนี้ตั้งอยู่ขอบตะเข็บระหว่างประเทศไทยกับประเทศลาว โดยมีแม่น้ำโขงไหลผ่าน ด้วยความที่มีแม่น้ำโขงไหลผ่าน เส้นทางน้ำจึงคดโค้ง ทำให้ดินตกตะกอนและมีความอุดมสมบูรณ์ ปลูกอะไรในที่ดินบริเวณนั้นก็เติบโตได้ดี เจริญงอกงาม เมื่อปลูกฝ้าย ฝ้ายก็จะสวย ถือว่าทำเกษตรกรรมได้ดีมาก เมื่อถึงฤดูฝนเนินตรงนั้นก็จะไม่ถูกน้ำท่วม ตุ้มเลยเข้าไปทำงานในพื้นที่นี้ ซึ่งชาวบ้านที่ทำผ้าทอให้ก็จะเป็นแม่ ๆ อายุราว ๆ 70 ปีกว่าแล้ว แต่สายตายังดีอยู่มาก บางคนก็เป็นผู้หญิงลาวที่มาแต่งงานกับผู้ชายไทย แล้วก็เกิดปัญหาครอบครัว คือ ไม่มีงานทำ พอเราเข้าไป ก็เป็นการสร้างรายได้ให้แก่เขา ซึ่งคอลเลคชั่นนี้เราได้เอาไปถ่ายแฟชั่นที่ปารีสด้วย เป็นโปรเจ็กต์ที่ต่อเนื่องมาจาก Made by Hotcake Everywhere ที่เคยไปถ่ายที่กัลกัตตาโดยใช้ผ้าไหมไทยส่วนหนึ่งร่วมกับผ้าไหมอินเดียส่วนหนึ่ง”



“พอดีเรามีลูกค้าอยู่ปารีสด้วย ก็เลยลองดู ไปปารีสครั้งนี้คือมาจากทุนส่วนตัวทั้งหมด ซึ่งก็เสียไปไม่น้อย แต่สิ่งที่ได้รับคือ ชาวบ้านเกิดความภาคภูมิใจว่างานของเขาได้โกอินเตอร์ ชาวบ้านได้เห็นภาพที่ฝรั่งสวมใส่ชุดที่พวกเขาทอ ตัดเย็บ แล้วเอาไปถ่ายคู่กับหอไอเฟล เราอยากให้ชาวบ้านได้เกิดความภาคภูมิใจกับผลงานของตนเอง จะได้รู้สึกมีแรงกายแรงใจขับเคลื่อนตัวเองให้ทำงานทางด้านนี้ต่อไป
ช่วงที่อุบลน้ำท่วมก่อนหน้าที่จะเกิดโปรเจ็กต์นี้ คุณตุ้มก็ได้ไปช่วยเหลือด้วยการขายผ้า ส่วนไหนที่ขายได้ก็โอนกลับไปช่วยน้ำท่วมอุบลฯ และกลายเป็นว่าลูกค้าซื้อกันเยอะแยะมากเลย ทำให้ตุ้มได้รับรู้ว่า มีลูกค้าที่พร้อมจะช่วยเหลืออยู่มากมาย แต่พวกเขาไม่รู้ว่าจะใช้ช่องทางไหนดี พอมีตุ้มเป็นสื่อกลางอยู่ตรงนี้ ก็ทำให้การช่วยเหลือเข้าไปถึงชุมชนที่เขาเดือดร้อนจริง ๆ”
Made by hotcake ได้นำผ้าไทยออกเดินทางไกลไปถ่ายแฟชั่นเซ็ตถึงกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ด้วยความตั้งใจอยากให้ผ้าไทยใส่ที่ไหนในโลกก็ได้ จึงเกิดเป็น Made by hotcake everywhere และการเอาผ้าไทยออกเดินทางไกลให้คนอีกซีกโลกได้เห็น ก็มีเพียงความตั้งใจเดียว คือ การทำให้ชุมชนเกิดความภาคภูมิใจในฝีมือและผลงานของตัวเอง
Made by hotcake
Facebook: Made by hotcake everywhere
IG: Madebyhotcake
พอร์เทรต: อวิกา บัวพัฒนา
ภาพคอลเลคชั่น: Made by Hotcake