ในปัจจุบัน การถ่ายภาพถือเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ผู้คนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เหตุผลที่นอกเหนือจากการถ่ายภาพเป็นกิจกรรมสบาย ๆ ที่ทำในยามว่างได้แล้ว การถ่ายภาพยังสามารถใช้เป็นอีกช่องทางในการหาเงินได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นทัศนียภาพของธรรมชาติในมุมกว้าง ต้นไม้ ดอกไม้ คน สัตว์ สิ่งของ สถาปัตยกรรม และอาคารบ้านเรือน ฯลฯ ก็ดูจะเป็นที่ต้องการของผู้ซื้อได้ทั้งนั้น แต่ก็ใช่ว่าภาพสต๊อกเหล่านี้จะสามารถไปปรากฏอยู่บนเว็บไมโครสต๊อก (Microstock) ได้ทันทีที่เจ้าของภาพอัพโหลด หลังบ้านเว็บไซต์เองก็ต้องพิจารณาถึง กฎหมายลิขสิทธิ์ อย่างสำคัญเลยทีเดียว เพื่อป้องกันการเกิดคดีความเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ ที่อาจทำให้เสียทั้งเงินเสียทั้งเวลามากมายในภายหลัง
ดังนั้น เพื่อช่วยทำความเข้าใจและอาจช่วยให้ภาพของช่างภาพมีโอกาสขายได้มากขึ้น บทความนี้จึงได้รวบรวมข้อควรรู้เกี่ยวกับการถ่ายรูปอย่างไรให้ปลอดภัยจากปัญหาลิขสิทธิ์เอาไว้
การถ่ายภาพบุคคล
แน่นอนว่าภาพที่ถ่ายย่อมมีจุดประสงค์เพื่อเผยแพร่และซื้อขายผ่านเว็บไมโครสต๊อก ดังนั้น ช่างภาพจึงควรคำนึงถึงสิทธิของผู้อื่นด้วย ต่อให้เป็นการถ่ายภาพในที่สาธารณะ ที่กฎหมายระบุว่าการถ่ายภาพในที่สาธารณะไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมายก็ตาม แต่การถ่ายภาพที่สามารถระบุตัวบุคคลได้และเป็นไปในลักษณะเพื่อการซื้อขายก็มีความเสี่ยงสูงที่จะกลายเป็นการบุกรุกความเป็นส่วนตัวและละเมิดสิทธิของผู้อื่น เพราะไม่ใช่ทุกคนที่อยากจะให้ภาพของตัวเองไปปรากฏอยู่บนเว็บไซต์หรือที่ไหน ๆ ก็ตาม และยิ่งเป็นไปเพื่อการซื้อขาย ก็ดูเหมือนจะเป็นการถูกเอาเปรียบกลาย ๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ การถ่ายภาพที่ปรากฏอัตลักษณ์หรือใบหน้าของผู้อื่นอย่างชัดเจนจึงจำเป็นต้องได้รับการอนุญาตจากผู้ถูกถ่ายก่อนเสมอ

นอกจากนี้ อัตลักษณ์บุคคลอย่างพวกรอยสักก็ถือเป็นลิขสิทธิ์ด้วยเช่นกัน อย่างรอยสักที่เป็นลวดลายของยันต์จากสำนักชื่อดัง หรือรอยสักรูปการ์ตูนที่จดลิขสิทธิ์ไว้แล้ว ก็เป็นสิ่งที่ช่างภาพจะต้องคำนึงถึงและพิจารณาให้ดี หากช่างภาพตัดสินใจว่าจะถ่ายภาพบุคคลที่ปรากฏทั้งใบหน้าผู้ถูกถ่ายและอัตลักษณ์อย่างรอยสักอย่างชัดเจน ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องทำการขออนุญาตจากทั้งผู้ถูกถ่าย และเจ้าของผู้คิดและสร้างรอยสักนั้น

นับว่ารายละเอียดที่ปรากฏในภาพล้วนสำคัญทั้งสิ้น และมักเกี่ยวโยงกับลิขสิทธิ์เป็นสำคัญ อย่างเช่นภาพโลโก้ต่าง ๆ ที่มักพบเห็นในชีวิตประจำวันอยู่บ่อย ๆ ก็นับเป็นสิ่งที่จะต้องระวังเอาไว้เป็นอย่างดี บ่อยครั้งที่ช่างภาพจำเป็นจะต้องทำการปรับแต่งภาพเพื่อลบโลโก้ที่ติดอยู่ในภาพ ก่อนส่งภาพเหล่านั้นให้กับเว็บไมโครสต๊อกที่ตนเองเป็นสมาชิกอยู่ เพื่อหลีกเลี่ยงการละเมิดลิขสิทธิ์ และให้ลูกค้าสามารถเลือกซื้อไปใช้กับงานของตนเองได้อย่างเหมาะสม
สถานที่ถ่ายภาพ

โดยทั่วไปแล้วการถ่ายภาพในที่สาธารณะไม่ว่าจะเป็นสวนสาธารณะ ถนน สะพาน ชายหาด ฯลฯ สามารถที่จะกระทำได้อย่างถูกกฎหมาย ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของการถ่ายภาพ ดังนั้น ช่างภาพจึงต้องคำนึงถึงเจตนาของตัวเองให้ดี และระมัดระวังการถ่ายภาพที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดได้

นอกจากการถ่ายภาพบุคคลที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว การถ่ายภาพในสถานที่ต่าง ๆ ก็มีกฎห้ามละเมิดอยู่เช่นกัน อย่างการถ่ายภาพหรือบันทึกภาพเคลื่อนไหวเมื่ออยู่ในคอนเสิร์ตฮอลล์ หรือสนามกีฬา แม้ดูเหมือนเป็นสถานที่สาธารณะ แต่ทั้งคอนเสิร์ตฮอล์และสนามกีฬากลับไม่ใช่สถานที่สาธารณะในลักษณะเดียวกับสวนสาธารณะหรือชายหาด เพราะว่าเราจะต้องซื้อตั๋วเพื่อเข้าไปอยู่ท่ามกลางบรรยากาศเหล่านั้น และการซื้อตั๋วนี้เองที่ถือว่าเรายอมรับและพร้อมอยู่ภายใต้เงื่อนไขของสัญญากับเจ้าของหรือผู้ดำเนินงาน ซึ่งมักจะรวมเรื่องการห้ามถ่ายภาพหรือถ่ายวิดีโอเอาไว้ด้วย
การถ่ายภาพเมื่ออยู่ในสถานที่ซึ่งเป็นของคนอื่น อย่างเช่น พิพิธภัณฑ์ ร้านค้า ร้านอาหาร ห้องสมุด สถานที่ท่องเที่ยวบางแห่งหรือที่ที่ช่างภาพไม่ได้เป็นเจ้าของ จำเป็นจะต้องมีการขออนุญาตจากเจ้าของสถานที่ก่อน เมื่อได้รับความยินยอมแล้วช่างภาพจึงจะสามารถถ่ายภาพได้

ตัวอย่างเช่น ช่างภาพส่วนใหญ่มักเลือกถ่ายภาพหอไอเฟลในตอนกลางวันมากกว่าตอนกลางคืน เพราะกฎหมายคุ้มครองตัวหอไอเฟลได้หมดอายุลงแล้ว เนื่องจากศิลปินเจ้าของผลงานเสียชีวิตไปตั้งแต่ ค.ศ. 1923 (ลิขสิทธิ์ของงานศิลปะในสหภาพยุโรปมีอายุ 70 ปี) แต่การเผยแพร่ภาพหอไอเฟลที่ถ่ายในตอนกลางคืนที่มีไฟ ถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เพราะฝรั่งเศสถือว่าแสงไฟที่เพิ่มความงดงามให้หอไอเฟลในยามค่ำคืนถือเป็นผลงานศิลปะ และกฎหมายนี้เริ่มคุ้มครองตั้งแต่มีการติดตั้งใน ค.ศ. 1985 ดังนั้น หากใครต้องการเผยแพร่ภาพหอไอเฟลยามค่ำคืนที่เปิดไฟสว่างสวยงาม จำเป็นจะต้องขออนุญาตกับบริษัทที่ปฏิบัติการประจำหอไอเฟลเสียก่อน

ในประเทศไทยเอง การถ่ายภาพสถานที่สำคัญอย่างวัดอรุณ ฯ เองก็มีข้อสำคัญที่ควรรู้อยู่เช่นกัน หากช่างภาพต้องการถ่ายภาพวัดอรุณ ฯ เพื่อนำไปขายในเว็บไมโครสต๊อกของตัวเอง แนะนำว่าควรถ่ายให้เห็นภาพโดยรวมที่มีวัดอรุณ ฯ แม่น้ำเจ้าพระยา และเรือแล่นผ่าน จะปลอดภัยมากกว่าการถ่ายภาพเจาะเฉพาะแคบ ๆ เพื่อให้เห็นพระปรางค์วัดอรุณ ฯ แต่เพียงอย่างเดียว เนื่องจากหากมีการนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ อย่างการใช้เป็นภาพประกอบสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อขายทัวร์ จะถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ทันที
ส่วนสำคัญเล็ก ๆ น้อยอย่างป้ายทะเบียนที่ติดอยู่กับรถยนต์ โลโก้แบรนด์ต่าง ๆ สัญลักษณ์ที่เกี่ยวพันธ์กับความเชื่อทางศาสนา หรือสัญลักษณ์ทางการเมืองก็เป็นสิ่งที่เปราะบางและมีผลต่อการขายภาพเช่นกัน เพื่อให้ภาพที่ช่างภาพถ่ายมีโอกาสขายได้มากขึ้น การศึกษาข้อมูลทางกฎหมาย ข่าวสารทางการเมือง ศาสนา และวัฒนธรรมของพื้นที่ก็ถือเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งเช่นกัน
Feature Image: Photo by NordWood Themes on Unsplash