แค่ได้ยินคำว่า “ไทย” ใคร ๆ ในโลกก็นึกถึงอาหารอร่อยแล้ว แต่เพื่อให้วงการอาหารไทยไปได้ไกลและกว้างยิ่งกว่าเดิม กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจึงเชิญชวนสตูดิโอออกแบบชั้นนำของไทยจากสาขาต่าง ๆ ให้นำความเชี่ยวชาญของตนมาใช้ออกแบบ “อาหาร” ในฐานะสื่อใหม่ และกระตุ้นให้เกิดการเปิดพรมแดนใหม่ ๆ ที่จะขับเคลื่อนทั้งวงการอาหารและการออกแบบไทยไปสู่อีกระดับ
Kid Pool


เมนู Kid Pool คือ ส่วนผสมระหว่าง ครีมสด ช็อกโกแลต และเชอรี่ ที่ได้รับการรังสรรจาก TROP : Terrains + Open Space สตูดิโอที่เชี่ยวชาญในงานสถาปนิก ซึ่งประกอบไปด้วยหนุ่มสาวกว่า 30 ชีวิต ที่ทำงานอย่างหนักเพื่อออกแบบสวนที่พวกเขายังไม่เคยเห็น สำหรับนิทรรศการครั้งนี้ TROP : Terrains + Open Space มาในแนวคิดที่ได้จากการหลับตาฝันถึงความทรงจำดี ๆ ที่มีกับไอศครีม หลาย ๆ ครั้งภาพความทรงจำเหล่านั้นมันมีสระว่ายน้ำ โดยเฉพาะ “สระเด็ก” ที่มักปรากฏเป็นฉากหลังอยู่เสมอ จึงได้ออกแบบไอศครีมให้หน้าตาเหมือนกับสระเด็กในฝันนั้น และนี่คือไอศครีม Black Forest ในแบบของ TROP
Happy Labyrinth


เมนู Happy Labyrinth คือ ส่วนผสมของรสเปรี้ยวและหวานที่ประกอบด้วย สตรอว์เบอรี่ น้ำผึ้งมะนาว และมะขาม โดยได้รับการออกแบบจาก THINKK Studio ผู้ถนัดในการหยิบจับวัสดุหรือวิธีการบางอย่างที่ใกล้ตัวมานำเสนอใหม่ในรูปแบบที่แตกต่างด้วยความคิดสร้างสรรค์ ผ่านการค้นคว้าทดลอง และการร่วมมือกันกับบุคคลที่มีความถนัดแตกต่างกัน ซึ่งได้สอดแทรกประสบการณ์ร่วมของความสุขในวัยเด็กที่ทุกคนมีมานำเสนออยู่ในหลาย ๆ ผลงาน แนวคิดของรสชาตินี้เกิดจากมุมมองที่มีต่องานออกแบบ อย่างการมองว่าคุณค่าของดีไซน์ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับมูลค่าของวัสดุที่เลือกใช้เพียงอย่างเดียว ความสุขเองก็เป็นสิ่งหนึ่งที่มีค่า เพราะมันสามารถสร้างรอยยิ้มและความทรงจำที่ดีให้กับช่วงเวลานั้น ๆ ได้ และ Happy Labyrinth ก็คือ เกมเขาวงกตขนาดย่อม ที่สร้างขึ้นเพื่อให้ได้ใช้ช่วงเวลาอันน้อยนิดก่อนที่ไอติมจะละลาย สร้างช่วงเวลาแห่งความสุขสนุกสนานที่เพิ่มขึ้น โดยนำวัตถุดิบที่เป็นผลไม้ไทยและผลไม้นอกมาจับคู่ใหม่ ซึ่งเป็นรสชาติที่ถ่ายทอดถึงความสดชื่นและตื่นตัวไปกับความสนุกของแนวคิดนี้
Multiple


เมนู Multiple เป็นการผสมกลมกลืนระหว่างกาแฟอาราบิก้า จากดอยปางขอน จ.เชียงราย กับโคลัมเบียซูพรีมโม่ และ washed ซึ่งได้ Trimode Accessories แบรนด์เครื่องประดับที่มุ่งเน้นให้คุณค่าทางความคิดสร้างสรรค์และนำเสนอเครื่องประดับรูปแบบใหม่ ๆ โดยไม่ยึดติดกับข้อจำกัดใด ๆ มาออกแบบเมนูนี้ แนวคิดของไอศครีมนี้ คือ การมองว่าความเพลิดเพลินของการทานไอศครีมเป็นเรื่องส่วนบุคคล แม้ว่าจะดูเหมือน ๆ กันในสายตาคนอื่น แต่คนที่เป็นเจ้าของเท่านั้นจึงจะได้ชื่นชมรสชาติที่แท้จริง เมโลดี้ของรสชาติอยู่ในลำดับการลองซอร์เบทกาแฟแต่ละแท่ง โดยการจัดเรียงจากสดใสเบาบางที่สุดไปจนถึงรสชาติที่ซับซ้อนและเข้มขึ้น
Shifting Baseline


เมนู Shifting Baseline เป็นการรังสรรค์รสชาติใหม่ที่ประกอบไปด้วย สาหร่ายสไปรูลิน่าสีฟ้าออแกนิค ครีมชีสจากมะม่วงหิมพานต์ออแกนิค และถั่วมะแฮะออแกนิค โดย Another New Design Studio ผู้ออกแบบสิ่งที่จับต้องไม่ได้ด้วยมุมมองของคำว่า “ตัวตน” ซึ่งถูกหล่อหลอมมาจากประสบการณ์ในชีวิตที่ผ่านมา และเชื่อว่าการเลือกหาและเลือกรับประสบการณ์ให้กับชีวิตควรเข้ามาแทนที่การซื้อหาสิ่งของ ถือเป็นสตูดิโอแห่งหนึ่งนี้ได้ใช้ความเชี่ยวชาญในด้านสหวิทยาการมาสนับสนุนธุรกิจที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงและวัฒนธรรมที่มีความหมายต่อเศรษฐกิจประสบการณ์ และสังคมที่ยั่งยืน สำหรับแนวคิดของเมนูในงานนี้เกิดจากการมองเห็นว่าในชีวิตประจำวันของเรามักมีเรื่องที่ทำให้โลกดีขึ้นหรือแย่ลงอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การเข้าใจและยอมรับในสิ่งนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นให้ได้สังเกตไลฟสไตล์ของตัวเองและนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงได้ อย่างเมนู Shifting Baseline ก็เป็นการพยายามสื่อสารถึงการช่วยเหลือชั้นบรรยากาศของโลก โดยอธิบายถึงหน้าที่ของส่วนผสมที่อยู่ในเมนูนี้ อย่างสาหร่ายสไปรูลิน่าที่สามารถดูดซับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าการปลูกต้นไม้ในพื้นที่ขนาดเดียวกันถึง 9 เท่า หรือถั่วมะแฮะเป็นพืชพื้นถิ่นที่ทนแล้งได้ดี เหมาะที่จะไถกลบหลังเก็บเกี่ยวเป็นปุ๋ยพืชสดเพื่อเพิ่มไนโตรเจนให้กับดินเป็นทางเลือกแทนการใช้ปุ๋ยเคมีไนเตรตที่ทำให้เกิดการระเหยของแก๊สไนตรัสออกไซด์เข้าสู่ชั้นบรรยากาศ และชีสจากถั่วที่อุดมไปด้วยสารอาหารและกรดอะมิโนจำเป็นที่สามารถทดแทนน้ำนมจากปศุสัตว์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสาเหตุหลักของแก๊สมีเทนที่ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ

ร่วมค้นหาความเป็นไปได้ของไอศครีมและเปิดประสบการณ์ใหม่แห่งรสชาติ ได้ที่ ร้านป๊อปอัพไอศกรีมในงานเทศกาลออกแบบกรุงเทพฯ 2563 (Bangkok Design Week 2020) ระหว่าง 1 – 9 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 11:00 – 20:00 น. ณ บ้านพักตำรวจน้ำ ซอยเจริญกรุง 36 บางรัก กรุงเทพฯ