fbpx

Curartistry คอร์สบริหารความคิดสำหรับนักสร้างสรรค์โดยสถาบันสถาปัตย์ระดับโลก

คลาสสอนวิธีการคิด จัดการและนำเสนอข้อมูลโดย Architectural Associaltion School of Architecture จากลอนดอน

สารภาพว่าตอนที่เห็นรายละเอียดของคอร์ส Curartistry ของ AA Visiting School Bangkok แล้ว ก็คิดไปไกลว่าคอร์สนี้คงเป็นคอร์สแนวทฤษฎีจ๋า สำหรับนักศึกษาสถาปัตย์เท่านั้นเป็นแน่ แต่พอได้มีโอกาสมาคุยกับเหล่าหัวหน้าโปรแกรมของคอร์สนี้แล้ว ต้องบอกว่าน่าสนใจไม่น้อย และเป็นอะไรที่หาเรียนได้ไม่ง่ายเลย โดยเฉพาะในเมืองไทย 

หากคุณยังงงๆ อยู่ว่า AA Visiting School Bangkok คืออะไร เราขอสรุปให้ฟังสั้นๆว่าโรงเรียนแบบป็อป-อัพนี้เป็นส่วนหนึ่งของ AA หรือ Architectural Association School of Architecture of London หนึ่งในมหาวิทยาลัยสถาปัตย์ชั้นนำของลอนดอน ที่ขึ้นชื่อเรื่องการออกแบบเชิงทดลอง เนื่องจากมีนักเรียนมาจากหลากหลายประเทศทั่วโลก ทางมหาวิทยาลัยจึงผุดโครงการ Visiting School หรือคอร์สระยะสั้นในต่างประเทศขึ้นมา โดยนอกจากจะเป็นการให้ความรู้แก่นักศึกษาที่สนใจแล้ว ยังเป็นการพรีเซนต์ความเป็น AA ไปพร้อมๆกัน ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว AA Visiting School ก็จะบริหารจัดการโดยศิษย์เก่าของ AA นั่นเอง ซึ่งสำหรับ AA Visiting School Bangkok นี้ดูแลโดยอาจารย์แว๋ว ม.ล. จิตตวดี จิตรพงศ์ และคุณจิ้ง สุพิชญา รักปัญญา ซึ่งเป็นศิษย์เก่าของ AA ทั้งคู่ ร่วมกับคุณมาร์ค คัสซิ่น (Mark Cousins) ที่เป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่ AA ด้วย โดย AA Visiting School Bangkok นั้นจัดขึ้นปีละครั้ง ตั้งแต่ปีค.ศ. 2013 โดยแต่ละคอร์สจะใช้เวลาประมาณ 12 วัน ซึ่งครั้งล่าสุดในปีค.ศ. 2019 นี้จัดขึ้นที่โรงแรมมณเฑียร โดยมีติวเตอร์จากทั้งที่เมืองไทยและทั่วโลกมาร่วมให้ความรู้ ตั้งแต่ คุณฟิวส์ นัฐพงษ์ พัฒนโกศัยและคุณโจ ดลพร ชนะชัย จาก Cloud-floor ศิลปิน Melissa Moore จากลอนดอน Ema Hana Kacar สถาปนิกจากลอนดอน แรมมี่ นารูลา ช่างภาพสตรีทจากไทย รวมถึงนักศึกษาปริญญาเอกจาก AA อย่างคุณปลา กรกมลและคุณปู กัญญพร แก้วประเสริฐจาก MadeofTwo และคุณโต้ง ดำเนิน เต๋จ๊ะใหม่ 

หัวหน้าโครงการและติวเตอร์ของ AAVS Bangkok ประจำปีค.ศ. 2019

จุดเริ่มต้นของ AA Visiting School Bangkok
มาร์ค อาจารย์จาก AA ที่เป็นเหมือนหัวเรือใหญ่ของโครงการนี้เล่าให้เราฟังถึงจุดเริ่มต้นของ AA ว่า “คอร์สนี้เป็นหนึ่งในคอร์สของ AA Visiting School ที่ก่อตั้งขึ้นโดย AA และคอร์สนี้ก็เกิดขึ้นได้เพราะเรามีศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันจากเมืองไทยอยู่พอสมควร อย่างอาจารย์แว๋วก็เคยเป็นนักศึกษาปริญญาเอกที่ผมดูแล ส่วนจิ้งก็เป็นนักศึกษาปริญญาโท เราจึงพอจะมีสายสัมพันธ์กับประเทศไทยอยู่บ้างครับ อีกอย่างคือกรุงเทพฯเป็นเมืองที่น่าสนใจนะ ผมว่าคนที่อยู่กรุงเทพฯจะค่อนข้างรักกรุงเทพฯ ทุกคนรู้หมดว่าอะไรดีๆ อยู่ตรงไหน คล้ายๆกับนิวยอร์กที่เรื่องสำคัญในชีวิตของคนที่นั่นก็คือนิวยอร์กนั่นแหละ”

Mark Cousins หัวเรือใหญ่ของโครงการนี้

Curartistry การนำเสนอสิ่งรอบตัวอย่างมีศิลป์
มาร์คยังอธิบายถึงคอนเซ็ปต์ของคอร์ส Curartistry ที่เขาคิดขึ้นมาสำหรับคอร์สนี้โดยเฉพาะว่า “Curartistry เกิดจากการที่เราเริ่มต้นจากสิ่งที่เรียกว่า ‘ชีวิตประจำวัน’ ฟังดูง่ายนะ แต่พอเป็นบริบทของโรงเรียนสถาปัตย์แล้ว สิ่งนี้มักถูกนำเสนอในรูปแบบที่เป็นวิชาการมาก และมักจะถูกนำเสนอออกมาเป็นภาพถ่ายเป็นส่วนใหญ่ ไม่ใช่ประสบการณ์จริง เราเลยคิดวิธีการใหม่ขึ้นมา พูดง่ายๆคือเป็นการผสมผสานคำว่า curate กับ artistry หรือการมองสิ่งรอบตัวในชีวิตประจำวัน แล้วเลือกมานำเสนอในรูปแบบใหม่ที่ดีกว่าเดิม วันแรกๆ ของคอร์ส เราจะส่งนักศึกษาออกไปดูงายตามสถานที่ต่างๆ ที่ทางทีมเลือกมาว่าเกี่ยวข้องกับธีมที่เรากำหนด ซึ่งในปีนี้คือ Trees in Bangkok จากนั้น พอพวกเขากลับมา พวกเขาต้องเขียนสั้นๆ ว่าไปเห็นอะไรมาบ้าง ซึ่งการเขียนไม่ใช่สิ่งที่นักศึกษาสถาปัตย์มักจะทำ พวกเขาไม่ชอบเขียนหรอก แต่จะชอบใช้ภาพถ่ายหรือสเก็ตช์มากกว่า แต่การที่ไม่ได้เขียนบ่อยๆ นี่แหละที่เป็นข้อดี พอเขียนไปสักพัก พวกเขาจะเข้าสู่ช่วงติว (tutorial) ที่จะมีติวเตอร์มาคอยแนะนำว่าควรจะปรับการเขียนไปในทิศทางไหน จากงานเขียนแบบทื่อๆ ภาพที่ออกมาก็จะเริ่มชัดขึ้นว่าพวกเขาสนใจแง่มุมไหน จากนั้นเราค่อยคิดต่อว่าจะนำเสนอไอเดียนั้นในรูปแบบไหนอีกทีหนึ่ง อาจจะเป็นภาพสามมิติ หรือเป็นงานอินสตอลเลชั่น เราเปิดกว้างมาก และเราก็ไม่ได้ขอให้ได้ผลสัมฤทธิ์จริงจัง แค่อยากให้นักศึกษาได้เห็นว่าไอเดียแรกเริ่มกับไอเดียสุดท้ายมันเชื่อมโยงกันอยู่ และไอเดียสุดท้ายควรจะเป็นการแสดงออกที่ดีที่สุด”

มองมุมกลับ ฝึกความคิด
ฟังดูอาจจะไม่ใช่วิธีการทำงานที่คุ้นเคยนัก แต่อาจารย์แว๋ว หนึ่งในหัวหน้าโปรแกรมก็เสริมว่า Curartistry เป็นวิธีคิดที่สำคัญในยุคนี้ ซึ่งโปรแกรมในปีค.ศ. 2020 นี้ก็คาดว่าจะยังคงเน้นประเด็นนี้ต่อไป “เป้าหมายของเราคือทำอย่างไรที่จะสอนให้นักศึกษามองเห็นสิ่งที่ตนสนใจในชีวิตประจำวัน สามารถตั้งคำถามกับสิ่งของหรือสถานการณ์ที่เฉพาะเจาะจงได้ ตัวอย่างเช่น ต้นไม้ นักศึกษาบางคนมองต้นไม้แล้วเห็นนางแบบร่างสูงโปร่งผมยาวสีน้ำตาลอ่อน นักศึกษาบางคนมองต้นไม้ที่พัวพันอยู่บนเสาไม้แล้วเห็นการตรีงกางเขน นักศึกษาบางคนมองต้นไม้แล้วเห็นจักรวาล ถ้าถามว่าเราสอนการออกแบบสถาปัตยกรรมหรือไม่ คำตอบคือไม่ใช่ เราสอนวิธีคิดผ่านข้อเขียนและวิธีพัฒนาข้อเขียนให้กลายไปเป็นโปรเจ็กต์ส่วนบุคคล เรามองว่าสถาปัตยกรรมเป็นเรื่องของสเปซ เป็นระยะระหว่างผู้มองกับวัตถุ คอร์สนี้พยายามสอนให้นักศึกษาคิดด้วยตรรกะของการสังเกตและการมองเห็นค่ะ”

Trees in Bangkok เพราะเราผูกพันกับต้นไม้มากกว่าที่คิด
ว่าแต่ทำไมต้องเป็นหัวข้อ Trees in Bangkok ด้วยล่ะ? “จากคอนเซ็ปต์หลักคือ Curartistry ธีมที่รองลงมาของเราคือ everyday life ซึ่งก็คือการพยายามมองสิ่งที่เห็นในชีวิตประจำวันและนำเสนอในแง่มุมใหม่ พอพูดแบบนี้แล้วเราสนใจเรื่องต้นไม้ และความสัมพันธ์ของต้นไม้กับเมือง หัวข้อ Trees in Bangkok นี้เราทำมาตั้งแต่ปีค.ศ. 2018 แล้ว และเริ่มเห็นว่าคนเข้าใจสิ่งที่เราทำมากยิ่งขึ้น อาจจะเพราะเป็นหัวข้อที่คนจับต้องได้มากยิ่งขึ้น เพราะมันใกล้ตัว เราเจอมันทุกวัน ก็จะง่ายและเร็วขึ้นค่ะ คอร์สเราจะเริ่มจากการเขียนก่อน เพราะงานเขียนเป็นเรื่องสำคัญ หนึ่งในข้อสำคัญคือต้องเขียนให้เป็น สร้าง argument ให้เป็น จะพูดอะไรก็ได้ ต้องเป็นตัวเอง เขียนได้ดี อธิบายงานของตัวเองได้ จากนั้นจะนำเสนออย่างไรก็แล้วแต่ แต่เราก็จะมีติวเตอร์มาช่วยให้ความรู้ ยุคนี้ทุกคนมือสมาร์ทโฟน ถ่ายรูปก็อาจจะเล่าง่าย เราก็มีช่างภาพมาช่วยเรื่องมุมมองด้วยแทบทุกครั้ง นอกจากช่างภาพแล้วก็มีศิลปินมาช่วยแนะนำ เพราะบางคนอาจจะต้องวาดรูปด้วย” คุณจิ้ง สุพิชญา รักปัญญา อีกหนึ่งหัวหน้าโปรแกรมช่วยอธิบายให้เราฟัง

คุณสุพิชญา รักปัญญา อีกหนึ่งหัวหน้าโครงการ

มองให้แตกต่าง
ฟังดูอาจจะง่าย แต่การมองสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันธรรมดา แล้วนำเสนอใหม่ให้มีศิลป์ยิ่งขึ้นก็ถือว่าซับซ้อนอยู่ไม่น้อย และเพราะแบบนี้เอง ทางทีมอาจารย์จึงได้เชิญผู้เชี่ยวชาญอย่างแรมมี่ นารูลา ช่างภาพสายสตรีทมาเป็นหนึ่งในติวเตอร์ด้วย ซึ่งแรมมี่ที่ได้มาบรรยายในครั้งล่าสุดนี้เป็นครั้งที่สามแล้วเล่าถึงวิธีการสอนของเขาว่า “จริงๆแล้วผมไม่ได้สอนถ่ายรูปนั้น ผมสอนเรื่องมุมมองการถ่ายรูป อาจารย์แว๋วอยากให้นักเรียนมองสิ่งที่ตัวเองเห็นจากอีกมุมหนึ่ง เหมือนเปิดมุมมองใหม่ให้กับตัวเอง สิ่งที่เราเห็น เราอาจจะนำเสนอออกมาได้หลายรูปแบบมาก เป็นงานที่ใช้จินตนาการค่อนข้างเยอะ ผมไม่ค่อยดูที่ผลลัพธ์เท่าไหร่ แต่ดูว่านักเรียนที่มาเขาได้อะไรกลับไปใช้ในชีวิตประจำวันหรือเปล่า เป็นผลลัพธ์ในระยะยาว ผมว่าคอร์สนี้เป็นการเปิดความคิดที่นำไปใช้ได้กับทุกเรื่องนะ แค่ว่าปีนี้อาจจะเป็นเรื่องต้นไม้เยอะหน่อย เพราะอยากให้นักเรียนมีเรื่องที่จะไปทำงานได้ ถ้ากว้างไปสิบวันอาจจะยังคิดไม่ออก ปีหลังๆ นักเรียนทำงานได้เร็วขึ้นครับ”

การนำเสนอผลงานที่ The Shophouse 1527

อิสระทางความคิดสำคัญกว่าสิ่งใด
แม้จะดูย้อนแย้ง แต่มาร์คกล่าวว่าวงการออกแบบนี่แหละที่ขาดอิสระทางความคิด Curartistry จึงเป็นหนึ่งในกระบวนการคิดที่สำคัญต่อคนที่ทำงานออกแบบ โดยเฉพาะนักศึกษาสถาปัตย์ “เพราะโรงเรียนสอนสถาปัตย์มักจะเป็นแนวชี้นำ อาจารย์จะบอกคุณว่าต้องทำอะไรบ้าง และอาจารย์ถูกเสมอ แต่ถ้าต้องเรียนหนักหนาสาหัสถึง 5 ปีแล้ว สิ่งที่ควรจะมีคืออิสระทางความคิดนะ อย่างน้อย คุณก็ควรเป็นอิสระในแง่ที่จะมองงานของตัวเองว่าเป็นงานของคุณเอง ถ้าอาจารย์จะไม่ชอบ ก็ช่วยไม่ได้” แต่แม้กระนั้น ก็ใช้ว่าคอร์สนี้จะออกแบบมาเพื่อนักศึกษาสถาปัตย์เท่านั้น เพราะจากสถิติแล้ว นักศึกษาที่สมัครเข้ามาเรียนนั้นมาจากสาขาการออกแบบที่หลากหลาย ตั้งแต่สถาปัตย์ แฟชั่นไปจนถึงแลนด์สเคปและกราฟิกดีไซน์ “เป็นคอร์สที่เปิดกว้างค่ะ เพราะเราสอนเรื่องวิธีคิด ที่ผ่านมาก็เลยจะมาจากสายดีไซน์เป็นหลัก และนักเรียนต่างชาติค่อนข้างเยอะ เพราะเขาได้มาเรียนด้วย แล้วมาเที่ยวเมืองไทยด้วย เราต้องการให้คอร์สมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม จีงเตรียมทุนสนับสนุนให้นักศึกษาไทยมาเข้าร่วมกิจกรรมทุกปีการศึกษาค่ะ” อาจารย์แว๋วกล่าวปิดท้าย  

ดูรายละเอียดของ AA Visiting School Bangkok ได้ที่ https://www.aaschool.ac.uk/STUDY/VisitingProgramme.php

ภาพ: อวิกา บัวพัฒนา
ภาพหนังสือ: ม.ล. ตรีจักร จิตรพงศ์
จัดและเข้าเล่ม: MadeOfTwo

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin
Share on pinterest

More to explore