fbpx

คู่มือการทำพอดแคสต์ สำหรับครีเอเตอร์มือใหม่

รวมทุกขั้นตอนการสร้างพอดแคสต์ ตั้งแต่การเลือกคอนเทนต์ อุปกรณ์บันทึกเสียง ไปจนถึงเผยแพร่จริง บอกขั้นตอนทีละสเต็ป เห็นภาพ นำไปใช้ได้จริง

ในยุคที่ “ใครๆ ก็เป็นครีเอเตอร์” คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อที่มาแรงและมีแน้วโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ นั่นก็คือ Podcast แพลตฟอร์มเสียงออนไลน์ที่นอกจากจะตอบไลฟ์สไตล์การฟังของคนเจนเนอเรชั่นใหม่แล้ว ไม่ว่าใครก็สามารถสร้างพอดแคสต์ของตัวเองได้ง่ายๆ ด้วยสมาร์ทโฟนเพียง 1 เครื่อง ทำให้ตอนนี้เหล่าครีเอเตอร์ คนทำธุรกิจ และเจ้าของธุรกิจ หันมาทำพอดแคสต์เพื่อแบ่งปันทักษะความรู้ แชร์เรื่องราวที่สนใจ และใช้เป็นช่องทางสื่อสารของแบรนด์ สร้างฐานแฟนคลับ ทำให้เกิดคอมมูนิตี้ในเรื่องราวเหล่านั้น

เริ่มต้นอย่างไร

หากคุณเป็นอีกคนที่อยากจะเริ่มทำพอดแคสต์แต่ติดปัญหาสุดคลาสสิกอย่าง “ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร” ทั้งอ่านบทความก็แล้ว ดูยูทูบก็แล้ว แต่ยังจับต้นชนปลายไม่ถูกอยู่ดี Kooper ได้รวบรวมข้อมูลสำหรับการทำพอดแคสต์ บอกขั้นตอนทีละสเต็ป ตั้งแต่ 1. การเลือกคอนเทนต์ 2. การเลือกอุปกรณ์บันทึกเสียง 3. โปรแกรมตัดต่อ ไปจนถึง 4. วิธีการเผยแพร่พอดแคสต์ในช่องทางต่างๆ หากคุณทำตามขั้นเหล่านี้ทีละสเต็ป รับประกันได้เลยว่าเมื่ออ่านจบคุณจะมีพอดแคสต์เป็นของตัวเองอย่างแน่นอน

Pre-Production

1. เลือกเรื่องที่จะพูด

ปัญหาโลกแตกที่หลายคนอาจจะกำลังคิดไม่ตกว่า “ฉันจะทำพอดแคสต์เรื่องอะไรดี” แต่ก่อนที่จะตอบคำถามนี้ได้ คุณจะต้องย้อนกลับไปหาประเด็นที่สำคัญกว่านั้นคือ

“จุดประสงค์ของการทำพอดแคสต์” หลายคนทำเพื่อแชร์ความรู้, สร้างฐานผู้ติดตาม, หรือเป็นช่องทางการสร้างรายได้ แน่นอนว่าคุณไม่จำเป็นต้องเลือกเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่หากคุณรู้จุดประสงค์ที่ชัดเจนจะทำให้คุณเลือกประเด็นในการพูดได้ง่ายขึ้น โดยอาจจะเริ่มจาก “สิ่งที่คุณถนัดและสนใจ” จากนั้นให้คิดต่อว่า สิ่งที่เหล่านั้น “ให้คุณค่าอะไรกับคนฟัง” และ “ช่วยแก้ปัญหาอะไรให้คนฟังบ้าง” จากนั้นลิสต์ออกมาเป็นหัวข้อให้ได้มากที่สุด

2. รูปแบบรายการ

หากคุณมีเรื่องที่อยากจะพูดแต่ยังนึกภาพไม่ออกว่ารายการของตัวเองจะออกมาเป็นแบบไหน สไตล์และวิธีการพูดควรเป็นอย่างไร วิธีที่จะช่วยให้คุณเห็นภาพที่ได้ดีสุดนั่นก็คือ “การฟังให้มากที่สุด” คุณอาจจะเคยได้ยินว่าโลกนี้ไม่มีอะไรใหม่ เราไม่ได้สนับสนุนให้คุณลอกเลียนแบบ แต่การฟังพอดแคสต์ของคนอื่นจะช่วยให้คุณเห็นไอเดียและได้แรงบันดาลใจใหม่ๆ นอกกรอบความคิดเดิมๆ พยายามหาดูว่าเรื่องที่คุณอยากจะเล่า คนอื่นๆ เขาเล่าอย่างไรให้น่าฟัง เพื่อนำแนวทางนั้นมาปรับใช้ให้เข้ากับสไตล์ของตัวเอง ซึ่ง Kooper ได้รวบรวม 10 พอดแคสต์ที่น่าสนใจไว้ให้คุณแล้ว

3. ชื่อรายการ และหัวข้อพอดแคสต์

เมื่อคุณได้เรื่องที่อยากจะพูด และมีภาพรายการของตัวเองในหัวมากขึ้นแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากๆ นั่นคือ “ชื่อรายการ” ควรจะเป็นคำที่เข้าใจง่าย กระชับ น่าสนใจ และสื่อสารถึงคุณค่าของรายการ เมื่อเห็นแล้วผู้ฟังสามารถเข้าใจภาพรวมว่ารายการนี้จะให้อะไรกับเขา

จากนั้นคุณต้องคิด “หัวข้อของพอดแคสต์อย่างน้อย 20 Episodes” เพื่อเช็คว่าเรื่องที่คุณจะพูดนั้นมีประเด็นและมีความน่าสนใจมากพอ ที่สำคิดคัญคุณต้องรู้ว่า “ใครเป็นผู้ฟังของคุณ” หัวข้อที่คุณคิดมานั้นช่วยแก้ปัญหาให้คนกลุ่มไหน และอะไรบ้างคือสิ่งที่คนเหล่านั้นอยากฟัง คิดออกมาเป็นตอนย่อย เรียงลำดับการเล่า 1-20 EP. แต่ละ EP. มีชื่อตอนว่าอะไรบ้าง จากนั้นเริ่มหาข้อมูลและเขียนโครงร่างสคริปต์ ลิสต์ออกเป็นหัวข้อที่จะต้องพูดเพื่อให้ไม่ลืมประเด็นสำคัญ และป้องกันการพูดที่วกวน

4. ตั้งเป้าหมายให้ตัวเอง

มื่อคุณได้หัวข้อที่จะพูดทั้งหมด 20 EP. คุณควรกำหนดตารางการอัดเสียงและวันที่ในการออนแอร์ ซึ่งก็ไม่ได้มีสูตรตายตัว ขึ้นอยู่กับคอนเทนต์และกลุ่มเป้าหมายคุณคือใคร สิ่งสำคัญที่สุดคือ “การทำอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง

สำหรับ “การมีเป้าหมายที่ชัดเจน” จะทำให้คุณสามารถติดตามผล และเช็คฟีดแบ็กเพื่อนำไปพัฒนาและวางแผนการทำงานในอนาคตได้ง่ายขึ้น เช่น ภายในสามเดือนแรกที่ปล่อยพอดแคสต์ คุณต้องการให้มียอดการฟังเท่าไหร่ หรือมีผู้ติดตามเพิ่มขึ้นแค่ไหน หากถึงเวลาแล้วไม่สามารถทำตามเป้าหมายที่วางไว้ได้ จะทำให้คุณกลับมาวิเคราะห์ได้ว่าสิ่งไหนที่ควรปรับปรุง หากคุณไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนอาจจะทำให้คุณไม่มีแรงจูงใจและอาจจะทำให้เลิกระหว่างทางได้

เมื่อคุณทำตามทุกในขั้นตอน Pre-Production ทั้งหมดได้แล้ว สิ่งที่คุณจะต้องมีคือ 1. ชื่อรายการ 2. รูปแบบรายการ 3. กลุ่มเป้าหมาย 4. หัวข้อและชื่อตอน 5. แผนงานและตารางออนแอร์ 6. เป้าหมาย 3 เดือนแรก หากคุณได้ครบทั้งหมด 6 ข้อนี้ สิ่งต่อไปที่ต้องทำก็คือ เริ่มการผลิต! จะมีรายละเอียดอะไรที่ต้องรู้บ้างไปดูกันเลย 


Production (บันทึกเสียง – ตัดต่อ)

ขั้นตอนการบันทึกเสียงจะเป็นตัวกำหนดว่าพอดแคสต์ของคุณจะมีคุณภาพเสียงที่ดีหรือไม่ ซึ่งก็จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยหลายๆ อย่าง แต่สำหรับใครที่ไม่ชอบความยุ่งยาก และยังไม่พร้อมลงทุนไปกับอุปกรณ์ หรืออยากทำพอดแคสต์จากสมาร์ทโฟนเพียงเครื่องเดียว Kooper ขอแนะนำคลิปวิดีโอของ Superduck Studio ที่สอนวิธีการบันทึกเสียงด้วยแอปพลิเคชั่น Anchor แบบฟรีๆ ไม่มีค่าใช้จ่าย แต่สำหรับใครที่อยากจะศึกษาอุปกรณ์การบันทึกเสียงแบบมืออาชีพ และพร้อมลงทุนมากขึ้นสามารถอ่านได้ในย่อหน้าถัดไป

เมื่อพูดถึงการบันทึกเสียง สิ่งแรกที่คุณนึกถึงอาจจะเป็นอุปกรณ์ไมค์ และเครื่องบันทึกเสียงหลากหลายยี่ห้อ แต่ก่อนอื่น Kooper ขอให้คุณทำความเข้าใจหลักการบันทึกเสียงในเบื้องต้นเสียก่อน เพราะอุปกรณ์บันทึกเสียงเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของการมีคุณภาพเสียงที่ดี แต่การมีคุณภาพเสียงที่ดีต้องเริ่มจากปัจจัยต่อไปนี้

1. สถานที่บันทึกเสียง 

สถานที่บันทึกเสียงถือเป็นปัจจัยที่สำคัญมากๆ ต่อคุณภาพเสียง ซึ่งสถานที่ที่เหมาะกับการบันทึกเสียงนั้นควรเป็นห้องปิด มีผนังที่หนาสามารถกันเสียงรบกวนจากภายนอก พูดแล้วเสียงไม่ก้องหรือสะท้อนกลับ คุณสามารถทดสอบสภาพห้องได้ง่ายๆ โดยการใช้โทรศัพท์มือถืออัดเสียงตอนพูดเพื่อฟังดูว่าสภาพห้องเหมาะสำหรับการอัดเสียงหรือไม่ และข้อที่ควรระวังมากๆ นั่นก็คือ สถานที่อัดเสียงไม่ควรอยู่ใกล้สถานีวิทยุ หรือแหล่งกระจายเคลื่อนวิทยุ ในรัศมี 5 กิโลกเมตร เพราะอาจจะทำให้มีเสียงสัญญาณวิทยุแทรกเข้ามาในอุปกรณ์บันทึกเสียงที่มีส่วนประกอบของขดลวด (ไมค์, สายไมค์) หากคุณเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ก็ควรใช้อุปกรณ์บันทึกเสียงที่มีวัสดุที่รับสัญญาณให้น้อยที่สุด

2. ไมโครโฟน

หากถามว่าไมค์แบบไหนที่ดีที่สุดสำหรับการใช้งานพอดแคสต์ อาจจะบอกไม่ได้ดีเท่า “ไมค์แบบไหนที่เหมาะกับการใช้งานของคุณ” และ “คุณชอบโทนเสียงของตัวเองจากไมค์แบบไหน” ผู้เขียนอาจจะไม่ได้ลงรายละเอียดในส่วนของข้อมูลเชิงเทคนิคของไมค์แต่ละรุ่น แต่จะแนะนำข้อมูลจำเป็นที่คุณต้องคำนึงหากนำมาใช้งานพอดแคสต์

2.1. เลือกไมค์แบบไหน USB, Dynamic, Condenser 

ไมโครโฟนเป็นอุปกรณ์ที่มีหลายประเภทให้เลือกใช้ ซึ่งก็มีลักษณะเด่นสำหรับการใช้งานที่แตกต่างกัน แต่วันี้เราจะขอพูดถึงไมค์ 3 ประเภท ได้แก่

USBMicrophone – เป็นไมค์ที่เหมาะกับผู้เริ่มต้น เพราะสามารถใช้งานได้ง่ายเพียงแค่ต่อไมค์ที่เป็นสาย USB เข้ากับอุปกรณ์บันทึกอย่างคอมพิวเตอร์ ก็สามารถบันทึกเสียงได้โดยไม่ต้องมีอุปกรณ์เสริมอย่างAudio Interface ทำให้พกพาง่าย สะดวก มีให้เลือกใช้งานแบบหลากหลาย ซึ่งคุณภาพเสียงก็ถือว่าใกล้เคียงกับไมค์โปรประเภทอื่นๆ

Dynamic Microphone – ไมค์ชนิดนี้จะมีความไวต่อการรับเสียงต่ำ พูดง่ายๆ ก็คือเวลาพูดจะต้องอยู่ใกล้ไมค์มากๆ ถึงจะสามารถรับเสียงได้อย่างชัดเจน ข้อดีก็คือเสียงบรรยากาศ หรือเสียงรบกวนภายนอกจะเข้าไมค์ได้น้อย แต่ข้อควรระวังของไมค์ Dynamic คือตัวรับสัญญาณเสียงของไมค์ชนิดนี้เป็นขดลวด ดังนั้นอาจจะมีปัญหาในเรื่องของสัญญาณวิทยุแทรกได้หากอยู่ใกล้แหล่งปล่อยสัญญาณวิทยุ 

CondenserMicrophone – มีลักษณะเด่นที่ตรงกันข้ามกับ Dynamic ที่ไวต่อการรับเสียง สามารถเก็บรายละเอียดเสียงได้ดีโดยที่คุณไม่จำเป็นต้องพูดใกล้ไมค์มากนัก แต่ข้อเสียคือเสียงบรรยากาศ หรือเสียงสภาพแวดล้อมจะสามารถเข้าไมค์ได้เยอะ และไมค์ตัวนี้จำเป็นต้องต่อสายให้มีไฟเลี้ยงอยู่ตลอดเวลาอาจจะไม่เหมาะกับบางสถานที่

2.2. ไมค์ที่ใช้ สามารถฟังเสียงขณะพูดได้หรือไม่

อีกสิ่งที่คุณจะต้องคิดถึงก่อนซื้อไมค์ คือ ไมค์ของคุณสามารถฟังเสียงขณะพูดได้หรือไม่ ไมค์ชนิดที่เป็น การที่คุณได้ยินเสียงตัวคุณเองขณะพูดจะทำให้คุณรู้เนื้อเสียงจริงของตัวเอง และสามารถผ่อนหนัก ผ่อนเบาได้น้ำเสียงได้ การพูดของคุณก็จะน่าฟังขึ้น

3. หูฟัง

หูฟังเป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะช่วยให้คุณยินเสียงตัวเองขณะพูดแล้ว ยังช่วยให้คุณเช็คคุณภาพเสียงตลอดการบันทึกหากเกิดเสียงสัญญาณรบกวนหรือมีเสียงแทรกคุณจะได้แก้ไขได้ทัน

4. เครื่องบันทึกเสียง

นอกจากไมค์ที่เป็นตัวรับสัญญาณเสียงแล้ว คุณจะต้องมีอุปกรณ์บันทึกเสียงที่สามารถแปลงสัญญาณเสียงเป็นไฟล์และจัดเก็บได้ ซึ่งคุณสามารถใช้ได้ตั้งแต่สมาร์ทโฟน หรือหากต้องการคุณภาพเสียงที่ดีขึ้นควรใช้คอมพิวเตอร์ในการบันทึกเสียง เพราะคุณจะสามารถตั้งค่า หรือมีฟังก์ชันการทำงานที่สะดวกต่อการบันทึกเสียงมากกว่า หรือคุณสจะใช้เครื่องบันทึกเสียงโดยเฉพาะก็ได้เช่นกัน

นอกจากนั้นจะมีอุปกรณ์เสริมอย่าง Audio Interface ที่จะเป็นเหมือนตัวกลางในการรับสัญญาณเสียง ช่วยให้คุณสามารถควบคุมเสียง และเป็นอุปกรณ์จำเป็นหากคุณต้องการบันเสียงจากไมค์สองตัวพร้อมๆ กัน

ไมค์และอุปกรณ์บันทึกเสียงเป็นสิ่งที่คุณจำเป็นต้องใช้เวลาศึกษา คุณสามารถหาข้อมูลเบื้องต้นจากบทความ ต่อไปนี้ ไมโครโฟนพอดคาสต์ที่ดีที่สุดในปี 2021, แนะนำ 5 ไมโครโฟนสุดคุ้มสำหรับ Podcast, อุปกรณ์ทำพอดแคสต์งบไม่เกิน 20,000 บาท หรือ คุณสามารถขอคำแนะนำร้านจำหน่ายอุปกรณ์เสียงอย่าง Mahajak, Pro-Plugin, Millionhead Pro-Audio ซึ่งจะมีผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาเพื่อแนะนำอุปกรณ์ที่เหมาะกับคุณ

5. Jingle & Sound

“Sound ที่ดีช่วยสร้างการจดจำ” พอดแคสต์คือแพลตฟอร์มที่ใช้เสียงในการสื่อสาร ดังนั้นหน้าที่หลักของ jingle คือการสร้างเอกลักษณ์ ต้องสื่อสารคาแรกเตอร์ และ mood & tone ของรายการได้ภายในไม่กี่วินาที นอกจากนั้น jingle เป็นสิ่งที่คุณต้องให้ความสำคัญมากๆ เพราะเป็นเหมือนด่านแรกที่ช่วยปรับให้ผู้ฟังมีอารมณ์และความรู้สึกที่สอดคล้องกับเนื้อหาที่จะได้ฟังต่อจากนี้

คุณสามารถดาวน์โหลด Sound มาใช้งานแบบไม่มีค่าใช้จ่าย และถูกลิขสิทธิ์ได้ที่ Audio library แต่อย่าลืมอ่านข้อกำหนดการใช้งานของเพลงนั้นๆ ให้ดีเสียก่อน

6. โปรแกรมบันทึกเสียง – ตัดต่อ

หากคุณต้องการคุณภาพไฟล์เสียงพอดแคสต์ที่มีคุณภาพกว่าการอัดในโทรศัพท์มือถือ หรือโปรแกรมที่ติดมากับเครื่องคอมพิวเตอร์ คุณจำเป็นต้องมีโปรแกรมสำหรับบันทึกและตัดต่อเสียงโดยเฉพาะ เช่น Adobe Audition, GarageBand, Audacity ซึ่งก็จะมีหน้าตาและเครื่องมือที่ต่างกันออกไปสามารถเลือกใช้งานได้ตามความการใช้งาน และความถนัด ซึ่ง kooper แนะนำโปรแกรม Adobe Audition เพราะมีฟังก์ชั่นที่ครบและเพียงพอกับการใช้งาน บันทึกเสียง – ตัดต่อ – มิกซ์เสียง ในโปรแกรมเดียว โดยไม่ยุ่งยากหรือซับซ้อนจนเกินไป

วิธีการบันทึกเสียงด้วยโปรแกรมAdobe Audition

เมื่อผ่านกระบวนการ Production จนได้คลิปเสียงออกมาแล้ว ขั้นต่อไปคือการนำคลิปเสียงที่ได้ลงเผยแพร่ในแพลตฟอร์มต่างๆ ซึ่งคุณจะต้องเตรียมต่อไปนี้ 


Post-Production (การเผยแพร่)

1. ปกพอดแคสต์

“อย่ามองข้าม Visual ของพอดแคสต์” พอดแคสต์เป็นรายการที่ใช้เสียงในการเล่าเรื่อง อาจจะทำให้คุณมองข้าวความสำคัญของภาพไป แต่อย่าลืมว่าก่อนที่คนจะฟังเนื้อหาของรายการ สิ่งแรกที่คนมองเห็นคือภาพปก และ Artwork ต่างๆ ปกพอดแคสต์ที่ดึงดูดกลุ่มเป้าหมาย จะยิ่งเพิ่มโอกาสในการกดฟัง ปัจจุบันมีเทมเพลต และพื้นหลังมากมายให้เลือกใช้ ซึ่งในระยะแรกคุณอาจจะหาโหลดภาพที่ไม่มีค่าใช้จ่ายมาใช้งาน คุณสามารถอ่านวิธีการได้ที่ 12 พื้นหลังและเทมเพลตปกศิลปะพอดแคสต์ฟรี

2. Podcast Hosting

ก่อนที่คุณจะเผยแพร่คลิปเสียงไปยังช่องทางต่างๆ ได้นั้นคุณจำเป็นต้องนำคลิปเสียงไปลง Hosting เพื่อที่จะนำลิงก์ของไฟล์ไปใส่ในช่องทางต่างๆ ซึ่งเว็บไซต์ที่คนนิยมเลือกใช้เป็น Hosting ได้แก่ Soundcloud, Podbean, Anchor.fm ซึ่งแต่ละ Hosting ก็จะมีค่าใช้จ่ายและการวิเคราะห์ data ที่ต่างกันออกไปคุณ ซึ่ง Kooper แนะนำ Soundcloud เพราะเป็น Hosting ที่ใช้งานได้ง่ายและมีการแสดงข้อมูลหลังบ้านที่ละเอียดสามารถนำไปวิเคราะห์และปรับปรุงต่อได้

2.1. เลือกแพ็คเกจ Basic vs. Pro Unlimited

หากคุณเลือก Soundcloud เป็น Hosting สิ่งแรกที่คุณจะต้องมีคือแอคเคาต์ โดยขั้น Basic คุณสามารถอัปโหลดไฟล์เสียงได้ฟรี 3 ชั่วโมง จากนั้นคุณจะต้องอัปเกรดเป็น Pro Unlimited เพื่อเพิ่มพื้นที่การจัดเก็บ ซึ่งค่าใช้จ่ายจะอยู่ที่ประมาณ 400 บาท/เดือน สิ่งที่คุณจะได้นอกจากพื้นที่ไม่จำกัดแล้ว คุณยังสามารถตั้งเวลาการปล่อยพอดแคสต์ของคุณล่วงหน้า สามารถเปลี่ยนข้อมูลแทร็กใหม่โดยที่ไม่เสียยอดสถิติเดิม และสามารถดูสถิติหลังบ้านได้ ไม่ว่าจะเป็นกราฟยอดการฟัง, 50 top tracks ของช่อง, top listeners และประเทศที่ฟังพอดแคสต์ของคุณ

หากในระยะแรกคุณยังไม่พร้อมที่จะลงทุนมากนัก ก็แนะนำให้ใช้แบบ Basic ไปก่อน แต่ถ้าใครที่ต้องการทำแบบจริงจังแนะนำให้คุณสมัครแบบ Pro Unlimited จะทำให้คุณบริหารพอดแคสต์และวางแผนงานระยะยาวได้ดี

2.2. RSS Feed

มาถึงขั้นตอนสำคัญ อย่างที่บอกไปว่านอกจาการใช้ Soundcloud เป็นช่องทางการเผยแพร่แล้ว เรายังใช้เป็น Hosting ในการเก็บข้อมูลเทร็กเสียงด้วย ดังนั้นเราสามารถนำลิงก์ RSS feed ที่อยู่ในแอคเคาต์ไปฝังไว้ในแพลตฟอร์มอื่นๆ เพื่อเผยแพร่เสียง วิธีการนำ RSS feed ไปใช้คือให้คุณเข้าไปที่ Setting เลือกหัวข้อ Content จากนั้นจะเห็นช่องที่เป็น RSS feed ให้คุณคัดลอก url นี้ไปใส่ในช่องทางอื่นๆ ก็จะสามารถดึงแทร็กเสียงของคุณไปในแพลตฟอร์มนั้นแล้ว อย่าลืมติ๊กตรงช่องที่เขียนว่า Includ in Rss feed เพราะเมื่อคุณอัปโหลด Ep. ใหม่ ระบบก็จะอัปเดตลิงก์  RSS feed ของคุณ ถ้าคุณมีช่องพอดแคสต์ 10 ช่อง ทุกช่องของคุณก็จะอัปเดตพอดแคสต์ Ep. ใหม่ของคุณแบบอัตโนมัติ

3. Podcast Channel

เมื่อคุณนำคลิปเสียงไปลงใน Hosting Soundcloud สำเร็จแล้ว แพลตฟอร์มต่างๆ อย่าง Podbean, Podtail, Castbox จะมาดึงคลิปเสียงของคุณไปเผยแพร่ที่ช่องตามรายละเอียดที่คุณใส่ไว้ใน Hosting แต่จะมีบางช่องทางที่คุณต้องนำลิ้งก์ RSS Feed ไปงฝังไว้ในแพลตฟอร์มนั้นๆ เอง ซึ่งแพลตฟอร์มพอดแคสต์ที่นิยมในไทยได้แก่ Spotify, Apple Podcast, Anchor เพียงคุณสร้างแอคเคาต์ในแพลตฟอร์มเหล่านี้ และนำลิงก์ RSS feed ที่ได้จาก Soundcloud ไปแปะ แทร็กเสียงและข้อมูลทุกอย่างใน Soundcloud ก็จะไปอยู่ในช่องทางนั้นด้วย ซึ่งในช่วงแรกที่คุณสมัครแอคเคาต์ กว่าที่แพลตฟอร์มเหล่านี้จะ verify แอคเคาต์ของคุณ และยอมให้ออกอากาศนั้น อาจจะต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ ดังนั้นคุณควรจะเผื่อเวลา และวางแผนในการปล่อยพอดแคสต์ของคุณล่วงหน้า

เอาล่ะ เมื่อคุณอ่านมาถึงตรงนี้ คุณกำลังจะเข้าสู่ขั้นตอนที่สำคัญที่สุดของการทำพอดแคสต์ นั่นก็คือ

ลงมือทำ! 

คอนเทนต์สุดเจ๋ง และอุปกรณ์อัดเสียงที่คุณมีจะไม่มีประโยชน์เลยถ้าคุณไม่เริ่มลงมือและหมั่นทำอย่างสม่ำเสมอ หลายๆ คนอาจจะกลัวการทำแล้วออกมาไม่ดี ไม่มีคนฟังหรือคนฟังน้อย แต่อย่าลืมว่า คุณจะไม่มีทางทำพอดแคสต์ที่ดีได้ หากคุณไม่รู้ว่ามันไม่ดีอย่างไร คนฟังเพียงแค่ 1 คนก็อาจจะสามารถบอกคุณได้ว่าคุณควรปรับตรงไหน เวลาและฟีดแบ็กเป็นสิ่งสำคัญที่สุด คุณต้องกล้าที่จะลองผิดลองถูก และหาสไตล์ของคุณให้เจอ

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin
Share on pinterest

More to explore