fbpx

คอมมูนิตี้สีเขียวของนักออกแบบในเดลี อยู่ด้วยกันตอนนี้ ไม่ต้องรอแก่

ชุมชนเล็กๆ ของสถาปนิก อินทีเรียร์ดีไซเนอร์ นักออกแบบจิวเวลรี่และผู้กำกับหนังสารคดีในเดลี

เรื่องทั้งหมดมันเกิดมาจากมาลัย

ครั้งหนึ่ง ฉันออกตามหาจิวเวลรี่ดีไซเนอร์ชาวอินเดียคนนึงที่อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของเมืองเดลี ประเทศอินเดีย การตามหาของฉันในครั้งนั้นไม่มีข้อมูลอะไรในมือ นอกไปจากที่อยู่ของสตูดิโอซึ่งได้มาจากเว็บไซด์ และรูปของสร้อยคอมาลัยที่ทำจากผ้า ฉันพาตัวเองนั่งรถไฟไปถึงส่วนที่อยู่ทางใต้สุดของเดลี จนเกือบจะออกไปทางเมือง Gurgaon อยู่แล้ว เดินผ่านดินลูกรังสีแดง ผ่านวัวในซอยที่เดินตัดหน้าฉันไปอย่างไม่ให้เกียรติกันเลย (เดี๋ยวจะโดน!) กระทั่งจนเจอสองฝั่งของผนังอิฐแดงที่ประกอบด้วยอาคารสถาปัตยกรรมเรียบง่าย มันคือความดิบด้วยอิฐแต่มีชีวิตด้วยการหยอดสี ตั้งเรียงติดกันอยู่สี่หลัง โดยมีเพียงรั้วเตี้ยๆ กั้นเอาไว้

แวบแรกที่เห็น ฉันนึกแปลกใจว่าอินเดียมีแบบนี้ด้วยเหรอ ยิ่งมาตั้งอยู่ในละแวกนี้ด้วยแล้ว ยิ่งอะเมซิ่งใหญ่ เพราะแถวนี้มันไม่มีอะไรเลย มันคือชุมชนของคนอินเดียทั่วไปที่ตกเย็นก็เสียงดังคึกคักด้วยตลาดนัดและรถเข็นขายน้ำผลไม้ที่แข่งกันเรียกลูกค้าด้วยดิสเพลย์กับภาพผลไม้สีเจ็บๆ และไฟวิบวับ จนพอเดินเข้ามาถึงในซอยนี้เท่านั้นล่ะ มันเงียบ มันสงบ มันเขียวด้วยคอมมูนิตี้ของบ้านและสตูดิโอนักออกแบบจำนวนสี่หลังซึ่งเป็นเพื่อนๆ ที่มาอาศัยอยู่ด้วยกัน มีอะไรก็ช่วยเหลือพึ่งพา ฝากบ้านกัน ถึงเวลาก็ล้อมวงกินข้าวบ้านหลังนั้นที บ้านหลังนี้ที ซึ่งด้วยความเปลี่ยนไปของโลกทุกวันนี้ มีคนจำนวนมากที่กำลังไม่เชื่อในเรื่องการแต่งงาน บางคนก็ไม่คิดว่าจะต้องแต่งงาน บางคนก็ดูท่าจะไม่ได้แต่งงาน ก็เลยต้องเตรียมทางออกให้กับตัวเองในเรื่องที่อยู่อาศัยของช่วงบั้นปลายชีวิต เพราะคงไม่มีใครอยากนั่งเล่นเฟสบุ๊กเหงาๆ อยู่ในบ้านคนเดียวตอนแก่หรอกมั้ง ฉะนั้นการมีที่สักผืน ที่มีกลุ่มเพื่อนซึ่งมีเคมีเดียวกันมาแบ่งปันพื้นที่อาศัยอยู่ด้วยกันก็ดูจะเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์มาก

ชุมชนนักออกแบบแห่งนี้เริ่มต้นขึ้นจากที่ดินผืนหนึ่ง ซึ่งมีเจ้าของที่ดินเดิมเป็นมหาเศรษฐีที่มีความตั้งใจอยากจะทำสตูดิโอซ้อมดนตรีให้กับวงร็อกแบนด์ แต่เจ้าของบริษัทสถาปนิก PSDA Studio ซึ่งรู้จักกับมหาเศรษฐีคนนั้นก็ท้วงว่าที่ดินผืนนี้มันน่าจะทำประโยชน์ในแง่ของการพัฒนาชุมชนอะไรได้มากกว่านั้นหากให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เป็นนักคิดนักสร้างสรรค์เข้ามาช่วยกันดูแล ท้ายที่สุดที่ดินเลยตกมาถึงมือของกลุ่มนักออกแบบที่ประกอบด้วยบริษัทสถาปนิก PSDA Studio ที่มองจากภายนอกอันเงียบสงบ เราจะไม่มีวันรู้เลยว่าด้านในของอาคารบรรจุคนทำงานไว้หลายสิบชีวิต แบ่งเป็นสองอาคาร คืออาคารของออฟฟิศสถาปนิก และอาคารที่แบ่งฟังก์ชั่นไว้สำหรับเป็นสตูดิโอเวิร์กช็อปผลิตเฟอร์นิเจอร์ โชว์รูมเฟอร์นิเจอร์และห้องสมุด

ถ้าถามว่าฉันชอบอะไรที่นี่ที่สุด ฉันชอบความร่วมสมัยของการที่มีผู้หญิงในชุดส่าหรีเดินเข้าออกภายในตัวโชว์รูม มันเป็นความลงตัวของยุคสมัยที่ไม่ลืมรากเหง้าของตัวเอง มันมีสเน่ห์อย่างบอกไม่ถูก ถัดมาเป็นบ้านของแลนด์สเคปดีไซเนอร์ ผู้หญิงซึ่งมีความ zen ในตัวเองสูงมาก เดินทางบ่อย หายไปในประเทศทางแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปีละสามถึงสี่ครั้ง นานเป็นเดือนๆ ครั้งแรกที่เห็นเธอ ฉันนึกว่าเป็นคนญี่ปุ่นด้วยซ้ำ บ้านของเธอล้อมด้วยต้นไม้แน่นขนัด หน้าบ้านเป็นต้นจามจุรีใหญ่เบ้อเริ่ม

หลังที่สามเป็นบ้านของคู่สามีภรรยา ซึ่งตัวสามีเป็นคนออกแบบบ้านในคอมมูนิตี้นี้ทั้งหมด ส่วนภรรยาเป็นอินทีเรียร์ดีไซเนอร์ ระหว่างฉันนั่งคุยกับครอบครัวนี้อยู่ในห้องครัวเรียบๆ ของบ้านกับอาหารโฮมเมดที่คอมมูนิตี้กำลังจะทำฉันน้ำหนักขึ้นสามกิโล ก็มีเสียงตะโกนดังลั่นของแม่บ้านขึ้นมา เพราะมีลิงตัวแม่กำลังพยายามจะแอบเข้ามาในบ้านที่คงมีใครเผลอเปิดประตูบ้านทิ้งไว้ เจ้าของบ้านว่า “ลิงแถวนี้เยอะ เพราะแต่ก่อนแถวนี้เป็นป่ารกๆ เป็นที่ของมัน เรามาแย่งมันอาศัย ก็ต้องเข้าใจความรู้สึกของมันด้วย เคยมีอยู่สองครั้งนะที่ลิงแอบเข้ามาได้ แต่มันไม่ทำอะไรหรอก มันเดินไปที่ตู้เย็น เปิดหยิบอาหารแล้วมันก็ออกไป บางทีมันก็โลภ ด้วยการพยายามจะแบกโหลแยมโฮมเมดที่ฉันทำติดตู้เอาไว้ แต่มันแบกไม่ไหว ก็เลยปล่อยทิ้งไว้กลางบ้านแบบนั้นนั่นล่ะ แล้วตัวมันก็หายไป” 

ส่วนบ้านสุดท้ายเป็นบ้านของอดิติ (Aditi Prakash) จิลเวอรี่ดีไซเนอร์ที่ฉันมาตามหา ซึ่งด้วยความที่ฉันไปอินเดียบ่อย หลังจากที่ได้เจอกัน เราก็เลยกลายมาเป็นเพื่อนกันในที่สุด สามีของอดิติเป็นผู้กำกับหนังสารคดี ผลิตงานให้กับ National Geographic และ Discovery Chanel ดาดฟ้าของบ้านอดิติเป็นพื้นที่ของแปลงผักสวนครัวที่เธอใช้เวลาขึ้นมาพูดคุยกับพืชผักทุกเช้า เลยไม่น่าแปลกใจว่าทำไมผักในกระบะของเธอถึงงอกงามดีจัง รวมไปถึงต้นพริกและกะเพราที่เธอเคยได้เมล็ดพันธุ์มาจากสวนพันพรรณของคุณโจน จัน ได ที่เชียงใหม่ด้วย

บ้านอดิติมีผู้หญิงในชุมชนเกือบยี่สิบคนเดินเข้าออกอยู่เป็นประจำ พวกเธอคือแรงงานสำคัญในการเย็บและผลิตเครื่องประดับที่ทำจากผ้าและไม่เคยปล่อยให้เศษผ้ากลายเป็นขยะ แต่นำกลับมาใช้ใหม่ทั้งหมด โดยบ้านของผู้หญิงกลุ่มนี้ก็อยู่หน้าปากซอยนี่ล่ะ มันเลยทำให้พวกเธอมีเวลาจัดการบ้าน จัดการอาหารมื้อเช้าให้กับลูกก่อนไปโรงเรียน และค่อยเดินมาทำงาน ทุกวันนี้ผู้หญิงอินเดียจำนวนมากพยายามหาช่องทางเลี้ยงตัวเองให้ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาผู้ชาย ส่วนอดิติเองที่นอกจากจะจ้างแรงงานเฉพาะคนในพื้นที่แล้ว เวลาเข้าออกงานที่อดิติตั้งไว้คือสิบโมงเช้าถึงหกโมงเย็น ยังทำให้ผู้หญิงกลุ่มนี้ได้รู้จักกับคำว่าชีวิตดีๆ ที่ลงตัวของจริง เพราะพวกเธอไม่ต้องวิ่งหัวฟูมาทำงานอย่างรีบร้อน มีเวลาให้ตัวเองและครอบครัว ตกเย็น กลับถึงบ้าน ก็เป็นช่วงเวลาของการเข้าครัวหุงหาอาหารพอดี 

ทุกวันนี้ฉันเชื่อเหลือเกินว่ามีคนอ่านบทความนี้จำนวนหนึ่งกำลังตั้งคำถามว่าเป้าหมายชีวิตของตัวเองคืออะไร และหลายคนก็คงมีคำตอบเดียวกันว่าบ้านที่ใช่ เพื่อนที่ใช่ กับสภาพแวดล้อมที่ใช่ เช่นนั้นแล้วเราจะเริ่มจากอะไรดีล่ะ..? คงต้องเริ่มจากการออมเงินแล้วนะ

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin
Share on pinterest

More to explore