fbpx

สิ่งที่ได้ ‘สัมผัส’ จากนิทรรศการ ‘Keep In Touch by Lamunlamai’ แบรนด์เซรามิกไทยที่ไม่เคยหยุดเดินทาง

เรื่องราว และแรงบันดาลใจจากการเดินทางเพื่อต่อยอดธุรกิจของแบรนด์ละมุนละไม

Keep In Touch : On celebrating human touch, an exhibition by Lamunlamai นิทรรศการที่ว่าด้วยการ ‘สัมผัส’ ที่ไม่ว่าจะเป็นการที่เราสามารถสัมผัสผลงานที่จัดแสดงทำให้รู้ถึงเท็กซ์เจอร์ และได้สัมผัสรอยนิ้วมือของศิลปินที่ปรากฎอยู่บนผลงาน ซึ่งเปรียบเหมือนเครื่องเก็บบันทึกเรื่องราวของผลงานเหล่านั้น นิทรรศการยังพาเราไปสัมผัสถึงเรื่องราว การผจญภัย และแรงบันดาลใจสำคัญในการสร้างสรรค์ผลงานเซรามิก Keep In Touch ที่ได้ไปจัดแสดงที่งาน Maison & Objets Paris อีกด้วย

จุดเริ่มต้นการเดินทางของ ‘ละมุนละไม’ ครั้งนี้ เกิดจากการที่ศิลปินนักออกแบบเซรามิกผู้ก่อตั้งแบรนด์อย่างคุณหนาม-นล เนตรพรหม และคุณไหม-ณพกมล ต้องการที่จะออกไปสำรวจงานคราฟต์ และความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในสายอาชีพนักออกแบบและศิลปินเครื่องเคลือบดินเผา จนทำให้เกิดเรื่องราว และแรงบันดาลใจมากมาย

ละมุนละไม คือโฮมสตูดิโอชื่อดังที่คอยสร้างสรรค์งานผลงานเซรามิก และงานคราฟต์หลากหลายรูปแบบ และถึงแม้ที่ตั้งของสตูดิโอแห่งนี้จะอยู่บนดาดฟ้าในย่านที่ดูวุ่นวาย และจอแจที่สุดอย่างสีลม แต่ละมุนละไมก็สามารถสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างพิถีพิถัน ประณีตใช้เทคนิคต่างๆ ผสมผสานเข้ากับรูปแบบงานศิลปะ ทำให้ผลงานที่ออกมาสามารถสะท้อนแนวคิด และให้ความรู้สึกนุ่มนวลสมกับชื่อแบรนด์

ผลงานของสตูดิโอแห่งนี้มีทั้งที่เป็น Collection ของตัวเอง และ Custom-made collaboration คือการที่ออกแบบ, สั่งทำ และผลิตให้กับร้านอาหาร ร้านกาแฟ คาเฟ่ ต่างๆ รวมถึงเป็น Stylist ดูแลภาพรวมให้กับร้าน หรือแบรนด์นั้นๆ ซึ่งหนึ่งในแนวคิดสำคัญของละมุนละไมคือ กระบวนการคิดที่จะผลิต ‘ภาชนะบรรจุ’ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การทำจานหรือชามเท่านั้น ทำให้ผลงานของละมุนละไมมีลักษณะที่หลากหลาย สามารถตอบโจทย์การใช้งาน และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว จึงได้ร่วมงานกับร้านอาหารที่มีชื่อเสียง และมีโอกาสเดินทางไปแสดงผลงานในที่ต่างๆ ซึ่งการเดินทางครั้งนี้ก็เป็นการเดินทางครั้งสำคัญของละมุนละไมด้วยเช่นกัน 

คุณหนาม เล่าให้ฟังว่าการเดินทางครั้งนี้เริ่มจากการที่ตน และคุณไหม ทำแบรนด์มาด้วยกันมาสักระยะ เริ่มทำตั้งแต่ของชิ้นเล็กๆ จนมาเป็นของชิ้นใหญ่ ทำงาน Custom-made ให้กับลูกค้าหรือร้านอาหารมากมาย แต่ว่าลึกๆ ในใจก็ยังมีคำถามว่า ‘โฮมสตูดิโอแบบละมุนละไม’ จะสามารถหลุดออกจากคอมฟอร์ตโซนไปได้ไกลแค่ไหน? และจะสามารถพัฒนาเซรามิกไปทิศทางไหนได้บ้าง? จึงคิดว่าน่าจะลองไปผจญภัยกันดูสักครั้ง ไปในที่อื่นๆ ที่ไม่เคยไป เมื่อศึกษาก็พบกับสถาบันสอนออกแบบที่ชื่อว่า Haystack Mountain School of Crafts อยู่ในรัฐ Maine สหรัฐอเมริกา ทั้งคู่จึงส่งผลงานเข้าพิจารณาในฐานะศิลปินในพำนัก และได้รับการคัดเลือกในที่สุด

“ตอนที่เราไป ด้วยความที่สภาพแวดล้อมผู้คน หรือบรรยากาศเปลี่ยนไปหมดเลย จากเมื่อก่อนเราทำอยู่ในสตูดิโอบนดาดฟ้ากลางเมือง ก็จะมีความวุ่นวาย และจอแจ แต่เมื่อไปอยู่ที่นั่น ด้วยความที่โรงเรียนอยู่ท่ามกลางป่าสน ข้างหลังโรงเรียนติดกับมหาสมุทรแอตแลนติก เราไม่เคยทำเซรามิกท่ามกลางธรรมชาติแบบนั้น วัสดุเปลี่ยนไปทุกอย่าง หรือแม้กระทั่งผู้คนที่เราต้องเจอ ทำให้เราตัดสิ่งรอบข้างทุกอย่างไป และได้โฟกัสอยู่กับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าจริงๆ” คุณไหมเล่าถึงบรรยากาศ และความรู้สึกที่ต่างออกไปเมื่อได้ใช้เวลาอยู่ที่โรงเรียนเป็นเวลา 1 เดือน 

การทำเซรามิกที่โรงเรียนจะเน้นการใช้เทคนิคที่เรียกว่า ‘Pinching Technique’ คือการที่ใช้เพียงมือบีบก้อนดินไปเรื่อยๆ เพื่อให้เกิดรูปทรง โดยไม่มีอุปกรณ์อื่นช่วย ซึ่งการที่ได้ฝึกฝนเทคนิคนี้ทำให้ได้พัฒนาในเรื่องของวิธีคิด การทำงาน ได้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับคนที่นั่นว่าทำไมถึงนิยมใช่วัสดุเซรามิกทำของชิ้นใหญ่ๆ และไม่ได้สนใจว่าเซรามิกที่ดีจะต้องมีความบางและเบาเท่านั้น ทำให้เห็นถึงมุมมองของความงามที่ต่างกันออกไป

“ไปอยู่ที่นู่นทุกอย่างเปลี่ยนไปหมดเลย ดินที่ต่างออกไป ลมที่ไม่เหมือนกัน แดดที่ไม่เหมือนกัน เราไม่เคยใส่เสื้อกันหนาวสามชั้นและทำเซรามิกไปด้วย และด้วยความที่เป็นเกาะเล็กๆ ไม่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ต ทำให้เราได้โฟกัสอยู่กับผลงาน และผู้คนที่นั่นจริงๆ” คุณหนามพูดถึงความรู้สึก และยังเล่าให้ฟังอีกว่าในการทำเซรามิก เขาจะถนัดในเรื่องของเทคนิค และฟังชันก์ จึงทำให้ประทับใจกับ Pinching Technique เป็นพิเศษ เพราะการที่ใช้แค่ดินตันๆ 1 ก้อน และค่อยๆ ใช้มือของเราบีบไปเรื่อยๆ อย่างเป็นระเบียบ ดินก็จะขึ้นมาเป็นรูปทรง โดยที่ไม่ต้องใช้ดินก้อนอื่นๆ มาแปะทับหรือปิดรอยต่อเพิ่มเติม นั่นเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์มากในแง่ของคนทำเซรามิก 

ซึ่งต่างจากด้านของคุณไหม ที่แต่เดิมสนใจในเรื่องของการทำวัสดุให้มีเท็กซ์เจอร์ใกล้เคียงกับธรรมชาติอยู่แล้ว ยิ่งเมื่อได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น ได้เห็นธรรมชาติอยู่ตรงหน้า ทำให้เธอได้แรงบันดาลใจสร้างภาชนะรูปทรงคล้ายลูกสนขึ้นมา การใช้ดินซึ่งเป็นวัสดุพิเศษที่สามารถลอกเลียนธรรมชาติ และการใช้มือทั้งสองข้างค่อยๆ กำหนดรูปทรงให้เป็นดั่งที่ใจคิดเป็นเป็นสิ่งที่ทำให้เธอประทับใจเป็นอย่างมาก 

ทั้งคู่ยังบอกอีกว่าการเดินทางไปศึกษาที่ Haystack Mountain School of Crafts ครั้งนี้ส่งผลต่อวิธีคิด และการทำงานของทั้งคู่เป็นอย่างมาก เพราะไม่ใช่เป็นเพียงการเดินทาง และได้ผลงานคอลเลกชั่นใหม่กลับมา แต่การที่ได้ไปเจอสภาพแวดล้อม ข้อจำกัด และบริบทใหม่นั้น ทำให้มีมุมมองที่กว้างขึ้น ได้แนวคิดใหม่ๆ มองข้ามข้อจำกัดทางความคิดที่เคยมี ได้พัฒนาทั้งตัวเอง และสินค้า พร้อมได้แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ อีกด้วย

คุณหนามยังบอกอีกว่า จากเดิมมีความตั้งใจที่จะพัฒนาแบรนด์ไปอย่างช้าๆ แต่เมื่อได้ลองตั้งใจ มุ่งมั่นพัฒนา และไม่เคยหยุดที่จะทดลองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ก็ทำให้พบความก้าวกระโดดอย่างที่ไม่ได้คาดไว้ เพราะเช่นนั้นการเดินทางทุกครั้งยังคงเป็นเหมือนการผจญภัย ยังสร้างความตื่นเต้น และท้าทายให้เขาทั้งคู่เสมอ และละมุนละไมก็มีความตั้งใจที่จะเก็บเรื่องราวเหล่านั้นมาถ่ายทอดให้ทุกคนได้ฟัง เช่นในนิทรรศการครั้งนี้

บทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวคิด และวิธีทำงานของละมุนละไม: Lamunlamai Craft Studio ออกแบบภาชนะบรรจุความต้องการใหม่ และเซรามิกสำหรับใส่ความเป็นไปได้

สามารถติดตามละมุนละไมได้ตามช่องทาง: lamunlamaicraftstudio.com, Facebook และ Instagram
เครดิตภาพ: Lamunlamai craftstudio, Haystack Mountain School of Crafts, Objects of Desire Store


Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin
Share on pinterest

More to explore