fbpx

Kengo Kuma สถาปนิกญี่ปุ่นผู้สร้างเอกลักษณ์ให้กับงานผ่านวัสดุ

สถาปนิกผู้ออกแบบสเตเดียมของ Tokyo Olympics นี้อาจจะเป็นที่รู้จักจากงานไม้แสนแปลกตา แต่สิ่งที่เขาสนใจจริงๆ คือการทดลองเรื่องวัสดุที่เปลี่ยนไปในแต่ละที

“อาคารของคุณมีไม้ แล้วถ้ามันเกิดไฟไหม้ละ จะทำอย่างไร?”

“ปล่อยมันไหม้ไป!”

เป็นคำตอบของสถาปนิกคนหนึ่งเมื่อถูกถามถึงงานสถาปัตยกรรมที่เขาออกแบบ ส่วนใหญ่เป็นไม้ที่มีรูปทรงแปลกตาน่าจดจำ ฟังดูจะเป็นคำตอบที่กำปั้นทุบดิน ตอบแบบเรียบง่าย ตรงไปตรงมา ต่างกับงานที่เขาออกแบบ สถาปนิกคนนี้ชื่อ ‘เคงโก คุมะ’ (Kengo Kuma)

เคงโก คุมะ เติบโตมาในบ้านแบบก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 (สร้างในยุคทศวรรษที่ 1930) ในวัยนั้น เขาได้ปีน มุดเข้าไปเล่นในพื้นที่เหนือฝ้าเพดาน ใต้หลังคา ซึ่งก็ทำให้เขาเห็นโครงสร้างแบบเฟรมไม้ขนาด 10 เซนติเมตร จากนั้นชีวิตการเดินทางไปยังหลายพื้นที่ของหลากมุมโลก ทำให้เขาพบกับโครงสร้างไม้แบบนี้มากมาย และมันต่อยอดมาเป็นตัวเขาทุกวันนี้ ตัวเขาเกิดในปี ค.ศ. 1954 เริ่มศึกษาสถาปัตยกรรมที่มหาวิทยาลัยโตเกียวจนจบปริญญาโท แรงบันดาลใจสำหรับตัวเขานั้นมาจากสถาปัตยกรรมระดับตำนานอย่าง Yoyogi National Gymnasium ออกแบบโดยโมเดิร์นนิสต์ระดับตำนานของโลก เคนโซ ทังเกะ ช่วงที่เขาเรียนอยู่มหาวิทยาลัยโตเกียว เขาได้รับการศึกษาจากสถาปนิกระดับมาสเตอร์ของญี่ปุ่น ฮิโระชิ ฮะระ และ โยะชิจิคะ อุจิดะ นอกจากการเรียนสถาปัตยกรรมในห้องเรียน เขาได้มีโอกาสเดินทางไปดูงานในแอฟริกา ไปเป็นนักวิชาการแลกเปลี่ยนที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียในนิวยอร์ค 

พื้นฐาน แนวคิด การเดินทาง ของเขาทั้งหมด ได้ผลักดันให้งานเขาออกมามีส่วนผสมทั้งตะวันออกกลิ่นอายของความเป็นสากล

ภาพจำที่เราคุ้นตากับงานของ เคงโก คุมะ คือสถาปัตยกรรมที่ประกอบด้วยไม้เป็นรูปทรงแปลกตา แต่ตัวเขาเองได้สนใจในหลากหลายวัสดุตามแต่ละถิ่นที่ แปรไปตามโจทย์ เรียกได้ว่าเป็นนักทดลองวัสดุกับสถาปัตยกรรมตัวกลั่นเลยทีเดียว แนวคิดที่เขามักนำเสนอคือเรื่องของวัสดุ การมองสถาปัตยกรรมที่ให้ความสำคัญกับวัสดุรอบตัวตามถิ่นที่ต่าง ๆ ในยุคศตวรรษที่ 21 นี้คือยุคสมัยของสถานที่ หากลองมองย้อนกลับไปยังศตวรรษที่ 20 ตั้งแต่ยุคยุคสมัยใหม่ถึงหลังสมัยใหม่ วัสดุแห่งศตวรรษนั้นคือคอนกรีต เมื่อสถาปนิกตั้งการออกแบบสถาปัตยกรรม คอนกรีตจะถูกเลือกให้เป็นส่วนประกอบ ในภาพจำของคอนกรีตมันมีความหมายที่เป็นสากลอยู่มาก แต่ในขณะเดียวกัน มันก็ทำลายความเฉพาะของถิ่นที่ลงไปพร้อมกัน การหันมาพิจารณางานออกแบบในแนวคิดของเขาคือการหวนกลับมาสู่ความสำคัญของวัสดุกับสถานที่ มันไม่สามารถเป็นเวลาของคอนกรีตที่มีอยู่อย่างดาษดื่นอีกต่อไป

10 GC Prostho Museum Research Center © Daici Ano

มุมมองในการสร้างสถาปัตยกรรมกับวัสดุที่สัมพันธ์กัน เขาใช้วิธีสร้างความสัมพันธ์จากการมองผ่าน 3 ประเด็นคือ วัสดุ กระบวนการ และเรขาคณิต

วัสดุ คือ การมองหาความหลากหลายของวัสดุในแต่ละถิ่นที่

กระบวนการ คือ การออกแบบการสร้างสรรค์วัสดุด้วยวิธีใด ตามเทคนิคก่อสร้างที่เหมาะสมกับโจทย์

เรขาคณิต คือ สถาปัตยกรรมถูกก่อรูปด้วยเรขาคณิต ที่สามารถผันแปรไปตามโจทย์

นอกจากการสร้างสถาปัตยกรรมด้วยวัสดุที่สัมพันธ์กับสถานที่แล้ว เขายังนำเสนอแนวคิดใหม่เกี่ยวกับการแบ่งพื้นที่ จากการออกแบบสถาปัตยกรรมแบบเดิมที่มักประกอบด้วยช่องประตูหน้าต่าง และช่องว่างที่เกิดขึ้นระหว่างโครงสร้างเสาและผนัง เขาเสนอให้ทลายกรอบเดิม และหลอมรวมสเปซภายในและภายนอก จากการจัดสเปซภายในที่ถูกจัดวางด้วยแนวคิดฟังก์ชั่นแบบเดิม เขาเสนอให้รวมทุกพื้นที่เข้าด้วยกัน ทลายขอบเขตให้เกิดความเบลอมากขึ้น เพื่อให้สถาปัตยกรรมเชื่อมโยงผู้คน กับกายภาพแวดล้อม

และจากแนวคิดนี้เอง สถาปัตยกรรมจะไม่อยู่โดดเดี่ยว มันจะกลมกลืนไปกับสิ่งที่อยู่รายรอบมัน ไม่แยกตัวเองจากสภาพแวดล้อมแบบคอนกรีต วัสดุที่เขามักเอ่ยถึงด้วยความต้องการผลักไสออกจากศตวรรษนี้ และจากแนวคิดนี้เช่นกันที่นำไปสู่การทดลองของเขาเองในด้านวัสดุต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

‘ไผ่’ ในทางวิศวกรรม ไผ่ไม่ใช่ไม้ มันรับแรงดึงได้ดี สามารถปรับเปลี่ยนใช้งานได้หลากหลาย ไผ่คือเพื่อนเก่าของช่างปรุงบ้านเรือนในหลายวัฒนธรรม เคงโก คุมะ ได้นำเสนอความเป็นไปได้ของไผ่ในสถาปัตยกรรมร่วมสมัยที่เป็นศาลาที่ให้ไผ่เป็นพระเอก โดยใช้ไผ่ห่อเป็นเปลือกภายนอกจนโดดเด่นในงาน Great Bamboo Wall (2000) ประเทศจีน ไผ่เป็นทั้งส่วนประดับตั้งแต่ภายในจนภายนอก และเป็นโครงสร้าง ไผ่ถูกวางเรียงเป็นผนัง ฝ้า ด้วยขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 เซนติเมตร ระยะห่าง 5 เซนติเมตร แล้วยังดัดแปลงใช้เป็นดีเทลเสาด้วยการใช้ไผ่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 20 เซนติเมตร พร้อมสอดเสาเหล็กรูป + ในกลางปล้อง พร้อมเทคอนกรีตเพื่อเพิ่มหน้าตัดให้รับแรงได้ดีขึ้น ดีเทลนี้เคยไม่เคยถูกใช้ในญี่ปุ่น

‘ไม้’ ดูจะเป็นวัสดุที่โดดเด่นมากที่สุดของคุมะ ในช่วงแรกเขาออกแบบอย่าง Hiroshige Museum of Art (2000) เปลือกภายนอกเป็นไม้สนญี่ปุ่นห่อเป็นระแนงขนาด 3 x 6 เซนติเมตร ที่มีที่มาจากภาพพิมพ์ของ Hiroshige ที่เป็นสายฝนตกเต็มภาพ แล้วแปลงมันออกมาเป็นเปลือกที่หุ้มภายนอกจนทำให้อาคารมีรายละเอียดแปลกตา ดูสงบนิ่ง ด้วยความเรียบง่ายซ้ำกันจากระแนงไม้สน 

แต่ความสนใจด้านดีเทลไม้ พาให้งานเขาเองพัฒนาขึ้นจากภูมิปัญญาของเล่นญี่ปุ่น Cidori มันคือท่อนไม้ขนาดเล็กที่มีการบากกลางท่อน จนสามารถเรียงได้จากของเล่นสู่เครื่องเรือน สถาปัตยกรรมภายใน จนสู่สถาปัตยกรรมในที่สุด จากดีเทลนี้มันได้ถูกพัฒนาสู่การออกแบบสถาปัตยกรรมไม้ที่ทำให้เขาโดดเด่นขึ้นมาอย่าง GC Prostho Museum Research Center (2008) งานนี้ดีเทลการต่อไม้สำหรับพื้นที่ขนาดเล็กได้พัฒนาสู่พื้นที่ใหญ่ขึ้น มันสามารถครอบคลุมไปทั้งสเปซภายในสู่สถาปัตยกรรมด้วยระบบการวางกริดไม้ จนเมื่อออกแบบ Starbucks Omotesando (2011) กริดไม้เหล่านี้ที่เคยอยู่ในระบบกริดแบบตรงไปตรงมา ได้บิดรูปกริดเป็นแส้นทแยง มันกลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างร้าน ส่วนประดับภายใน แต่ระบบกริดเส้นทแยงได้เสนอตัวมันเองสู่ภายนอกในงาน Sunny Hill (2012) 

ระบบการวางกริดไม้แบบนี้ถูกท้าทายมากขึ้นด้วยการเป็นโครงสร้างขนาดใหญ่ขึ้นที่งาน Yusuhara Wooden Bridge Museum (2009) ไม้ไม่ได้เป็นแค่ส่วนประดับภายนอก แต่ผสานตัวมันเป็นโครงสร้างไปพร้อมกันด้วยเทคนิคการต่อไม้แบบโบราณที่พบได้ในเอเชียตะวันออกอย่างจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ที่นิยมทำโครงสร้างหลังหลังคายื่นด้วยเทคนิควางโครงสร้างให้ไขว้ไปมา พร้อมยื่นไปที่ละเล็กน้อยจนยื่นออกมาได้หลายเมตรเลยทีเดียว ดีเทลนี้ช่วยให้ยื่นชายคาได้ยาว และให้โครงหลังคาสามารถขยับไปมาได้ไม่พังจากแผ่นดินไหว คุมะนำเทคนิคจากอดีตนี้มากลายเป็นโครงสร้างช่วงกว้างอย่างตื่นตาตื่นใจ พร้อมกับดีเทลท่อนไม้ที่เกิดจากการประกบไม้แผ่น หรือลามิเนต จนเป็นท่อนไม้โครงสร้างขนาด 18 x 30 เซนติเมตร และ18 x 70 เซนติเมตร การใช้เทคนิคนี้สามารถลดการใช้ไม้ท่อนใหญ่ที่ต้องใช้เวลาปลูกนาน แต่ประยุกต์จากไม้ขนาดเล็กในอุตสาหกรรมป่าไม้จนมาเป็นไม้ใหญ่ที่เป็นโครงสร้าง

นอกจากไม้ที่คุมะใช้จนโดดเด่นแล้ว เขายังขยายขอบเขตการทดลองไปยังวัสดุอื่น ๆ อย่าง หิน ดิน ไฟเบอร์ กระจก เรซิน สิ่งทอ ซึ่งเราคงต้องรอดูถึงพัฒนาการที่ไม่หยุดนี้ต่อไป

หากลองสังเกตงานของคุมะ ความเป็นญี่ปุ่น เริ่มจากวัสดุ ที่เป็นเนื้อหาในถิ่นที่ของมันเอง ไม่จำเป็นต้องอยากฝืนเป็นเพราะมันคือสไตล์ แต่มาจากเนื้อหาของถิ่นที่เอง

ภาพ feature image: build-review.com

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin
Share on pinterest

More to explore

แผลเก่า:Old Wound แผลเดิมในเรื่องเล่า ที่ยังเป็นแผลสดของพล็อตสังคมไทย

นิทรรศการ แผลเก่า / Old Wound นิทรรศการเดี่ยวโดย ประทีป สุธาทองไทย ศิลปินนักตั้งคำถาม ผู้ซ่อนบทสนทนาทางสังคมไว้ในงานเสมอ

“Yesterday I Was, Tomorrow I Will Be” นิทรรศการแห่งความฝันและความสำเร็จของ “Pomme Chan”

ก้าวสู่โลกที่เปี่ยมไปด้วยแพชชั่น ผ่านผลงานศิลปะตั้งแต่ชิ้นแรกที่น้อยคนจะได้เห็น สู่วันที่ประสบความสำเร็จในสายอาชีพร่วมระยะเวลา 20 ปี