ในวงการสร้างสรรค์ คำว่า AR (Augmented Reality) หรือ VR (Virtual Reality) ดูจะไม่ใช่คำใหม่อีกต่อไป เพราะเทคโนโลยีโลกเสมือนเหล่านี้ถูกนำมาใช้สร้างความแตกต่าง รวมถึงปรับปรุงการทำงานสร้างสรรค์สินค้าและบริการอย่างต่อเนื่องในแทบทุกวงการ ตั้งแต่แฟชั่น ยานยนต์ ไปจนถึงวงการศิลปะ ว่าแต่ XR ล่ะ คุณคุ้นเคยกับคำนี้มากแค่ไหน?
สรุปสั้นๆ Extended Reality (XR) คือภาพใหญ่ที่หมายรวมถึงเทคโนโลยีแบบอิมเมอร์ซีฟทั้งหมด ตั้งแต่ Virtual Reality (VR), Augmented Reality (AR) และ Mixed Reality (MR) XR เป็นเหมือนเทคโนโลยีที่เชื่อมต่อโลกจริงและโลกดิจิตัลเข้าไว้ด้วยกันอย่างเรียลไทม์ และสามารถสร้างประสบการณ์แบบอิมเมอร์ซีฟที่สมจริงยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยให้มนุษย์ทำงานกับคอมพิวเตอร์ได้อย่างลื่นไหล
แล้ว XR จะเข้ามาเปลี่ยนโลกอย่างไรบ้าง? ถึงตอนนี้เราคงได้เห็นพรีวิวกันบ้างแล้วถึงบทบาทของ XR ที่ปรากฏในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น
วงการรีเทลหรือค้าปลีก: มีการใช้ XR มาช่วยสร้างโชว์รูมแบบเสมือนจริง รวมถึงการทดลองสัมผัสกับสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ก่อนซื้อจริง เช่น แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ IKEA มีแอพให้ทดลองวางเฟอร์นิเจอร์ที่บ้านก่อนซื้อ หรือแบรนด์นาฬิกา Rolex ที่ให้ลองใส่นาฬิการุ่นใหม่บนข้อมือตนเอง วงการยานยนต์เองก็คึกคักไม่แพ้กัน เพราะหลายๆ แบรนด์เริ่มทำ virtual showroom กันแล้ว

วงการเกม: พอบอกว่า Pokemon Go! ก็คงจะนึกออกแล้วใช่ไหม
วงการศิลปะ: ก็มีตั้งแต่ virtual gallery สำหรับทั้งงานศิลปะแบบ NFT และงานแบบออฟไลน์ ไปจนถึงการสัมผัสกับงานศิลปะแบบอิมเมอร์ซีฟ ซึ่งตอนนี้กำลังฮ็อตฮิตมาก รวมถึงงานศิลปะ AR ก็มีให้เห็นเยอะขึ้นเช่นกัน (อย่างเช่นงานของ KAWS เป็นต้น)
วงการการแพทย์: เป็นอีกหนึ่งวงการที่ XR เข้ามามีบทบาท และสร้างประโยชน์ได้มากมาย โดยเฉพาะการเป็นเครื่องมือการฝึกฝนของบุคลากรทางสาธารณสุข โดยปัจจุบันสามารถพัฒนาได้ซับซ้อนได้ถึงกับใช้กับการแพทย์ขั้นสูง เช่น บริษัท VirtualiSurg จากปารีสพัฒนาโปรแกรมเสมือนจริงที่ช่วยให้ศัลยแพทย์สามารถฝึกผ่าตัดและรับมือกับความซับซ้อนทางการแพทย์ก่อนที่จะลงมือผ่าตัดจริง โดยล่าสุดนี้บริษัทได้ทำงานกับโรงพยาบาล Georges Pompidou ในปารีส ในการพัฒนาโปรแกรมเทรนนิ่งโดยใช้เทคโนโลยี XR เพื่อให้การทำงานของบุคลากรทางการแพทย์มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วย

วงการการศึกษา: นักเรียนและนักศึกษาสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ที่หลากหลายจากทั่วทุกมุมโลกได้โดยไม่ต้องเดินทางไกล นอกจากนี้ ทางฝั่งอาจารย์ผู้สอนยังสามารถพัฒนาประสบการณ์การเรียนรู้ให้น่าตื่นเต้นหรือน่าสนใจยิ่งขึ้นด้วย
อ่านดูแล้วก็เหมือนจะดีไปหมด แต่เทคโนโลยี XR ในทุกวันนี้ก็มีความท้าทายอยู่ไม่น้อยเช่นกัน ทั้งในเรื่องของต้นทุนที่ยังสูงมากจนมีแต่บริษัทใหญ่ๆ เท่านั้นที่สามารถลงทุนใช้ได้ รวมถึงประเด็นเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลที่เข้ามาเกี่ยวข้องอย่างมหาศาล (ไม่ใช่แค่ข้อมูลทั่วไป แต่ยังรวมถึงเรื่องอารมณ์ความรู้สึกด้วย) ซึ่งเราก็หวังว่าความท้าทายเหล่านี้จะถูกปรับแก้เมื่อเวลาผ่านไป เพราะถ้าสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เทคโนโลยีเหล่านี้ย่อมมีประโยชน์ต่อทั้งผู้บริโภคและคนสร้างสรรค์มากๆ แน่นอน