จนถึงวันนี้ ชื่อของไวรัสโควิด-19 (Covid-19) หรือโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่จากเมืองอู่ฮั่นก็ได้ถูกจารึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์เป็นที่เรียบร้อย และแม้ในวันนี้ทางจีนเหมือนจะควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อได้ระดับหนึ่งแล้ว แต่จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศอื่นๆ ทั่วโลกกำลังเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด รวมถึงประเทศไทยเองที่มีแววว่าจะเข้าสู่การระบาดระยะที่ 3 ในเร็ววันนี้
นอกจากอันตรายต่อสุขภาวะทางกายแล้ว ดูเหมือนว่าสิ่งที่น่าวิตกไม่แพ้กันคือสุขภาวะทางจิต ถึงจุดนี้คงต้องบอกว่าประชากรโลกเกิดภาวะ “นอยด์” ร่วมกันถ้วนหน้า ยิ่งเมื่อสื่อโหมประโคมข่าวมากเท่าไหร่ ความกลัว ความเหยีดและความเกลียดชังก็ดูจะเพิ่มมากยิ่งขึ้นเท่านั้น ทั้งต่อประชากรชาวจีนที่ถูกมองว่าเป็น “ต้นเหตุ” หรือ “ตัวเชื้อโรค” ลามไปจนถึงผู้ติดเชื้อ ครอบครัวผู้ติดเชื้อ ผู้ที่เดินทางสู่พื้นที่ที่มีการระบาดของโรค เรื่อยไปจนกระทั่งบุคลากรของโรงพยาบาลที่รักษาผู้ติดเชื้อเองก็ต้องประสบกับการโดนรังเกียจแบบยกแผง ซ้ำร้าย หน้ากากอนามัยเจ้ากรรมก็ยังกลายเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาการเกลียดชังไปอีกระดับ โดยเฉพาะในโลกตะวันตกที่มองว่าการใส่หน้ากากอนามัยนั้นมีไว้สำหรับคนป่วยเท่านั้น เราจึงได้เห็นข่าวอยู่บ่อยๆ ที่มีชาวเอเชียในประเทศต่างๆ โดนโจมตีหรือโดนทำร้ายแค่เพียงเพราะใส่หน้ากาก N95 ป้องกันตัวเองเท่านั้น
ไม่กี่วันมานี้ สำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งต่างรายงานไปในทิศทางเดียวกัน ว่าสิ่งที่น่ากลัวยิ่งกว่าไวรัสในตอนนี้คือความหวาดกลัวชาวต่างชาติหรือ xenophobia ที่กำลังรุนแรงขึ้นในแทบจะทุกที่ทั่วโลก รวมถึง racism คือการเหยียดเชื้อชาติต่อชาวจีนและชาวเอเชียโดยรวม ซึ่งแต่เดิมก็มักจะถูกมองว่าต่ำกว่าอยู่แล้ว แต่หลายๆ คนกลับใช้สภาวการณ์นี้เป็นข้ออ้างในการเหยียดไปอีกระดับ
ในทางจิตเวทและจิตวิทยา ความหวาดกลัวชาวต่างชาติหรือ xenophobia คือความผิดปกติที่เกี่ยวเนื่องกับวิตกกังวล (anxiety disorder) อย่างหนึ่ง เมื่อประสบกับคนที่เป็นสิ่งเร้า (ในกรณีนี้คือชาวจีน ชาวเอเชีย ชาวต่างชาติ) ผู้ที่ประสบกับภาวะนี้อาจมีอาการต่างๆ เช่น หัวใจเต้นเร็ว รู้สึกเวียนศีรษะ หายใจไม่ออก คลื่นไส้ หวาดวิตก เหงื่อออก ปวดหน้าอก และหลายๆครั้งก็หนักหนาจนไม่สามารถทำงานการปกติได้ ซึ่งถ้าอาการเหล่านี้รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ก็อาจทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า anxiety attack หรือการโจมตีหรือทำร้ายผู้อื่นเนื่องจากความวิตกกังวลได้
แม้จะฟังดูรุนแรง แต่ถ้าจะมีสิ่งใดที่อยู่กับโรคระบาดมาเสมอ สิ่งนั้นก็คือความหวาดกลัวชนิดนี้นี่เอง และหากเปิดใจมองให้กว้างขึ้น คุณจะพบว่าในแต่ละครั้งย่อมต้องมีชนชาติหนึ่งที่กลายเป็นแพะรับบาปและโดนกล่าวหาว่าเป็นต้นเหตุเสมอ อย่างเช่นชาวเม็กซิกันกับไวรัส H1N1 ชาวสเปนสำหรับไข้หวัดสเปน รวมถึงชาวเยอรมันกับไวรัสไข้หวัดใหญ่ในอดีต แต่ชาวจีนอาจจะแย่หน่อย เพราะเคยถูกมองว่าเป็นตัวแพร่เชื้อไวรัสซารส์ (SARS) มาแล้วในปีค.ศ. 2003
แล้วยารักษาคืออะไร? ถ้าพูดกันตามทฤษฎีแล้วก็คงหนีไม่พ้นคำยอดฮิตแห่งศตวรรษนี้ นั่นคือ “empathy” หรือการพยายามทำความเข้าใจคนอื่นนั่นเอง อาจจะถึงเวลาเตือนตัวเองกันแล้วว่ากลัวได้ แต่อย่าให้ความกลัวบังตา แล้วมองสิ่งรอบตัวผิดเพี้ยนไป เพราะท้ายที่สุดแล้ว ความเกลียดชังไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น สู้เอาเวลาเหยียดคนอื่นไปทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตจะดีกว่า นอกจากนี้ การเลือกรับข่าวสารที่เป็นประโยชน์ และไม่ปล่อยตัวเองให้ “เต้น” ไปกับการเล่นข่าวของสื่อต่างๆ ก็เป็นอีกหนึ่งภูมิคุ้มกันที่ช่วยป้องกันความหวาดหวั่นนี้ได้
ในบรรดาบทความมากมายที่เขียนเกี่ยวกับประเด็นนี้ เราชอบสิ่งที่ Ross Douthat คอลัมนิสต์ของ The New York Times เขียนไว้มากที่สุด เขาบอกว่ายิ่งกว่าโรคร้าย โคโรนาไวรัสคือบททดสอบ หรือบทพิสูจน์ใจของคนยุคนี้ จะดีจะร้าย จะเหยียดเกลียดชังอย่างไร ก็รู้เช่นเห็นชาติกันคราวนี้นี่เอง
อ้างอิง:
1. https://www.theguardian.com/world/2020/feb/16/we-must-halt-the-spread-of-xenophobia-surrounding-coronavirus
2. https://www.nytimes.com/2020/02/25/opinion/coronavirus-cases-spread.html
3. https://www.hongkongfp.com/2020/02/19/lets-resist-resist-prejudice-xenophobia-fight-coronavirus-empathy-compassion/