fbpx

หยิบขยะในโรงงานมาพิมพ์ลงผ้า งานทดลองครั้งที่ 1 ของทำ-มา-หา-กิน ใน A Room Full of Women

ผลงานที่ตั้งชื่ออย่างเรียบง่ายว่า The 1st Experiment Exhibition มุ่งสร้างความตระหนักเรื่องขยะจากภาคอุตสาหกรรมผ่านงานศิลปะ

จะทำยังไงถ้าจำนวนขยะในโรงงานอุตสาหกรรมของเรามันช่างมีมากมายเสียเหลือเกิน ยิ่งโดยเฉพาะถ้าเราเป็นโรงงานซิลค์สกรีนที่มีขยะประเภทกระดาษจากใบสั่งงานวางกองเป็นตั้งๆ พลาสติก แกนด้าย เศษผ้า ฯ โดยเมื่อนำขยะทั้งหมดที่เกิดขึ้นมาชั่งกิโลในทุกๆ 15 วันแล้ว ก็พบว่า มันคือขยะที่มีจำนวนมากถึง 108.5 กิโลกรัม ด้วยกัน 

หลายคนรู้จักเพจ ทำ-มา-หา-กิน อยู่แล้ว ซึ่งธุรกิจหลักจริงๆ ของแพรว พรรณระพี พุกกะเจียม เจ้าของเพจ คือโรงงานซิลค์สกรีนที่ชื่อ Awesomedough Limited Partnership โดยธุรกิจนี้เริ่มมาจากการขายเคสโทรศัพท์เพนต์ลายด้วยมือ เคสโทรศัพท์แบบสกรีนลาย และจึงพัฒนาต่อมาเป็นโรงงานซิลค์สกรีนกับการพิมพ์ผ้า ซึ่งแน่นอน การทำโรงงานอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของ Textile สิ่งที่ตามมาก็คือขยะจากการผลิต คราวนี้ก็ขึ้นอยู่กับเจ้าของโรงงานแล้วว่าจะมองว่าขยะเหล่านี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ตัวเองต้องรับผิดชอบไหม หรือจะปล่อยผ่านด้วยเหตุผลส่วนตัวว่าฉันมีเรื่องอื่นที่ต้องทำอีกเยอะ

“นี่เป็นสมุดรวบรวมตัวอย่างขยะจากโรงงานเรา ที่ผ่านมาแพรวใช้วิธีเอามาติดลงในสมุด แบ่งเป็นหมวดๆ เพื่อเราจะได้รู้ว่าทุกวันนี้ ขยะจากการผลิตของเรามันมีอะไรบ้างและเราจะทำยังไงกับมันต่อได้บ้าง”

แพรว ทำ-มา-หา-กิน เปิดแต่ละหน้าของสมุดให้ฉันดู มันเป็นสมุดขยะที่น่าดูน่าชมมาก มันสร้างความรู้สึกว่าขยะเองก็มีความงามในตัวของมัน อยู่ที่ว่าเราจะให้ค่ากับมันแบบไหน แต่สำหรับสมุดเก็บตัวอย่างขยะเล่มนี้แล้ว ฉันขอลุกขึ้นยืนสวยๆ และปรบมือแบบต่อเนื่องให้สามนาที คือเกิดมาก็เพิ่งจะเคยเห็นนี่ล่ะว่ามีโรงงานอุตสาหกรรมคิดเก็บตัวอย่างขยะมาติดลงสมุดเป็นเรื่องเป็นราวเพื่อหาทางรับผิดชอบในขยะที่ตัวเองเป็นคนก่อขึ้น จนเมื่อแพรวได้รับการติดต่อจากคิวเรเตอร์ของนิทรรศการ A Room Full of Women ให้เป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมแสดงผลงาน โดยนิทรรศการนี้จะจัดขึ้นที่ ATT 19 ในช่วงระหว่างวันที่ 5 มีนาคม – วันที่ 4 เมษายน 2562  แพรวเลยนึกถึงเรื่องของขยะ นึกถึงจุดเด่นของเพจทำ-มา-หา-กิน ที่มักจะมากับเรื่องของอาร์ตเวิร์ค โดยเฉพาะอาร์ตเวิร์คของปฏิทินทำ-มา-หา-กิน ปี 2019 เป็นอะไรที่ทอร์คออฟเดอะทาวน์มาก และแพรวยังนึกถึงเทคนิคการพิมพ์ผ้าอันเป็นงานที่ถนัดที่สุดของ Awesomedough อยู่แล้ว นำมาสู่การสร้างงานในรูปแบบของการนำขยะสะอาดในโรงงานมาผ่านกระบวนการวิจัยและทดลองด้วยหลากหลายเทคนิก ไม่ว่าจะการปัก การ Burn (ลนเทียน) การมัดย้อม การด้น การสาน ฯ จากนั้นนำมารีดร้อนเพื่อติดลงบนเศษผ้าชนิดต่างๆ

ผลจากการทดลองที่เกิดขึ้นก็มีหลายกรณี เช่นเมื่อนำถุงมันฝรั่งกรอบมารีดร้อนเพื่อติดลงผ้า ถุงจะไม่ยอมติดง่ายๆ เพราะด้วยคุณสมบัติของฟอยล์​แล้ว มันจะติดผ้าได้ยากมากและก็ย่อยสลายได้ยากเช่นเดียวกัน จึงต้องทดลองต่อด้วยการนำพีวีซีกับกากเพชร (Glitter) เคลือบผสมเข้าไปในวัสดุฟอยล์เพื่อให้มัน merge กัน แต่ขณะเดียวกันเจ้าตัวพีวีซีเองก็มีหลายชนิดอีก ฉะนั้นก็ต้องมีการค้นคว้าต่อว่าแล้วพีวีซีแบบไหนล่ะที่เมื่อนำมาผสมกับวัสดุฟอยล์แล้ว มันจะสามารถรีดร้อนติดลงไปที่ตัวผ้าได้จริง ในช่วงระหว่างการทดลองเหล่านี้เอง สิ่งที่ได้จากการทดลองกับตัววัสดุเศษผ้า ก็ทำให้ทีมงานซึ่งประกอบด้วยฝ่ายผลิต แพรว และน้องๆ ฝึกงานได้พบว่า อ้อ ผ้าแคนวาสบางตัวที่เราคิดว่ามันมีส่วนผสมหลักเป็นเนื้อคอตตอน แท้จริงแล้ว มันมีคอตตอนอยู่แค่ 20% ส่วนที่เหลือ 60% คือโพลีเอสเตอร์ และยังมีส่วนผสมของกาวอีก หรืออย่างผ้าไมโครเอง ที่พอนำมาผ่านกระบวนการทดลองและการรีดร้อนแล้ว ก็จะเกิดสภาวะที่เรียกว่าไหม้กระจาย สีของผ้าติดไปที่ตัวเครื่องรีดร้อน หรือการเอาเชือกบางชนิดมาผ่านเทคนิคการ Burn และรีดร้อนลงไปบนวัสดุผ้าก็ทำให้เกิดผิวสัมผัสแปลกใหม่ที่น่าสนใจ

นอกจากการนำขยะสะอาดที่แพรวรับซื้อมาจากพนักงานในบริษัทเพื่อนำมาใช้วิจัยและทดลองสำหรับการสร้างชิ้นงานเพื่อเข้าร่วมในนิทรรศการครั้งนี้ จนได้ชิ้นงานออกมาจำนวน 100 ชิ้น ที่จะนำไปจัดแสดงในนิทรรศการ A Room Full of Women ด้วยการแขวนห้อยระโยงระยางคล้ายกับที่เราเคยเห็นชาวบ้านในชุมชนแออัดเขาแขวนผ้าตากกันไว้หน้าบ้านแล้ว ยังมีผลงานอีกแปดชิ้นที่ได้นำอาร์ตเวิร์ค 8 เดือนจาก 12 เดือนของปฏิทิน ทำ-มา-หา-กิน ปี 2019 มา Re-print ลงบนผ้าแคนวาส ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คือเรื่องของผิวสัมผัสและสีสันที่สดขึ้น โดยขั้นตอนการทำงานนั้นคือการนำอาร์ตเวิร์คของปฏิทินมาพิมพ์ลงผ้า แล้วจึงเติมผิวสัมผัสใหม่ๆ ลงไปผ่านการรีดร้อน ว่าง่ายๆ ก็คือการคอลลาจนั่นล่ะ แต่แทนที่จะใช้คอมพิวเตอร์ทำ ก็ใช้เป็นงานมือทั้งหมด เล่นกับวัสดุผ้าชนิดต่างๆ ที่บรรจงตัดให้ได้รูปและจึงรีดร้อนลงไปบนแคนวาส ซึ่งผ้าต่างชนิดก็มีคุณสมบัติความหดตัวยืดตัวต่างกันอีก มันไม่ง่ายเลยนะคะ สำหรับชิ้นงานที่เป็นไฮไลท์ ขอยกให้กับผ้าแคนวาสลายอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย ที่เมื่อเปิดแฟลชมือถือชมผลงานชิ้นนี้แล้ว เราจะได้ค้นพบกับผิวสัมผัสใหม่อันเป็นความลับที่ซ่อนอยู่ในตัวอนุเสาวรีย์ฯ

ส่วนความคาดหวังจากงานทดลองครั้งนี้ แพรวบอกกับเราว่า “ถ้ามีโอกาส เราก็อยากให้ผู้ชมซึ่งเป็นกลุ่มที่เกี่ยวกับสิ่งทอ อย่าง Textile Designer หรือ Fashion Designer ได้นำผลลัพธ์จากการทดลองของเราไปพัฒนาต่อ โลกทุกวันนี้มีคนซื้อผ้าทุกวันนะคะ มีการวิจัยเรื่องผ้าทุกวันในเรื่องของ Textile Development ฉะนั้นเราควรจะมีผ้าม้วนที่มาจากการรีไซเคิลขายอยู่ในพาหุรัดกันได้แล้ว หรืออาจเป็นเรื่องของเสื้อผ้า Casual Look จากการรีไซเคิลที่คนทั่วไปสามารถหาซื้อสำหรับสวมใส่จริงได้ในชีวิตประจำวัน โดยความเป็น ทำ-มา-หา-กิน ของเรา เราเล่าเรื่องกระบวนการมาตลอด แทบจะไม่มีงานออกมาเป็นชิ้นเป็นอัน เพราะเราวางตัวมาตลอดว่าเราขอเป็นสื่อกลางเพื่อให้คนได้หยิบข้อมูลจากเราไปพัฒนาต่อเพื่อให้เกิด Solution ซึ่งเมื่อถึงตรงนั้นแล้ว เราก็จะเป็นกระบอกเสียงในการนำ Solution เหล่านั้นมาบอกต่อผ่านเพจทำ-มา-หา-กิน เพราะ Solution ไม่ควรเป็นความลับขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง ถ้ามัวแต่เก็บเป็นความลับกันอยู่ อุตสาหกรรมนี้มันก็จะไม่พัฒนาไปไหนสักที มันต้องช่วยกัน”

The 1st Experiment Exhibition ผลงานการทดลองครั้งที่1โดยทำ-มา-หา-กินจะร่วมจัดแสดงในนิทรรศการ A Room Full of Women ที่ ATT 19 ในช่วงระหว่างวันที่ 5 มีนาคม – วันที่ 4 เมษายน2562  ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่เฟซบุ๊ก ทำ-มา-หา-กิน

และผู้ที่สนใจ สามารถอ่านเรื่องราวเบื้องหลังการสร้างสเปซ ATT19 ได้ที่บทสัมภาษณ์ “มุก – พรทิพย์ อรรถการวงศ์ เล่าภารกิจการทำมัลติสเปซ ATT19 ให้คนรุ่นใหม่ไม่กลัวศิลปะ”

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin
Share on pinterest

More to explore