fbpx

ชวนสัมผัสประวัติศาสตร์เพ้อฝันในนิทรรศการ Blue Fantasy โดย กมลลักษณ์ สุขชัย

เมื่อประวัติศาสตร์ถูกอำนาจคัดสรร อัตลักษณ์และความรู้สึกนึกคิดถึงตัวตนของเราผู้อาศัยอยู่ในโรงละครที่เต็มไปด้วยความโป้ปดนี้จึงถูกดัดแปลงและควบคุม

ผลงานชุด “Blue Fantasy – ประวัติศาสตร์เพ้อฝัน” โดย กมลลักษณ์ สุขชัย ศิลปินช่างภาพชาวไทยที่มีผลงานโดดเด่นจากการสร้างสรรค์ศิลปะภาพถ่ายแบบคอลลาจ จะนำทุกท่านเข้าสู่โลกเพ้อฝันอันแปลกตาโลกที่ตำนานและพงศาวดารเก่าแก่ของไทยถูกรังสรรค์ขึ้นเพื่อเป็นวัตถุดิบหลักในการปรุงแต่งโรยประดับลงบนโครงสร้างสังคมร่วมสมัย ตีกรอบความเชื่อและเพิ่มพูนอำนาจให้แก่รัฐในทุกช่วงเวลาของประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา

ผลงานชุดนี้จะนำเสนอศิลปะภาพปะติดแบบคอลลาจ ผ่านส่วนประกอบของภาพถ่าย รูปวาด จดหมาย ตลอดจนเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่สอดประสานกัน เพื่อสะท้อนถึงมิติอันซับซ้อนของความไม่-เท่าเทียมเชิงระบบ ตลอดจนความเหลื่อมล้ำที่สืบเนื่องมาจากบันทึกประวัติศาสตร์ ซึ่งมักอุทิศให้แก่การเชิดชูเหล่าวงอวตาร วรรณกรรมเหล่านี้ถูกคัดสรรบางส่วนขึ้นมาเพื่อใช้ในการปรับเปลี่ยนความจริงทางประวัติศาสตร์อันเป็นปริศนา

แทนที่ด้วยเนื้อหาที่จัดทำขึ้นใหม่ พร้อมสำรวจและตั้งคำถามถึงนิยามของ “ประวัติศาสตร์” ที่เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งมีส่วนในการสร้างและกำหนดทั้งอัตลักษณ์ ความปรารถนา ตลอดจนจิตสำนึกความเป็นเจ้าของของผู้คนในสังคม เมื่อประวัติศาสตร์ถูกอำนาจคัดสรร อัตลักษณ์และความรู้สึกนึกคิดถึงตัวตนของเราผู้อาศัยอยู่ในโรงละครที่เต็มไปด้วยความโป้ปดนี้จึงถูกดัดแปลงและควบคุม

ข้อโต้แย้งทางศิลปะของกมลลักษณ์ที่แสดงออกผ่านผลงาน “Blue Fantasy” นั้น คล้ายคลึงกับ “อุปมานิทัศน์เรื่องถ้ำ” ของนักปราชญ์ชาวกรีกเพลโต ซึ่งบรรยายให้เห็นว่าการเฝ้าดูเงาที่ฉายบนผนังถ้ำกลายมาเป็นชุดความจริงของเหล่านักโทษได้อย่างไร โดยที่พวกเขาไม่ได้ตระหนักถึงความเป็นจริงที่ถูกต้องของโลก นักโทษเหล่านั้นเพียงแต่ถูกปกครอง ครอบงำ และควบคุมด้วยเรื่องเล่าเหนือจินตนาการผ่าน “การแสดงหุ่นกระบอก” ที่ผู้มีอำนาจเหนือกว่ามอบให้เท่านั้น “Blue Fantasy” จึงเปรียบเสมือนม้าโทรจันของกมลลักษณ์ ที่ถูกส่งเข้าไปในถ้ำเพื่อเรียกคืนความยุติธรรมและความเท่าเทียมของสังคมผ่านการตีแผ่ชำแหละเรื่องราวอันเพ้อฝัน และบรรดาเรื่องเล่าเหนือธรรมชาติที่ทำให้อำนาจทางการเมืองส่องประกายโดดเด่นและมีความหมายสำคัญต่อประวัติศาสตร์การปกครองของไทยตลอดมา

ในผลงานภาพชุด “Blue Fantasy” กมลลักษณ์มอบอำนาจให้เหล่าผู้ถูกปกครองลองเขียนและสร้างประวัติศาสตร์ของพวกเขาขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อสร้างความหมายของการมีชีวิตและความรู้สึกถึงตัวตนขึ้นใหม่ เช่นนี้ เธอได้กลายเป็น “จิตรกรผู้วาดประวัติศาสตร์” ผ่านการประพันธ์เรื่องราวในแบบฉบับของเธอเอง โดยแทนที่ตัวละครที่มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์ด้วยใบหน้าของสมาชิกในครอบครัว การตัดปะประวัติศาสตร์ที่สร้างขึ้นใหม่ในแบบฉบับของเธอจึงเป็นการผสมผสานภูมิหลังของครอบครัว จินตนาการของชาวบ้านในท้องถิ่น วรรณกรรม ความฝันของสมาชิกในบ้าน ตลอดจนเรื่องราวเก่าแก่ของสิ่งของดั้งเดิมภายในบ้าน โดยเธอได้เน้นย้ำและยกย่องถึงคุณค่าของครอบครัว เพื่อให้ความหมายแด่สิ่งที่ครั้งหนึ่งเคยถูกมองข้ามไป

งานวิจัยชุดนี้ ถูกพัฒนาและสร้างสรรค์ผลงานศิลปะจากการเป็นศิลปินในพำนักที่บ้านเกิดของเธอในจังหวัดราชบุรี โดยให้สมาชิกครอบครัวเข้ามามีส่วนร่วมกับการตั้งคำถามสำคัญที่ว่า: เหล่านักโทษผู้ถูกกดขี่ในถ้ำของเพลโตจะสามารถก้าวข้ามประวัติศาสตร์ที่พวกเขาถูกทำให้เชื่อ ด้วยความจริงชุดใหม่ที่ถูกตีความผ่านจินตนาการ การสร้างภาพ และความเพ้อฝัน ตลอดจนการตีความโลกทัศน์ของความจริงที่แตกต่าง เพื่อที่จะกลายมาเป็นเจ้าของเรื่องราวของพวกเขาเองได้อย่างไร

กมลลักษณ์ สุขชัย เคยได้รับการเสนอชื่อและถูกคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 20 ช่างภาพของ FOAM Talent ประจำปี 2020 จากชุดผลงาน RED LOTUS ที่กมลลักษณ์หยิบตำนานพื้นบ้านมาถ่ายทอดผ่านภาพถ่ายเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของเรื่องเล่ามุขปาฐะพื้นถิ่นที่ส่งผลต่อความเป็นหญิงในสังคมวัฒนธรรมแบบอนุรักษ์​นิยม ผลงานชุดนี้ ได้จัดแสดงที่ Fotografiemuseum Amsterdam at KühlhausBerli รวมถึงได้รับการคัดเลือกให้จัดแสดงตาม Photo Festival ต่าง ๆ ทั้งในประเทศเยอรมัน ฝรั่งเศส สิงค์โปร์ และไต้หวัน

ผลงานของกมลลักษณ์เน้นการสำรวจและตั้งคำถามกับเรื่องเล่าพื้นถิ่นในแถบประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีอิทธิพลต่อเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ การสร้างชาติ ความเชื่อทางศาสนา และมายาคติต่อการรับรู้เรื่องเพศ จากจุดเริ่มต้นจนมาถึงชุดผลงานปัจจุบัน เธอต้องการทดลองหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ที่ศิลปะภาพถ่ายแบบคอลลาจจะสามารถชักชวนผู้คนให้ย้อนกลับไปตีความเรื่องราวความเชื่อเก่าแก่ผ่านสายตาและมุมมองของความเป็นปัจจุบัน

อ่านผลงานของ ปูนปั้น – กมลลักษณ์ สุขชัย เพิ่มเติมได้ที่

นิทรรศการครั้งนี้ยังมีคุณสิริมา ไชยปรีชาวิทย์ เป็นผู้อำนวยการกิจกรรมสร้างสรรค์  และภัณฑารักษ์ชาวไทยที่เกิดและโตที่กรุงเทพมหานครฯ เป้าหมายในการใช้ชีวิตและการทำงานคือการใช้พลังแห่งศิลปะผลักดันสังคมให้ก้าวไปข้างหน้า ตลอดชีวิตการทำงานของเธอจึงห้อมล้อมไปด้วยศิลปะ เธอเริ่มต้นจากการเป็นหนึ่งในสมาชิกช่างภาพสตรีทประเทศไทยที่หลงใหลการถ่ายภาพขาว–ดำและมีนิทรรศการภาพถ่ายในไทยและต่างประเทศ เป็นผู้จัดการฝ่ายสร้างสรรค์ ผู้อำนวยการแกลเลอรีและบรรณาธิการนิตยสาร

ปัจจุบัน สิริมาเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งสื่อและเอเจนซี่ศิลปะ GroundControl ที่นำเสนอทุกความเคลื่อนไหวในแวดวงศิลปะและสนับสนุนการสร้างสรรค์งานของศิลปินไทย และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและผู้จัดการฝ่ายสร้างสรรค์ของ HOP – Hub Of Photography แกลเลอรีและศูนย์รวมครบวงจรด้านภาพถ่ายในประเทศไทยที่พร้อมสนับสนุนช่างภาพ นอกจากนั้น เธอยังเป็นนักจัดเทศกาลศิลปะและภัณฑารักษ์อิสระที่มีผลงานการจัดการนิทรรศการหลากหลาย

นิทรรศการจัดแสดงวันที่ 30 เมษายน – 19 มิถุนายน 2565

สถานที่ HOP PHOTO GALLERY ชั้น 3 โซน MUNx2 ซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์

เปิดทำการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 11.00 น. – 19.00 น. 

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin
Share on pinterest

More to explore