fbpx

Doi Silver Museum พิพิธภัณฑ์เครื่องเงินชาวเขาในหุบเขาเมืองปัว

เรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมชาวเขาผ่านเครื่องประดับเงินที่ชาวเขาเผ่าเย้าใช้ในชีวิตประจำวันที่พิพิธภัณฑ์เล็กๆ ในจังหวัดน่าน

จังหวัดน่าน คือจังหวัดที่ขึ้นชื่อเรื่องการผลิตเครื่องเงินมายาวนาน โดยเฉพาะเครื่องเงินชาวเขาที่มากด้วยเอกลักษณ์ แต่แม้กระนั้น ข้อมูลที่บอกเล่าประวัติความเป็นมาของเครื่องเงินชาวเขากลับไม่ค่อยมีให้เห็นสักเท่าไหร่ โชคดีที่ในทริปล่าสุดนี้เราก็ได้มีโอกาสไปเยือน ดอยซิลเวอร์ มิวเซียม หรือพิพิธภัณฑ์เครื่องเงินของแบรนด์ดอยซิลเวอร์ที่อำเภอปัว ที่ทำให้เราได้เรียนรู้และเข้าใจความเป็นมาของเครื่องเงินชาวเขาในจังหวัดน่านมากขึ้น  

คุณพิมพร รุ่งรชตะวาณิช รองประธานบริษัท ดอยซิลเวอร์ จำกัด เล่าให้ฟังถึงประวัติของแบรนด์ดอยซิลเวอร์ ว่าเป็นแบรนด์ที่ก่อตั้งโดยตระกูลช่างทำเครื่องเงินจากชนเผ่าเย้าหรือชาวอิ้วเมี่ยน โดยคุณสมชายผู้เป็นสามีนั้นถือเป็นทายาทรุ่นที่สี่ในการสืบสานศิลปะการทำเครื่องเงิน โดยคุณพ่อและคุณอาของคุณสมชายได้เคยเข้าไปถวายงานอยู่ในสวนจิตรลดา และตามเสด็จสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 อยู่หลายปี ก่อนที่จะกลับมาดูแลครอบครัว และนำความรู้เรื่องการทำเครื่องเงินจากจังหวัดต่างๆ ในประเทศไทยมาผสมผสานกับภูมิปัญญาดั้งเดิม

ดอยซิลเวอร์มิวเซียม พิพิธภัณฑ์ขนาดกะทัดรัดที่ตั้งอยู่หน้าโรงงานของดอยซิลเวอร์ บอกเล่าประวัติความเป็นมาของเครื่องเงินชาวเขาชนเผ่าเย้า ผ่านการจัดแสดงเครื่องเงินและข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ คุณพิมพรเล่าว่า “เดิมทีนั้น ชนเผ่าเย้าใช้เครื่องเงินเกือบทุกคน เราเก็บเงินแทนเงินสด และเครื่องเงินนั้นผูกพันกับชีวิตชนเผ่าเย้าตั้งแต่เกิดจนตาย บ้านไหนมีลูกชายก็ต้องเตรียมกำไลเงินไว้เป็นกำไลหมั้น ในวันแต่งงาน เจ้าสาวก็จะสวมชุดผ้าคลุมประดับเงินแบบอลังการ ถ้าลูกสะใภ้ท้อง แม่สามีก็จะปักผ้าแล้วเอาเครื่องเงินของตระกูลมาปักบนผ้าเป๊อะหลัง พอเด็กเกิดมา ของขวัญชิ้นแรกก็คือผ้าผืนนี้กับหมวกที่ประดับเงินเช่นกัน เวลาเสียชีวิต ชุดเก่งที่มักจะมีเครื่องเงินอยู่แล้วก็จะติดตัวไปโลกหน้าด้วย ส่วนบ้านไหนมีอันจะกินหน่อยก็จะทำตะปูเงินตอกไว้ในโลงศพ พอเก็บถ้าลูกชายคนไหนเก็บได้ คุณพ่อคุณแม่ต้องการให้เป็นสิริมงคล ถ้าหาไม่เจอแปลว่าท่านบังตาไว้ไม่ให้เห็น หรือท่านโกรธอะไรเราสักอย่าง ซึ่งก็ต้องทำพิธีขอขมา ชนเผ่าเย้าจะให้ความสำคัญมากเรื่องความกตัญญูค่ะ เราเชื่อว่าเงินคือโลหะศักดิ์สิทธิ์ ใช้รักษาโรคด้วย ถ้าป่วยก็ถอดกำไลไปถู แต่มีกระบวนการนะ ใส่ไข่ขาว หอมแดง ใส่ผ้า เงินจะช่วยดูดพิษออกจากร่างกายได้”

นอกจากเครื่องประดับที่ใช้ในชีวิตประจำวันแล้ว หนึ่งในสัญลักษณ์ของชนเผ่าเย้าคือสร้อยกระดูกงูที่ใส่ในวันสำคัญต่างๆ ซึ่งดอยซิลเวอร์เองก็มีการถอดแบบสร้อยกระดูกงูแบบดั้งเดิมมาสร้างสรรค์เป็นเครื่องประดับสมัยใหม่ และส่งออกไปยังสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ด้วย ไฮไลต์อีกอย่างที่น่าสนใจคือสำเนาพระราชสาส์นจากพระเจ้าผิงหวางของจีน ที่ระบุให้ชาวเย้าสามารถตั้งรกรากบนเขาที่ยังไม่มีใครจับจอง และไม่ต้องเสียส่วย เนื่องจากบรรพบุรุษชาวเย้าเคยช่วยพระเจ้าผิงหวางรบชนะศัตรู พระองค์จึงทรงพระราชทานนางในให้แต่งงานด้วย และพระราชทานที่ดินทำกิน ซึ่งเรื่องราวที่เป็นที่มาของชนเผ่าเย้านี้ก็ได้ถูกเล่าผ่านลวดลายของผ้าปักของชาวเย้าด้วยเช่นกัน 

หากคิดว่าน่านดูจะไกลไป แอบบอกว่าดอยซิลเวอร์จะนำผลงานบางส่วนมาจัดแสดงร่วมกับผลงานของครูช่างและศิลปินอื่นๆ ในนิทรรศการเครื่องประดับเงินและเครื่องถมไทย Siam Silver Showcase: from past to present ที่งาน Bangkok Gems and Jewelry Fair 2020 ครั้งที่ 65 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 25-29 กุมภาพันธ์นี้ด้วย

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin
Share on pinterest

More to explore

แผลเก่า:Old Wound แผลเดิมในเรื่องเล่า ที่ยังเป็นแผลสดของพล็อตสังคมไทย

นิทรรศการ แผลเก่า / Old Wound นิทรรศการเดี่ยวโดย ประทีป สุธาทองไทย ศิลปินนักตั้งคำถาม ผู้ซ่อนบทสนทนาทางสังคมไว้ในงานเสมอ

“Yesterday I Was, Tomorrow I Will Be” นิทรรศการแห่งความฝันและความสำเร็จของ “Pomme Chan”

ก้าวสู่โลกที่เปี่ยมไปด้วยแพชชั่น ผ่านผลงานศิลปะตั้งแต่ชิ้นแรกที่น้อยคนจะได้เห็น สู่วันที่ประสบความสำเร็จในสายอาชีพร่วมระยะเวลา 20 ปี