จริงอยู่ที่การเลือกเดินบนเส้นทางสาย “ศิลปิน” จะทำให้คุณหลุดรอดจากระบบสัมภาษณ์งานที่เคร่งเครียดและน่าเบื่อของเหล่ามนุษย์เงินเดือนได้ แต่ถ้าคุณอยากจะเป็น “ศิลปินที่ประสบความสำเร็จ” แล้วล่ะก้อ ยังไงซะ คุณก็หนีการสัมภาษณ์อย่างเป็นทางการไม่พ้นอยู่ดี ไม่ว่าจะเป็น การสัมภาษณ์จากสื่อมวลชนที่อยากรู้จักตัวคุณให้มากขึ้น การสัมภาษณ์เพื่อชิงทุนหรือโครงการศิลปินในพำนัก รวมทั้งในอีกหลายครั้งคุณอาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่า การจิบไวน์พลางพูดคุยกับคอลเล็กเตอร์ คิวเรเตอร์ และเจ้าของแกลเลอรี่ ในบรรยากาศสบายๆ เป็นกันเองนั้น จริงๆ แล้วพวกเขากำลังประเมินตัวคุณอยู่ในทุกตารางนิ้ว!
เอาล่ะ ไม่ต้องตกใจ ถ้าบังเอิญว่าคุณไม่มั่นใจเอาซะเลยเมื่อต้องตกเป็นฝ่ายถูกรัวคำถามใส่ … ประมาณว่า ให้ฉันกลับไปนั่งวาดรูปอยู่ในสตูเงียบๆ คนเดียวดีกว่า… ใจเย็นก่อน เพราะการเตรียมตัวรับมือคำถามต่างๆ ล่วงหน้าสามารถช่วยคุณได้ หรือถึงคุณจะมั่นใจว่าตัวเองมีศิลปะในการพูดไม่แพ้ฝีมือในการสร้างสรรค์งานศิลป์ แต่การซักซ้อมเตรียมคำตอบสำหรับการสัมภาษณ์ไว้อย่างรอบคอบก็จะยิ่งทำให้คุณดูแพงขึ้นไปอีก
10 คำถามต่อไปนี้ คือสิ่งที่คุณน่าจะต้องเจอแน่ๆ ในการสัมภาษณ์ดังกล่าว
(1) เรียนจบอะไรมา
การตอบว่าคุณเรียนจบมาจากสถาบันการศึกษาแห่งใดแห่งหนึ่งเพียงอย่างเดียวนั้น จืดชืดเกินไป แต่คุณควรเพิ่มเติมรายละเอียดที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างเอกลักษณ์ในงานศิลปะกับพื้นเพของคุณ ไม่ว่าจะเป็น ครอบครัว ชีวิตวัยเด็ก การศึกษา เมืองที่คุณเกิดและเติบโต ฯลฯ เช่น คุณอาจบอกว่าคุณเคยเรียนกับอาจารย์ A (ซึ่งควรจะเป็นอาจารย์/ศิลปินที่น่าสนใจ) ที่มีอิทธิพลต่อการทำงานศิลปะของคุณ หรือ เมืองที่คุณอาศัยอยู่ในช่วงเวลานั้นๆ มีสภาพสังคม การเมือง เศรษฐกิจ ศาสนา และวัฒนธรรม อย่างไรที่หล่อหลอมกลายเป็นแนวคิดในศิลปะของคุณ หรือส่งผลต่อการมองโลกของคุณ
แค่นี้ คุณก็ดู “มีอะไร” ได้ตั้งแต่คำถามแรกแล้ว

(2) งานศิลปะของคุณมีแนวคิดเกี่ยวกับอะไร
สำหรับศิลปินในสาขาทัศนศิลป์ (Visual Arts) คำถามนี้อาจทำให้คุณถึงกับต้องกุมขมับ เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่คนทำงานด้านภาพจะสามารถอธิบายคอนเซ็ปต์ออกมาเป็นคำพูด แต่… คุณต้องทำให้ได้โดยไม่มีเงื่อนไข! เพราะนี่คือคำถามที่จะบอกได้ว่า เพราะเหตุใดคุณถึงเริ่มลงมือทำศิลปะตั้งแต่แรก แล้วถ้าคุณตอบไม่ได้ คุณก็คงเป็นแค่ช่างฝีมือ ไม่ใช่ศิลปิน
หัวใจคือ คุณไม่ควรตอบแบบเฝือๆ เพียงแค่ว่าคุณได้แรงบันดาลใจมาจากอะไร เพราะมันไม่มีเนื้อหนังอะไรให้จับต้องได้นัก แต่ควรบอกถึงแนวคิดที่ลึกซึ้งและสามารถสร้างบทสนทนาต่อเนื่องไปได้ ที่สำคัญ อย่าพูดจาวกวน พยายามเรียบเรียงแนวคิดให้ออกมาเป็นประโยคสักประโยคหนึ่งที่ชัดเจนก่อน จากนั้นคุณค่อยอธิบายเพิ่มเติมอีกสักเล็กน้อย แค่นี้เอง ไม่ยากไปใช่ไหม?
(3) งานศิลปะของคุณเกี่ยวข้องกับประเด็นทางสังคมและการเมืองในปัจจุบันอย่างไร
ขอแสดงความยินดีด้วยหากคุณได้ให้คำตอบเกี่ยวกับประเด็นนี้ไปแล้วตั้งแต่ในคำถามก่อนหน้า เพราะงานศิลปะที่สะท้อนให้เห็นประเด็นทางสังคมหรือการเมืองจะยิ่งทำให้คุณดูน่าสนใจมากขึ้นไปอีก ในทางตรงกันข้าม หากคุณตอบคำถามนี้ไม่ได้ นั่นแสดงว่าศิลปะของคุณไม่มีความเกี่ยวข้องใดกับโลกข้างนอกเลย คุณอาจใช้คำถามนี้สำรวจแนวคิดของตัวเองว่าผลงานของคุณ “ส่วนตัวเกินไปหรือเปล่า”
แม้งานของคุณจะเริ่มต้นมาจากเรื่องส่วนตัวมากๆ (personal) แต่มันจำเป็นที่คุณต้องหาทางเชื่อมโยงแนวคิดนั้นกับคนอื่นบนโลกด้วย (universal) ศิลปะของคุณจึงจะมีค่ามากพอที่จะสื่อสารออกไปในวงกว้าง
(4) ใครคือผู้ที่มีอิทธิพลต่อการทำงานศิลปะของคุณ
อย่างน้อยมันต้องมีใครสักคนหนึ่งแหละที่เป็นแรงบันดาลใจให้คุณลงมือทำงานศิลปะ / เลือกใช้ศิลปะพูดถึงประเด็นที่คุณกำลังพูด / เจาะจงใช้เทคนิคที่คุณใช้อยู่ หรือหากว่าคุณสามารถจัดประเภทให้ผลงานของคุณได้ เป็นต้นว่า “ฉันทำงาน Conceptual Art” แล้วมีศิลปินคนไหนไหมใน movement นี้ที่อยู่บนหิ้งบูชาของคุณ ?
ลองเลือกศิลปินที่คุณชื่นชอบมาสักคน เพื่อตอบคำถามนี้ง่ายๆ ตรงไปตรงมา จำให้ดีนะว่าศิลปินที่คุณเลือก จะเป็นหนึ่งในตัวตัดสินว่าผลงานของคุณอยู่ในประเภทไหน
(5) คุณวางแผนเกี่ยวกับอาชีพศิลปินของคุณไว้อย่างไร
คำตอบว่า “ก็แค่ลงมือทำ” อาจฟังดูโรแมนติกชวนฝันหากคุณเอาไปใช้เวลาจีบสาว แต่ไม่ใช่สำหรับคิวเรเตอร์ คอลเล็กเตอร์ หรือคนที่จะให้ทุนกับคุณ! ตรงกันข้าม คำตอบกลวงๆ ดังกล่าวจะทำให้คุณดูเป็นคนที่ไม่เข้าใจความเป็นไปของโลกเอาซะเลย คุณควรตอบให้ได้ว่าที่ผ่านมา การศึกษา การฝึกฝน การจัดแสดงงาน ฯลฯ ที่คุณเลือกนั้นสามารถพาคุณมายังจุดนี้ได้อย่างไร คุณเคยได้รางวัลอะไรมาบ้างหรือเปล่า แล้วคุณวางแผนการทำงานต่อไปอย่างไรในอนาคต เช่น คุณอาจวางแผนเข้าร่วมโครงการศิลปินในพำนัก ส่งงานประกวด จัดแสดงในแกลเลอรี่ใหม่ๆ รวมทั้งว่าคุณมีแผนโปรโมทผลงานกับแฟนๆ ของคุณอย่างไร
จำไว้ว่าอย่าให้คำตอบที่ทำให้ความสำเร็จของคุณดูเหมือนเป็นเรื่องบังเอิญเด็ดขาด แต่คุณต้องแสดงให้เห็นว่าคุณมาถึงจุดนี้ได้เพราะการวางแผนอย่างรอบคอบ และคุณยังคงกระหายในความสำเร็จที่มากขึ้นด้วย
(6) คุณมีวิธีสร้างโอกาสให้ตัวเองอย่างไร
คำถามข้อนี้อาจเกิดขึ้นหากคุณไม่ได้ให้คำตอบที่ชัดเจนนักในข้อก่อนหน้า เพราะฉะนั้นคำตอบที่พวกเขาอยากฟังก็มีเช่น คุณรู้จักแกลเลอรี่ที่มีอยู่ทั้งหมดดีแค่ไหน / คุณอัพเดตข้อมูลแกลเลอรี่ที่เกิดขึ้นใหม่ๆ บ้างหรือเปล่า / คุณส่งผลงานของคุณไปยังแกลเลอรี่เหล่านั้นบ่อยไหม / หรือเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่จะทำให้คุณพบปะคนในวงการศิลปะ เพื่อเปิดโอกาสให้ตัวเอง “เป็นที่รู้จักมากขึ้น” บ้างหรือเปล่า
(7) คุณมีฐานคอลเล็กเตอร์อยู่แค่ไหน
คำถามนี้สำคัญมากสำหรับคอลเล็กเตอร์และเจ้าของแกลเลอรี่ เพราะยิ่งมีคนสนใจซื้องานของคุณมากเท่าไร ก็เท่ากับว่าพวกเขาจะมีสิทธิสร้างเม็ดเงินจากผลงานของคุณได้มากขึ้นเท่านั้น แต่ถ้าบังเอิญว่าคุณนับนิ้วแล้วก็ยังไม่พบคอลเล็กเตอร์อยู่ในมือเลยสักคน คุณก็ควรแสดงให้พวกเขาเห็นว่าคุณกำลังพยายามอยู่ เช่น บอกว่าคุณขยันเข้าร่วม art fair บ่อยแค่ไหน / เคยเชิญคอลเล็กเตอร์ไปเยี่ยมชมสตูดิโอบ้างหรือเปล่า / มีเว็บไซต์ขายผลงานทางออนไลน์ไหม / หรือคุณพยายามหางานคอมมิชชั่น (commission) ด้วยวิธีไหนบ้าง

(8) เส้นทางในโลกศิลปะของคุณที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง
คำตอบน่าจะแบ่งได้เป็น 2 ทาง หนึ่ง-หากว่าเส้นทางที่ผ่านมาของคุณราบรื่นราวโรยด้วยกลีบกุหลาบ (ซึ่งมักเป็นไปไม่ค่อยได้) คุณก็ไม่ควรตอบให้เข้าใจไปว่าความสำเร็จของคุณได้มาอย่างฟลุ้คๆ แต่ควรบอกว่าคุณพาตัวเองมาถึงจุดนี้ได้เพราะคุณวางแผน พยายาม และมีวินัยกับตนเอง อย่างที่กล่าวไปแล้วในข้อ (5) แต่จำไว้ว่า… อย่าโอ้อวดเกินจริง สอง- หากว่าเส้นทางที่ผ่านมาของคุณนั้นช่างโหดร้ายทุกข์ระทม หรือว่าในตอนนี้คุณก็ยังดิ้นรนราวถูกราหูทับอยู่ ก็กรุณาอย่าโอดครวญ แต่อธิบายให้ได้ว่าคุณกำลังพยายามฟันฝ่าอุปสรรคที่ว่าอย่างไรบ้าง
อย่าอายที่จะเล่าว่าคุณพยายาม “ขายงาน” หรือ “ขายตัวเอง” อย่างไรบ้าง เพราะศิลปินก็คือคนที่ต้องกินต้องใช้ ไม่ใช่เรื่องผิดเลยที่คุณจะคิดหาช่องทางทำมาหากินให้กับตัวเอง
(9) คุณตั้งราคาผลงานไว้เท่าไร
นี่ก็เหมือนกัน ไม่ต้องเหนียมอายเวลาพูดเรื่องเงินๆ ทองๆ แต่ตอบไปแมนๆ เลยว่าเท่าไร คุณอาจคำนวณราคาจากวัสดุที่คุณใช้ ขนาดของชิ้นงาน เวลาทั้งหมดที่คุณใช้ในการสร้างสรรค์ ฯลฯ แล้วก็อย่าลืมคิดเผื่อไว้ด้วยว่า หากมีการต่อรองราคาระหว่างคุณกับคอลเล็กเตอร์ ตัวเลขเท่าไรที่คุณคิดว่าสมเหตุสมผล
(10) มีเทรนด์ทางศิลปะอะไรไหมที่คุณกำลังติดตามอยู่
ความสนใจต่อเทรนด์ในวงการและความเป็นไปของโลกคือมาตรวัดหนึ่งที่จะบอกได้ว่าคุณเข้าใจตลาดแค่ไหน แต่แน่นอน ไม่มีใครบอกว่าคุณต้องเปรียบเทียบผลงานของตัวเองกับเทรนด์ดังกล่าว แค่บอกให้รู้ว่าคุณติดตามข่าวสารต่างๆ ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ แล้วคุณคิดเห็นอย่างไรต่อความเคลื่อนไหวเหล่านั้น หรือคุณอาจเพิ่มเติมเข้าไปด้วยว่า ผลงานของคุณเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับเทรนด์ที่ว่าอย่างไร
เมื่อเตรียมคำตอบสำหรับ 10 คำถามด้านบนเรียบร้อยแล้ว คุณก็พร้อมสำหรับการให้สัมภาษณ์หรือคุยงานในครั้งหน้าแล้วล่ะ! หรือสำหรับศิลปินที่กำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการสร้างเนื้อสร้างตัว แม้คุณจะยังไม่มีนัดหมายกับใครในเร็ววันนี้ แต่คุณก็สามารถนำ 10 คำถามดังกล่าวมาถามตัวเอง เพื่อปรับปรุง “เส้นทางสายศิลปิน” ของคุณได้อย่างดีทีเดียว
ไม่เชื่อ ก็ลองกลับขึ้นไปอ่านใหม่ แล้วลองคิดตามแต่ละข้อดู
เรียบเรียงจาก artrepreneur.com