fbpx

วิธีคิดราคาผลงาน ตั้งราคาอย่างไรไม่ให้ขาดทุน

สูตรคำนวณราคาผลงานที่คุณสร้างสรรค์

“คิดราคางานเท่าไหร่ดี” คำถามฮิตที่ครีเอเตอร์หลายคนก็คงคิดไม่ตก “คิดเท่านี้จะแพงไปไหม” “คนอื่นเขาคิดราคากันอย่างไรนะ” ก่อนที่จะไปถึงความกังวลนั้น อยากให้คุณลองย้อนกลับมาถามตัวเองว่า “มีต้นทุน หรือปัจจัยอะไรบ้างที่ช่วยให้คุณสร้างสรรค์ผลงานออกมาได้สำเร็จ!” นั่นแหละคือส่วนสำคัญในการคำนวณราคาผลงาน

หาต้นทุนคงที่

สิ่งแรกที่ต้องนำมาคำนวณคือต้นทุนคงที่ ซึ่งก็จะแบ่งเป็นค่าครองชีพ และค่าอุปกรณ์ ซึ่งเราจะคิดออกมาเป็นต้นทุนเฉลี่ยรายเดือน โดยเราสามารถแบ่งเบื้องต้นดังนี้

ค่าครองชีพ

1. ค่าที่พักอาศัย
2. ค่าอาหาร
3. ค่าเดินทาง
4. ค่าน้ำ ค่าไฟ
5. ค่าอินเทอร์เน็ต 

ค่าอุปกรณ์ที่ใช้ต่อเดือน

1. ค่าอุปกรณ์ที่ใช้ในการวาดรูป ไม่ว่าจะเป็นโน๊ตบุ๊ก ไอแพด ไอโฟน หารด้วยอายุการใช้งานเฉลี่ยต่อเดือน
2. ค่าโปรแกรม ค่าสมัครแอปพลิเคชั่นต่างๆ ที่ใช้ในการทำงาน

ทั้งหมดนี้คือต้นทุนคงที่ หรือพูดง่ายๆ ก็คือต้นทุนในการใช้ชีวิตที่เราจำเป็นต้องจ่าย ค่าใช้จ่ายส่วนไหนที่เราต้องชำระทุกเดือนแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ ให้นำมารวมกับต้นทุนคงที่ทั้งหมด ซึ่งเราจะไม่สามารถตั้งราคาผลงานให้ต่ำกว่าต้นทุนคงที่ได้

หาค่าตัวรายชั่วโมงเพื่อคิดราคางาน

อันดับต่อไปสิ่งที่ต้องคิดคือค่าตัวต่อชั่วโมง เพื่อนำมาคำนวณว่าผลงานชิ้นนี้คุณใช้เวลาทำไปกี่ชั่วโมง และจะทำให้สามารถตั้งราคางานของคุณได้อย่างไม่ขาดทุน

โดยปกติแล้วเราทำงานเฉลี่ยประมาณ 160 ชั่วโมงต่อเดือน (วันละ 8 ชั่วโมง เฉลี่ย 5 วันต่อสัปดาห์) จากนั้นให้นำต้นทุนคงที่ได้ที่หารด้วยจำนวนชั่วโมง เช่น 160/25,000 บาท = 156.25 อาจจะคิดเป็นต้นทุนค่าตัว 160 บาทต่อชั่วโมง

ยังไม่จบเพียงเท่านี้อย่างน้อยที่สุดควรคิดกำไร 30% ของต้นทุน สุดท้ายแล้วคุณอาจจะได้ค่าตัวอยู่ที่ประมาณ 250 – 300 ต่อชั่วโมง หากผลงานของคุณใช้เวลาประมาณ 2 วัน ก็ให้นำราคาต่อชั่วโมงที่ได้คูณจำนวณชั่วโมงที่ใช้ในการสร้างสรรค์ผลงาน

คำนวนราคางานเมื่อทำคอมมิชชั่น

หากคุณทำงานที่ลูกค้าจ้าง เมื่อได้ราคาค่าตัวคร่าวๆ แล้ว ให้คิดค่าการแก้งานไปด้วยอีก 10% อาจรวมไปถึงการคิดค่าลิขสิทธ์ของชิ้นงาน ซึ่งหากลูกค้าเร่งงานอาจจะคำนวณเพิ่ม 30% หากต้องส่งไฟล์ต้นฉบับให้ลูกค้าควรคิดค่าไฟล์ต้นฉบับไปอีก 50% เพราะสามารถนำไฟล์เราไปใช้งานได้อีก ซึ่งลูกค้าอาจจะมีการให้ทำ option เสริมต่าง ๆ ก็ควรคิดราคาไปตามสัดส่วนนั้น ๆ ทั้งหมดนี้คือค่าต้นทุนและแรงงานของเรา โดยเรายังสามารถเพิ่มค่าแบรนด์ดิ้งของเราเข้าไปได้ด้วย 

อย่าประเมินผลงานตัวเองต่ำเกินไป

การลอกราคาจากผลงานที่ใกล้เคียงของคนอื่น ไม่ใช่ความคิดที่ดีอย่างแน่นอน เพราะแน่นอนว่าแต่ละคนอาจจะมีต้นทุน ปัจจัย และเทคนิคในการสร้างสรรค์ต่างกัน ซึ่งทุกอย่างล้วนส่งผลต่อการคิดราคาผลงานทั้งสิ้น รวมถึงการประเมินผลงานของตัวเองต่ำเกินไป ไม่เพียงแต่จะเสียหายต่อกำไรของเราเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงอุตสาหกรรมสร้างสรรค์โดยรวมอีกด้วย ราคาผลงานที่ประเมินต่ำกว่าความเป็นจริงจะสร้าง “เพดาน” พื้นฐานของผลงานประเภทนั้นๆ โดยไม่คำนึงถึงเวลา ความพยายาม และสิ่งจำเป็นต่อการสร้างสรรค์ผลงานของศิลปิน ดังนั้นจงมั่นใจในผลงานของเราเข้าไว้นะทุกคน

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin
Share on pinterest

More to explore